ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มิถุนายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ |
ผู้เขียน | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์ |
เผยแพร่ |
Our Place in Their World
การปะติดปะต่อทับซ้อนข้อมูลทางประวัติศาสตร์
ระหว่างเวนิสตะวันออกและตะวันตก
ในมหกรรมศิลปะ เวนิส เบียนนาเล่ 2024
ในตอนนี้ เราขอเล่าถึงอีกหนึ่งผลงานที่เราได้ชมในนิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร ที่เป็นส่วนหนึ่งของมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60
ผลงานที่ว่านี้มีชื่อว่า Our Place in Their World (2023 – 24) โดยสองศิลปินชาวไทย จิตติ เกษมกิจวัฒนา และ นักรบ มูลมานัส
จิตติ เป็นศิลปินร่วมสมัยผู้ทำงานศิลปะที่อาศัยการวิจัยเป็นพื้นฐาน (Research-based art) ด้วยการใช้ชุดข้อมูลทางประวัติศาสตร์ และการทำงานที่เชื่อมโยงกับบริบทของพื้นที่อย่างแนบเนียน
ส่วนนักรบเป็นศิลปินคอลลาจ (ปะติด) ผู้สร้างผลงานจากการตัดแปะเรื่องเล่าของอดีตและความทรงจำขึ้นมาจากชิ้นส่วนทางประวัติศาสตร์ วรรณกรรม ตำนานความเชื่อ และวัฒนธรรมหลากแขนง
ทั้งคู่ร่วมกันสร้างสรรค์ผลงานวิดีโอจัดวางที่ประกอบสร้างจากข้อมูลที่สองศิลปินสืบค้นจากประวัติศาสตร์ของเวนิส และร่องรอยทางประวัติศาสตร์จากผลงานศิลปะที่ตกแต่งในพื้นที่แสดงงาน Palazzo Smith Mangilli Valmarana
โดยเชื่อมโยงเข้ากับการสำรวจประวัติศาสตร์สยามในช่วงเปลี่ยนศตวรรษที่ 19-20 ที่ในหลวงรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรปซึ่งถือเป็นการก้าวสู่ความเป็นสมัยใหม่ของสยามเป็นครั้งแรก
หรือแม้แต่เรื่องราวของสามัญชนคนตัวเล็กตัวน้อยชาวสยามผู้มีโอกาสเดินทางไปยังโลกตะวันตกเช่นเดียวกัน
ข้อมูลเหล่านี้ถูกปะติดปะต่อทับซ้อนจนกลายเป็นผลงานศิลปะอันละเมียดละไม ที่ล่องลอยอยู่ท่ามกลางมหาสมุทรแห่งข้อมูลอันไพศาล
“ผลงานชุดนี้เริ่มต้นจากการที่อาจารย์อภินันท์ โปษยานนท์ ภัณฑารักษ์ของนิทรรศการ อยากให้งานของพวกเราพูดถึงความเชื่อมโยงระหว่างเวนิสตะวันตกกับเวนิสตะวันออก หรือกรุงเทพฯ เราสองคนก็สนใจเรื่องประวัติศาสตร์อยู่แล้ว เราก็เริ่มจากการสำรวจว่ามีอะไรที่เชื่อมโยงโลกทั้งสองฝั่งเข้าไว้ด้วยกัน โดยเฉพาะในบริบทของศิลปะ และบริบททางประวัติศาสตร์ ในการเข้าสู่ยุคสมัยใหม่ของสยาม ซึ่งเป็นหัวข้อที่เราสองคนสนใจอยู่แล้ว”
“อาจารย์อภินันท์ยังบอกเราตั้งแต่แรกว่า จะให้พวกเราแสดงงานในห้องรับแขกและห้องประชุม พบปะสังสรรค์ของอาคาร Palazzo Smith Mangilli Valmarana ที่มีจิตรกรรมฝาผนังโดดเด่นชัดเจนมากที่สุดห้องหนึ่งในอาคาร แคแร็กเตอร์ของตัวละครในภาพชัดเจนมาก”
“อาจารย์อภินันท์ให้ข้อมูลเรามาว่าจิตรกรรมฝาผนังเหล่านี้เป็นงานศิลปะแบบนีโอคลาสสิค (Neo-Classic) แต่ถ้าดูให้ละเอียด จะเห็นว่าเป็นงานที่แปลกไปจากงานนีโอคลาสสิคทั่วๆ ไป อย่างถ้าเราดูการวาดร่างกายของตัวละครในภาพ เราจะนึกถึงงานศิลปะโรโคโค (Rococo) หรือแม้แต่งานของศิลปินสมัยใหม่บางคน ภาพลักษณ์ของงานจิตรกรรมจะมีความแปลกประหลาดหลายๆ อย่างผสมผสานอยู่”
“เนื่องจากนักรบทำงานคอลลาจอยู่แล้ว เราก็คิดว่าจะทำอย่างไรให้การคอลลาจสะท้อนถึงงานจิตรกรรมฝาผนังในห้องนี้ได้ด้วย เพราะเราสามารถดูภาพจิตรกรรมเหล่านี้จากหลายแง่มุม ทั้งในแง่มุมทางประวัติศาสตร์ ที่มีเรื่องของตำนานเทพปกรณัม (Mythology) ของโลกฝั่งตะวันตกหรือความแปลกแยกของคนผิวดำ อันเป็นผลพวงจากการค้าทาสในหน้าประวัติศาสตร์ของยุคลัทธิอาณานิคม (Colonialism) สิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นหลายหลากจากต้นทางในเวนิส”
“ทีนี้เราก็ลองย้อนกลับไปค้นดูว่าในสยามของเรามีบริบทอะไรบ้าง ที่สามารถจะเอามาเชื่อมต่อกันได้ ไม่ใช่แค่ในประเด็นเดิมๆ ว่า กรุงเทพฯ คือเวนิสตะวันออก แต่เราเชื่อมโยงกับบริบทของความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ด้วยความที่ภูมิภาคของเรามีประวัติศาสตร์ที่ซับซ้อน ซึ่งชาวตะวันตกไม่เข้าใจเราเท่าไรนัก แต่จะรับรู้ได้จากภาพจำแบบเหมารวม”
“สมมุติเราถามชาวตะวันตก ว่ารู้จัก ‘สยาม’ ไหม เขาก็จะนึกถึง แฝดสยาม (Siamese twins) อย่าง ฝาแฝดอิน-จัน หรือถ้าถามชาวตะวันตกถึง ‘ประเทศไทย’ เขาก็อาจจะนึกไปถึงพัทยาหรือพัฒน์พงศ์”
“เพราะฉะนั้น ประเด็นเกี่ยวกับสายตาของคนตะวันตกที่มองไปยังตะวันออก ทั้งในอดีตถึงปัจจุบัน นั้นเป็นสิ่งที่น่าหยิบยกมาพูดถึง เราจึงใช้สิ่งเหล่านี้มาเป็นจุดเริ่มต้นในการทำงาน”
“ด้วยความที่ธรรมชาติในงานคอลลาจของนักรบคือการเอาภาพหลายๆ ภาพจากที่ต่างๆ มาประกอบกันเพื่อสร้างบริบทและเนื้อหาใหม่ ไม่ต่างอะไรกับมุมมองที่โลกตะวันตกมองโลกตะวันออกในยุคอาณานิคมหรือในยุคก่อนหน้า ที่ความตะวันออกไกลด้วยความสงสัยใคร่รู้ ความแปลกประหลาด ผิดธรรมดา (Exotic) ซึ่งแม้แต่คนไทยเราเองก็มองภูมิภาคอื่นๆ นอกเหนือจากภาคกลาง ว่ามีความแปลกประหลาด และมักจะตั้งคำถามกับภูมิภาคเหล่านั้นถึงความเป็น (หรือไม่เป็น) ไทย เช่นเดียวกัน เพราะในอดีต ดินแดนล้านนาก็ไม่ใช่สยาม แต่ในปัจจุบันกลายเป็นส่วนหนึ่งสยามและประเทศไทย”
“เพราะฉะนั้น จะเห็นว่ายังมีหลายเรื่องที่ไม่ถูกรวมเข้าไปในบริบททางประวัติศาสตร์ของประเทศเรา เราไม่สามารถนำเสนอทุกอย่างเป็นภาพแทนความเป็นไทยได้ทั้งหมด หรือแม้แต่งานศิลปะในประวัติศาสตร์ของเมืองเวนิสเอง ก็มีความเป็นลูกผสมของหลากวัฒนธรรม หลายยุคสมัยเช่นกัน เราจึงอยากหยิบเอาความสลับซับซ้อนที่ว่านี้มานำเสนอในผลงานของเรา”
“ด้วยเหตุนี้ เราจึงไม่ได้พูดถึงความคาบเกี่ยวระหว่างกรุงเทพฯ กับเวนิสแต่เพียงอย่างเดียว แต่เราพูดถึงความเป็นภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กับความเป็นเวนิส ที่เป็นเมืองท่า อย่างโบสถ์ที่เราไป คนที่เฝ้าเขาก็บอกเราว่าโบสถ์ของเขาถือว่าเป็นศูนย์กลางของโลกในการเดินเรือ เขายังเล่าให้เราฟังถึงความเชื่อมโยงระหว่างเอเชียตะวันออกเฉียงใต้กับเวนิสในประวัติศาสตร์ ทั้งเกาะบอร์เนียว, อินโดนีเซีย มาจนถึงสยาม ที่ภูมิภาคของเราเชื่อมโยงกับเขาในฐานะนักเดินเรือที่ผ่านเข้ามาในพื้นที่แห่งนี้ ไม่ว่าจะทำการค้าแลกเปลี่ยนหรือการเชื่อมโยงทางการทูตก็ตาม”
สิ่งที่น่าสนใจก็คือ ภาพจากงานจิตรกรรมในพื้นที่แสดงงานในเวนิส และภาพจากเกร็ดประวัติศาสตร์สยามและเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือข้อมูลอันมหาศาลเหล่านี้ ถูกนำมาปะติดปะต่อทับซ้อน หลอมรวมกันจนกลายเป็นภาพเคลื่อนไหวอันวิจิตรพิสดาร แปลกตา น่าพิศวง
จิตติบอกว่า “ผมสนใจเทคนิคการคอลลาจของนักรบ ว่าถ้ามาประสานกับงานศิลปะแบบภาพเคลื่อนไหวที่ผมทำอยู่แล้วจะเป็นอย่างไร เพราะการคอลลาจเป็นงานแบบสองมิติ การเปลี่ยนงานคอลลาจให้กลายเป็นภาพเคลื่อนไหวแบบแอนิเมชั่น ก็คือการทำให้มันกลายเป็นงานแบบสามมิติเพื่อเล่าเรื่องราวที่เราต้องการนำเสนอ”
“นักรบเองก็เคยทำงานแอนิเมชั่นมาบ้างแล้ว ส่วนตัวผมเองก็สนใจเรื่องการบอกเล่าแนวคิดและเรื่องราวผ่านการเคลื่อนไหวของภาพ ผลงานชุดนี้จึงเป็นการทำงานประสานกันของเราทั้งสองคน”
“เมื่อดูงานส่วนหนึ่ง อาจมองว่าเราพูดถึงเรื่องราวของประวัติศาสตร์กระแสหลัก แต่งานอีกส่วน เราเปิดพื้นที่ให้กับเรื่องราวของประวัติศาสตร์กระแสรอง และเรื่องเล่าของคนตัวเล็กตัวน้อย (Micro Narratives) เพราะเราคิดว่านอกจากประวัติศาสตร์กระแสหลักที่เราทุกคนรู้จักคุ้นเคยแล้ว ยังมีเรื่องราวที่ไม่ถูกเล่าคู่ขนานกันไปด้วย”
“อย่างเช่น เรามักรู้จักแต่เรื่องของรัชกาลที่ 5 เสด็จประพาสยุโรป แต่เราไม่เคยรู้ว่ามีสามัญชนชาวสยาม ที่มีโอกาสเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลไปยังโลกตะวันตกด้วย อย่างเช่น นายทองคำ ชาวเพชรบุรี ที่เดินทางไปใช้ชีวิตอยู่ในยุโรปกับอเมริกาเป็นเวลา 25 ปี ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงรัชกาลที่ 6”
“สิ่งที่น่าสนใจคือตอนที่เขาไป เขาเป็นคนชนบทชาวสยามที่เดินทางไปอาศัยอยู่ในอีกซีกโลกหนึ่งที่เขาไม่รู้จัก แต่พอเขากลับมาสู่สยามอีกครั้ง เขากลับกลายเป็นคนของที่อื่นไป คนสยามในยุคนั้นยังเรียกเขาว่าเป็น ‘มนุษย์ประหลาดชาติไทย’ นี่เป็นตัวอย่างของการเป็นคนข้ามรัฐข้ามชาติ (Transnational) ของนายทองคำ ซึ่งเป็นคนหนึ่งที่เกิดผิคยุคผิดสมัยมากๆ”
“หรือคณะละครนายบุศย์ มหินทร์ คณะละครพันทาง (Hybrid theatre) ที่หยิบเอาแนวทางของโอเปร่าตะวันตกมาผสมผสานเข้ากับนาฏศิลป์สยาม ผู้เป็นชาวสยามกลุ่มแรกที่ได้เดินทางไปเปิดการแสดงในต่างประเทศ และได้มีโอกาสบันทึกเสียงการบรรเลงดนตรีไทยเป็นครั้งแรกที่สวนสัตว์กรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี”
“โดยเสียงที่บันทึกนั้นถูกรวมในฐานข้อมูลของ ‘Sonic System and Music of the Siamese’ และถูกขึ้นทะเบียนมรดกความทรงจำโลกอีกด้วย”
“หรือเรื่องราวของ ก.ศ.ร. กุหลาบ ปัญญาชนในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นบุคคลที่รัฐไม่พึงประสงค์ และอยากจะลบทิ้งไป เขาเป็นนักหนังสือพิมพ์ที่เขียนและตีพิมพ์ความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์ที่ขัดแย้งกับประวัติศาสตร์กระแสหลักที่ราชสำนักเผยแพร่ เขาเป็นสามัญชนคนแรกๆ ที่เอาความรู้ต่างๆ ที่เคยผูกขาดอยู่ในมือคนชั้นสูงมาเผยแพร่ให้ประชาชนได้รับรู้ จนถูกส่งตัวเข้าโรงพยาบาลบ้าอย่างไม่มีกำหนด”
“เขายังเป็นต้นกำเนิดคำว่า ‘กุเรื่อง’ ที่แปลว่าการสร้างเรื่องที่ไม่เป็นความจริงขึ้นมา ซึ่งมีที่มาที่ไปมาจากคำว่า กุหลาบ ซึ่งเป็นชื่อของเขา เพราะชนชั้นนำในยุคนั้นกล่าวหาว่า เรื่องราวและความรู้ที่เขาเผยแพร่ออกไป เป็นสิ่งที่ถูกกุขึ้นมา ไม่ตรงกับประวัติศาสตร์กระแสหลักที่รัฐอยากให้ทุกคนรับรู้และเข้าใจ”
“วิธีการของ ก.ศ.ร. กุหลาบ คือการเอาเรื่องราวความรู้ต่างๆ ที่เป็นสิ่งหวงห้ามในยุคสมัยนั้นมาเผยแพร่ใหม่ ด้วยวิธีการสลับการเล่าเรื่อง เปลี่ยนชื่อตัวละคร เพื่อไม่ให้รัฐจับได้ว่าเขาเอาเรื่องราวที่รัฐหวงห้ามมาเผยแพร่ เรารู้สึกว่าวิธีการแบบนี้เป็นแรงบันดาลใจในการเล่าเรื่องของเรา ไม่ต่างอะไรกับการคอลลาจ ที่หยิบเอาภาพต่างๆ จากหลายที่มามาสลับสับเปลี่ยน ปะติดปะต่อกันเพื่อเล่าเรื่องราวทางประวัติศาสตร์ขึ้นใหม่”
“ถึงแม้จะพูดถึงเรื่องราวในประวัติศาสตร์ แต่เราไม่ได้ทำงานย้อนยุค หากเรากำลังพูดถึง “อดีตในปัจจุบัน” ด้วยการสำรวจว่าอดีตกับปัจจุบันมีระยะห่างไกลกันแค่ไหน ด้วยการใช้ภาพ เสียง และเทคโนโลยีต่างๆ เพื่อหยิบเอาเกร็ดประวัติศาสตร์จากงานศิลปะ และการตกแต่งที่อยู่ในห้องแสดงงานนี้ มาใช้เล่าเรื่องราวที่เชื่อมโยงกันระหว่างประวัติศาสตร์สยาม ความเป็นเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และประวัติศาสตร์ของเมืองเวนิส”
(รับชมอีบุ๊กของผลงานชุดนี้ได้ที่นี่ https://shorturl.at/BfjVE)
นิทรรศการ The Spirits of Maritime Crossing : วิญญาณข้ามมหาสมุทร จัดแสดงในมหกรรมศิลปะนานาชาติ เวนิส เบียนนาเล่ ครั้งที่ 60 ณ พื้นที่แสดงงาน Palazzo Smith Mangilli Valmarana ในเมืองเวนิส สาธารณรัฐอิตาลี ตั้งแต่วันที่ 20 เมษายน-24 พฤศจิกายน 2567
ติดตามข่าวสารเพิ่มเติมได้ทาง Facebook และ Instagram : Bkkartbiennale
ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก มูลนิธิบางกอก อาร์ต เบียนนาเล่ •
อะไร(แม่ง)ก็เป็นศิลปะ | ภาณุ บุญพิพัฒนาพงศ์
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022