‘กษิต’ ร่อนจม.ถึง3.9ล้านเสียงหนุนปชป. แจงยิบเหตุลาออกพรรค ย้ำอุดมการณ์ต้องใหญ่กว่ามติพรรค

เมื่อวันที่ 18 มิถุนายน นายกษิต ภิรมย์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ และที่ปรึกษาด้านต่างประเทศของพรรคประชาธิปัตย์ ส่งจดหมายเปิดผนึกถึงมิตรสหายพรรคประชาธิปัตย์ ระบุว่า

ท่านมิตรสหาย 3.9 ล้านเสียง เนื่องด้วยผมได้สดับตรับฟังและอ่านข่าวการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ของตัวผมเองในสื่อต่างๆ แล้ว พบว่ามีใจความที่ไม่ค่อยจะครบถ้วนตามความตั้งใจ อันอาจจะเนื่องมาจากการสื่อสารในเวลาอันสั้นระหว่างการให้สัมภาษณ์กับสื่อ ทำให้ผมอาจจะสื่อออกไปได้ไม่ชัดเจนเพียงพอ ซึ่งอาจทำให้สังคมเข้าใจผิดได้ ผมจึงขออนุญาตใช้จดหมายฉบับนี้เพื่ออธิบายความให้ครบถ้วน

ตัวผมเองได้ตัดสินใจเข้าสมัครเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ด้วยเหตุผลที่ว่า ตนเองนั้นยืนอยู่บนอุดมการณ์เสรีประชาธิปไตย ซึ่งมีทิศทางเดียวกันกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ ซึ่งก็เป็นเรื่องปกติที่บุคคลใดๆ จะเลือกเข้าสังกัดพรรคใด ย่อมสมควรที่จะมีอุดมการณ์เดียวกันมิใช่เดินเข้าไปร่วมพรรคเพียงเพื่ออำนาจ และผลประโยชน์

และที่ผ่านมา ผมเองได้รับโอกาสจากทางพรรคประชาธิปัตย์ให้ปฏิบัติหน้าที่ต่างๆ ทั้งทางด้านการเมืองและงานภายในพรรค และเมื่อไม่นานมานี้พรรคประชาธิปัตย์ได้ส่งผมไปดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะตัวแทนพรรคการเมือง ซึ่งในระหว่างนั้นผมก็ได้พยายามทำหน้าที่อย่างเต็มพละกำลังและความสามารถ เพื่อผลักดันอุดมการณ์เสรีนิยมให้เข้าไปอยู่ในแผนปฏิรูปประเทศ ภายใต้รัฐบาล คสช. ไม่ว่าจะเป็นการกระจายอำนาจ หรือแผนแม่บทการปฏิรูปวัฒนธรรมการเมือง เป็นต้น ซึ่งได้ปรากฏตามเอกสารรายงาน และบันทึกการประชุมของคณะกรรมาธิการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการเมืองและการประชุมใหญ่ของ สปท.

ระหว่างการทำงานในตำแหน่งสมาชิก สปท. ผมได้พยายามนำเสนอแนวคิดของเสรีนิยม ส่งผลให้ผมตกอยู่ในกลุ่มเสียงกลุ่มน้อย กล่าวคือข้อเสนอมักจะไม่ได้รับการตอบสนองจากที่ประชุมส่วนใหญ่ ดังนั้นจึงมิได้แปลกใจที่ข้อเสนอข้อคิดเห็นในการปฏิรูปประเทศต่างๆ ที่ได้นำเสนอไปยังผู้มีอำนาจบริหารประเทศนั้นจะไม่ได้รับความสนใจ และไม่ได้ถูกนำไปใช้ในทางปฏิบัติ สะท้อนให้เห็นว่า รัฐบาล คสช.ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นั้น มิได้ต้องการปฏิรูปประเทศ และการเมืองไทยไปในทิศทางเสรีนิยม (อันได้แก่การกระจายอำนาจ และการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของภาคประชาสังคม เป็นต้น) หากแต่มุ่งเน้นไปในทิศทางอำนาจนิยม ที่สนใจการรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง และสนับสนุนการเพิ่มอำนาจของภาครัฐเป็นหลัก ซึ่งสิ่งต่างๆ เหล่านี้ถือเป็นการขัดต่อเจตนารมณ์แห่งระบอบประชาธิปไตย ซึ่งย้อนแย้งกับสิ่งที่ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ประกาศเป็นสัญญาประชาคมกับประชาชนชาวไทยเมื่อครั้งที่แรกเข้ามาทำการปฏิวัติรัฐประหารเอาไว้ว่า จะอาสานำเอาประชาธิปไตยที่เป็นแก่นสารกลับมาสู่สังคมไทย

นอกจากนั้นแล้ว ผลงานทางด้านการบริหารประเทศตลอดระยะเวลา 5 ปีของรัฐบาล คสช. ก็เต็มไปด้วยข้อครหา ถึงการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มนายทุนใหญ่ ที่มีสายสัมพันธ์กับบรรดานายทหารที่ใกล้ชิด รวมถึงการใช้จ่ายงบประมาณแผ่นดินอย่างสุรุ่ยสุร่ายผ่านทางนโยบายประชารัฐ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนชื่อประชานิยมที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์แก่สังคม แต่เป็นการกระทำเพื่อให้ดูดีเท่านั้น เพียงเพื่อหวังผลคะแนนนิยมจากสังคมเป็นหลัก

และเมื่อเวลาที่การครองอำนาจเพื่อการปฏิรูปประเทศใกล้งวดลง สังคมไทยก็เริ่มได้เห็นกระบวนการเตรียมการเพื่อกลับมากุมอำนาจรัฐต่อโดยกลุ่มรัฐบาลทหาร และพวกพ้อง โดยเริ่มจากกฎหมายรัฐธรรมนูญที่เอื้อให้กองทัพและข้าราชการมีตำแหน่งทางการเมือง การจัดตั้งพรรคนิยมทหารขึ้นมาเพื่อรวบรวมอดีตนักการเมืองเอาไว้เป็นฐานเสียง การกำหนดให้วุฒิสมาชิกที่มาจากการแต่งตั้งโดยรัฐบาลทหารสามารถลงคะแนนเสียงเลือกนายกรัฐมนตรีได้ โดยสิ่งเหล่านี้นอกจากจะทำให้เกิดเสียงครหาจากชาวไทยและนานาชาติว่าเป็นกติกาที่ไม่สะอาด ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตยแล้ว ยังแสดงให้เห็นถึงเจตนาในการสืบทอดอำนาจของรัฐบาล คสช. โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ เป็นผู้นำอย่างชัดเจน

จากข้างต้นจึงกล่าวได้ว่า พล.อ.ประยุทธ์ คือตัวแทนของฝ่ายทหารการเมือง ในการสืบทอดอำนาจ ภายใต้แนวคิดอำนาจนิยม ผ่านทางการเลือกตั้งที่มีกติกาแสนวุ่นวาย และไม่โปร่งใส ภายใต้กฎหมายรัฐธรรมนูญที่ไม่สอดคล้องกับหลักประชาธิปไตย อันเป็นผลงานของพรรคพวก พวกพ้อง ของรัฐบาลทหารเอง จึงถือได้ว่าเป็นผู้มีพฤติกรรมของผู้ฝักใฝ่ลัทธิเผด็จการโดยปริยาย

และเมื่อกรรมการบริหารพรรคประชาธิปัตย์ และสมาชิกสภาผู้แทนราษฎรของพรรค ได้มีมติออกมาว่าจะสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ขึ้นดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ต่อเนื่องจากการที่บุคคลของพรรคไปดำรงตำแหน่งประธานรัฐสภา ประธานสภาผู้แทนราษฎร นั่นก็แปลว่า พรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้ ได้กระทำตนเป็นผู้สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของเผด็จการทหารโดยปริยาย อันเป็นการขัดต่ออุดมการณ์พรรคประชาธิปัตย์ ข้อ 4.ที่ว่า “พรรคจะไม่สนับสนุนระบบและวิธีแห่งเผด็จการ ไม่ว่าจะเป็นระบบและวิธีการของรัฐบาลใดๆ”

ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงความล้มเหลวในการนำพาพรรคประชาธิปัตย์ไปยังทิศทางแห่งเสรีประชาธิปไตย ตามอุดมการณ์ของพรรค ซึ่งกระบวนการเช่นนี้สุ่มเสี่ยงต่อการถูกฟ้องร้องให้ถูกถอดถอนจากการเป็นนักการเมืองและเสี่ยงต่อการคงอยู่ของพรรค

อย่างไรก็ตาม อุดมการณ์ของพรรคนั้นเปรียบเสมือนรัฐธรรมนูญของพรรค หากยอมให้มติพรรคอยู่เหนืออุดมการณ์พรรคได้แล้ว ก็ไม่แตกต่างอะไรกับรัฐบาลที่อ้างเสียงข้างมากเป็นใหญ่ แล้วไม่สนใจกฎ กติกา หลักการประชาธิปไตยอื่นๆ โดยมุ่งแต่จะใช้จำนวนการยกมือในสภามาบริหารประเทศตามใจตน ไม่สนใจความรู้สึกของประชาชน จนนำมาซึ่งวิกฤติการณ์ทางการเมืองนั่นเอง

และในวันนี้ ที่ทิศทางการบริหารของพรรคได้เดินไปคนละทางกับอุดมการณ์ของพรรคประชาธิปัตย์ และอุดมการณ์ของตนเอง ทำให้ผมเองไม่สามารถอ้างคำว่า ขอยอมรับในมติพรรค เพื่อที่จะได้ทำเฉยๆ แล้วเดินร่วมกันต่อไป

ดังนั้น จึงถึงเวลาอันสมควร ที่ผมจะได้ทำการลาออกจากการเป็นสมาชิกพรรคประชาธิปัตย์ ตามที่ได้ปรากฏในแฟ้มข่าวสาธารณะต่างๆ

ผมขอเรียนด้วยว่า ที่ผ่านมา ผมเองได้แสดงออกอย่างชัดเจนว่ามิได้ต้องการตำแหน่งทางการเมืองใดๆ อีกแล้ว เนื่องด้วยได้ปฏิบัติหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ มาพอสมควร และประสงค์ทำงานด้านบริหารให้พรรค โดยเฉพาะการปฏิรูปพรรค ผมจึงมิได้ลงรับสมัครเลือกตั้งในครั้งที่ผ่านมา อีกทั้งก็มีความเห็นว่า ผู้อาวุโสที่ดำรงตำแหน่งทางการเมืองไปแล้ว ก็น่าจะต้องถอยออกมายืนในตำแหน่งที่ปรึกษา แล้วสนับสนุนคนรุ่นใหม่ๆ ให้ไปทำหน้าที่ในตำแหน่งต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ต้องสนับสนุนคนรุ่นใหม่ๆ ที่มีความรู้ตรงสาย ไปทำงานในตำแหน่งการเมืองต่างๆ เพื่อที่จะได้มีการเติบโตของคนรุ่นใหม่ในแวดวงการเมือง ซึ่งเขาเหล่านี้ ย่อมมีความสามารถผลักดันประเทศได้เข้ายุคเข้าสมัย ก็ขอส่งกำลังใจให้กับนักการเมืองรุ่นใหม่ ให้ได้อดทน รอเวลาที่จะได้แสดงฝีมือเมื่อมีโอกาสแล้ว ผมก็ถือโอกาสนี้ให้กำลังใจและอวยพรให้ประสบความสำเร็จในการนำพาพรรคและในความก้าวหน้าของประเทศ

นอกจากนั้น ผมขอเรียนย้ำว่า ผมมิได้มีความทะเยอทะยานและมิได้มีแนวคิดใดๆ ที่จะไปตั้งพรรคการเมืองขึ้นใหม่ หรือไปเข้าร่วมกับพรรคการเมืองพรรคใดๆ นอกจากจะมุ่งหน้าไปดำเนินการในภาคประชาชนเพื่อเผยแพร่ความรู้ความเข้าใจในเรื่องประชาธิปไตย ตามกรอบแห่งธรรมาภิบาล ซึ่งสนับสนุนแนวคิดการกระจายอำนาจ และการเข้ามามีส่วนร่วมทางการเมืองของภาคประชาชน ซึ่งหากมิตรสหายใดๆ สนใจที่จะให้ความร่วมมือ ผมก็ยินดีที่จะน้อมรับเพื่อจักได้ก่อให้เกิดพลังการเมืองภาคประชาชน เป็นพลังการเมืองขั้วที่สามระหว่างกลุ่มทหารการเมือง กับกลุ่มการเมืองอาชีพสามานย์ โดยเป้าหมายหลักคือการคานอำนาจ และตรวจสอบการดำเนินการบริหารประเทศของฝ่ายการเมืองต่างๆ

การจากลาจากพรรคประชาธิปัตย์ในวันนี้ มิได้เป็นการเดินออกมาเพราะความไม่พอใจ หรือความโกรธ เกลียด หรือเป็นศัตรูกับผู้หนึ่งผู้ใดแต่อย่างใด ด้วยที่ผ่านๆ มา ผมเองได้มีการปรึกษาพูดคุยกับผู้ใหญ่ และเพื่อนๆ สมาชิกพรรค ซึ่งก็ได้ให้ความกรุณา และมีเมตตากับผมมาโดยตลอด ซึ่งผมขอกราบขอบพระคุณยิ่งมา ณ ที่นี้

อนึ่ง ผมขอขอบคุณ คุณอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ และคุณสุเทพ เทือกสุบรรณ สำหรับการให้โอกาสผมได้เข้ามาร่วมทำงานกับพรรคประชาธิปัตย์ และขอขอบคุณพี่บัญญัติ บรรทัดฐาน ที่ได้เมตตา เตือนสติ ให้ข้อคิด ข้อแนะนำ ที่สร้างสรรค์มาโดยตลอด

สุดท้ายนี้ ผมขอขอบคุณผู้ร่วมงาน มิตรสหาย ผู้ให้กำลังใจ ที่ช่วยให้ผมอยู่บนเส้นทางการเมืองกับอุดมการณ์และหลักการมาโดยตลอด และรอคอยที่จะได้ร่วมมือกันเพื่อสร้างการเมืองภาคประชาชนที่มีความเข้มแข็งเพียงพอจะช่วยคัดท้ายประชาธิปไตยไทย ให้เดินหน้าไปบนเส้นทางแห่งธรรมาภิบาลอย่างยั่งยืน

ขอขอบพระคุณ
กษิต ภิรมย์
12 มิ.ย.2562