ป่วย “โควิด-19” ยอดกระโดดพุ่ง 111 ราย ตายอีก 3 สะสม 30 ราย

ป่วย “โควิด-19” ยอดกระโดดพุ่ง 111 ราย ตายอีก 3 สะสม 30 ราย

โควิด-19 เมื่อวันที่ 8 เมษายน ที่ศูนย์แถลงข่าวรัฐบาล “โควิด-19” ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) (ศบค.) แถลงความคืบหน้าของสถานการณ์โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ โรคโควิด-19 ว่า สถานการณ์ในประเทศไทยพบผู้ป่วยเสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย รวมสะสม 30 ราย ส่วนผู้ป่วยที่รักษาหายสะสม 888 ราย อยู่ในการรักษาที่โรงพยาบาล (รพ.) 1,451 ราย และพบผู้ป่วยยืนยันการติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 เพิ่มใหม่ 111 ราย ใน 66 จังหวัด นับเป็นรายที่ 2,259-2,369 ราย

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า ในจำนวนผู้ป่วยยืนยันโรคโควิด-19 สะสม 2,369 ราย พบในกรุงเทพมหานคร (กทม.) และ จ.นนทบุรี 1,250 ราย ภาคกลาง 332 ราย ภาคเหนือ 86 ราย ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 101 ราย ภาคใต้ 409 ราย โดยผู้ป่วยอายุน้อยสุด 1 เดือน อายุมากสุด 86 ปี โดยเฉลี่ยคืออายุ 39 ปี พบผู้ป่วยมากในอายุ 20 – 29 ปี

นพ.ทวีศิลป์ กล่าวว่า สำหรับผู้ป่วยที่เสียชีวิตเพิ่ม 3 ราย มีรายละเอียด ดังนี้

รายที่ 1 นับเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 28 ชายชาวรัสเซีย อายุ 48 ปี เมื่อวันที่ 18 – 21 มีนาคม มีประวัติการเดินทางไปยัง จ.ภูเก็ต ในเมื่อวันที่ 22 มีนาคม เริ่มมีอาการป่วยและเดินทางกลับไปที่เมืองพัทยา จ.ชลบุรี และเมื่อวันที่ 25 มีนาคม เข้ารับการตรวจในโรงพยาบาล (รพ.) เอกชนแห่งหนึ่ง ด้วยอาการไข้ 38.4 องศาเซสเซียล ด้วยอาการ ไอ เจ็บคอ แต่ไม่ได้เข้ารับการแอดมิท แต่ผู้ป่วยทำการเฝ้าสังเกตอาการตนเองอยู่ที่บ้าน (Home Isolation) เสียชีวิตเมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา

รายที่ 2 นับเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 29 ชายชาวอินเดีย อายุ 69 ปี อาชีพธุรกิจส่วนตัว มีโรคประจำตัวคือ โรคเบาหวานและโรคหัวใจ เมื่อวันที่ 17 มีนาคม เริ่มมีอาการป่วยจึงเข้ารับการรักษาใน รพ.แห่งหนึ่งของกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 มีนาคม เริ่มมีอาการไข้สูงถึง 39.3 องศาฯ ร่วมกับอาการไอ มีน้ำมูก ปวดกล้ามเนื้อ ถ่ายเหลวซึ่งเป็นอาการที่มากกว่าผู้อื่น และได้ถูกเข้ารักษาในแผนกฉุกเฉิน (ไอซียู) เมื่อวันที่ 29 มีนาคม ถูกส่งตัวมายัง รพ.เอกชนอีกแห่ง แต่อาการไม่ดีขึ้นและเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 เมษายน

รายที่ 3 นับเป็นผู้เสียชีวิตรายที่ 30 ชายชาวอเมริกัน อายุ 69 ปี มีโรคประจำตัวคือ โรคไตเรื้อรัง เมื่อวันที่ 9 มีนาคมเริ่มมีอาการป่วยด้วยอาการไอปวดกล้ามเนื้อหายใจลำบากจึงเข้ารับการรักษาใน รพ.แห่งหนึ่งของ จ.บุรีรัมย์ เมื่อวันที่ 22 มีนาคม เริ่มมีอาการหายใจหอบเหนื่อยมากขึ้น เมื่อวันที่ 23 มีนาคม แพทย์จึงใส่ท่อช่วยหายใจ และเสียชีวิตเมื่อวันที่ 7 เมษายน

“ผู้เสียชีวิตทั้ง 3 รายนี้ เป็นชาวต่างชาติทั้งหมด ซึ่งเป็นความเชื่อมโยงกับผู้ที่เดินทางมาจากต่างประเทศ รวมถึงชาวต่างชาติ อย่างที่ได้กล่าวไปแถลงการณ์เมื่อวันที่ 7 เมษายน ว่า จำนวนผู้ป่วยน้อยลง แต่อย่าการ์ดตก วันนี้จึงได้พูดอีกคำหนึ่งว่า ว่าแล้วไหมล่ะ จากตัวเลขเพิ่มขึ้นเป็นหลักร้อย” นพ.ทวีศิลป์ กล่าว