‘จาตุรนต์’ ยันกลุ่มคนตุลา ไม่เคลื่อนไหวร่วมม็อ แต่ขอใช้ ‘ประสบการณ์’ แนะทางแก้ปัญหาแบบสันติ

‘จาตุรนต์’ ยันกลุ่มคนตุลา ไม่เคลื่อนไหวร่วมม็อบเยาวชน ขอใช้ ‘ประสบการณ์’ แนะทางแก้ปัญหาแบบสันติ

เมื่อเวลา 13.00 น วันที่ 2 เมษายน ที่ ลานประติมานุสรณ์ 6 ตุลา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ มีการแถลงข่าวเปิดตัว กลุ่ม OctDem หรือ กลุ่มคนตุลาเพื่อประชาธิปไตย นำโดย นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ, ศ.ดร.ธเนศ อาภรณ์สุวรรณ อดีตคณบดีคณะศิลปศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์, นายสมศักดิ์ ปริศนานันนทกุล อดีตรองประธานสภาผู้แทนราษฎร และ นพ.สุรพงษ์ สืบวงษ์ลี อดีตรองนายกรัฐมนตรี พร้อมทั้งแถลงเรียกร้องต่อขบวนยุติธรรม ให้ยึดมั่นในหลักนิติธรรม นิติรัฐ ตามหลักสากล ก่อนเดินทางไปยื่นหนังสือถึงประธานศาลฎีกา เพื่อแสดงเจตนารมณ์ของกลุ่มในเวลาประมาณ 14.10 น.

โดยเมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า กลุ่ม OctDem เรียกร้องให้ปล่อยตัวแกนนำนักศึกษา หรือทางกลุ่มจะร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่มนักศึกษา ในเวลานี้

นายจาตุรนต์ ฉายแสง อดีตประธานยุทธศาสตร์พรรคไทยรักษาชาติ กล่าวว่า เราคือผู้ที่ถูกกระทำในอดีต มีประสบการณ์ มีบทเรียนจากการปราบปราม เข่นฆ่า และใช้กฎหมายอย่างไม่เป็นธรรม จึงคิดว่าเราจะใช้ประสบการณ์ให้เป็นประโยชน์ ในการบอกกับสังคม หรือผู้ที่มีอำนาจทั้งหลาย ว่าการคุกคามต่อผู้เห็นต่างนั้นไม่มีประโยชน์ มีแต่จะเกิดความเสียหาย มีแต่จะเกิดความสูญเสีย เราจะเห็นว่า สิ่งที่จะทำได้ ก็คือช่วยเอาประสบการณ์มาเสนอ ให้เห็นถึงกระบวนการที่จะทำให้สังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติ ให้ผู้ที่เห็นต่างที่หลากหลายสามารถอยู่ร่วมสังคมเดียวกัน สร้างสังคมอยู่ร่วมกัน คือประการที่หนึ่ง

ประการที่สอง จากนี้ไป ถ้ามองว่าเราเป็นกระบวนการเคลื่อนไหวหรือไม่ ไม่ใช่การร่วมขบวนที่จะเคลื่อนไหวไปด้วยกัน เพราะเราคิดว่า หากเราทำอย่างนั้น ก็จะเป็นการเพิ่มจำนวนคนให้กับจำนวนของนักศึกษาได้ไม่ได้มากนัก แต่สิ่งที่จะเป็นประโยชน์มากกว่า ก็คือการรวบรวมประสบการณ์ ความรู้ ความเข้าใจต่อปัญหาของสังคม และนำเสนอต่อสังคม ต่อผู้เกี่ยวข้อง เพื่อให้นำข้อคิดเห็นเหล่านี้ไปเป็นประโยชน์ในการแก้ปัญหาความขัดแย้งในสังคม และทำให้เกิดความเป็นธรรมต่อทุกฝ่าย โดยเฉพาะความเป็นธรรมต่อผู้ที่เห็นต่าง

“การยื่นจดหมายนี้ ก็เป็นเพียงกิจกรรมหนึ่ง เป็นการเริ่มต้น เนื่องจากเราเห็นเป็นเรื่องเร่งด่วน แต่จากนี้ก็คงจะคิดกันต่อไปอีกว่า จะทำอย่างไรให้เกิดการแก้ปัญหาความขัดแย้งในทิศทางที่ถูกต้อง และมีความเป็นธรรม ซึ่งพวกเราก็คงจะทำอะไรได้อีกหลายอย่าง แต่คงไม่ใช่การร่วมขบวนการเคลื่อนไหว

“ในเวลานี้คงยังไม่มีอะไรแนะนำ เราเห็นพวกเขาในฐานะที่เป็นผู้ที่แสดงความเห็นต่าง มีความปรารถนาดีต่อสังคมแต่กำลังถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม ซึ่งเป็นเรื่องที่พวกเราคิดว่า เป็นเรื่องเร่งด่วน ทำยอย่างไรให้พวกเขาได้รับความเป็นธรรม ได้รับอิสรภาพ สามารถต่อสู้คดีได้อย่างไม่มีอะไรขัดขวางเสียก่อน” นายจาตุรนต์กล่าว

เมื่อถามว่าทางกลุ่มมีจุดยืนเดียวกับนักศึกษาหรือไม่ที่อยากให้รัฐบาลชุดนี้ออกไป

นายจาตุรนต์เปิดเผยว่า ในเรื่องนี้ เมื่อวานก็มีการหารือกับคณะทำงาน กล่าวคือ หากถามเป็นรายคน ก็คงมีจำนวนมากที่ไม่เห็นด้วยกับการบริหารงานของรัฐบาลชุดนี้ และเห็นความล้มเหลว แต่ในการทำงานในลักษณะที่เป็นกลุ่ม เราไม่ได้พิจารณาเรื่องนี้ร่วมกัน แม้ส่วนใหญ่จะตอบไปในทิศทางคล้ายๆ กัน คนทั้งประเทศก็คิดอย่างนี้

“ต้องทำความเข้าใจว่า เราเริ่มจากการที่คิดว่า จะใช้ประสบการณ์ของเราให้เป็นประโยชน์ต่อสังคมได้อย่างไร ประสบการณ์นี้เป็นประสบการณ์ที่คนจำนวนมากไม่มี เราไม่ได้พิเศษ เพียงแต่เราเป็นผู้ที่ถูกกระทำเป็นเหยื่อในอดีต และเข้าใจถึงความเจ็บปวด เข้าใจว่าความไม่เป็นธรรม จากการใช้อำนาจอย่างไม่เป็นธรรมเป็นปัญหาต่อสังคมอย่างไร”