สรรพากรถอยแก้ประกาศลูกค้าแบงก์ไม่ต้องยินยอมส่งข้อมูลดอกเบี้ย -อำนวยความสะดวก 99% ไม่เสียภาษี

นายปิ่นสาย สุรัสวดี โฆษกกรมสรรพากร เปิดเผยว่า กรมสรรพากร ตรียมแก้ไขประกาศอธิบดีกรมสรรพากร จากเดิมกำหนดให้ผู้ฝากเงินต้องยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูลดอกเบี้ยมายังกรมสรรพากร เพื่อประเมินภาษีหากรายรับดอกเบี้ยเกิน 2 หมื่นบาทต่อปีเสียภาษี 15% เป็นผู้ฝากไม่ต้องยินยอมส่งข้อมูลดอกเบี้ยมาที่กรมสรรพากรแล้ว แต่หากใครไม่ต้องการให้ส่งข้อมูลมาที่สรรพากรต้องไปยินยอมที่ธนาคาร ซึ่งการแก้ระเบียบดังกล่าวทำให้ผู้ฝากเงินส่วนใหญ่ 99% จากบัญชีออมทรัพย์ 85 ล้านบัญชี รับดอกเบี้ยไม่เกิน 2 หมื่นบาทต่อปี จะได้รับความสะดวกสบายมากขึ้น

นายปิ่นสายกล่าวว่า จากการหารือกับธนาคารพาณิชย์เมื่อวันที่ 23 เมษายน ธนาคารพาณิชย์ ระบุว่า การที่ธนาคารจะสามารถส่งข้อมูลดอกเบี้ยให้แก่กรมสรรพากรได้นั้นจะต้องได้รับคำยินยอมจากผู้ฝากเสียก่อน เพื่อไม่ให้ขัดกับกฎหมายสถาบันการเงินและกฎหมายข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในระหว่างการเตรียมประกาศใช้ ซึ่งหมายความว่าผู้ฝากในบัญชีออมทรัพย์ทั่วประเทศกว่า 80 ล้านบัญชี จะต้องมาแสดงความยินยอมให้ธนาคารส่งข้อมูล ซึ่งอาจสร้างความยุ่งยากให้แก่ประชาชน ที่จะต้องมาแสดงความยินยอมภายในเดือนพฤษภาคมนี้

“แนวทางแก้ไขใหม่ เป็นการดำเนินการกลับทางจากเดิม เพื่อให้ผู้ฝากเงินในบัญชีออมทรัพย์ ส่วนใหญ่ ไม่ต้องยุ่งยากมาแสดงความยินยอมให้ส่งข้อมูลให้กรมสรรพากร โดยคาดว่าไม่เกินสัปดาห์หน้ากรมสรรพากร จะสามารถแก้ไขประกาศอธิบดีกรมสรรพากร ฉบับที่ 344 ตามแนวทางดังกล่าว ซึ่งจะต้องสอดคล้องกับกฎหมายข้อมูลข่าวสารที่เตรียมจะประกาศใช้ด้วย ซึ่งการนำส่งข้อมูลรายรับดอกเบี้ย”นายปิ่นสายกล่าว

ด้านนายกอบศักดิ์ ดวงดี เลขาธิการสมาคมธนาคารไทย เปิดเผยว่า ธนาคารเป็นห่วงว่าหากต้องให้ลงชื่อยินยอมส่งข้อมูลลูกค้ากว่า 85 ล้านราย อาจไม่ทัน และเป็นห่วงว่าแบบฟอร์มหนังสือให้ความยินยอม จะมีเนื้อหาไม่ครบถ้วนเพราะต้องออกในระยะเวลาสั้นๆ โดยสรรพากรยืนยันที่จะไม่เลื่อนนโยบายดังกล่าวยังกำหนดเหมือนเดิมเริ่มส่งข้อมูลในเดือนพฤษภาคม และพฤศจิกายน ของทุกปี

มติชนออนไลน์