สรุปข่าวเศรษฐกิจ : ธอส.อั้นขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า / ชาวไร่วอนเลื่อนลอยตัวน้ำตาล / ต่ออายุเคลียร์หนี้เกษตรกร

คอลัมน์ แฟ้มข่าว หน้า 23

ธอส.อั้นขึ้นดอกเบี้ยปีหน้า

นายฉัตรชัย ศิริไล กรรมการผู้จัดการธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) กล่าวว่า ฝ่ายวางแผนของธนาคารประเมินแนวโน้มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารว่าน่าจะปรับขึ้นตามทิศทางอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) และคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย ที่มีแนวโน้มว่าจะปรับเพิ่มขึ้นในปีหน้า โดยอัตราดอกเบี้ยที่จะปรับนั้น น่าจะไม่เกิน 0.25% อย่างไรก็ตาม การปรับอัตราดอกเบี้ยของธนาคารนั้น จะดำเนินการให้ช้ากว่าธนาคารพาณิชย์อื่น หรือจะตรึงอัตราเดิมไว้ในระยะ 6-8 เดือน เพื่อลดผลกระทบของผู้กู้ ขณะนี้อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ของธนาคารนั้น ถือว่าอยู่ในระดับต่ำสุดในตลาด หรือราว 2.9% ต่อปี

ชาวไร่วอนเลื่อนลอยตัวน้ำตาล

นายธีระชัย แสนแก้ว ประธานชมรมสถาบันชาวไร่อ้อยภาคอีสาน กล่าวว่า ในวันที่ 25 ตุลาคม ชมรมเตรียมประชุมหารือเกี่ยวกับนโยบายการยกเลิกโควต้า และลอยตัวราคาน้ำตาลทรายของภาครัฐที่จะมีผลอย่างเป็นทางการในวันที่ 1 ธันวาคม 2560 หลังจากนั้นจะนำเสนอความเห็นต่อรัฐบาล เบื้องต้นมีความเห็นว่าหากภาครัฐยังไม่พร้อมควรเลื่อนระยะเวลาออกไปก่อน เนื่องจากหลายเรื่องยังไม่เสร็จ ทั้งสูตรการคำนวณราคาอ้อยแบบใหม่ การแก้ไขกฎหมายยังไม่เสร็จ ต้องเปิดรับฟังความเห็นอีก หากดันทุรังประกาศลอยตัวทั้งที่ยังไม่มีความพร้อม เกรงว่าจะส่งผลกระทบอย่างหนักต่ออุตสาหกรรมอ้อยทั้งระบบ โดยชาวไร่อ้อยไม่ได้คัดค้านการลอยตัวราคาน้ำตาลทราย แต่อยากให้ทำเมื่อพร้อมจริงๆ

ต่ออายุเคลียร์หนี้เกษตรกร

พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า ได้มีการประชุมคณะกรรมการกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาเกษตรกร (กฟก.) เฉพาะกิจ ครั้งที่ 5/2560 ตามมติคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปฏิบัติหน้าที่ 180 วัน และจะหมดวาระวันที่ 14 พฤศจิกายนนี้ จึงเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบตามคำสั่ง คสช. ที่ 26/2560 วันที่ 18 พฤษภาคม 2560 (ข้อ 8) ในการขอขยายเวลาการปฏิบัติงานของ กฟก. ออกไปอีก 180 วัน เพื่อดำเนินการจัดการหนี้ เจรจาซื้อหนี้ สำรวจหนี้ เพราะมีเกษตรกรที่รอการฟื้นฟู ขณะเดียวกัน ยังมีภารกิจสร้างความเข้าใจระหว่างเกษตรกรกับกองทุนฟื้นฟูฯ โดยจะมีการจัดเวทีชี้แจง การรับรู้ เสริมสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมผ่านการจัดเวที 18 เวที ตามเขตจังหวัดราชการ โดยเชิญผู้นำเกษตรกรเข้าร่วม สำหรับผลการดำเนินงานช่วง 5 เดือน (18 พฤษภาคม-18 ตุลาคม 2560) ได้จัดการหนี้ 739 ราย มูลหนี้ 135 ล้านบาท แบ่งเป็นธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) 716 ราย มูลหนี้ 129.4 ล้านบาท สหกรณ์การเกษตร 23 ราย มูลหนี้ 5.9 ล้านบาท

แบงก์โชว์กำไร 9 เดือน 1.45 แสนล้าน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ธนาคารพาณิชย์ (ธพ.) ไทย 11 แห่ง ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ กรุงไทย กสิกรไทย ไทยพาณิชย์ กรุงศรีอยุธยา ทหารไทย ซีไอเอ็มบีไทย ธนชาต ทิสโก้ เกียรตินาคิน และแลนด์แอนด์เฮ้าส์ ได้รายงานผลการดำเนินงาน ไตรมาสที่ 3/2560 และช่วง 9 เดือนแรก 2560 พบว่าส่วนใหญ่มีความสามารถทำกำไรได้เติบโตเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม กำไรรวมลดลงเมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งไตรมาส 3 และช่วง 9 เดือน ผลจากการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญจากแนวโน้มหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) เพิ่มขึ้น รวมทั้งรายได้ดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นในอัตราชะลอลง ขณะที่รายได้ค่าธรรมเนียมและบริการยังเติบโตดี สำหรับไตรมาส 3 มีกำไรรวมทั้งสิ้น 47,484 ล้านบาท ลดลงจากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 52,325 ล้านบาท ราว 9.25% โดยไทยพาณิชย์มีกำไรมากที่สุดในไตรมาสนี้ ที่ 10,130 ล้านบาท แต่ลดลง 12.16% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 11,533 ล้านบาท ทิสโก้มีสัดส่วนการเพิ่มขึ้นของกำไรมากที่สุด 25.86% อยู่ที่ 1,572 ล้านบาท จาก 1,249 ล้านบาทในช่วงเดียวกันปีก่อน ทั้งนี้ ช่วง 9 เดือนแรก 2560 พบว่า ธพ. มีกำไรรวม 145,164 ล้านบาท ลดลง 3.62% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 150,630 ล้านบาท

เปิดเอกชนเดินรถ 2 เส้นทางใหม่

นายสมศักดิ์ ห่มม่วง รองปลัดกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า ได้เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการควบคุมการขนส่งทางบกกลาง ที่ประชุมอนุมัติผลการคัดเลือกผู้ประกอบการขอเดินรถตามแผนปฏิรูปเส้นทางรถโดยสารประจำทางในเขตกรุงเทพฯ และปริมณฑล ตามที่กรมการขนส่งทางบก (ขบ.) เสนอจำนวน 2 เส้นทางใหม่ ได้แก่ สาย R26E สถาบันการแพทย์จักรีนฤบดินทร์-โรงพยาบาลรามาธิบดี (ทางด่วน) ระยะทาง 61 กิโลเมตร (ก.ม.) มีบริษัท มารัตน์ทรานสปอร์ต จำกัด เป็นผู้เดินรถ และสาย Y70E มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลรัตนโกสินทร์ ศาลายา-สถานีรถไฟฟ้าหมอชิต (ทางด่วน) ระยะทาง 40 ก.ม. บริษัท ชัยวิเศษแทรนสปอร์ต จำกัด เป็นผู้เดินรถ โดยเอกชนทั้ง 2 รายต้องนำรถมาขอใบอนุญาตประกอบการเดินรถจาก ขบ. คาดว่าจะสามารถให้บริการได้ในช่วงสิ้นปีนี้เพื่อมอบเป็นของขวัญปีใหม่ให้แก่ประชาชน

สร้างแพลตฟอร์มยืนยันตัวตน

นายพิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวว่า กระทรวงดีอีและกระทรวงการคลังได้ตั้งคณะกรรมการร่วม ประกอบด้วย ตัวแทนจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.), คณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.), ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.), สมาคมธนาคารไทย, สำนักทะเบียนราษฎร กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย และกรมพัฒนาธุรกิจการค้า เพื่อร่วมมือกันพัฒนาแพลตฟอร์มในการยืนยันตัวตนเพื่อทำธุรกิจ หรือ Digital Identity Platform โดยแพลตฟอร์มดังกล่าวจะเป็นระบบยืนยันตัวตนสำหรับบุคคลที่จะเริ่มทำธุรกิจเพื่ออำนวยความสะดวกให้การรับรองตัวตนและลงทะเบียนสร้างความเชื่อถือในการทำธุรกิจที่รวดเร็วมากขึ้น โดยระบบจะมีความปลอดภัยสูงและเชื่อมโยงกับระบบของหน่วยงานสำคัญๆ ในการยืนยันตัวตน อาทิ ฐานข้อมูลทะเบียนราษฎร ฐานข้อมูลของสถาบันการเงิน และฐานข้อมูลเครดิต

ทั้งนี้ ระบบที่พัฒนาขึ้นจะลดขั้นตอนที่ไม่จำเป็นในการยืนยันความมีตัวตนและความน่าเชื่อถือ ทำให้ผู้ประกอบการรุ่นใหม่สามารถทำธุรกรรมหรือติดต่อกับคู่ค้าจากต่างประเทศได้รวดเร็วมากขึ้น