ชาวพม่าประกาศอารยะขัดขืน ตีหม้อ-บีบแตร ต้านรัฐประหารดังสนั่นเมือง

กลายเป็นไวรัลไปในทันทีหลังจากที่ในช่วงค่ำของวานนี้ (2 ก.พ.) ชาวเมียนมาได้ออกมาแสดงอารยะขัดขืนเพื่อต่อต้านการรัฐประหารโดยกองทัพในหลายพื้นที่ทั่วกรุงย่างกุ้งเมืองหลวงเก่าของประเทศเมียนมา พวกเขาต่างพากันส่งเสียงเคาะถ้วย ถัง กะละมัง หม้อ กระทะหรือสิ่งของต่าง ๆ ตลอดจนบีบแตรรถนานนับชั่วโมง เพื่อแสดงความโกรธเกรี้ยวต่ออำนาจประชาธิปไตยที่ถูกยึดไปโดยกองทัพหลังทำรัฐประหาร

ผู้สื่อข่าวเมียนมา ผู้ใช้ทวิตเตอร์ @AungNaingSoeAn ได้ระบุว่า “นครย่างกุ้งกำลังเคาะไล่ปีศาจร้าย ประชาชนใจกลางเมืองต่างพากันเคาะหม้อและบีบแตรรถยนต์ ต่อต้านรัฐประหาร” และผู้สื่อข่าวจาก AJ English อดีตผู้สื่อข่าวของรอยเตอร์ประจำเมียนมา ได้ระบุว่า “เสียงดังกระหึ่มเบื้องหลังคือเสียงของประชาชนทุกคนที่เคาะกลองหรือสิ่งของเพื่อส่งเสียงดัง แสดงการไม่ยอมรับการทำรัฐประหาร เริ่มตั้งแต่สองทุ่มมาจนถึงตอนนี้ ราวกับเป็นเสียงของคนทั้งเมือง”

พร้อมทั้งร่วมกันติดแฮชแท็ก #voiceoutfordemocracy เพื่อให้ชาวเน็ตทั่วโลกได้ใช้เพื่อแสดงความเห็นเดี่ยวกับการรัฐประหารในเมียนมา และต่อต้านการยึดอำนาจของกองทัพ รวมทั้งมีการใช้รูปของนางอองซานซูจีหรือสีแดงเป็นรูปโปรไฟล์ รวมทั้งยังออกมาจุดเทียนหรือเรียงไฟเป็นคำว่า Fuck The Coup และชูสามนิ้ว เพื่อต่อต้านและไม่ยอมรับรัฐบาลทหาร

ในขณะเดียวกันบุคลากรทางแพทย์ในโรงพยาบาลรัฐของเมียนมา ได้ออกมาขู่ว่าพวกเขาจะหยุดงาน เพื่อเป็นการแสดงถึงจุดยืนและประท้วงรัฐบาลทหาร ทั้งยังบอกว่ารูปแบบอารยะขัดขืนนี้จะเกิดขึ้นในบุคลากรของรัฐ รวมไปถึงโรงพยาบาลรัฐอื่น ๆ ด้วย แม้ว่าประเทศกำลังประสบกับปัญหาโรคโควิด-19 ระบาดอย่างหนักก็ตาม

โดยมีข้อเรียกร้อง 3 ประการคือ 1. ปล่อยตัวประธานาธิบดี นางอองซานซูจี ให้เร็วที่สุด 2. ให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่นานาชาติในการดำเนินการปรองดองในประเทศ 3. ให้เปิดประชุมสภาตามผลการเลือกตั้งของประชาชนโดยเร็ว ส่วนแพทย์ที่ทำงานในโรงพยาบาลรัฐกล่าวกว่าพวกเขาจะนัดกันหยุดงาน ในขณะที่แพทย์บางรายก็เลือกที่จะประท้วงเงียบโดยใช้วิธีติดสัญลักษณ์

ทั้งยังมีภาพเจ้าหน้าที่ทางการแพทย์พม่า ได้เขียนข้อความลงในชุดพีพีอี โดยมีข้อความภาษาอังกฤษว่า Save Myanmar We want elected NLD government only หรือ พวกเราต้องการรัฐบาลเลือกตั้งเอ็นแอลดี เท่านั้น

นอกจากนี้ สิ่งที่ทำให้ถูกมองถึงการเชื่อมโยงกันระหว่างพม่ากับประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทยคือ ผู้ประท้วงในพม่าเริ่มใช้สัญลักษณ์ชูสามนิ้ว (Three Fingered Salute) ซึ่งเป็นเอกลักษณ์จากภาพยนตร์ไตรภาคอย่าง The Hunger Games ก่อนถูกนำมาใช้เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้ในไทยมาตั้งแต่การรัฐประหารปี 2557 และปรากฎอีกครั้งในการเคลื่อนไหวของผู้ประท้วงนำโดยกลุ่มคนรุ่นใหม่ในไทยตลอดปี 2563

ทั้งนี้ ผู้ประท้วงชาวพม่าเริ่มนำสัญลักษณ์ชูสามนิ้วจนเป็นที่เผยแพร่ ตั้งแต่นักการเมือง ไปจนถึงคนดังในพม่า ทั้งการแสดงระดับปัจเจกและงานศิลปะอย่างกว้างขวาง เป็นการสะท้อนการส่งต่อแนวคิดการต่อต้านอำนาจเผด็จการที่ไทยและพม่ากำลังเผชิญร่วมกัน