ฝีดาษลิง : อนามัยโลก ชี้โลกเผชิญท้าทายหนัก ‘เบลเยียม’ นำร่องมาตรการกักตัว สธ.ยกระดับเฝ้าระวังจากสนามบิน

WHO ชี้ ฝีดาษลิง โผล่ซ้ำทำโลกเผชิญความท้าทายหนักหน่ว สธ.ยกระดับเฝ้าระวัง สังเกตแผลที่สนามบิน แจกการ์ดเตือน คนมาจากประเทศเสี่ยง ‘เบลเยียม’ นำร่องมาตรการ ติดเชื้อต้องกักตัว 21 วัน 

 

นายแพทย์ทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุ เมื่อวันที่ 22 พฤษภาคมที่ผ่านมาว่า โลกกำลังเผชิญกับความท้าทายที่น่าหวาดหวั่น จากโรคฝีดาษลิง ที่เกิดขึ้นซ้ำเติมการแพร่ระบาดของโควิด-19 รวมไปถึงวิกฤตการณ์อื่นๆที่โลกกำลังเผชิญในเวลานี้

นายแพทย์ทีโดรส กล่าวในการเปิดประชุมที่มีขึ้นเพื่อหารือเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของ “ฝีดาษลิง” ที่ลุกลามไป 15 ประเทศ ในนครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ว่าการแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่ใช่วิกฤตเดียวที่โลกกำลังเผชิญในเวลานี้ นอกจากนี้ยังมีโรคอีโบลา ในคองโก ฝีดาษลิง และโรคตับอักเสบที่ยังไม่รู้สาเหตุ รวมไปถึงวิกฤตด้านมนุษยธรรมในอัฟกานิสถาน เอธิโอเปีย โซมาเลีย ซูดานใต้ ซีเรีย ยูเครน รวมถึงเยเมน

“เรากำลังเผชิญกับความน่าหวาดหวั่นของโรคที่เกิดขึ้นพร้อมๆกัน เผชิญกับความแห้งแล้ง ทุพภิกขภัยรวมถึงสงคราม ซ้ำเติมไปด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ความไม่เสมอภาค และการแข่งขันทางการเมืองระดับโลก” นายแพทย์ทีโดรส ระบุ

สถานการณ์การแพร่ระบาดของฝีดาษลิงยังคงน่ากังวล โดยล่าสุด อิสราเอล สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรีย กลายเป็น 3 ประเทศล่าสุดที่ยืนยันพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง ส่งผลให้จำนวนรวมของชาติที่ตรวจพบเชื้อนอกพื้นที่แพร่ระบาดในแอฟริกา เพิ่มสูงขึ้นเป็น 15 ประเทศแล้วโดยอิสราเอล สวิตเซอร์แลนด์ และออสเตรียพบผู้ติดเชื้อประเทศละ 1 คน

ขณะที่สหรัฐอเมริกามีรายงานพบผู้ติดเชื้อฝีดาษลิง รายที่ 3 ในรัฐฟลอริดา โดยเป็นผู้ติดเชื้อที่มีประวัติเดินทางจากต่างประเทศ และอยู่ระหว่างกักตัวผู้ต้องสงสัยอีกรายเพื่อยืนยันการติดเชื้อ

ทั้งนี้โรคฝีดาษลิง เป็นโรคระบาดที่เกิดขึ้นจากเชื้อไวรัสที่แพร่ระบาดจากสัตว์สู่คนก่อนจะพัฒนาไปสู่การติดเชื้อระหว่างคนสู่คน ก่อนหน้านี้แพร่ระบาดอยู่เฉพาะในพื้นที่แอฟริกากลางและแอฟริกาตะวันตกเท่านั้น

ล่าสุดยังไม่ชัดเจนว่าเพราะเหตุใดจึงเกิดการแพร่ระบาดนอกพื้นที่อย่างไม่คาดคิดในเวลานี้ ขณะที่ผู้เชี่ยวชาญสันนิษฐานว่า ฝีดาษลิง อาจแพร่ระบาดได้ง่ายมากขึ้นเมื่อเทียบกับในอดีตที่มีการฉีดวัคซีนฝีดาษหรือไข้ทรพิษกันอย่างแพร่หลายมากกว่าในปัจจุบัน

ไทยตั้งจุดเฝ้าระวังตั้งแต่สนามบิน

ด้าน นพ.จักรรัฐ พิทยาวงศ์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงการตั้งศูนย์ปฏิบัติการภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุข (อีโอซี) กรณีโรคฝีดาษลิง (monkey pox) ว่า การจัดตั้งศูนย์ฯดังกล่าว เป็นศูนย์ระดับกรมเพื่อเฝ้าระวัง คัดกรองผู้เดินทางจากประเทศที่มีการระบาด ช่วยให้ตรวจจับกลุ่มเสี่ยงได้รวดเร็วขึ้น และป้องกันการแพร่ระบาดในประเทศ หลังพบการแพร่ระบาดในหลายประเทศ และสามารถติดต่อจากคนสู่คน ซึ่งไทยต้องรีบยกระดับศูนย์ขึ้นมา เพื่อให้มั่นใจว่าจะสามารถรับมือได้ทัน

เพราะโรคนี้ยังไม่มียารักษาเฉพาะ ต้องรักษาประคับประคอง แม้ในประเทศจะยังไม่มีผู้ติดเชื้อและไทยก็ไม่เคยเจอโรคนี้มาก่อนก็ตาม รวมถึงเพื่อเฝ้าระวังและติดตามสถานการณ์ในต่างประเทศ ว่าแต่ละประเทศมีข้อมูลอะไรเพิ่มเติม ที่พอจะบอกได้ว่าเกิดอะไรขึ้นในประเทศนั้นที่กำลังมีการระบาด มีการแพร่ระบาดถึงระดับไหน ซึ่งข้อมูลคงจะทยอยเข้ามา

นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า การเฝ้าระวังโรคภายในประเทศ คือ การเฝ้าระวังคนเดินทางจากประเทศ แต่เนื่องจากช่วงเริ่มต้นอาจไม่มีอาการหรืออาการน้อย ทำให้เมื่อมาถึงประเทศไทยที่ด่านสนามบินอาจจะไม่เห็นอาการ และอาจจะเกิดอาการเป็นตุ่มหนอง ตุ่มน้ำภายหลัง ดังนั้น จะให้มีการคัดกรองอาการในผู้เดินทางมากับไฟลต์บินจากประเทศที่มีความเสี่ยงสูงแถบแอฟริกากลาง เช่น ไนจีเรีย และคองโก

ส่วนยุโรปที่มีการแพร่ระบาดในประเทศแล้ว คือ อังกฤษ สเปน และโปรตุเกส โดยจะดูว่ามีแผลอะไรหรือไม่ พร้อมแจกบัตรเตือนสุขภาพ (Health beware card) เป็นคิวอาร์โค้ดให้สแกนทุกคนที่เดินทางมาจากประเทศดังกล่าว ซึ่งในการ์ดจะระบุว่า หากมีอาการ เช่น ไข้ มีตุ่มให้รายงานเข้าระบบและรีบไปพบแพทย์ใน รพ.ที่ใกล้ที่สุด รวมถึงแจ้งประวัติการเดินทางจากประเทศกลุ่มเสี่ยงให้เจ้าหน้าที่ทราบด้วย

นอกจากนี้ จะเฝ้าระวังที่สถานพยาบาล หากพบผู้ป่วยที่เข้าข่ายสงสัย คือ มีอาการเข้าได้กับโรคและมีประวัติเดินทางจากประเทศเสี่ยงที่กำลังมีโรคนี้ระบาดข้างต้น ให้สถานพยาบาลเก็บตัวอย่างเพื่อส่งตรวจหาเชื้อ ซึ่งประเทศไทยตรวจเชื้อนี้ได้ที่ส่วนกลาง คือ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และรายงานเข้าระบบการเฝ้าระวัง อย่างไรก็ตาม หากมีผู้ติดเชื้อเข้าในประเทศไทย อาจจะต้องมีกระจายให้ศูนย์ในต่างจังหวัดช่วยตรวจ

นพ.จักรรัฐ กล่าวต่อว่า โรคฝีดาษลิงมีประปรายในแอฟริกามานานหลายปีแล้ว แต่ที่ผ่านมาไม่มีคนไปนำโรคออกมาจากภูมิภาคดังกล่าว ครั้งนี้มีคนไปนำโรคออกมา ไปติดเชื้อมาจากประเทศในแอฟริกาและบินกลับนำเชื้อเข้ามาในยุโรปทั้งอังกฤษ สเปน โปรตุเกส และไปสัมผัสใกล้ชิดกันมากกับผู้ที่ติดเชื้อจึงติดเชื้อกัน ซึ่งมีการติดเชื้อกันหลายกลุ่ม แต่กลุ่มที่มีการระบาดค่อนข้างมากใน 100 กว่าราย มีหลายคลัสเตอร์ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มชายรักชาย (MSM)

แต่จริงๆ แพร่ได้หมดไม่ว่าจะเป็นใคร หากมีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ติดเชื้อ และกลุ่มผู้ติดเชื้อที่เจอในแต่ละประเทศในยุโรปยังไม่ได้เกี่ยวข้องกัน เป็นการนำเชื้อมาจากประเทศแถบแอฟริกา ซึ่งเมื่อหลุดออกมาจากแอฟริกาเข้ายุโรปแล้ว จากนี้ก็อาจจะเกิดการแพร่ข้ามประเทศในยุโรปกันเอง

ถามว่าต้องมีการปลูกฝีป้องกันฝีดาษใหม่หรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า ยัง เพราะตอนนี้ทั่วโลกยังไม่มีวัคซีนฝีดาษคน (smallpox) มากขนาดนั้นแล้ว เพราะเป็นโรคที่ถูกกวาดล้างไปหมดแล้ว จะมีเพียงบางประเทศที่ยังเก็บวัคซีนนี้ไว้ ในประเทศไทยไม่มี กำลังมีการประสานงานหาวัคซีนอยู่ว่ามีประเทศใดเก็บไว้บ้าง หรือถ้าจะผลิตเพิ่มก็ต้องดูว่ามีบริษัทใดจะผลิตเพิ่มได้ เพราะคงต้องใช้เชื้อ

ซึ่งเชื้อ smallpox เดิมมีแค่ 2 ประเทศที่เก็บไว้ คือ สหรัฐอเมริกาและรัสเซีย แต่สามารถจำลองสายพันธุ์ออกมาทำวัคซีนได้ ไม่จำเป็นต้องใช้ตัวจริง ทั้งนี้ คนไทยที่เกิดก่อนปี 2523 จะได้รับการปลูกฝีป้องกันฝีดาษ (smallpox) ทุกคน แต่ที่เกิดหลังจากปี 2523 จะไม่ได้รับวัคซีนนี้เพราะโรคฝีดาษถูกกวาดล้างไปหมดแล้ว

ถามต่อว่า ความเสี่ยงของการระบาดโรคฝีดาษลิงจะเป็นระดับเดียวกับโควิดหรือไม่ นพ.จักรรัฐ กล่าวว่า น่าจะต่างกัน เพราะโควิดแพร่กระจายได้เร็ว แล้วแต่สายพันธุ์ ส่วนฝีดาษลิง เท่าที่ดูช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาก็แพร่กระจายได้ค่อนข้างเร็ว จะต้องติดตามสถานการณ์และข้อมูลเพิ่มขึ้นว่า กลไกในการติดเชื้อนอกจากการอยู่ใกล้ชิดแล้ว มีกลไกอื่นอีกหรือไม่ เพราะตอนนี้มีข้อมูลน้อยมาก ทั่วโลกรายงานผู้ติดเชื้อเพียง 100 ราย ส่วนสายพันธุ์แตกต่างจากที่เคยเจอหรือไม่ต้องติดตาม

นอกจากนี้ เดลีเมลรายงาน เบลเยียม กลายเป็นประเทศแรกที่ออกมาตรการเข้ม บังคับผู้ติดเชื้อฝีดาษลิงกักตัวเป็นเวลา 21 วัน หรือ 3 สัปดาห์ หวังสกัดไม่ให้เชื้อฝีดาษลิงระบาดในประเทศ เนื่องจากขณะนี้ มีการยืนยันการระบาดหนัก 14 ประเทศ และแพทย์เตือนถึงการเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ในกรณีของสหราชอาณาจักร

กระทรวงสาธารณสุขเบลเยียม ได้ออกมาตรการบังคับให้ผู้ที่ผลตรวจยืนยันติดเชื้อฝีดาษลิง (monkeypox) ที่กำลังระบาดในหลายประเทศ ส่วนใหญ่เป็นประเทศในทวีปยุโรป ให้ผู้ที่ได้รับการตรวจวินิจฉัยและผลออกมายืนยันว่าติดเชื้อฝีดาษลิง จะต้องกักตัวจนกว่าแผลจะหาย ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 21 วัน หรือ 3 สัปดาห์ เพื่อป้องกันไม่ให้เชื้อไวรัสฝีดาษลิงแพร่กระจายไปสู่ผู้อื่น หลังจากบันทึกผู้ป่วยในประเทศแล้ว 3 ราย

ในขณะที่แพทย์เตือนว่า สหราชอาณาจักรกำลังเผชิญกับการติดเชื้อที่เพิ่มขึ้นอย่างมาก และการตอบสนองของรัฐบาลก็ “สำคัญ” ในการควบคุมการแพร่กระจาย ดร.แคลร์ ดิวสแนป ประธานสมาคมสุขภาพทางเพศและเอชไอวีแห่งอังกฤษ กล่าวว่า การระบาดอาจมี ‘ผลกระทบอย่างใหญ่หลวง’ ต่อการเข้าถึงบริการสุขภาพทางเพศในสหราชอาณาจักร

องค์การอนามัยโลก (WHO) คาดว่าปริมาณผู้ป่วยเป็นโรคฝีดาษลิงจะเพิ่มขึ้นต่อเนื่องในหลายพื้นที่ทั่วโลกหลัง WHO อยู่ระหว่างการยกระดับการเฝ้าระวังไปในหลายประเทศที่ไม่เคยพบการระบาดของโรคดังกล่าวมาก่อน

ล่าสุด พบผู้ป่วยโรคชนิดนี้แล้ว 92 คน และต้องสงสัยว่าป่วยเป็นโรคข้างต้นอีก 28 คนใน 14 ประเทศทั่วโลก ได้แก่ ออสเตรเลีย, เบลเยียม, แคนาดา, ฝรั่งเศส, เยอรมนี, อิตาลี, เนเธอร์แลนด์, โปรตุเกส, สเปน, สวีเดน, สวิตเซอร์แลนด์, อิสราเอล, สหราชอาณาจักร และสหรัฐอเมริกา

หน่วยงานของ UN กล่าวเสริมว่า จะให้คำแนะนำและคำแนะนำเพิ่มเติมในอีกไม่กี่วันข้างหน้าสำหรับประเทศต่างๆ เกี่ยวกับวิธีการบรรเทา การแพร่กระจายของโรคฝีดาษลิง ซึ่งยังไม่มีใครเสียชีวิตจากโรคฝีดาษลิงจนถึงปัจจุบัน