ทำไมการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรก ถึงไร้ ‘ประวัติศาสตร์’

ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ

เมื่อวันที่ 3 เมษายนนี้ ผมไปร่วมอภิปรายเปิดตัวหนังสือ “การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกของสยาม : ปฐมบทประชาธิปไตยหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ.2475” โดย ภูริ ฟูวงศ์เจริญ (สถาบันพระปกเกล้า, 2566)

รองศาสตราจารย์ ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ ปัจจุบันเป็นคณบดีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีผลงานน่าประทับใจในพัฒนาการเมืองไทยจาก 2475 ถึง 2540

วิธีวิทยาของ อ.ภูริ ที่สำคัญคือการศึกษาทางประวัติศาสตร์ ไม่ใช่เพียงการอาศัยหลักฐานเก่าอย่างธรรมดาด้วยการลำดับเหตุการณ์

หากแต่ค้นคว้าลึกลงไปถึงเบื้องหลังความเป็นมาของเหตุการณ์ประวัติศาสตร์นั้นด้วย ทำให้ความเข้าใจต่อเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ไทยมีชีวิตและความหมายของมันด้วย

ไม่ใช่เป็นประวัติศาสตร์ที่เขียนใหม่โดยคนรุ่นหลังตามความเชื่อแบบปัจจุบันที่อาจไม่ตรงกับของเดิม

ข้อที่ผมประทับใจในหนังสือเล่มนี้ คือการให้ข้อมูลหลักฐานอย่างละเอียดเท่าที่จะหาได้ ของการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2476 ดำเนินต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 15 พฤศจิกายน รวมเวลา 45 วันถึงเสร็จสิ้นการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่นานที่สุด

เจอข้อมูลประหลาดอันนี้ คนที่ไม่เคยรู้ประวัติศาสตร์การเมืองไทยโดยเฉพาะระยะแรกก็งุนงงเป็นไก่ตาแตก ว่าทำไมการเลือกตั้งทั่วไปถึงได้กินเวลานานขนาดนั้น

ปัจจุบันนี้เราทราบและปฏิบัติจนคุ้นชินว่าการเลือกตั้งทั่วไปต้องสำเร็จเสร็จสิ้นในหนึ่งวันและทั้งประเทศด้วย

งานประวัติศาสตร์ที่ดีได้แก่งานที่สามารถเสนอการตีความเหตุการณ์ในอดีตนั้นเสียใหม่ให้ต่างไปจากที่คนทั่วไปเข้าใจและเชื่อว่าเป็นความจริง

หนังสือเล่มนี้บรรลุภารกิจของการค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ที่โดดเด่นมีความหมาย หลังจากอ่านจบผมเปลี่ยนความเชื่อและปรับทัศนคติต่อการเลือกตั้งทั่วไปในประเทศเกือบหมด

นั่นคือความเชื่อเดิมที่ว่าราษฎรไทยโดยส่วนใหญ่ไม่รู้ไม่เข้าใจในการเลือกตั้งทั่วไป ทำให้ตกในวังวนของการถูกซื้อเสียงขายเสียงและเลือกแต่ผู้แทนฯ ที่ไร้คุณภาพ จนนำมาสู่ทฤษฎีที่ว่าเมืองไทยนั้นเป็น “สองนคราประชาธิปไตย” ที่คนชนบทเลือก แล้วคนกรุงล้มโดยการรัฐประหาร

ทั้งหมดนั้นเป็นอคติและโมหาคติ เพราะมันไม่เป็นความจริงทางภววิสัยเลย หากเราถือว่าการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกในปี 2476 เป็นบรรทัดฐานที่แสดงถึงพฤติกรรมและความคิดการเมืองของราษฎรได้

แน่นอนการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกไม่เหมือนการเลือกตั้งทั่วไปที่จะตามมาอีกหลายครั้งในหลายทศวรรษจนถึงปัจจุบัน

แต่ถ้าพิจารณาในประเด็นหลักใหญ่ขององค์ประกอบในการเลือกตั้ง เช่น รัฐธรรมนูญซึ่งกำหนดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจำนวนครึ่งหนึ่งในสมัยที่ 2 และทั้งหมดในสมัยที่ 3 รายละเอียดในการเลือกตั้งอยู่ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการเลือกตั้ง และกฎระเบียบคำสั่งของรัฐบาลที่ควบคุมการเลือกตั้ง การมีส่วนร่วมของราษฎร เช่น การรับสมัครไปถึงการออกไปลงคะแนนเสียง จนถึงการประกาศรับรองผลการเลือกตั้ง

ทั้งหมดนี้ดำเนินไปในรูปการณ์ที่แทบไม่ต่างไปจากการปฏิบัติของการเลือกตั้งทั่วไปในปัจจุบันเลย

 

ที่โดดเด่นและต่างจากกฎหมายเลือกตั้งต่อๆ มาคือยุคแรกมีการคำนึงถึงสภาพการทำงานของราษฎร จึงพยายามกำหนดเวลาและสถานที่ไม่ให้เป็นอุปสรรคต่อการใช้ชีวิตตามปกติของราษฎร หากแต่ต้องทำให้จูงใจคนออกมาใช้สิทธิกันให้มาก

คนที่เสนอความคิดนี้คือหลวงประดิษฐ์มนูธรรม (ปรีดี พนมยงค์) ที่กล่าวว่า

“เวลาระหว่าง 09.00-15.00 น.เหมาะ เพราะชาวบ้านจะได้รับประทานอาหารเช้าเสียก่อน…จัดให้มีการเลี้ยงพระเพลที่วัดอันเป็นสาธารณสถาน จะมีสลากภัทร์อะไรด้วยก็ตามกับทั้งให้มีการรื่นเริงเช่น มีเพลง มีลิเก ช่วงชัย ฯลฯ เผื่อว่าพวกผู้ใหญ่จะได้มาทำบุญ หนุ่มๆ สาวๆ มารื่นเริงที่วัดแล้วขึ้นไปบนศาลาเพื่อออกเสียง เมื่อทำเช่นนี้การออกเสียงในเมืองไทยจะไม่เหงา ราษฎรจะครึกครื้น รู้สึกตื่นเต้นและเพาะให้เกิดความนิยมการปกครองแบบรัฐธรรมนูญได้อย่างดีทีเดียว” (หน้า 54)

รัฐธรรมนูญปี พ.ศ.2475 กำหนดให้มีรัฐสภาเดียวแต่มีสมาชิกสองประเภทคือแต่งตั้งกับเลือกตั้ง วิธีการเลือกตั้งให้เป็นแบบทางอ้อม 2 ขั้น

คือขั้นแรก ให้ราษฎรเลือกผู้แทนตำบลก่อน จากนั้นตัวแทนตำบลจึงไปเลือกสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรในระดับจังหวัด

ด้วยเหตุนี้ทำให้การเลือกตั้งทั้งกระบวนต้องกินเวลาถึง 45 วัน ไม่อาจทำได้ภายในวันเดียว

กฎเกณฑ์การนับคะแนนก็ไม่ซับซ้อน ระดับตำบลใช้เสียงข้างมากเรียงตามลำดับกันมา ส่วนผู้แทนระดับจังหวัด ผู้ชนะต้องได้คะแนนเกินกึ่งหนึ่งของผู้แทนตำบลที่มาออกเสียง

ถ้าไม่ได้ก็ให้จัดเลือกตั้งใหม่อีกรอบ คราวนี้เปลี่ยนมาใช้เกณฑ์คะแนนเสียงสูงสุดก็ได้

 

ส่วนคุณสมบัติมีการตัดสิทธิเลือกตั้งแต่แรกคือนักบวชและคนที่อยู่ระหว่างการถูกคุมขังตามหมายศาล กับผู้แปลงสัญชาติหรือมีบิดาเป็นคนต่างประเทศ

นอกนั้นก็เป็นเกณฑ์ปกติทั่วไป เช่น ในด้านผู้สมัครต้องมีอายุ 23 ปีขึ้นไป ห้ามประพฤติตัวเป็นคนเสเพลหรือติดยาเสพติด

ที่สร้างความลำบากและไม่พอใจแก่ผู้สมัครทั้งตำบลและจังหวัดคือต้องส่งรูปถ่ายขนาด 6 นิ้วจำนวน 4 รูป พร้อมกับชำระเงิน 4 บาทในกรณีผู้สมัครตำบล และ 50 บาทในกรณีผู้สมัครผู้แทนราษฎร คนร้องเรียนว่าค่าสมัครนี้แพงมาก

อีกข้อที่ไม่มีการใช้อีกต่อมาคือหากคะแนนสูงสุดเท่ากัน ให้คนมีอายุมากกว่าเป็นผู้ชนะไม่ว่าระดับตำบลหรือผู้แทนราษฎร

ประการสุดท้ายที่น่าสนใจคือออกกฎหมายให้นายจ้างอำนวยความสะดวกแก่ลูกจ้างในการไปออกเสียงเลือกตั้ง มิฉะนั้นถือว่ามีความผิด ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 50 บาท

ที่โดดเด่นและเลื่องลือไปทั่วโลกคือการให้สิทธิเลือกตั้งแก่สตรีด้วย ในขณะที่ประเทศประชาธิปไตยในตะวันตกต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะยอมให้สตรีมีสิทธิเลือกตั้ง

 

ข้อที่น่าประหลาดใจอีกประการคือเรื่องนโยบายในการหาเสียง เรามักเชื่อว่านักการเมืองไทยไม่ค่อยมีนโยบายที่สะท้อนความต้องการของราษฎร

แต่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกผู้สมัครสภาผู้แทนฯ ทุกคนมีนโยบายที่เสนอต่อราษฎรอย่างเป็นกิจจะลักษณะ

นโยบายที่มีการพูดถึงมากที่สุดคือด้านเศรษฐกิจ รวมถึงการพัฒนาเศรษฐกิจ สร้างอาชีพ การทำมาหากินและความอยู่ดีกินดีของราษฎร ยกเลิกภาษีรัชชูปการ ลดภาษีไม้ขีดไฟ ปรับอัตราค่าธรรมเนียมใบอนุญาตโรงฆ่าสุกร ขยายระบบบำนาญให้ครอบคลุมข้าราชการผู้น้อย ช่วยผู้ค้าน้ำมันก๊าดรายย่อยให้ทำธุรกิจดีขึ้น

ผู้สมัครจังหวัดปทุมธานี นายทองกระจาย รัชตวรรณ ประกาศความจงรักภักดีต่อระบอบรัฐธรรมนูญ พร้อมเสนอนโยบาย 8 ข้อดังนี้

1) จะพยายามอบรมพลเมืองให้รู้จักและเคารพรักรัฐธรรมนูญและหลัก 6 ประการ

2) ทำนุบำรุงพระพุทธศาสนา

3) ขจัดความ (บีบคั้น) และกดขี่จากผู้ที่มีอิทธิพลเหนือกว่า ช่วยขจัดทุกข์บำรุงสุขของพลเมืองทุกๆ ด้าน

4) สร้างโรงพยาบาลและสถานีอนามัยตามตำบลต่างๆ

5) ขอให้เปิดสหกรณ์ที่จังหวัดเพื่อผดุงฐานะการเงินของชาวนา พ่อค้าและการอาชีพของราษฎรให้ดีขึ้น

6) ติดต่อพวกพ่อค้าในกรุงเทพฯ และต่างประเทศเพื่อผดุงฐานะของพ่อค้าในจังหวัดให้ดีขึ้น

7) ควบคุมการศึกษาในจังหวัดให้ดีขึ้น ทำนุบำรุงครูประชาบาลให้อยู่ในระดับเดียวกับครูรัฐบาล

8) บำรุงสภาพของกำนันและผู้ใหญ่บ้านให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่

 

จากข้อมูลของผู้สมัครรับเลือกตั้งจากตำบลถึงจังหวัด ทำให้เห็นแนวความคิดเรื่องเศรษฐกิจในหมู่ราษฎรระยะนั้นว่าให้ความสนใจไปที่นโยบายสหกรณ์

ผมประเมินว่าความสนใจในเรื่องนี้น่าจะมาจากเค้าโครงการเศรษฐกิจของนายปรีดี พนมยงค์ ที่เสนอให้ใช้ระบบสหกรณ์เป็นรูปแบบหลักของการพัฒนาเศรษฐกิจต่อไป

แม้จะถูกวิพากษ์และต่อต้านจากคณะเจ้าและสายอนุรักษนิยมในคณะราษฎร จนกระทั่งก่อให้เกิดความแตกแยกภายในคณะราษฎร จนนำไปสู่ “การรัฐประหารโดยพระราชกฤษฎีกา” ภายใต้การนำของพระยามโนปกรณ์นิติธาดา นายกรัฐมนตรีคนแรกที่สั่งปิดรัฐสภาและงดใช้รัฐธรรมนูญบางมาตรา เป็นการยึดอำนาจจากคณะราษฎรมาชั่วขณะ

ก็เป็นผลมาจากความขัดแย้งในนโยบายเศรษฐกิจของปรีดีที่คณะเจ้าโจมตีว่าเป็นแบบโซเวียตคือคอมมิวนิสต์

แต่เมื่อดูการแสดงออกของผู้สมัครรับเลือกตั้ง ไม่พบว่ามีการโจมตีนโยบายสหกรณ์ในทางลบแต่ประการใด ส่วนใหญ่เห็นชอบกับแนวทางการทำงานของระบบสหกรณ์

แสดงว่าการสร้าง “ผี” คอมมิวนิสต์ยังไม่ประสบผลสำเร็จในตอนนั้น ต้องรอต่อมาอีกหลายปีเมื่อสหรัฐเองเป็นผู้สร้าง “ผีคอมมิวนิสต์” ตัวใหม่ให้ ถึงจะเป็นจริงขึ้นมาได้

 

จนทำให้ผมเกิดความประหลาดใจอย่างท่วมท้น ว่าเป็นไปได้อย่างไร ที่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่ราษฎรยังไม่เคยมีประสบการณ์ ไม่มีการเรียนและสอนเรื่องนี้ในโรงเรียนและสื่อมวลชนมาก่อนเลย กระทั่งไม่กี่เดือนก่อนประกาศการเลือกตั้ง ต้องพูดว่าเป็นการเลือกตั้งทั่วไปที่สุ่มเสี่ยงและน่าล้มเหลวที่สุด

ในเมื่อทุกภาคส่วนไม่ว่าฝ่ายรัฐบาลไปถึงราษฎร ล้วนไม่เคยรู้จักการเลือกตั้งทั่วไปเลย แล้วจะทำให้บรรลุผลสำเร็จโดยไม่มีปัญหาข้อขัดแย้งนานาประการอย่างที่เกิดในปัจจุบันนี้ได้อย่างไร

กระทั่งผู้เขียนเองต้องสรุปผลการเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกที่เป็นประวัติศาสตร์นี้ว่า

“การเลือกตั้งครั้งนี้มีสถานะเหมือนกับ “เวทีเปิด” (Arena) ระดับชาติเวทีแรกของผู้คนในสังคม แม้มีชาวสยามจำนวนไม่น้อยที่นิ่งเฉย ทว่า ขณะเดียวกันก็มีอีกมาก ไม่ว่าที่เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง หรือผู้ใช้สิทธิลงคะแนน ที่เข้ามามีส่วนร่วมในกระบวนการแสดงออกทางการเมืองครั้งใหญ่ที่สุดเท่าที่ประเทศเคยมีด้วยความกระตือรือร้น บ้างได้เก็บเกี่ยวประสบการณ์ในฐานะพลเมือง บ้างถือโอกาสนำเสนอแนวนโยบายที่ตนเองสนับสนุน บ้างพยายามเผยแพร่อุดมการณ์บางลักษณะ ทั้งหมดนี้ทำให้อิทธิพลที่การเลือกตั้งทั่วไปครั้งแรกมีต่อสังคมสยาม ซึ่งกำลังอยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อ ดูเข้มข้นไม่แพ้ หรือถึงกับมากกว่าเหตุการณ์เปลี่ยนแปลงการปกครองด้วยซ้ำ” (หน้า 5)

(ยังมีต่อ)