ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 14 - 20 มิถุนายน 2567 |
---|---|
คอลัมน์ | My Country Thailand |
ผู้เขียน | ณัฐพล ใจจริง |
เผยแพร่ |
My Country Thailand | ณัฐพล ใจจริง
ชะตากรรมชาวพระนคร
เมื่อโรงไฟฟ้าวัดเลียบ
และโรงฟ้าสามเสนถูกทำลาย (จบ)
ทำลายโรงไฟฟ้าสามเสน
ความเป็นมาของโรงไฟฟ้าสามเสนนั้นตั้งขึ้นเมื่อ 2457 ทำหน้าที่ผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนพระนครในตอนเหนือ ส่วนพื้นที่บริเวณตอนใต้ของคลองบางลำพูและคลองบางกอกน้อยนั้นเป็นพื้นที่จ่ายกระแสไฟฟ้าของโรงไฟฟ้าวัดเลียบ
ในช่วงปลายสงคราม เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2488 เวลาราวบ่ายนั้น ปรากฏเครื่องบินทิ้งระเบิดของสัมพันธมิตรเข้าโจมตีพระนครและสามารถทำลายโรงไฟฟ้าวัดเลียบและโรงไฟฟ้าสามเสนลงได้ภายวันเดียวกันนั้นเอง ทำให้พระนครขาดกระแสไฟฟ้าในการประกอบกิจการค้า อุตสาหกรรม การบริการต่างๆ และสร้างความมืดไปทั่วพระนคร
มีผู้บันทึกการทิ้งระเบิดครั้งนั้นไว้ว่า เสียงหวอดังลั่นดังทั่วพระนคร ติดตามด้วยเสียงเครื่องบินและมีเสียงระเบิดดังตามมา มีรายงานว่า ระเบิดลงแถวพระราม 6 สะพานกษัตริย์ศึก โรงไฟฟ้าวัดเลียบ อาคารห้างร้านแถวพาหุรัด ย่านกรุงเกษม ย่านวัดดวงแขแถวถนนรองเมืองใกล้สถานีรถไฟหัวลำโพง (สรศัลย์, 2558, 60-61)
ไม่แต่เพียงการโจมตีทางอากาศครั้งนั้นสามารถทำลายโรงไฟฟ้าวัดเลียบจนพังราบไปเท่านั้น แต่พระนครยังผจญลูกระเบิดทำลายและสังหารต่อไป “จนไม่รู้จะไปมุดแอบอยู่ที่ไหน” ทำให้ชาวพระนครส่วนใหญ่ต่างอพยพออกไปนอกเมืองเพื่อความปลอดภัยในชีวิต (อนุสรณ์ นร.สห. 2488, 2537, 81)

ชะตากรรมชาวพระนคร
หลังโรงไฟฟ้าถูกทำลาย
ในช่วงปลายสงคราม รอง ศยามานนท์ อาจารย์ประวัติศาสตร์ของจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย บันทึกไว้ว่า เมื่อเครื่องบินทิ้งระเบิดสัมพันธมิตรเข้ามาโจมตีพระนครและตามเมืองใหญ่ถี่ขึ้น บางครั้งถึงกับมาทิ้งระเบิดพระนครในเวลากลางวันเลยทีเดียว
เมื่อวันที่ 14 เมษายน 2488 มีเสียงหวอดังก้องพระนครในเวลากลางวัน ราว 14.45-15.30 น. จากนั้น ฝูงบินของสัมพันธมิตรก็สามารถทำลายโรงงานไฟฟ้าวัดเลียบ และโรงไฟฟ้าสามเสนลงได้ โรงงานทั้งสองเสียหายจนไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าป้อนพระนครทำให้รถรางหยุดเดิน การประปาหยุดจ่ายน้ำให้แก่ชาวพระนครจวบจนสงครามสิ้นสุด (รอง ศยามานนท์, 2520, 179-180)
เด็กชายชาวญี่ปุ่นในพระนครครั้งนั้นบันทึกว่า การโจมตีทางอากาศครั้งนั้นทำให้โรงไฟฟ้าวัดเลียบเสียหาย แม้นกระทั่งโรงประปาที่แยกแม้นศรีก็ไม่สามารถจ่ายน้ำประปาได้ ทำให้คนพระนครตกอยู่ในความมืดและไม่มีน้ำประปาใช้ถึงราว 5 เดือน
ในช่วงเวลานั้น ครอบครัวใดมีฐานะก็จะใช้ตะเกียงแก๊สให้แสงสว่วงแทนหลอดไฟฟ้า แต่หากครอบครัวใดยากจนจะใช้ตะเกียงน้ำมันมะพร้าวหรือน้ำมันหมูจุดให้แสงสว่างในยามค่ำคืนแทน (มาซาโอะ เซโตะ, เล่ม 1, 2548, 172-174)
พล.ต.เนตร เขมะโยธิน เล่าถึงสภาพพระนครภายหลังโรงไฟฟ้าถูกทำลายเมื่อ 2488 ว่า “ถนนหนทางในพระนครมืดตื้อไปหมดเพราะโรงไฟฟ้าถูกฝ่ายสัมพันธมิตรทิ้งบอมบ์พินาศไปหมด
เวลากลางคืนมีผู้คนเดินตามถนนน้อยเต็มที นอกจากผู้มีกิจธุระจำเป็น ชาวพระนครส่วนมากอพยพไปอยู่หัวบ้านหัวเมือง หรือมิฉะนั้นก็อพยพไปอยู่ตามชนบทใกล้เคียง พอค่ำลงก็หวาดผวาอยู่เกือบตลอดคืน รอคอยเสียงหวอที่จะดังกังวานขึ้น…” (เนตร เขมะโยธิน, 2500, 90)
ชาวฝั่งธนบุรี อีกคนหนึ่งบันทึกว่า เมื่อสัมพันธมิตรมีเป้าหมายโจมตีโรงไฟฟ้า แต่ดันทิ้งระเบิดพลาดไปตกที่วัดเลียบด้วยทำให้วัดเสียหายมาก เหลือแต่พระปรางค์เพียงองค์เดียว ส่วนโรงจักรผลิตไฟฟ้าได้รับความเสียหายต้องหยุดจ่ายกระแสไฟฟ้า ในคราวนั้น ชาวพระนครต้องใช้ตะเกียงน้ำมันมะพร้าวให้แสงสว่างแทนตะเกียงน้ำมันก๊าด หรือบางบ้านก็ใช้เทียนไขจุดไฟให้แสงสว่างแทน
(lek-prapai.org/home/view.php?id=191)
เรือดำน้ำ
กลายเป็นแหล่งผลิตกระแสไฟฟ้าชั่วคราว
จากประวัติเรือดำน้ำในช่วงปลายสงครามมีการบันทึกว่า เมื่อพระนครถูกฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีทางอากาศอย่างต่อเนื่อง และเมื่อโรงไฟฟ้าสามเสนและวัดเลียบถูกระเบิดทำลายลง พระนครไม่มีกระแสไฟฟ้า พระนครยามราตรีมีแต่ความมืดมาครอบงำราวกับเมืองร้าง เนื่องจากชาวพระนครอพยพไปหมด
เมื่อผู้จัดการบริษัทไฟฟ้ากรุงเทพฯ ทราบว่า เรือดำน้ำของกองทัพเรือสามารถจ่ายกระแสไฟฟ้าได้ จึงร้องขอมายังกองทัพเรือ ทางกองทัพเรือจึงอนุมัติให้ ร.ล.มัจฉาณุ และ ร.ล.วิรุณ ไปจ่ายกระแสไฟฟ้าที่บริษัทบางกอกด๊อดจ่ายไฟฟ้าเพื่อให้รถรางสายหลักเมือง-ถนนตกวิ่งให้บริการประชาชน
ในขณะที่เรือทั้ง 2 ลำ ทำหน้าที่จ่ายกระแสไฟฟ้าให้นั้น ทหารเรือดำน้ำต้องทำงานเสี่ยงอันตรายอย่างมาก เพราะต้องคอยอพยพการโจมตีทางอากาศจากฝ่ายสัมพันธมิตรอยู่ตลอดเวลา (silpa-mag.com/history/article_54962 ; navedu.navy.mi.th/submarine_web/418_war_ops.htm)
การซ่อมแซมโรงไฟฟ้าวัดเลียบ
และโรงไฟฟ้าสามเสนหลังสงคราม
ดร.พร ศรีจามร ผู้อำนวยการโรงงานยานยนต์ กรมพลาธิการทหารบก ผู้ที่ต่อมาได้กลายเป็นผู้ซ่อมโรงไฟฟ้าวัดเลียบและโรงไฟฟ้าสามเสนภายหลังสงคราม เล่าถึงความทรงจำในวันที่โรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งถูกทำลายลงไว้ในบทความเรื่อง “เมื่อข้าพเจ้าซ่อมโรงงานไฟฟ้าที่ถูกบอมบ์สมัยสงครามโลก” ว่า
เมื่อญี่ปุ่นยกพลขึ้นบกไทยแล้ว ฝ่ายสัมพันธมิตรได้ส่งเครื่องบินมาโจมตีพระนครบ้างในยามค่ำคืนครั้งละลำสองลำ แต่ต่อมาการโจมตีทางอากาศเริ่มรุนแรงมากขึ้นเรื่อยๆ บางครั้งมาเป็นฝูงๆ ทำให้คนพระนครอพยพไปอยู่นอกเมืองหรือต่างจังหวัด ในช่วงปลายสงคราม พระนครเริ่มถูกโจมตีในเวลากลางวัน จนในที่สุดโรงไฟฟ้าที่ตั้งในพระนคร คือ โรงไฟฟ้าวัดเลียบและสามเสนถูกโจมตีสำเร็จเมื่อ 14 เมษายน 2488 (พร ศรีจามร, 2540, 50)
ดร.พรเล่าเสริมว่า ความเสียหายของโรงไฟฟ้าทั้ง 2 แห่งไม่แต่เพียงทำให้ชาวพระนครเดือดร้อนแสนสาหัส และประชาชนต้องหาตะเกียงมาให้แสงสว่างทดแทนเท่านั้น แต่ยังมีผลกระทบกับการผลิตของโรงงานอุตสาหกรรม และธุรกิจเดือดร้อนอีกด้วย (พร ศรีจามร, 2540, 52-53)
เมื่อสงครามสิ้นสุดลงแล้ว มีการสำรวจความเสียหายของโรงไฟฟ้าเพื่อซ่อมแซม ดร.พรบันทึกว่า โรงไฟฟ้าวัดเลียบนั้นมีกำลังการผลิตมากกว่าโรงงานไฟฟ้าสามเสน โดยโรงไฟฟ้าวัดเลียบดำเนินการโดยบริษัทของเบลเยียมที่ได้สัมปทานจากรัฐบาล
อย่างไรก็ตาม ดำเนินการซ่อมโรงไฟฟ้าวัดเลียบที่ได้รับความเสียหายไม่มากนัก ใช้เวลาเพียง 2 เดือนเศษ
แต่สำหรับโรงไฟฟ้าสามเสนนั้นถูกระเบิดทำลายเสียหายมาก เครื่องจักรพังพินาศย่อยยับ การดำเนินการซ่อมโรงไฟฟ้าสามเสนต้องใช้เวลาในการหาเครื่องจักรและอะไหล่ที่หาได้ยากขณะนั้น จึงใช้เวลาซ่อมแซมนานถึง 4 ปี จึงสามารถเดินเครื่องจ่ายไฟฟ้าให้ชาวพระนครได้เมื่อมิถุนายน 2492 (egat.co.th/home/history-thai-electricity ; พร ศรีจามร, 2540, 52-53)
ทั้งสองโรงงานแยกกันผลิตไฟฟ้าป้อนพระนครมาจนถึง 1 สิงหาคม 2501 รัฐบาลได้รวมกิจการการไฟฟ้ากรุงเทพ (วัดเลียบ) และกองไฟฟ้าหลวงสามเสน เป็นรัฐวิสาหกิจโดยใช้ชื่อ การไฟฟ้านครหลวง




สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022