‘ก้าวไกล’ คาด น้ำท่วมไม่หนักเท่าปี 54 แต่ยังต้องมีแผนรับมือที่ดี – กทม. ยังไม่ต้องตระหนก

คณะทำงานเฉพาะกิจติดตามสถานการณ์น้ำของพรรคก้าวไกล คาดว่า รัฐบาลควรตระหนักว่า สถานการณ์น้ำท่วมไม่หนักเท่าปี 2554 แต่ยังต้องมีแผนรับมือที่ดี รวมถึงสื่อสารอย่างชัดเจน เพื่อไม่ให้ประชาชนตื่นตระหนก ขณะที่พื้นที่ กทม. ในแนวคันกั้นน้ำ ยังไม่ต้องกังวล

วันที่ 1 ตุลาคม 2564 สุรเชษฐ์ ประวีณวงศ์วุฒิ ส.ส. แบบบัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล ในฐานะประธานคณะทำงานเฉพาะกิจติดตามสถานการณ์น้ำ กล่าวถึงกรณีที่น้ำเต็มเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์แล้วว่า จากการวิเคราะห์แพทเทิร์นของน้ำท่วมในอดีต จะพบว่า สถานการณ์ปัจจุบันใกล้เคียงกับปี 2556 ไม่ได้น่าวิตกเหมือนปี 2554 คำถามสำคัญคือ เมื่อเขื่อนป่าสักฯ เต็มแล้ว พื้นที่ไหนน่าห่วง? คำตอบคืออยุธยา

“ผมมาลงพื้นที่ริมแม่น้ำป่าสักฯ แถวอยุธยา จากการดูหน้างานและวิเคราะห์ข้อมูลพบว่าสถานการณ์ไม่น่าห่วงเท่าปี 2554 แน่ๆ แต่ก็ไม่ได้แปลว่าจะไม่มีพื้นที่น้ำท่วมเลย มันเป็นธรรมชาติของพื้นที่แถบนี้ อยากให้ดูภาพ 16 ตุลาคม 2556 ว่าพื้นที่ใดเสี่ยงมากเป็นพิเศษ (พื้นที่สีฟ้าตามภาพ) เพื่อให้ประชาชนเตรียมรับมือได้อย่างทันท่วงทีครับ”

สุรเชษฐ์ ย้ำว่า แม้สถานการณ์ในปี 2556 จะแตกต่างจากปัจจุบัน ทั้งสภาพการใช้พื้นที่ ปริมาณน้ำ รวมถึงปัจจัยต่างๆ
แต่เมื่อเรามองภาพใหญ่ก็พอ “คาดการณ์” ได้ว่า ประชาชนในพื้นที่เหล่านี้ควรได้รับการแจ้งเตือนและประกอบการวางแผนบรรเทาความเดือดร้อนของหน่วยงานราชการในพื้นที่

ด้าน ณัฐพงศ์ เปรมพูลสวัสดิ์ นักผังเมืองและว่าที่ผู้สมัคร ส.ส. เขตสะพานสูง กทม. อธิบายเพิ่มเติมว่า จากข้อมูลที่มีในตอนนี้ หากไม่มีพายุเข้ามาเพิ่มเติม สถานการณ์ไม่น่าจะหนักถึงขั้นท่วมกทม. หนักแบบปี 2554 เพราะตอนนี้คลองระพีพัฒน์และคลองในพื้นที่รังสิตยังเหลือพื้นที่ที่รับน้ำได้ และ กทม. เองมีคันกั้นน้ำล้อมรอบ

หากดูข้อมูลย้อนหลังตามฐานข้อมูลน้ำท่วมซ้ำซากของ GISTDA พบว่า มีไม่บ่อยครั้งที่จะเกิดน้ำท่วมหนักจนผ่านคันกั้นน้ำมาได้ โดยคันกั้นน้ำรอบ กทม. จะมีคันชั้นในและคันชั้นนอก จะเว้นช่วงพื้นที่รับน้ำตามผังเมืองรวม กทม. เอาไว้ ทำให้พื้นที่น้ำท่วมซ้ำซากของ กทม. ได้แก่ เขตคลองสามวา เขตหนองจอก และเขตลาดกระบัง ในทางสถิติจึงถือว่าพื้นที่นี้มีความเสี่ยงมากกว่าพื้นที่อื่น ส่วนพื้นที่ภายในคันกั้นน้ำนั้นน้อยครั้งที่จะได้รับผลกระทบ เว้นแต่จะมีพายุลูกใหญ่เข้ามาอีก เพราะปริมาณน้ำน้อยกว่าปี 2554 มาก โดยพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยาและลำคลองยังคงต้องเฝ้าระวังและติดตามข่าวสารอย่างสม่ำเสมอ

ณัฐพงศ์ กล่าวว่า กทม. ได้ประกาศเตือน 11 ชุมชน จำนวน 239 ครัวเรือน ได้แก่ ได้แก่ ชุมชนซอยสีคาม ชุมชนราชผาทับทิมร่วมใจ ชุมชนปลายซอยมิตตาคาม ชุมชนท่าวัง ชุมชนวัดปทุมคงคา ชุมชนตลาดน้อย ชุมชนเจริญนคร 29/2 ชุมชนหลัง รพ.เจริญกรุงประชารักษ์ ชุมชนบางโคล่ ชุมชนโรงสี และชุมชนดุสิต นิมิตรใหม่

อย่างไรก็ตาม ณัฐพงศ์ ย้ำว่า นี่เป็นการประกาศเตือนเฉพาะชุมชนนอกคันกั้นน้ำเท่านั้น ไม่ใช่คนในพื้นที่ทั้งหมดในเขต
ดุสิต พระนคร สัมพันธวงศ์ บางคอแหลม ยานนาวา บางกอกน้อย และคลองสาน

ทั้งนี้ ณัฐพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย ขอให้ประชาชนทุกท่าน ทุกเขต ทุกจังหวัด ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพื่อรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างเหมาะสมและไม่ประมาท