‘จ๊อบส์ ดีบี’ เผยเด็กจบใหม่ร่อนสมัครงาน 4 ล้านใบ ธุรกิจอีคอมเมิร์สรับมากสุด

เปิดสถิติหางาน JobsDB เผยปี’63 เด็กจบใหม่หว่านใบสมัคร 4 ล้านใบ พุ่ง 18% ชี้ 10 อันดับงานยอดฮิตที่กลุ่ม entry level สนใจ “พนักงานขาย-บริการลูกค้า” อีคอมเมิร์ซต้องการพนักงานเพิ่มมากสุด ทั้งกลุ่มค้าส่ง-ค้าปลีก ไอที อาหาร-เครื่องดื่ม

นางสาวพรลัดดา เดชรัตน์วิบูลย์ ผู้จัดการประจำประเทศไทย บริษัท จัดหางาน จ๊อบส์ ดีบี (ประเทศไทย) (JobsDB) เปิดเผย “ประชาชาติธุรกิจ” ว่า จากที่บริษัทได้รวบรวมข้อมูลการยื่นสมัครงานของนักศึกษาจบใหม่ หรือกลุ่มคนหางาน entry level (มีประสบการณ์ทำงาน 0-2 ปี) ที่ยื่นใบสมัครงานผ่านแพลตฟอร์มของ JobsDB ในรอบปี 2563 ที่ผ่านมา พบว่ามีนักศึกษาจบใหม่ยื่นใบสมัครงานทั้งสิ้น 4 ล้านใบ เพิ่มขึ้น 18% เมื่อเทียบกับการยื่นใบสมัครงานในปี 2562 ที่ 3.4 ล้านใบ

อย่างไรก็ตาม หากโฟกัสเฉพาะช่วงครึ่งหลังของปี ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่นักศึกษาจบใหม่หางานทำ (ก.ค.-ธ.ค.) เป็นประจำทุกปี พบว่าในปี 2563 จำนวนใบสมัครงานเพิ่มขึ้นจากปี 2562 ประมาณ 35%

พิษโควิดทำให้ต้องดิ้นหางานใหม่

ขณะเดียวกันภาพรวมของจำนวนใบสมัครงานจากผู้สมัครทุกกลุ่ม (segment) พบว่าขยายตัวเพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยปี 2562 มีการยื่นใบสมัครรวม 11 ล้านใบ เทียบกับปี 2563 มีจำนวน 12.1 ล้านใบ เพิ่มขึ้นมา 10% ส่วนหนึ่งมาจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบทำให้เกิดการว่างงาน หรือถูกเลิกจ้าง ทำให้คนแทบทุกกลุ่มต้องหางานใหม่

สำหรับครึ่งปีหลังของปี 2564 คาดว่าจะมีจำนวนใบสมัครงานจากกลุ่ม entry level มากขึ้นกว่าครึ่งปีหลังของปี 2563 เนื่องจากผลกระทบจากโควิด-19 ที่ทำให้นักศึกษาจำนวนมากยังไม่มีงานทำมาตั้งแต่ปี 2563 ทำให้ยอดผู้ต้องการสมัครงานสะสมมาในปีนี้ ซึ่งจะมารวมกับกลุ่มนักศึกษาที่กำลังจะจบเทอม 2 ปีการศึกษา 2563 ส่วนใหญ่จะจบการศึกษาประมาณเดือน เม.ย. 2564

ท็อปเทน-พนักงานขายฮิตสุด

นางสาวพรลัดดากล่าวว่า หากเจาะลึกลงไปในกลุ่มที่ entry level สนใจสมัครมากที่สุดในปี 2563 เรียงตามลำดับความสนใจพบว่า 10 อันดับสูงสุด ได้แก่ 1.กลุ่มสายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจ 2.แอดมินและเอชอาร์ 3.การตลาดและ พี.อาร์. 4.วิศวกร 5.การขนส่งและโลจิสติกส์ 6.บัญชี 7.มีเดียและโฆษณา 8.อีคอมเมิร์ซ 9.จัดซื้อ 10.การผลิต

“เหตุผลที่กลุ่มสายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนาธุรกิจมีผู้สมัครสูงสุดเป็นอันดับ 1 ติดต่อกันมานานหลายปี เพราะงานตำแหน่งเหล่านี้เป็นส่วนหารายได้เข้าบริษัท ทำให้แต่ละบริษัทต้องการคนกลุ่มนี้มาก ซึ่งการรับเด็กจบใหม่เป็นกลยุทธ์หนึ่งในการช่วยลดต้นทุนบริหารจัดการ เพราะเงินเดือนเริ่มต้นยังไม่สูงมาก”

อีคอมเมิร์ซรับคนเพิ่มมากสุด

ขณะที่การเติบโตของสายงานที่ entry level สนใจยื่นใบสมัคร เทียบระหว่างปี 2562 และ 2563 พบว่า ตำแหน่งงานในกลุ่มธุรกิจอีคอมเมิร์ซเติบโตสูงสุดถึง 164% ถึงแม้จำนวนใบสมัครอาจจะไม่มากเมื่อเปรียบเทียบกับสายงานอื่น แต่การเติบโตสูงที่สุด อันดับ 2 คือ การเงินการธนาคาร เติบโตขึ้น 51% อันดับ 3 กลุ่มสายงานขาย บริการลูกค้า และพัฒนา เติบโต 51% อันดับ 4 แอดมินและเอชอาร์ เติบโต 45% และอันดับ 5 การขนส่งและโลจิสติกส์ เติบโต 43%

โดยอุตสาหกรรมที่ประกาศรับสมัคร 10 อันดับสูงสุดในปี 2563 เรียงดังนี้ 1.ธุรกิจค้าส่งและค้าปลีก 2.ธุรกิจไอที 3.ธุรกิจอาหารเครื่องดื่มและการจัดเลี้ยง 4.ธุรกิจการซื้อขายและการจัดจำหน่าย 5.ธุรกิจการผลิต 6.ธุรกิจตัวแทนส่งออกสินค้าหรือนำเข้าสินค้า 7.ธุรกิจโฆษณา ประชาสัมพันธ์ และการตลาด 8.ธุรกิจการเงิน 9.ธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ 10.ธุรกิจยานยนต์

รุ่นใหม่ทำงานในระบบน้อยลง

นางธิดารัตน์ กาญจนวัฒน์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัทอเด็คโก้ ประเทศไทย กล่าวว่า จากฐานข้อมูลของอเด็คโก้ในส่วนที่เปิดให้คนฝากประวัติเพื่อสมัครงานกับบริษัทต่าง ๆ ฟรี พบว่า ตั้งแต่ปี 2562 มีจำนวนผู้สมัครงานที่อายุ 20-25 ปี (เพิ่งเรียนจบ และคนกลุ่ม Gen Z) ลดลงประมาณ 25% สาเหตุมาจากเด็กที่เพิ่งเรียนจบไม่สนใจทำงานในระบบมากขึ้น แต่สนใจเป็นผู้ประกอบการ หรือทำกิจการของตนเองมากกว่า และหลายคนเลือกทำการค้าขายออนไลน์ เพราะง่าย ได้เงินเร็ว มีอิสระ

บวกกับวัฒนธรรมไทยที่ครอบครัวยังคอยช่วยเหลือบุตรหลานแม้ว่าจะเข้าสู่วัยทำงานแล้ว ทำให้เด็กไทยไม่ดิ้นรนหางานทำเหมือนกับเด็กในประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะชาติตะวันตกที่เมื่อถึงวัยทำงานผู้ปกครองจะให้เด็กออกไปใช้ชีวิตเอง เด็กในประเทศเหล่านั้นจึงยอมทำงานที่อาจมีคุณค่าน้อย หรืออาจไม่ใช่งานที่อยากทำ แต่ต้องทำเพราะต้องหาเงินไปดูแลตัวเอง

เปิดสเป็กงานที่ใช่ของ Gen Z

Gen Z มีความคิดต่างกับคนรุ่น baby boomers และ Gen X อย่างสิ้นเชิง เพราะเติบโตในช่วงที่โลกมีการเปลี่ยนแปลงรุนแรง เริ่มตั้งแต่ digital disruption ต่อด้วยวิกฤตโควิด-19 ทำให้คน Gen Z มีแคแร็กเตอร์ที่ต่างออกไป มีทัศนคติไม่มองอะไรยาว ๆ และไม่อยู่กับที่เดิมนาน ๆ พวกเขามองว่าไม่มีอะไรคงที่

นอกจากนั้นคน Gen Z เป็นวัยที่มีอุดมการณ์สูง จะไม่ทำงานหากรู้สึกว่ากำลังทำสิ่งที่ไม่มีคุณค่าต่อตัวเองและบริษัทมากพอ และคนวัยนี้ไม่ได้มองว่างานคือชีวิตเหมือนคนรุ่นเก่า จึงมองหาบริษัทที่มีนโยบาย และวัฒนธรรมองค์กรที่ทันสมัย เช่น ทำงานจากที่ไหนก็ได้ มีชั่วโมงการทำงานยืดหยุ่นให้เลือก ลักษณะที่เด่นชัดมากคือ เด็กรุ่นใหม่ไม่มองเรื่องความสำเร็จด้านผลกำไรของบริษัทต่าง ๆ อย่างเดียว แต่มองหาบริษัทที่ให้ความสำคัญกับการขับเคลื่อนทางสังคมด้วย

ทักษะสำคัญกว่าใบปริญญา

นางธิดารัตน์กล่าวว่า ต่อจากนี้ไปไม่เกิน 10 ปี ปริญญาตรีจะไม่ใช่ปัจจัยสำคัญในการได้งาน เพราะผู้ประกอบการเลือกคนจากทักษะมากกว่า อาจแค่มีใบประกาศนีบัตรรับรองการเรียนหลักสูตรระยะสั้นกับสถาบันระดับโลกทางออนไลน์

ดังนั้น เด็ก Gen Z ต้องคิดใหม่ และใช้คอนเซ็ปต์ reskill (การเพิ่มทักษะใหม่) และ upskill (การพัฒนาทักษะเดิมที่มีอยู่ให้แข็งแกร่งมากขึ้น) ที่เมื่อก่อนถูกใช้กับคนที่ทำงานแล้วมาใช้กับตัวเองช่วงระหว่างรองาน ด้วยการเรียนหลักสูตรระยะสั้นเพื่อเพิ่มทักษะที่เป็นที่ต้องการในตลาดแรงงาน เช่น ทักษะด้านดิจิทัล การจัดข้อมูลจำนวนมหาศาล (big data management) เป็นต้น เพราะความรู้ที่เด็กรุ่นใหม่เรียนจากมหาวิทยาลัยอาจจะใช้ไม่ได้จริงในโลกทำงาน

มหา’ลัยต้องช่วยเด็กมีงานทำ

ด้าน รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ คณบดีคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat Business School-TBS) กล่าวว่า เทอม 2 ปีการศึกษา 2562 เด็กจบจาก TBS ประมาณ 700 คน ได้งาน 99.13% ส่วนใหญ่มักถูกทาบทามจากบริษัทที่มี MOU กับมหาวิทยาลัย ตั้งแต่ใกล้เรียนจบ เพราะเรามีหน่วยงาน CCC (Career Counseling Center) ที่ประสานงานกับผู้ว่าจ้าง เช่น บริษัทตรวจสอบบัญชี บริษัททำธุรกิจการเงินการธนาคาร บริษัทโลจิสติกส์ เพื่อให้เด็กของเรามีที่ฝึกงาน และมีตำแหน่งงานรองรับ

ทั้งนี้ งานสายบัญชีมีความต้องการคนมาโดยตลอด เพราะคนที่ทำวิชาชีพด้านนี้อายุงานได้ 3-4 ปีก็จะหันไปทำอย่างอื่น เพราะการอยู่กับตัวเลข และข้อกฎหมายค่อนข้างสร้างความเครียด ทำให้บริษัทต่าง ๆ ยังต้องการแรงงานด้านนี้แม้จะเป็นช่วงวิกฤต แต่อาจจะเลือกรับคนมากกว่าเดิม โดยเน้นคนที่เป็น talent (มีความสามารถสูง) ภาคการศึกษาไทยจึงต้องปรับตัว ปรับหลักสูตรช่วยนักศึกษาให้เป็นที่ต้องการของตลาดแรงงานด้วย

“อย่างของ TBS เราจะให้ภาคธุรกิจมาแนะแนวทางว่าควรจะเสริมทักษะอะไรให้นักศึกษา ที่สอดคล้องกับสภาวการณ์ทางธุรกิจในยุคนี้ เพราะการศึกษาต้องไม่พึ่งพิงเรื่องวิชาการอย่างเดียว แต่ต้องเชื่อมโยงกับภาคธุรกิจ ทั้ง 2 ส่วนนี้ต้องเดินไปพร้อม ๆ กัน โดยสัดส่วนการมีส่วนร่วมของภาคธุรกิจในทุกหลักสูตรต้องไม่น้อยกว่า 30%” รศ.ดร.รุธิร์กล่าว