“เพื่อชาติ” ห่วง กกต.เกรงกลัวอำนาจรัฐ จนจัดเลือกตั้งไม่ได้มาตรฐาน ย้ำกลัว ม.44 หรือติดคุก ม.157 มากกว่า

วันที่ 5 มีนาคม 2562 ดร.รยุศด์ บุญทัน รองโฆษกพรรคเพื่อชาติ กล่าวแสดงความคิดเห็นถึงกรณีที่ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ระบุว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในสถานะนายกรัฐมนตรี รัฐธรรมนูญคุ้มครองให้มีคุณสมบัติถูกต้องตามกฎหมาย เป็นผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีในนามพรรคพลังประชารัฐได้ ส่วนอีกตำแหน่งคือ หัวหน้า คสช. สุดแล้วแต่จะไปแปลหรือตีความกัน ถ้าใครสงสัยก็ส่งให้ กกต. หรือ ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ตัวนายวิษณุจะตอบถูกหรือผิดไม่แปลก แต่ไม่สามารถจะถือเป็นคำวินิจฉัยได้ นั้น ตนคิดว่า

ในเมื่อเนติบริกรอย่างนายวิษณุ พูดมาเช่นนี้แล้ว คณะกรรมการการเลือกตั้ง หรือ กกต.มิควรรอช้า กกต. ควรจะส่งศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยเรื่องนี้ ส่วนตัวตนคิดว่า กกต.แม้มีหน้าที่โดยตรง แต่ก็เสี่ยงหากจะเป็นผู้วินิจฉัยเอง จากบทเรียนของ กกต.ชุดอื่นที่ต้องติดคุกมาแล้ว จากการวินิจฉัยที่ต่างจากศาลรัฐธรรมนูญ ดังนั้น กกต. ก็ไม่ควรรอช้า หาก กกต. ไม่กล้าวินิจฉัย เกรงกลัวอำนาจอะไร ก็ควรรีบส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย เพราะถ้าช้าไปก็จะมีคนไปแจ้งดำเนินคดีอาญามาตรา 157 กับ กกต. พวกท่านอาจต้องถูกดำเนินคดีอาญา พวกท่าน กกต.ควรจะเลือก ว่าควรจะกลัว มาตรา 44 หรือกลัวถูกดำเนินคดี มาตรา 157 มากกว่ากัน

ดร.รยุศด์ กล่าวอีกว่า หลายภาคส่วนในสังคม ก็ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นในประเด็นคุณสมบัติของพล อ.ประยุทธ์นี้ ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกันว่า พล อ.ประยุทธ์ เป็นเจ้าหน้าที่รัฐ แม้แต่สมาคมทนายความก็ยังออกมาแสดงความคิดเห็น ว่าพล อ.ประยุทธ์ คือเจ้าหน้าที่รัฐขาดคุณสมบัติ ไม่สมควรถูกเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรีได้ ด้วยตลอด 5 ปี ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ มีอำนาจเต็มในการบริหารราชการแผ่นดิน มีอำนาจใช้มาตรา 44 แต่เพียงผู้เดียวที่ใช้อำนาจเหนือกว่ากฎหมายรัฐธรรมนูญ และมีอำนาจบังคับบัญชาหน่วยงานราชการทั้งหมด รวมถึงอำนาจหน้าที่สามารถให้คุณและให้โทษทุกๆเรื่องที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์ในบ้านเมืองในประเทศไทยได้ และการที่ กกต.วินิจฉัยในหลายๆกรณีของพรรคการเมืองอื่นอย่างรวดเร็ว ต่างจากการวินิจฉัยกรณีนี้ของพล อ.ประยุทธ์ แสดงถึงความไม่มีมาตรฐานของ กกต.ชุดนี้ เสี่ยงจะทำให้ประชาชนเข้าใจว่า กกต.ถูกครอบงำ เกรงกลัวอำนาจรัฐ ดังเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญที่ตั้งใจเขียนขึ้นมา เพื่อป้องกันการขัดกันของผลประโยชน์ ไม่ให้สามารถใช้ตำแหน่งหน้าที่เอื้อประโยชน์ หรือมีอิทธิพลต่อประชาชนผู้ลงคะแนน อันจะมีผลต่อความบริสุทธิ์ยุติธรรมของการเลือกตั้งได้ แต่ กกต.กลับไม่กล้าวินิจฉัยให้เป็นไปดังเจตนารมย์ของรัฐธรรมนูญ