“สรรเสริญ แก้วกำเนิด” จาก “โฆษกสึนามิ” สู่ “รักษาการอธิบดีก.ประชาสัมพันธ์” มีใครเป็นไอดอล

หมายเหตุ : บทสัมภาษณ์นี้ใช้ชื่อว่า “เปิดอก “โฆษก คมช.” เลือดทหารม้า พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด กับเคล็ดทำงาน ใน+วันที่เปลี๊ยนไป๋ ยึดป๋าเปรม-สุรยุทธ์ ต้นแบบ” โดย คชสีห์ 88 เผยแพร่ครั้งแรกในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 20 พ.ค. 2550 

 

ในห้วงสถานการณ์ที่บ้านเมืองตึงเครียด และผ่านการปฏิวัติรัฐประหารมา สิ่งหนึ่งต้องยอมรับว่า การประชาสัมพันธ์เข้ามามีบทบาท ยิ่งในยุคข้อมูลข่าวสาร แม้กระทั่งปัจจุบัน ก็มีความสำคัญเป็นอย่างมาก การสื่อสาร การทำความเข้าใจ จากคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ (คมช.) ไปสู่ภาครัฐบาล ประชาชน สังคม องค์กรต่างๆ รวมถึงต่างประเทศ จะต้องถูกสื่อออกไปจากตำแหน่งกระบอกเสียง หรือโฆษก ที่จะต้องเข้าเติมแต่งในส่วนนี้ให้มีความเข้าใจ

โดยเฉพาะผู้ที่ทำหน้าที่ในตำแหน่ง “โฆษก คมช.” จึงถือว่ามีบทบาท มีความสำคัญ จะต้องได้รับการพิจารณาคัดเลือกอย่างถี่ถ้วน จะต้องได้รับการยอมรับ ทั้งจะต้องผ่านคุณสมบัติทุกๆ ด้าน และจะต้องมีความเข้าใจและทำงานร่วมกับสื่อมวลชนได้

ดังนั้น ปฏิเสธไม่ได้ที่การคัดเลือกในส่วนโฆษก คมช. จะต้องเป็นไปอย่างเข้มข้น เพื่อให้ได้ผู้ที่มานั่งเก้าอี้ดังกล่าวสามารถทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม

และด้วยประสบการณ์ที่ผ่านการเป็นพิธีกรในงานใหญ่ของกองทัพ รวมทั้งงานภาคสนามเมื่อครั้งช่วยราชการใน ททบ.5 และงานประชาสัมพันธ์ส่วนหน้าในเหตุการณ์สึนามิ ทำให้ “เสธ.ไก่อู” พ.อ.สรรเสริญ แก้วกำเนิด รอง ผอ.กองปฏิบัติการจิตวิทยา จึงเป็นดาวเด่นในการถูกทาบให้นั่งเก้าอี้ “โฆษกคณะมนตรีความมั่นคงแห่งชาติ” หรือโฆษก คมช. เพื่อทำหน้าที่เป็นกระบอกเสียงชี้แจงเรื่องราวต่างๆ ของ คมช. ไปสู่สื่อมวลชนเพื่อผ่านไปยังพี่น้องประชาชนให้รับทราบความเคลื่อนไหว

จนถึงวันนี้ พ.อ.สรรเสริญ ที่จบจากรั้วเตรียมทหาร รุ่นที่ 23 และ จปร.34 เป็นนายทหารเหล่าทหารม้า ซึ่งเป็นเหล่าเดียวกับ “ป๋า” พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ซึ่งถือเป็นต้นแบบของนายทหารเหล่าทหารม้า

พ.อ.สรรเสริญ ผ่านการเป็น ผู้บังคับหมวด ผู้บังคับกองร้อย และนายทหารยุทธการและการฝึก จาก ม.พัน.3 รอ. ได้ผ่านงานที่ตัวเองยอมรับว่าหนักหนาสาหัส ร่วมกับ คมช. มาแล้ว 6 เดือน

โดยผู้บังคับบัญชาทุกคนทั้ง พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. ในฐานะประธาน คมช. พล.อ.วินัย ภัททิยกุล ปลัดกระทรวงกลาโหม และเลขาธิการ คมช. พล.อ.สพรั่ง กัลยาณมิตร, พล.อ.อนุพงษ์ เผ่าจินดา ผช.ผบ.ทบ. และ ผช.เลขาธิการ คมช. ต่างยอมรับในความสามารถ และชมเชยในการทำหน้าที่ได้อย่างดีเยี่ยม

โดย พ.อ.สรรเสริญ ที่เพื่อนๆ และพี่ๆ เรียกว่า ไก่อู ได้เปิดเผยจากวันที่ก้าวมารับหน้าที่จนถึงปัจจุบันนี้ว่า

“ยอมรับว่าไม่รู้ตัวมาก่อน ว่าจะได้รับการทาบทามให้เป็นโฆษก คมช. มีเพียง “พี่เต่า” พล.ต.สุรศักดิ์ กาญจนรัตน์ จก.กร.ทบ. ที่ก่อนหน้านี้เป็น รอง จก.กร.ทบ. และทำหน้าที่ในส่วนสารสนเทศของสำนักเลขาธิการ คมช. ได้ติดต่อและพาไปพบกับ พล.อ.สมเจตน์ บุญถนอม หัวหน้าสำนักงานเลขาธิการ คมช.

ซึ่ง พล.อ.สมเจตน์ได้บอกเพียงว่า พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ผบ.ทบ. และประธาน คมช. ต้องการหาผู้ที่มีความเหมาะสมเข้ามาทำหน้าที่โฆษก คมช. เมื่อเดินทางไปพบ พล.อ.สนธิ ท่านก็ถามว่า ช่วยงานได้มั้ย และบุคลิกทหารทั่วไป เมื่อผู้บังคับบัญชาสั่งก็ต้องทำได้อยู่แล้ว และต้องทำเต็มที่ จึงได้รับปากท่าน” พ.อ.สรรเสริญย้อนเรื่องราวให้ฟัง

เมื่อชีวิตจะต้องหันเหไปสู้เส้นทางในการทำหน้าที่โฆษก ความรู้สึกแรกที่เข้าในห้วงความคิด ก็วิตกว่าเราจะทำได้มั้ย และทำได้ดีหรือเปล่า ก็รู้สึกกังวล แต่สิ่งหนึ่งที่ทำให้เราต้องสู้ก็คือ ประสบการณ์ที่ได้ผ่านการทำหน้าที่พิธีกรในงานกองทัพบก และเป็นงานระดับอินเตอร์มาตลอด และยังทำหน้าที่ รอง ผอ.กองปฏิบัติการจิตวิทยา ที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากมาย ก็ทำให้เราพอที่จะแข็งใจสู้สักตั้งได้

พ.อ.สรรเสริญ ซึ่งมีเลือดทหารม้าเต็มตัว ได้บอกให้ทราบว่า “ที่ผ่านมาในหน้าที่คือการปฏิบัติการจิตวิทยา ซึ่งได้ผ่านงานมาหลายรูปแบบ พอมาเป็นโฆษกจะต้องเป็นผู้ชี้แจงในเรื่องเฉพาะ และเป็นข้อเท็จจริง เพราะฉะนั้น จะใส่แนวความคิดต่างๆ ไม่ได้ ต้องเป็นข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น

ทีแรกก็กังวลเหมือนกันว่าจะทำได้ดีหรือเปล่า กลัวจะสื่อความหมายระหว่าง คมช. กับพี่น้องประชาชนตามที่เค้ากำหนดไว้ไม่ได้เต็มที่ เพราะที่ผ่านมาไม่ค่อยได้สัมผัสกับผู้สื่อข่าว เห็นแต่ทางทีวีคำถามบีบคั้นคนตอบเหมือนกัน จึงเกิดอาการ กลัวจะเป็นแบบในช่วงที่ผ่านมา คือ โฆษกทหารมักจะตอบอะไรไม่ได้ เป็นเรื่องที่ให้ผู้บังคับบัญชาตอบเอง”

เมื่อเราเข้ามาสู่จุดนี้แล้ว จึงต้องมีการวางแผนมีการเตรียมตัวให้มาก เพราะในเรื่องการสัมภาษณ์จะต้องมีทุกวัน จึงต้องขยัน และทำการบ้านให้มากๆ โดยส่วนหนึ่งได้จากการติดตามข้อมูลจากทีวี วิทยุ โดยในส่วนนี้จะความสำคัญกับข้อมูลมาก

ยิ่งในการประชุม คมช. แต่ละครั้งนอกเหนือประเด็นสำคัญ อะไรที่อยู่ในกระแสที่ประชาชนสื่อมวลชนสนใจ ผมจะเรียนถามในที่ประชุม คมช. ในแต่ละเรื่องทาง คมช. คิดอย่างไรต่อเรื่องเหล่านั้น เพื่อจะได้ไปสื่อความหมายให้คนได้รับทราบ ได้ตรง เพราะหากมีคำถาม จะได้ทำให้สื่อมวลชนได้เกิดความกระจ่าง ยิ่งมีเรื่องเร่งด่วนที่ต้องติดตาม ก็จะต่อสายถึงประธาน คมช. เพื่อให้ทัน และท่านก็ได้กรุณา

พ.อ.สรรเสริญยังบอกเคล็ดการทำหน้าที่ว่า “จะให้ความสำคัญต่อสื่อมวลชนมาก เพราะหากข้อมูลที่ไม่รู้ จะไม่ดั้นเมฆ ไม่มั่ว เมื่อไม่รู้ก็ต้องไม่รู้ และจะรับปากไว้ แล้วไปหาให้ สิ่งสำคัญเมื่อรับปากไปแล้วจะไม่ขอไปที จะต้องหาให้เขาจริงๆ แม้จะต้องอธิบายเรื่องเดิมหลายๆ ครั้งก็ต้องทำ เพราะผมมีความเข้าใจสื่อมวลชนที่ต้องการความสดของข่าวแม้จะอธิบายขยายความไปแล้วก็ตาม”

อย่างสถานีโทรทัศน์เมื่อเปิดสายขึ้น มีการชี้แจงแถลงข่าวกับพี่น้องประชาชน เขาต้องการคนหนึ่งที่อยู่ในกระบวนการของ คมช. มาอธิบายในเรื่องนั้น ก็จะให้เขาหยิบประเด็นมาอธิบายก็คงได้แต่อาจจะขาดความน่าเชื่อถือและความสด เมื่อเขาติดต่อเข้ามาจะพยายามไม่ปฏิเสธใคร แล้วพยายามจัดเวลาให้เกือบทุกสถานี

แม้การทำงานของ คมช. จะผ่านช่วง 6 เดือนมาแล้ว โดยที่ตัวเองเข้าไปมีส่วนร่วม แต่ พ.อ.สรรเสริญ ก็ไม่กล้าวิเคราะห์ผลงานของ คมช. เพราะถือว่าอยู่ในส่วนของ คมช. ถ้าเรามองตัวเองส่วนใหญ่ก็ต้องมองว่าเรา ทำได้เหมาะสม ทำได้ดี สังคมน่าจะเป็นผู้วิพากษ์วิจารณ์ ว่าสิ่งที่เราทำอยู่นี้เป็นไปตามสัญญาให้กับประชาชนหรือไม่ แล้วป้องกันไม่ให้เกิดวงจรอุบาทว์ จนพี่น้องประชาชนเกิดความไม่ไว้วางใจออกมาประท้วงทหารในฐานะที่รักษาความมั่นคงหรือเกี่ยวข้องก็ได้รับการกดดันให้จากภาคประชาชนเพื่อให้มีการปฏิรูปการปกครอง

“ในส่วนตัวเองที่ได้ทำหน้าที่เป็นประบอกเสียงมา 6 เดือน ก็ไม่ได้ให้คะแนนตัวเองเลย แต่ได้สอบถามจากเพื่อนๆ พี่ๆ น้องๆ ที่อยู่ในแวดวงทหารด้วยกันว่าสิ่งที่ชี้แจงไปทั้งหลาย ตรงกับขอบข่ายงานที่แต่ละคนรับผิดชอบหรือไม่ ซึ่งแต่ละคนที่เป็นต้นเรื่อง ก็ได้รับแจ้งกลับมาว่าตรง ส่วนภาพรวมผลการทำงานจะเป็นอย่างไรต้องให้สื่อมวลชนเป็นผู้พิจารณามากกว่า ว่าเราสามารถตอบคำถามตรงกับสิ่งที่เขาอยากรู้มั้ย นอกจากตรงกับความต้องการของ คมช. แล้วต้องตรงกับความต้องการของสังคมที่เขาอยากรู้ด้วยไม่ใช่ถามเรื่องหนึ่งแล้วตอบอีกเรื่องหนึ่ง ซึ่งที่ผ่านมายังไม่มีตำหนิในเรื่องใด และคำชมก็มีเล็กน้อย

โดยเฉพาะเสียงชมจากสายปลายทางของ พล.อ.สนธิ ที่ว่า “ขอบใจมาก ให้ตั้งใจทำงานต่อไป” พ.อ.สรรเสริญถ่อมตัว

ด้วยความที่เห็น พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษ ก้าวสู่จุดสุดยอดในตำแหน่งในกองทัพและก้าวขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีด้วยความสง่างาม พ.อ.สรรเสริญ ในขณะนั้นที่กำลังจะจบจาก รร.จปร. ได้ตัดสินใจเลือกที่จะเป็นทหารม้าทันที โดยมีอาจารย์รุ่นพี่ในขณะนั้นคือ พล.ต.ขัตติยะ สวัสดิผล หรือ เสธ.แดง แนะนำให้เข้าเหล่าทหารม้า จึงไม่รีรอที่เลือก ทหารราบ ทหารปืนใหญ่ หรือทหารช่าง ทั้งๆ ที่มีคะแนนสอบในขณะนั้นอยู่ในเกณฑ์ดี

การเป็นทหารม้าทำให้ พ.อ.สรรเสริญ มีความมุ่งมั่น มีความอดทน จึงกล้าพูดได้เต็มปากว่า ตั้งแต่ทำหน้าที่มา ไม่มีสิ่งกดดัน ไม่รู้สึกท้อแท้ ไม่รู้สึกเหนื่อย เพราะตลอดช่วงระยะเวลาที่ผ่านมาตั้งแต่การทำงานใน กร.ทบ. เมื่อจบจาก รร.เสธ.ทบ. งานในหน้าที่ฝ่ายเสนาธิการทหารบก ปกติหนักกว่างานใน คมช. จึงเห็นว่าการทำควบคู่พร้อมตำแหน่ง ที่เพิ่งได้รับการพิจารณาให้เป็น ผอ.กองปฏิบัติการจิตวิทยา ไม่ได้เป็นการเพิ่มงานที่หนักหน่วงอะไร

เพียงแต่รู้สึกเป็นกังวลเล็กๆ ที่จะสื่อความหมายได้ไม่ตรง

พ.อ.สรรเสริญ ยังมีวิธีการคลายเครียด โดยจะใช้วิธีการออกกำลังกาย ด้วยการเล่นฟุตบอล เช่นเดียวกับ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน ผบ.ทบ. หรือตีปิงปอง การร้องเพลงที่ตัวเองคือเป็นนักร้องวงดนตรีไทย ในรั้ว รร.จปร. ก็เป็นส่วนหนึ่งที่คลายเครียดได้ เพราะในฐานะที่เป็นคนบ้านๆ สามัญธรรมดาไม่มีอะไรเหนือกว่าคนอื่น เพราะฉะนั้น ชีวิตปกติกับชีวิตปัจจุบันถึงแม้จะมีงานเยอะขึ้นก็ไม่ได้ทำให้เกิดทุกข์ใจหรือลำบากกาย

“ส่วนการดำเนินชีวิตทุกวันนี้ ยอมรับว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปมาก รู้สึกว่าเวลาของการเป็นส่วนตัว แทบไม่มี เพราะหลังการประชุม คมช. มีการชี้แจงแถลงข่าวจากเย็นวันนั้นถึงอีกวันจะมีการสัมภาษณ์โฟนอินทั้งสถานวิทยุ โทรทัศน์เยอะมาก แต่โชคดีที่ผมเป็นคนบ้านๆ อยู่แล้ว ไม่มีพิธีรีตองอะไร ชอบดูทีวี อ่านหนังสือ เดินห้าง ดูภาพยนตร์ ไม่มีกิจกรรมของส่วนตัวเป็นกรณีพิเศษ”

สิ่งที่ต้องการในการทำหน้าที่ปัจจุบันคือ อยากสื่อความหมายให้ตรงกับที่ทาง คมช. คิดที่ตกผลึกสุดท้ายให้ตรงกับแนวความคิด และอยากจะเรียนให้พี่น้องประชาชนได้รับทราบว่า คมช. ไม่คิดเหนืออื่นใด นอกจากพยายามคืนอำนาจให้ประชาชนภายในระยะเวลาที่กำหนด ด้วยการรักษาความสงบบ้านเมืองให้อยู่ในกลไกเดินไปให้ได้ถึงวันเลือกตั้ง

พ.อ.สรรเสริญ ยังหวนคิดถึงนายทหารต้นแบบที่ให้ตัวเองเดิน และก้าวเพื่อไปสู่แบบอย่างคือ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายกรัฐมนตรี เพราะด้วยความที่ท่านเป็นผู้ที่มีความรู้ ความสามารถ เป็นทหารอาชีพ สุขุมลุ่มลึก จึงพยายามเดินแบบท่าน ส่วนตัวก็ยึดอุดมคติ ว่าเมื่อได้รับมอบหมายงานจากผู้บังคับบัญชาก็จะ ต้องทำอย่างเต็มที่จนกว่างานนั้นจะสำเร็จ อย่านำปัญหากลับมาเล่าให้ผู้ที่ได้มอบหมายงาน หรือผู้บังคับบัญชาทราบโดยที่ไม่มีข้อเสนอแนะหรือข้อคิดเห็นตามไปด้วย หรือสั่งอะไรก็มีแต่ปัญหาตลอด ไปทำให้เต็มความสามารถให้เสร็จเสียก่อน แต่เมื่อทำไปแล้วไม่เสร็จหรือติดปัญหาหรือมีข้อเสนอแนะก็นำกลับไปเรียนท่าน คนสั่งจะมีความรู้สึกเบ็ดเสร็จไปในตัว

“เพราะวันนี้บ้านเมืองเราค่อนข้างไม่ปกติ ทุกคนแสดงความคิดเห็นกันเกือบทุกคน เพราะเป็นสิทธิเสรีภาพ แต่การแสดงความคิดของการติง ในการติเพื่อก่อแล้ว อยากให้มีคำแนะนำด้วย เพราะคนทำงานในบ้างครั้งมุมมองเรื่องราวอาจจะอยู่ในทิศทางใดทิศทางหนึ่ง

ฉะนั้น ถ้าเป็นคำที่ติงเข้ามาเพื่อก่อเราพร้อมที่จะฟังอยู่แล้ว เพียงแต่อยากให้มีคำแนะนำเพิ่มเติมมาด้วย เพราะการติงอย่างเดียวทำง่าย” พ.อ.สรรเสริญกล่าว