กลุ่มบีเจซีทุ่มเงินกว่า 3,800 ล้านบาทซื้อ “บิ๊กซี” ออกจากตลาดหุ้น เปิดแผนรุกกระจายสาขาออกสู่ภูมิภาค ตั้งศูนย์บัญชาการรายพื้นที่

นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล กรรมการบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) ทำหนังสือแจ้งกรรมการและผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.) ว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติให้ถอนหุ้นทั้งหมดของบริษัทออกจากตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นไปตามข้อเสนอจากกลุ่มบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) (ซึ่งเป็นบริษัทที่กลุ่มนายเจริญ สิริวัฒนภักดีถือหุ้นใหญ่) และบริษัท เสาวนีย์ โฮลดิ้ง จำกัด ซึ่งทั้งสองบริษัทเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในสัดส่วน 97.94% ของหุ้นที่ออกจำหน่ายแล้วทั้งหมดของบริษัท สาเหตุที่เพิกถอนเพื่อแก้ปัญหาและลดภาระค่าธรรมเนียมที่จะเกิดขึ้นจากการกระจายการถือหุ้นที่ไม่เป็นไปตามหลักเกณฑ์การดำรงตำแหน่งสถานะบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดยเสนอซื้อในราคา 225 บาทต่อหุ้น มีธนาคารไทยพาณิชย์เป็นที่ปรึกษาทางการเงินและมีบริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระ ทั้งนี้ จะมีการประชุมชี้แจงเพื่อเสนอแนะความเห็นเกี่ยวกับการขอถอนหุ้นและประชุมผู้ถือหุ้นเพื่อขอมติในวันที่ 16 มิถุนายนนี้

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การซื้อหุ้นคืนครั้งนี้ทางกลุ่มบีเจซีจะต้องใช้เงินกว่า 3,823 ล้านบาทเพื่อซื้อหุ้นคนจากผู้ถือหุ้นรายอื่นที่ถือหุ้นอยู่อีก 2.06%

สำหรับผลประกอบการไตรมาสที่ 1/2560 ของบริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ จำกัด (มหาชน) น.ส.รำภา คำหอมรื่น รองประธานฝ่ายบัญชีและการเงิน บริษัท บิ๊กซี ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ทำหนังสือแจ้งกรรมการและผู้จัดการตลท.ว่า ในไตรมาสที่ 1/2560 บริษัทมีรายได้ทั้งสิ้น 27,988 ล้านบาท ลดลง 4,903 ล้านบาท หรือลดลง 14.9% เมื่อเทียบกับไตรมาสเดียวกันของปีก่อน เพราะรายได้จากการขายสินค้าลดลง 16.5% โดยเฉพาะยอดขายจากสาขาเดิมที่ลดลงในอัตรา 20% มาจากการปรับกลยุทธ์เพื่อมุ่งการขายที่มีคุณภาพมากกว่าปริมาณการขาย แต่กำไรสุทธิเพิ่มขึ้น 65 ล้านบาทหรือเพิ่มขึ้น 4.3% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อนโดยทำได้ 1,572 ล้านบาท จากอัตรากำไรขั้นต้นและการเติบโตอย่างแข็งแกร่งของรายได้ค่าเช่าและค่าบริการ

ส่วนภาพรวมการดำเนินธุรกิจนั้นในไตรมาสนี้รายได้จากสาขาเดิมยังติดลบอยู่แต่เริ่มโตขึ้นอย่างชัดเจนเมื่อเทียบกับไตรมาสก่อนหน้า โดยเฉพาะอัตราการเติบโตของสินค้ากลุ่มที่ไม่ใช่อาหาร นอกจากนี้ยังเร่งกระจายศูนย์การดำเนินงานสู่ภูมิภาคเพื่อมุ่งสู่การเป็น “ห้างคนไทย หัวใจคือลูกค้า” โดยเริ่มดำเนินงานแบบ “ศูนย์บัญชาการภูมิภาค” ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 10 ศูนย์ ซึ่งจะทำให้ใกล้ชิดกับลูกค้าแต่ละภูมิภาคเพราะมีผู้อำนวยการศูนย์เป็นผู้ดูแลการดำเนินงานของสาขาทุกฟอร์แมตในเขตพื้นที่ของศุนย์นั้นๆ ทั้งนี้ ในไตรมาสที่ 1/2560 บริษัทเปิดสาขามินิบิ๊กซีทั้งส้น 11 สาขา ในจำนวนนี้มี 5 สาขาเป็นแฟรนไชส์ และสาขาใหม่จากการรวมกิจการกับห้าง เอ็ม เอ็ม เม็กก้า มาร์เก็ต 2 สาขา ทำให้บิ๊กซีมีสาขาไฮเปอร์มาเก็ตทั้งสิ้น 131 สาขา (บิ๊กซีซูเปอร์เซ็นเตอร์และบิ๊กซีเอ็กซืตร้า) บิ๊กซีมาร์เก็ต 59 สาขา มินิบิ๊กซี 475 สาขา (42 สาขาเป็นแฟรนไชส์) และร้านขายยาเพรียว 142 สาขา