“คณะก้าวหน้า” ชวน “อ่านเปลี่ยนโลก” สร้างพื้นที่แลกเปลี่ยน “ธงชัย” ชมเยาวชนเปิดเพดานเปลี่ยนสังคม

วันที่ 4 ตุลาคม 2563 ที่ชั้น 5 อาคารไทยซัมมิททาวเวอร์ คณะก้าวหน้า โดย Common School จัดโครงการเปิดตัว “Reading Revolution – อ่านเปลี่ยนโลก” ในฐานะโครงการห้องสมุดขนาดสำหรับประชาชน เพื่อสนับสนุนการอ่าน ส่งต่อหนังสือ ขยายพรมแดนความรู้ และเป็นพื้นที่สำหรับการพบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันระหว่างผู้อ่านร่วมกัน โดยในเบื้องต้น โครงการได้คัดหนังสือมาหลายเล่มจากหลายสาขา ไม่ว่าจะเป็นประวัติศาสตร์ไทย ประวัติศาสตรโลก ประวัติศาสตร์ร่วมสมัย สังคมวิทยา วรรณกรรม ทฤษฎี ปรัชญาการเมือง ฯลฯ เบื้องต้นคัดมาทั้งสิ้นจำนวน 21 ปกจาก 12 สำนักพิมพ์ โดยแต่ละปกมีประมาณ 20 เล่ม และจะมีการคัดหนังสือมาให้อ่านมากขึ้นในอนาคต โดยยึดหลักว่าหนังสือที่นำมาแบ่งปันกันอ่านให้เป็นทรัพย์สินร่วมกัน เมื่อใช้แล้วเอามาส่งคืนให้เพื่อนคนอื่นได้อ่านต่อ จะมายืมหนังสือที่ชั้น 5 อาคารไทยซัมมิททาวเวอร์ หรือหากอยู่ต่างจังหวัดก็ลงทะเบียนไว้ให้ส่งไปรษณีย์ให้ก็ได้ โดยมีเวลา 1 เดือนในการยืมอ่านก่อนส่งเวียนกลับมาให้คนอื่นได้อ่านต่อไป นอกจากนี้จะมีการจัดกิจกรรม “Reading Talk” เป็นเวทีพูดคุย แลกเปลี่ยนกับผู้เขียนหนังสือต่างๆ อย่างน้อย 2 ครั้งต่อเดือน

“ปิยบุตร” เผยที่มาจากความกระหายใคร่รู้ของเยาวชน – ย้ำประเทศไทยเข้าสู่จุดวิกฤติ “อำนาจนำ” ไม่มีใครเชื่อโดยสมัครใจแล้ว-ถึงเวลาเข้าช่วงชิง

​ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงต้นของงาน นายปิยบุตร แสงกนกกุล เลขาธิการคณะก้าวหน้า กล่าวเปิดตัวโครงการ ถึงที่มาและวัตถุประสงค์ของโครงการดังกล่าว โดยแรกเริ่มนายปิยบุตรกล่าว ว่าหนังสือสำหรับตนแล้วมีนัยยะความหมายในสองมิติ คือในฐานะที่เป็นวัตถุ/สิ่งของชิ้นหนึ่ง และในแง่ตัวบท ความรู้ความคิดที่อยู่ในนั้น เป็นตัวอักษรที่เกิดจากการกลั่นกรอง วิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำหน้าที่ให้ความรู้วามคิดกับคน จนหลายครั้งเกิดขึ้นเป็นปรากฏการณ์ทางการเมือง ให้ความรู้ความคิดกับคนจนลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลงหรือทำอะไรสักอย่าง หนังสือเกิดขึ้นได้หลายครั้งหลายหน ตอนพิมพ์ครั้งที่หนึ่งอาจจะอยู่ในวงแคบๆ แต่เกิดครั้งที่สองเมื่อสถานการณ์ทางการเมืองเปลี่ยนแปลงไป เรียกร้องให้คนในยุคสมัยต้องนำกลับมาอ่านกันอีกครั้ง เช่นหนังสือของจิตร ภูมิศักดิ์ หรือหนังสือประวัติศาสตร์ที่เพิ่งสร้าง โดยสมศักดิ์ เจียมธีรสกุล ที่กลับมาได้รับความนิยมจนหาในท้องตลาดได้ยากแล้วขณะนี้ หรือหนังสือบางเล่มเกิดครั้งเดียว วางขายวันแรกก็ได้รับความนิยม เขียนขึ้นมารับใช้สถานการณ์การเมืองในขณะนั้นเลย เช่น Common Sense โดย Thomas Paine หรือ Qu’est-ce que le Tiers-État? (อะไรคือฐานันดรที่สาม) ของ Sieyès เป็นต้น
​ “ความคิดที่ถูกเขียนออกมาแล้วถ้าไม่มีใครอ่านก็ไม่มีใครรู้ แต่เมื่อถูกอ่านแล้ว อย่างน้อยที่สุดจะเกิดปฏิบัติการในหัวสมองของเราทันที จากการอ่านและคิดตาม บางเล่มมีอานุภาพทำลายล้างความคิดความเชื่อเดิมได้หมด เกิดสิ่งที่วันนี้เรียกว่าอาการตาสว่างขึ้นทันที หนังสือบางเล่มกระตุ้นว่าจะนั่งอยู่บ้านเฉยๆไม่ได้ ต้องออกไปทำอะไรบางอย่างเพื่อการเปลี่ยนแปลง เกิดจินตนาการใหม่ๆ ความเป็นไปได้แบบใหม่ๆ ตั้งแต่ผู้เขียนออกมา ผลิตเป็นหนังสือ จนคนอ่านเอาไปคิดเกิดเป็นแรงบันดาลใจจนปฏิบัติการ นี่จึงเป็นที่มาของโครงการ Reading Revolution – อ่านเปลี่ยนโลก เพราะเราเชื่อว่าการอ่านเป็นกุญแจดอกแรกสู่ความรู้ และกุญแจดอกนี้จะช่วยเปิดสมอง ความคิดของคนในการออกไปเปลี่ยนแปลงโลกได้” นายปิยบุตร กล่าว

​นายปิยบุตร ยังกล่าวถึงที่มาของโครงการนี้ ว่าจุดเริ่มต้นมาจาก Twitter ที่ตนเข้าไปอ่านแล้วพบว่า ในระยะหลังเยาวชนเริ่มกลับมาอ่านหนังสือกันเยอะมาก แต่ละเล่มเป็นหนังสือที่มีเนื้อหาหนัก แต่ปัญหาก็คือหนังสือแต่ละเล่มมีราคาแพง อุตสาหรรมการพิมพ์ที่ได้รับการสนับสนุนน้อยทำให้หนังสือตามท้องตลอดมีราคาแพง ห้องสมุดในประเทศไทยที่ได้มาตรฐานก็มีไม่มาก และด้วยสภาพการจราจรก็เดินทางไปยากลำบาก ก็เลยคิดกันว่าน่าจะลงทุนสร้างห้องสมุดเล็กๆ ขึ้นมาเพื่อตอบสนองกับความต้องการอ่านที่เพิ่มขึ้นนี้ โดยมีแนวคิดหลักคือ “อ่านอะไร – เข้าถึงการอ่านได้อย่างไร – อ่านกับใคร” ทำให้โครงการนี้มีวัตถุประสงค์ 3 ข้อ 1. อ่านอะไร? การคัดหนังสือในรอบแรกนี้ 21 ปก ซึ่งมีเนื้อหากระตุ้นให้เปลี่ยนความคิด ลบล้างความเชื่อเดิม และสร้างจินตนาการความเป็นไปได้ใหม่ๆ จนออกไปเปลี่ยนแปลง 2. เข้าถึงการอ่านได้อย่างไร? การแบ่งปันกันอ่าน สนใจเล่มใด ติดต่อขอยืมได้ และอ่านจบแล้ว ส่งคืน เพื่อให้คนอื่นอ่านต่อ หนังสือเป็นทรัพย์สินร่วมกันที่ทุกคนเข้าถึงและใช้สอยได้ 3. อ่านกับใคร? เมื่ออ่านจบ จะมีการจัดเสวนา ทุกสองสัปดาห์ เพื่อให้ผู้อ่านมาแลกเปลี่ยนกัน และอาจเชิญผู้เขียน นักวิชาการ ผู้เชี่ยวชาญในประเด็นนั้นๆ มาถกกันด้วย

จะจัดขึ้นทุกๆ สองสัปดาห์ ในการตั้งวงเสวนาเกี่ยวกับหนังสือแต่ละเล่ม และจะพยายามเชิญผู้เขียนหรือนักวิชาการที่เชี่ยวชาญในด้านนั้นๆ มาร่วมเวที เพราะเราเห็นว่าการอ่านคนเดียวอาจจะไม่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลง แต่ถ้าเรามาอ่านกับคนอื่นๆ ร่วมกัน นำไปสู่การถกเถียง ย่อมจะเป็นแรงบันดาลใจของการออกไปเปลี่ยนแปลงโลกได้

​”สังคมไทยเราเดินทางมาถึงช่วงปัจจุบัน เราเรียกกันว่ามันเป็นช่วงเวลาแห่งความวิกฤติ วิกฤติที่ว่านั้นมันไม่ใช่วิกฤติการณ์ทางการเมืองธรรมดา แต่มันเป็นวิกฤติการณ์เรื่อง ‘อำนาจนำ’ ซึ่งใช้ครอบงำปกครองคนมาหลายทศวรรษ ที่ผ่านมาดำเนินการได้ด้วยความยินยอมพร้อมใจ ไม่ต้องบังคับ แต่อำนาจนำนี้เริ่มสูญสลายไปเพราะไม่สามารถปกครองคนได้อีกแล้วด้วยความยินยอม แต่ปกครองคนได้ด้วยการบังคับอย่างเดียว ใช้กลไกกฎหมาย ศาล ทหาร คุก ตำรวจ บังคับให้คนต้องทำตาม ถ้าไม่ทำตามมีโทษ ซึ่งเมื่อวิกฤติการณ์อำนาจนำเกิดขึ้น จึงเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมที่สุดแล้วที่จะต้องไปแย่งชิงการสถาปนาอำนาจนำชุดใหม่เข้าไปแทนที่ เราเชื่อว่าโครงการ อ่านเปลี่ยนโลก-Reading Revolution จะเป็นกลไก เครื่องไม้เครื่องมือสำคัญอันหนึ่ง ที่จะทำให้นักเรียน นิสิต นักศึกษา เยาวชน ประชาชนคนทั่วไปทั้งหลาย ได้รวมตัวกันเพื่อที่จะออกไปปฏิบัติการเปลี่ยนความคิด เปลี่ยนสังคม เพื่อไปสถาปนาอำนาจนำแบบใหม่ให้กับสังคมไทย” นายปิยบุตร กล่าว

“ธงชัย” เชิดชูเยาวชนเปิดเพดานเปลี่ยนสังคม – ชี้ทุกประเด็นเยาวชนกำลังเขย่าวัฒนธรรมอำนาจนิยมอย่างถึงราก

​จากนั้น ทางคณะก้าวหน้า โดย Common School ได้รับเกียรติจาก ศ.ดร.ธงชัย วินิจกูล นักวิชาการด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Wisconsin Madison ประเทศสหรัฐอเมริกา มาเป็นผู้กล่าวบรรยายผ่านระบบ video conference ในหัวข้อ “อ่านเพื่ออนาคต” โดย ศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า ตนรู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้รับการชวนให้มาเป็นคนกล่าวบรรยายคนแรกในโครงการนี้ การอ่านหนังสืออาจจะไม่ส่งผลเปลี่ยนแปลงทันทีทันใด แต่ก็มีความจำเป็นที่จะต้องเกิดขึ้น ในฐานะสิ่งที่มีผลต่อปัจเจกชนและสังคมต่อไปข้างหน้า ในการนี้ ตนขอแสดงความชื่นชมกับจิตวิญญาณขบถของขบวนการเยาวชนที่กำลังต่อสู้อยู่ในขณะนี้ ชื่นชมกับนักศึกษาที่มีความกล้าหาญถึงขนาดทลายข้อห้ามต่างๆ ที่เป็นเพดาน เปิดโอกาสให้มีการถกเถียงพูดคุยไปถึงเรื่องการปฏิรูปสถาบันกษัตริย์ได้ และตนชื่นชมเป็นพิเศษกับนักเรียนมัธยม เพราะนักเรียนมัธยมในวัยแบบนั้น ในบรรยากาศในสภาพแวดล้อมที่เป็นอำนาจนิยมมากๆ แบบโรงเรียน การขบถมันยากถ้าเทียบกับนักศึกษามหาวิทยาลัย การขบถของนักเรียนมัธยมเรียกร้องต้องการความมุ่งมั่นและการตัดสินใจที่ใหญ่กว่ามาก และแม้ข้อเรียกร้องของนักเรียน ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรงผมหรือการลงโทษในโรงเรียนอาจจะฟังดูเป็นประเด็นเล็กๆ เมื่อเทียบกับารปฏิรูปสถาบัน ล้มเผด็จการ ยุติอำนาจ ส.ว. ฯลฯ แต่นี่ก็เป็นปัญหาเสรีภาพที่มีในโรงเรียน คือเรื่องของอำนาจนิยมในโรงเรียน คือการบงการร่างกาย (discipline and control the body) เป็นฐานอันดับแรกที่สุดของระบอบอำนาจนิยม

“การบงการร่างกายเป็น ก-ฮ/A-Z เป็นฐานอันดับแรกที่สุดของระบอบอำนาจนิยม ทั้งสถาบันใหญ่โตจนไปถึงจิปาถะ เริ่มต้นจากการใส่ชิพในหัวเด็ก ให้เรียนรู้ A-Z ของระบอบอำนาจนิยม ให้รู้จักการสยบยอมอำนาจ การเชิดชูผู้มีอำนาจ การไม่กล้าขบถ เริ่มใส่ชิพ รูปแบบและวิธีการของมันคือการบงการควบคุมร่างกายในโรงเรียน เพราะฉะนั้น การที่นักเรียนลุกขึ้นมาประท้วงในเรื่องนี้ ไม่ว่าเขาจะตระหนักในเรื่องที่ผมพูดถึงหรือเพียงแค่ตระหนักในระดับที่เป็นเรื่องเสรีภาพเหมือนเรื่องอื่นๆ ก็แล้วแต่ ผมเห็นว่ามันเป็นเรื่องสำคัญและมีส่วนเกี่ยวข้องกับการต่อสู้เพื่อเสรีภาพและการทำลายระบอบอำนาจนิยมในทางวัฒนธรรมของทุกสังคม” ศ.ดร.ธงชัย กล่าว

แนะเคล็ดการอ่านด้วย “สมอง” และ “หัวใจ” พัฒนาตนเอง – ต่อยอด “พัวพัน” สู่ความเป็นตนเอง

ศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า มีความคิดจำนวนหนึ่งซึ่งเราเคยได้ยินได้ฟังกันมามากแล้ว แต่ตนอยากอาศัยเป็นจุดตั้งต้นตั้งคำถามต่อไปว่า การทำให้การอ่านเป็นนิสัยเป็นเรื่องดี เรื่องนี้ไม่จำเป็นต้องอภิปราย แต่คำถามคือจะอ่านอะไรก็ได้ดีทั้งนั้นจริงหรือ? มีอะไรที่ดีกว่าหรือไม่? เช่นการอ่านสิ่งที่เรียกว่าเรื่องหนักๆ ดีกว่าการอ่านเรื่องเบาๆ หรือไม่? การอ่านอย่างวิพากษ์วิจารณ์ อ่านอย่างไร? ซึ่งคำตอบของคำถามเหล่านี้ทั้งหมดไม่มีคำตอบตายตัว คนในห้องนี้นานวันเข้าสามารถค้นพบคำตอบทั้งสามประเด็นด้วยตนเองได้และกลับมาแบ่งปันกัน เชื่อว่าจะเจอคำตอบที่ต่างกันไปได้มากมาย มันคือเรื่องของประสบการณ์ของปัจเจกบุคคล การนำไปสู่เป้าหมายร่วมบ่อยครั้งไม่จำเป็นต้องมาจากวิธีการที่เหมือนกัน แต่ละคนสามารถมีทางเลือก นิสัยใจคอ ชอบวิธีการต่างๆกัน

1.ประสบการณ์การอ่าน การสร้างนิสัยการอ่านเป็นเรื่องดี ทุกคนเห็นตรงกัน แต่หมายความว่าอ่านตลอดเวลาหรือ? หรืออ่านมากกว่าคนอื่นหรือ? คำตอบคือไม่ ในความเป็นจริงแต่ละคนมีวิธีจัดการชีวิตตัวเองไม่เหมือนกัน อ่านแล้วได้ผล พัฒนาตัวเองไม่เหมือนกัน อาจจะเป็นเรื่องสติปัญญา ความเชี่ยวชาญ ฯลฯ แต่ละคนอ่านแล้วมีประสบการณ์และความสามารถในการยกระดับตนเองได้ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ไม่ได้แปลว่าอ่านมากกว่าจะดีกว่าเสมอไป แต่ละคนมีเงื่อนไขในการจัดการไม่เหมือนกัน มีความพร้อมและการเลือกอ่านให้ถูกจริตไม่เหมือนกัน บางคนควานหาอยู่นาน บางคนเข้าถึงเลย เรื่องนี้จึงไม่มีสูตรสำเร็จ แต่ละคนมีการพัฒนาไปต่างๆ กันจนพบสิ่งที่ตัวเองชอบ และตนไม่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนที่อ่านหนังสือเยอะ เมื่อเทียบกับคนในอาชีพเดียวกัน

​2.การอ่านแบบมุ่งมั่นพัวพัน (engaged reading) หรือการอ่านเพื่อพัฒนาตัวเอง คำถามก็คือเราจะอ่านอะไรที่จะยกระดับปัญญา วุฒิภาวะของตัวเราเอง? คำตอบคืออ่านในสิ่งที่ตัวเองสนใจ ทุกคนอ่านหนังสือหลายชนิด ต่อให้เป็นหนังสือที่ให้ความรู้ก็มีหลายชนิด บางชนิดเราชอบ บางชนิดเราไม่ชอบ บางชนิดเราทนอ่านไม่ไหวจริงๆ แต่ละคนจะมีสิ่งนี้ เพราะฉะนั้นเดิมตามความปรารถนาของสมองเรา สำหรับคนอายุน้อย ตนเห็นว่าอ่านไปเถอะ ทดลองหาว่าตัวเองชอบอะไร ความรู้สาขาและประเด็นต่างๆ อ่านจริงจังไปเรื่อยๆ จะเปลี่ยนความสนใจกี่ครั้งก็ไม่เป็นไร เดินตามความสนใจนั้นไป อ่านอย่างพัวพันไปเรื่อยๆ สุดท้ายนำไปสู่จุดหมายสติปัญญาเหมือนๆ กัน การอ่านควรอ่านแล้วเกิดความพอใจ” นายธงชัย กล่าว
​ศ.ดร.ธงชัย กล่าวขยายความว่า สิ่งสำคัญกว่าคือ อ่านอย่างไร? ตนขออธิบายคำว่า engage โดยแยกสองประเด็น คือ 1) อ่านด้วยสมองของเราเพื่อสมองของเรา 2) อ่านด้วยหัวจใจของเราเพื่อหัวใจของเรา แต่คำที่ตนอยากจะเน้นที่สุดคือคำว่า “ของเรา” อย่างแรก คือต้องอ่านแบบ reading comphrension หรือการอ่านให้เกิดความเข้าใจ อ่านแล้วให้เห็นป่ามากกว่าเห็นต้นไม้ จับใจความ จับประเด็นหลักๆ ของบทความ หนังสือ เอกสารชิ้นหนึ่งได้ ให้เห็นภาพรวมให้ได้ ควรเป็นสิ่งที่สอนในระดับโรงเรียนก่อนเข้ามหาวิทยาลัย แต่ระดับโรงเรียนล้มเราเหลวในการทำให้คนอ่านหนังสือเป็นแบบนี้ทั้งๆ ที่เป็นพื้นฐาน ถ้าทำระดับนี้ไม่ได้ก็จะไม่สามารถอ่านจนนำไปสู่การวิพากษ์วิจารณ์ได้ การอ่านเพื่อวิพากษ์วิจารณ์มิได้หมายถึงการอ่านเพื่อจับผิดหรือโต้แย้งเสมอไป สำหรับตน การอ่านอย่างวิพากษ์วิจารณ์คืออ่านแล้วคิดตามไปด้วย นอกจากคิดแล้วต้อง engage กับตัวเอง กับปัญญาตัวเอง คิดตามไปด้วยว่าจริงหรือไม่ ต้องเถียงต้องตั้งคำถาม บ่อยครั้งอ่านแล้วไม่ได้เห็นต่างหรือเห็นแย้ง แต่คิดตาม หรือคิดเลยไปจากสิ่งที่ได้อ่าน จะจับผิดโต้แย้งก็ได้ หรือต่อยอด คิดต่อ มองหานัยยะ ตั้งคำถามที่เกิดจากหนังสือเล่มนั้น ช่วยให้เกิดคำถามที่เราจะคิดต่อ นี่คือพื้นฐานของสิ่งที่เรียกว่าการอ่านแบบวิพากษ์วิจารณ์

“คนสองคนอ่านหนังสือเล่มเดียวกันต่อยอดด้วยการอ่านหนังสือหรือวิพากษ์วิจารณ์ไม่เหมือนกัน เข้าไปพัวพันโรมรันกับหนังสือที่เราอ่าน ต่อยอดไปไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน นั่นเท่ากับทำให้หนังสือเล่มนั้นเราอ่านแบบเป็นตัวของเราเอง ประสบการณ์การอ่านของคนนสองคน อ่านหนังสือเล่มเดียวกันจึงมักจะไม่เหมือนกัน นี่คือความหมายของคำว่าการอ่านด้วยสมองของเราเพื่อสมองของเรา กระบวนการที่เป็น engaged reading นี้มีความสำคัญอย่างมากต่อการพัฒนาทางปัญญาแต่ละคน ไม่จำเป็นที่เราต้องกังวลว่าเราเข้าใจหนังสือเล่มนั้นถูกหรือไม่ ต่อให้อ่านผิด ไม่เข้าใจ แต่มันทำให้เกิดสิ่งที่เราคิดได้ในสมองเราเอง เท่านั้นก็ถือว่าใช้ได้แล้ว” อ.ธงชัยกล่าวและว่า ส่วนการอ่านด้วยหัวใจเพื่อหัวใจของเราเองก็ทำนองเดียวกัน แน่นอนว่าการอ่านเรามักใช้สมอง แต่การอ่านนิยาย การอ่านชีวประวัติ การอ่านประวัติศาสตร์บางครั้งก็ engage ได้โดยใช้จินตนาการ ตีความ เข้าใจสิ่งที่เราอ่าน แน่นอนว่าหลายอย่างเราอ่านใช้เหตุผล ใช้วิทยาศาสตร์ แต่การอ่านเรื่องความสัมพันธ์ทางสังคมที่ยุ่งเหยิงหลายครั้งไม่สามารถใช้ตรรกะเหตุผลได้ เรากลับต้องใช้ความเข้าใจชีวิต จินตนาการที่เรามี ใช้ใจเราเข้าไปอ่านถึงจะ engage จนเกิดคำถามและความเห็นได้ หนังสือมีหลายประเภท เราต้องใช้ทั้งสมองและหัวใจ เพราะแต่ละเล่มมีนัยยะต่างกัน มีเรื่องราว มีวิธีการที่ต่างกัน ที่สำคัญคืออ่านแล้วให้ทำเป็นของเราเอง อ่านแล้วพยายามแสดงออก ไม่ว่าจะเขียนโน๊ตอ่านเอง พยายามกลั่นมันออกมาเป็นโน๊ต เป็นการเล่า หรือเป็นบทสนทนาคุยกับเพื่อนให้ฟัง เพราะในกระบวนการแสดงออกนี้ทำให้เราต้องสรุปออกมาอีกขั้นหนึ่งเป็นคำของเราเอง กระบวนการนี้เป็นเรื่องสำคัญมาก

ประวัติศาสตร์กระแสหลักไทยส่วนใหญ่ไร้คุณภาพ-งมงาย แต่ได้อำนาจหนุนนำกดทับประวัติศาสตร์ทางเลือก-กลายเป็นอุดมการณ์ปลุกคนฆ่าคน

ศ.ดร.ธงชัย กล่าวว่า 3.การอ่านประวัติศาสตร์ ทำไมต้องอ่านงานประวัติศาสตร์? สำหรับตน ประวัติศาสตร์มีความสำคัญเพราะอดีตมีผลต่อปัจจุบัน สิ่งที่เราเป็นในปัจจุบันเป็นได้เพราะอดีต สังคมศาสตร์พยายามอธิบายเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วๆไป พยายามอธิบายปรากฏการณ์ภาพรวมในบางอย่างบางด้าน แต่ประวัติศาสตร์พยายามอธิบายด้วยหลายด้าน รอบด้าน ที่ประมวลเข้ามาอยู่ในเหตุการณ์เล็กๆ เหตุการณ์เดียว ประวัติศาสตรมีหลายด้านไม่ใช่เพราะมีถูกมีผิดเท่านั้น ไม่ใช่เพื่อแค่สะสางอดีตเท่านั้น ประวัติศาสตร์มีถูกมีผิด หลายๆ ฝ่ายมีความพยายามอธิบายอดีตที่ดีพอกัน เหตุการณ์เดียวสามารถมีความรู้ต่อเหตุการณ์นั้นได้หลายอย่างที่มีคุณภาพ วางอยู่บนหลักฐานที่น่าเชื่อถือได้ เราสามารถมีประวัติศาสตร์ที่ดีได้โดยยืนจากจุดต่างๆที่ตกต่างกันไป แล้วแต่มุมมอง หรือการยืน ณ จุดไหนเพื่อกลับไปมองอดีต แต่ละคนมีจุดยืนต่างๆกันต่อเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น ประวัติศาสตร์ถูกสร้างได้หลายมุม เราสามารถมีความเข้าใจประวัติศาสตร์ได้หลายแบบ แต่ความคิดแบบไหนที่เราชอบมากกว่ากัน นอกจากคุณภาพทางวิชาการแล้ว ยังเป็นความเชื่อของเรา ทางรสนิยมด้วย การพบหลักฐานใหม่จึงไม่ใช่ปัจจัยเดียวในการเข้าใจประวัติศาสตร์ใหม่ เอาเข้าจริงการเข้าใจประวัติศาสตร์ใหม่โดยมากเกิดจากการตั้งคำถามที่ไม่เคยถามมาก่อน พอคำถามเปลี่ยนไป เราได้อ่านเอกสารหลักฐานที่เคยอ่านเราจะได้เห็นแง่มุมที่ไม่เคยอ่านมาก่อน และอาจจะนำไปสู่ข้อมูลใหม่ได้

“ทำไมประวัติศาสตร์ในบางประเทศเป็นเรื่องเป็นราวกันนัก จะเป็นจะตายกันนัก ปัญหาใหญ่คือปัญหาเรื่องอำนาจความรู้ประวัติศาสตร์ในประเทศอย่างประเทศไทยกลายเป็นอุดมการณ์ ความเชื่อ ความงมงายที่ผูกมัด มีอำนาจมากเกินไปต่อการบงการสมองเรา ประวัติศาสตร์กระแสหลักมีอำนาจมากเกินไปกว่าประวัติศาสตร์แบบอื่นๆ ปัญหาของสังคมแบบประเทศไทย นอกจากคุณภาพความรู้ประวัติศาสตร์ที่มีน้อย คือการทำให้ความรู้บางอย่างมีอำนาจจนกดทับจำกัดความรู้ชนิดอื่นมากเกินไป คุณภาพความรู้ประวัติศาสตร์ที่ไม่ค่อยดีอาศัยอำนาจทำให้ตัวเองดำรงอยู่ได้ กดทับความรู้ประวัติศาสตร์แบบอื่นๆจนโผล่ตัวไม่ขึ้น ประวัติศาสตร์กลายเป็นพื้นฐานการสร้างสถาบัน สังคม วัฒนธรรม กลายเป็นอุดมการณ์ ความเชื่องมงาย งอกเป็นฐานก่อตัวขึ้น กลายเป็นลัทธิชาตินิยม กลายเป็นความภูมิใจแบบผิดๆถึงขนาดที่ทำให้คนลงมือฆ่าคนอื่นได้ นี่คือำนาจของอุดมการณ์าทางประวัติศาตร์ ดังนั้น ประวัติศาสตร์ทางเลือกจึงเป็นสิ่งจำเป็น แม้จะเป็นเรื่องค่อนข้างยาก ความยากที่นอกเหนือไปจากการเรียนและค้นคว้า ก็คือการรื้อสิ่งที่อยู่ในสมองของคน การต่อสู้ปะทะกันทางประวัติศาสตร์ ฝ่ายความรู้ทางเลือกอาจจะมีจำนวนและคุณภาพมากกว่า แต่เสียเปรียบที่ต้องรื้อสร้างความรู้แบบเก่าที่มีอำนาจมากกว่า” ศ.ดร.ธงชัย กล่าว

“อ่านเพื่ออนาคต” ต่อสู้กับความเชื่อเดิม-สร้างความเชื่อใหม่ เป็นสิ่งจำเป็นสร้างประชาธิปไตย – เชื่อมั่น “เปลี่ยนโลกได้ด้วยการอ่าน”

​ศ.ดร.ธงชัย กล่าวอีกว่า 4.การอ่านเพื่ออนาคต เมื่อตนได้อ่านวัตถุประสงค์ของโครงการแล้วตนรู้สึกเลยว่าชอบ แม้ไม่ได้ชอบทั้งหมด แต่รู้สึกว่าอธิบายถึงความจำเป็นของโครงการนี้ได้ดี ตนจึงขอเอาบางข้อความนี้มาเขียนใหม่ ทั้งหมดที่กล่าวมานำมาสู่จุดที่ตนเห็นว่า “การเปลี่ยนแปลงสังคมไทยให้ดีกว่าที่เป็นอยู่ ไม่สามารถอาศัยเพียงกำลังทางกายภาพและจำนวนปริมาณเท่านั้น แต่จำเป็นต้องอาศัยเจ้าของแผ่นดินทั้งหลายผู้มีปัญญาพร้อมจิตใจมุ่งมั่นกล้าหาญ ผลักดันสังคมให้ก้าวออกจากกรอบความเชื่องมงายซึ่งเป็นมรดกจากระบอบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ที่ถูกรื้อฟื้นป่าวประโคมขึ้นมาในกาลปัจจุบันให้จงได้ เพราะความคิดความเชื่อแบบเดิมยังคงดำรงอยู่ การเปลี่ยนแปลงไปสู่สิ่งใหม่ย่อมไม่อาจเกิดขึ้นได้

“การต่อสู้กับความเชื่อเดิมๆ สร้างความคิดความเชื่อใหม่ๆ เป็นสิ่งจำเป็นที่แยกไม่ออกจากการต่อสู้เพื่อประชาธิปไตยของราษฎรที่เท่าเทียมกัน การเปลี่ยนแปลงเพื่ออนาคตที่ดีกว่าทุกวันนี้ หลายอย่างน่าจะสามารถจบได้ในรุ่นเรา หลายอย่างเป็นกระบวนการไม่สิ้นสุดและไม่มีคำว่าสมบูรณ์ตราบเท่าที่โลกยังคงหมุนเปลี่ยนแปลง จึงต้องมีการถกเถียงแลกเปลี่ยนทางปัญญาอย่างมีเสรีภาพและอารยะภายใต้ความสัมพันธ์ทางอำนาจแบบประชาธิปไตย เพราะเส้นทางเช่นนี้เท่านั้นที่จะสามารถแสวงหาทางเลือกใหม่ๆ ได้อย่างสันติ เพื่ออนาคตที่ดีขึ้นเรื่อยไปไม่สิ้นสุด ศ.ดร.ธงชัย กล่าวและว่า วุฒิภาวะของสังคมบังเกิดไม่ได้เพียงเพราะความปราดเปรื่องของผู้นำหรือปัญญาชนจำนวนน้อย แต่หมายถึงสังคมที่ประชาชนทั่วไปมีโอกาส มีวัฒนธรรมทางปัญญาในชีวิตประจำวันที่คุ้นเคยกับการแสวงหาความรู้และการสร้างสรรค์อย่างมีจินตนาการ มีความสามารถในการใช้ข้อมูลข่าวสารอย่างมีวิจารณญาณ และมีส่วนร่วมในการใช้อำนาจอย่างมีความรู้และปัญญา วัฒนธรรมการอ่านเป็นพื้นฐานสำหรับการสร้างสังคมอุดมปัญญาเช่นนั้น เป็นวิธีเข้าถึงความรู้ พัฒนาวุฒิภาวะทางความคิด ยกระดับวิจารณญาณ เกื้อหนุนจิตนาการสร้างสรรค์ และหล่อหลอมศีลธรรมทางสังคมแบบโลกวิสัย

​”ความคิดใหม่จะเกิดขึ้นได้เพราะเราอ่าน จิตนาการถึงความเป็นไปได้ใหม่ๆ มักมากับหนังสือที่เราอ่าน เราเปลี่ยนโลกได้เพราะเราอ่านหนังสือ” ศ.ดร.ธงชัย ระบุ