พระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ มงคลวัดชนะสงคราม สู้ภัยสงครามอินโดจีน

พระกริ่ง-พระชัยวัฒน์

มงคลวัดชนะสงคราม

สู้ภัยสงครามอินโดจีน

 

วัดชนะสงคราม หรือ วัดชนะสงครามราชวรมหาวิหาร เป็นวัดเก่าแต่สมัยกรุงศรีอยุธยา เรียกกันว่า “วัดกลางนา” สมัยกรุงธนบุรีเปลี่ยนชื่อเป็น “วัดตองปุ” สันนิษฐานว่าเลียนแบบชื่อวัดของพระสงฆ์รามัญในสมัยอยุธยา

สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท ทรงให้การอุปถัมภ์ และสถาปนาพระอารามขึ้นใหม่ทั้งหมด

ชื่อ “วัดชนะสงคราม” รัชกาลที่ 1 โปรดเกล้าฯ พระราชทาน เพื่อเป็นอนุสรณ์แด่สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท (หรือวังหน้าพระยาเสือ) สมเด็จพระอนุชาธิราชเจ้า ที่ทรงชนะศึกกับพม่าถึง 3 ครั้ง ซึ่งในจำนวนนั้นคือศึกใหญ่กับพม่าที่เรียกว่า “สงครามเก้าทัพ”

เมื่อได้ชัยชนะศึกดังกล่าวกลับมา สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาสุรสิงหนาท และแม่ทัพนายกองในทัพของพระองค์ ได้ถวาย “เสื้อยันต์” ที่สวมออกศึก แก่พระพุทธรูปภายในพระอุโบสถ เป็นพุทธบูชา

ในสมัยรัชกาลที่ 2 สมเด็จพระบวรราชเจ้ามหาเสนานุรักษ์ เมื่อได้รับการสถาปนาเป็นกรมพระราชวังบวรสถานมงคล ได้โปรดให้ซ่อมแซมพระราชมณเฑียร โดยรื้อพระที่นั่งพิมานดุสิดา นำไม้มาสร้างกุฏิ

ในสมัยรัชกาลที่ 3 โปรดให้บูรณะวัดชนะสงครามมาแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 4 พร้อมทั้งทรงสร้างกุฏิใหม่ แล้วเสร็จในปี พ.ศ.2396 และโปรดให้ทำการฉลอง

ในสมัยรัชกาลที่ 5 โปรดให้บูรณะซ่อมแซมและปฏิสังขรณ์หลังคาพระอุโบสถและทรงปรารภที่จะสร้างที่บรรจุพระอัฐิสำหรับเจ้านายฝ่ายพระราชวังบวรสถานมงคล แต่ยังไม่ได้สร้างที่ใดก็สิ้นรัชกาล

 

ต่อมาสมัยรัชกาลที่ 6 สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง พระราชทานอุทิศพระราชทรัพย์ส่วนพระองค์ ให้ก่อสร้างที่บรรจุพระอัฐิที่เฉลียงท้ายพระอุโบสถวัดชนะสงคราม โดยกั้นผนังระหว่างเสาท้ายพระอุโบสถเป็นห้องทำเป็นคูหา 5 ช่อง คูหาหนึ่งเจาะเป็นช่องเล็กๆ สำหรับบรรจุพระอัฐิเจ้านายตามรัชกาล การก่อสร้างแล้วเสร็จในสมัยรัชกาลที่ 7

สำหรับการบูรณปฏิสังขรณ์พระอุโบสถได้มีมาจนถึงรัชกาลปัจจุบัน

ด้วยชื่อวัดที่เป็นมงคล คือ “วัดชนะสงคราม” ทำให้เป็นหนึ่งในวัดที่ผู้คนนิยมในกิจกรรมไหว้พระ 9 วัด

สำหรับการสร้างพระกริ่งและพระชัยวัฒน์นั้น เนื่องมาจากประเทศไทยได้ส่งทหารเข้ารบในสงครามอินโดจีน ทางการได้ส่งทหารอาสาเข้ารบเป็นจำนวนมาก วัดวาอารามต่างๆ ก็ได้สร้างวัตถุมงคล เพื่อแจกจ่ายให้กับทหารไว้บูชาติดตัว

วัดชนะสงคราม โดยพระสุเมธมุนี (ลับ สังกิจโจ) เจ้าอาวาส จัดสร้างวัตถุมงคลขึ้น เพื่อแจกเป็นที่ระลึกและกำลังใจทหารอาสาส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งเพื่อให้ประชาชนบูชา เพื่อเตรียมรับภัยสงครามที่กำลังลามมายังประเทศไทย

ประกอบพิธีกันในลานหน้าพระอุโบสถวัดชนะสงคราม และมีหลวงภูมินาถสนิท เป็นประธานฝ่ายฆราวาส

พระกริ่งวัดชนะสงคราม

หลวงภูมิฯ ได้บันทึกไว้ว่า รายนามพระเถระที่ลงแผ่นทอง ในพิธีหล่อมีดังนี้

พระสมเด็จพระสังฆราช (แพ) วัดสุทัศน์ ท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) วัดสุทัศน์ ท่านเจ้าคุณสุเมธมุนี (ลับ) วัดชนะฯ ท่านเจ้าคุณอ่ำ วัดวงฆ้อง ท่านเจ้าคุณพระญาณไตรโลก (ฉาย) วัดพนัญเชิง หลวงพ่อเปลี่ยน วัดใต้ ท่านเจ้าคุณวิเชียรโมลี วัดบรมธาตุกำแพงเพชร ท่านเจ้าคุณธรรมธีรคุณ หลวงพ่อเหลือ วัดสาวชะโงก หลวงพ่ออี๋ วัดสัตหีบ หลวงพ่อจาด วัดบางกะเบา หลวงพ่อพริ้ง วัดบางปะกอก ท่านพระครูวิจิตรธรรมบาล หลวงพ่อชม วัดประดู่ทรงธรรม หลวงปู่กลิ่น วัดสะพานสูง หลวงปู่เผือก วัดกิ่งแก้ว หลวงพ่อรุ่ง วัดท่ากระบือ หลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอม หลวงพ่อทัต วัดห้วยหินระยอง

พระครูคณานุยุตวิจิตร พัทลุง หลวงพ่อจันทร์ วัดบ้านยาง หลวงพ่อเฟื่อง วัดสัมพันธวงศ์ ท่านพระครูปลัดมา วัดเลียบ หลวงพ่อจง วัดหน้าต่างนอก หลวงพ่อคง วัดบางกะพ้อม หลวงพ่อขัน วัดนกกระจาบ หลวงพ่อเส่ง วัดกัลยาฯ หลวงพ่อแช่ม วัดตาก้อง หลวงปู่จันทร์ วัดนางหนู หลวงพ่อบุญชู วัดโปรดเกษ ท่านเจ้าคุณชิต วัดมหาธาตุเพชรบุรี หลวงพ่อช่วง วัดบางแพรกใต้ หลวงพ่อแฉ่ง วัดบางพัง หลวงพ่อทอง วัดดอนสะท้อน

หลวงพ่อกรัก วัดอัมพวัน หลวงพ่อดาบเพชร วัดชนะฯ หลวงพ่อจันทร์ วัดคลองระนง หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพธิ์ หลวงพ่อใย วัดระนาม พระอาจารย์พูน วัดหัวลำโพง พระอาจารย์สา วัดเทพธิดาราม พระอาจารย์ปลั่ง วัดราชนัดดา พระอาจารย์ขั้ว วัดมะปรางหวาน พระอาจารย์จันทร์ วัดสำราญ พระอาจารย์นอ วัดใหม่โพธิ์เอน พระอาจารย์นวม วัดขวาง พระอาจารย์น้อย วัดศีรษะทอง ท่านเจ้าคุณพระวิสุทธิสมโภชน์ วัดพระเชตุพนฯ พระอาจารย์ทองดี วัดท่าเกวียน

วัดชนะสงคราม ในปี พ.ศ.2489

นอกจากนี้ หลวงภูมิฯ ยังได้บันทึกไว้ว่า ท่านเจ้าคุณศรี (สนธิ์) วัดสุทัศน์ ยังได้เป็นประธานในพิธีกรรมตลอดการเททอง และพุทธาภิเษก และหลวงภูมิฯ ยังได้นำชนวนมงคลจากพิธีที่วัดราชบพิธฯ และวัดสุทัศน์ ผสมอีกจำนวนหนึ่งด้วย

จากบันทึกบอกกล่าวถึงพิธีหลอมโลหะนั้น มีตะกรุดและแผ่นทองที่ไม่หลอมละลายจำนวนมาก ต้องนิมนต์พระเกจิอาจารย์ที่มาร่วมในพิธีร่วมกันเพ่งกระแสจิตจึงจะละลายลงในที่สุด นับเป็นปรากฏการณ์อันประหลาดมหัศจรรย์อย่างยิ่ง

ต่อมาในเดือนมกราคม 2484 จึงได้ประกอบพิธีพุทธาภิเษก ตลอดสามวันสามคืน มีหลวงพ่อจง หลวงพ่อจาด หลวงพ่ออี๋ หลวงพ่อจันทร์ เป็นประธานนั่งปรกสลับกับพระเถระรูปอื่นๆ จากทั่วประเทศไทย ซึ่งได้ร่วมลงแผ่นทองมาก่อนหน้านั้นแล้ว

พระกริ่ง-พระชัยวัฒน์ วัดชนะสงคราม ที่สร้างในครั้งนี้ จึงเป็นพระที่น่าบูชา เนื่องจากแผ่นชนวนลงอักขระจากพระคณาจารย์ที่โด่งดังในยุคนั้นครบถ้วน และพิธีพุทธาภิเษกก็ยอดเยี่ยมตามที่มีบันทึกของท่านหลวงภูมิฯ

อีกทั้งสนนราคายังไม่สูงมาก และยังพอหาบูชาได้ไม่ยาก •

 

โฟกัสพระเครื่อง | โคมคำ

[email protected]