เกษียร เตชะพีระ : รู้จักประชานิยมผ่านหนังสือดีที่สุด 5 เล่มกับ คาส มูด์เด (3)

เกษียร เตชะพีระ

ตอน 1 2

Credit: Rick O’Quinn, University of Georgia (https://www.uga.edu/faculty/profile/mudde-cas/)

ถาม : ดิฉันรู้สึกว่ามันน่าแปลกใจที่ทรัมป์ได้รับเลือกตั้งเนื่องจากกระแสประชานิยมในเมื่อเขาเป็นนักธุรกิจผู้ร่ำรวยมหาศาลและเป็นส่วนหนึ่งของพวกชนชั้นนำทุจริตฉ้อฉลโดยสมบูรณ์แบบ มันเป็นไปได้ยังไงคะที่เขาชนะน่ะ?

คาส มูด์เด : นี่เป็นจังหวะเหมาะที่จะหันไปพูดถึงหนังสือโดย พอล แท็กการ์ต ทีเดียวครับ

 

ถาม : โอเคค่ะ มาพูดถึงหนังสือ Populism (ค.ศ.2000) ของ พอล แท็กการ์ต กัน

คาส มูด์เด : หนังสือของแท็กการ์ตส่วนใหญ่แล้วเป็นภาพรวมทางประวัติศาสตร์ของประชานิยมทั่วโลก แต่มันเต็มไปด้วยความหยั่งรู้สิ่งละอันพันละน้อยที่วิเศษยิ่ง อันหนึ่งที่ผมชอบที่สุดได้แก่ตอนที่เขาเขียนว่าประชานิยมเป็นการเมืองสำหรับประชาสามัญชนโดยผู้นำที่ไม่ธรรมดาสามัญ สิ่งที่เขาแสดงให้เห็นซึ่งเป็นสิ่งที่เราอภิปรายถึงในหนังสือ Populism : A Very Short Introduction ของเราเช่นกันก็คือพรรคประชานิยมจำนวนมากอยู่ใต้การนำของผู้คนที่บรรยายไม่ได้ว่าเป็นส่วนหนึ่งของประชาชนเอาเลย

อย่าง ซิลวิโอ แบร์ลุสโกนี ก็เป็นคนร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในอิตาลี

รอสส์ เพโรต์ เป็นคนร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในสหรัฐ

ส่วน ทักษิณ ชินวัตร ก็เป็นคนร่ำรวยที่สุดคนหนึ่งในประเทศไทย ในเนเธอร์แลนด์ พิม ฟอร์ทาวน์ (Pim Fortuyn) เป็นชายรักร่วมเพศผู้ใช้ชีวิตอย่างมีสีสันฉูดฉาดเฉิดฉายแต่ดันกลายเป็นผู้นำของบรรดาผู้มีสิทธิ์เลือกตั้งซึ่งเกลียดชังพวกรักร่วมเพศที่สุดแห่งหนึ่งในประเทศ

และเหตุผลของการณ์ทั้งนี้ก็คือประชานิยมมันไม่เกี่ยวกับว่าคุณเป็นใคร มันไม่เกี่ยวกับชนชั้น แต่มันเกี่ยวกับศีลธรรม ฉะนั้น ความคิดในเรื่องนี้ก็คือว่าทรัมป์นั้นถึงแม้เขาจะมาจากนิวยอร์กซึ่งเป็นนิวาสสถานของพวกชนชั้นนำหัวเสรีนิยมทางชายฝั่งตะวันออกของอเมริกา แต่เอาเข้าจริงในแง่ค่านิยมและศีลธรรมของเขาแล้ว เขาเป็นส่วนหนึ่งของประชาชน

 

ถาม : ศีลธรรมที่ว่าหมายถึงการต่อต้านระเบียบสถาบัน ต่อต้านกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ใช่ไหมคะ?

คาส มูด์เด : ใช่ครับ

 

ถาม : แล้วเรื่องสามัญสำนึกล่ะคะ สามัญสำนึกถูกเอ่ยถึงบ่อยเหมือนกันใช่ไหมคะ?

คาส มูด์เด : ถูกเผงเลยครับ คนอื่นก็ใช้คำว่าสามัญสำนึกด้วยเหมือนกัน แต่มันเป็นใจกลางของวาทกรรมประชานิยมเลยทีเดียว ส่วนหนึ่งนั้นสามัญสำนึกเป็นการวิพากษ์อุดมการณ์กับการแบ่งพรรคแบ่งฝ่าย โดยมูลฐานแล้วมันเป็นศัพท์ไม่การเมืองเพราะมันเถียงโดยรวมว่ามีคำตอบหนึ่งซึ่งดีสำหรับทุกคนและนั่นคือสามัญสำนึกไง มันยังเชื่อมโยงกับท่าทีต่อต้านภูมิปัญญาด้วยซึ่งแรงกล้ามากในสหรัฐ แต่ก็แรงกล้าในหมู่ประชานิยมโดยทั่วไปด้วยเหมือนกัน กล่าวคือ เมื่อคุณมีสามัญสำนึกแล้ว คุณก็ไม่ต้องการผู้เชี่ยวชาญ ไม่ต้องการนักวิชาการ เราไม่ต้องมามัวเสียเวลาขบคิดว่ากำแพงกั้นชายแดนอเมริกากับเม็กซิโกมันดีหรือเปล่า นั่นแหละครับสามัญสำนึก

อีกอย่างที่แท็กการ์ตริเริ่มนำเสนอไว้ในหนังสือของเขาซึ่งเกี่ยวกับเรื่องนี้ ได้แก่ แนวคิดดินแดนใจกลาง (heartland) ดินแดนใจกลาง ได้แก่ อเมริกาตอนกลาง (Middle America ภาษาพูด หมายถึงพื้นที่ชนบทและชานเมืองในอเมริกาอันถือเป็นที่ตั้งวัฒนธรรมอเมริกันแก่นแท้) หรืออย่าง…

 

ถาม : อย่างอังกฤษตอนกลาง (Middle England) งั้นใช่ไหมคะ แต่จริงๆ แล้วอะไรคือดินแดนใจกลางกันแน่?

คาส มูด์เด : ดินแดนใจกลางหมายถึงประชาชนส่วนย่อยผู้เป็นประชาชนที่แท้จริง เวลาพวกประชานิยมอย่างทรัมป์พูดถึงประชาชน พวกเขาไม่ได้นับรวมทุกคนนะครับ แต่ก็ใช่ว่าพวกเขาจะไม่มีนิยามอันใดเอาเลย ดังนั้น แนวโน้มก็คือพวกเขาจะอ้างอิงไปถึงอเมริกาที่แท้จริงและนั่นก็คือดินแดนใจกลางไงครับ ดินแดนใจกลางคือภูมิลำเนาของประชาชนตัวจริง ผู้เป็นกระดูกสันหลังของชาติ พวกเขาเคารพยำเกรงพระผู้เป็นเจ้า (อย่างในสหรัฐนี่) ทำงานหาเงินเลี้ยงชีวิต ไม่ดัดจริตเสแสร้ง มีสามัญสำนึก รู้ผิดชอบชั่วดี และบริสุทธิ์เหมือนผ้าขาว ดินแดนใจกลางก็คือประชาชนส่วนย่อยส่วนหนึ่ง แต่กล่าวในทางศีลธรรมแล้ว พวกเขาก็เป็นคำนิยามของประชาชนทั้งปวงด้วย

ฉะนั้น ใครก็ตามที่ไม่อยู่ในดินแดนใจกลางก็ย่อมไม่ใช่ส่วนหนึ่งของประชาชนโดยชอบ

 

ถาม : แล้วใครสักคนที่มีผิวสีหรือเป็นผู้อพยพหรือรักร่วมเพศ คนพวกนี้ถูกกีดกันออกไปโดยอัตโนมัติหรือเปล่าคะ หรือว่าพวกเขาอาจเป็นส่วนหนึ่งของดินแดนใจกลางด้วยก็ได้?

คาส มูด์เด : ในแง่เทคนิคแล้ว ประชานิยมไม่จำต้องเกลียดกลัวต่างชาติ แม้ว่าตัวแทนที่ประสบความสำเร็จของประชานิยมส่วนใหญ่จะเป็นเช่นนั้น แต่ถ้าคุณดูพรรคฝ่ายซ้ายในยุโรปตอนนี้อย่างโพเดโมสในสเปน หรือซีริซ่าในกรีซ พวกเขาต้อนรับนับรวมคนอพยพเอามากๆ เลย ขบวนการยึดครองวอลล์สตรีตก็มีวาทกรรมประชานิยมที่แรงกล้ามาก ซึ่งมีลักษณะต้อนรับนับรวมกลุ่มชาติพันธุ์และเชื้อชาติต่างๆ อย่างน้อยก็ในทางโวหาร แม้ว่าตัวขบวนการเองจะกอปรไปด้วยคนผิวขาวมากมายเหลือเชื่อก็ตาม

 

ถาม : ดินแดนใจกลางนี่มันมีอยู่จริงไหมคะ?

คาส มูด์เด : ดินแดนใจกลางเป็นแบบตายตัว (stereotype) อย่างหนึ่งครับ แบบตายตัวทั้งหลายซึ่งมหาชนนิยมมักมีแกนกลางที่เป็นความจริงอยู่ด้วยเสมอ แต่มันถูกทำให้หยาบง่าย ดังนั้น มันก็จริงอยู่ครับว่ามีประชาชนที่เป็นเหมือนอย่างที่ดินแดนใจกลางบรรยายไว้เป๊ะเลยทีเดียว แต่ผู้คนมากหลายที่อาศัยอยู่ในบริเวณที่เอ่ยอ้างกันว่าเป็นดินแดนใจกลางก็หาได้สอดคล้องต้องตรงกับแบบตายตัวนั้นไม่ ในทำนองเดียวกัน ผู้คนเยอะแยะที่อาศัยอยู่บริเวณชายฝั่งต่างๆ ของสหรัฐกลับสอดรับกับแบบตายตัวของดินแดนใจกลางที่ว่าอย่างเหมาะเหม็งยิ่งกว่าแบบตายตัวของบริเวณชายฝั่งด้วยซ้ำไป

 

ถาม : งั้นชนชั้นนำพวกนี้เนี่ย อืม…เรากำลังพูดถึงพวกนักวิชาการใช่ไหมคะ? ถ้าอย่างในกรณีของทรัมป์และแบร์ลุสโกนีที่เป็นผู้นำประชานิยมน่ะ พวกเขายอมให้อภิมหาเศรษฐีเป็นกันได้ แต่แค่ไม่ยอมให้อภิมหาปราชญ์เป็นงั้นใช่ไหมคะ? ถ้ามันไม่เกี่ยวกับเรื่องเงิน มันแค่เกี่ยวกับเรื่องที่ว่าคุณเป็นพวกหนอนตำราหรือเปล่าอย่างนั้นหรือคะ?

คาส มูด์เด : เรื่องนั้นมันขึ้นกับว่าเป็นประเทศไหนและบทบาทของปัญญาชนที่นั่นเป็นอย่างไรมากเลยครับ สหรัฐนั้นกล่าวโดยทั่วไปมีท่าทีต่อต้านปัญญาชนอย่างแรงกล้ามาแต่ไหนแต่ไร และโดยเฉพาะอย่างยิ่งในหมู่พวกฝ่ายขวา ปัญญาชนอเมริกันเป็นส่วนหนึ่งของชนชั้นนำเสมอมา

ในอังกฤษ ไม่ค่อยเป็นแบบนั้นมากเท่าไหร่ สาเหตุอย่างหนึ่งที่ทำไมส่วนที่เป็นประชานิยมในขบวนการเบร็กซิทหันไปต่อต้านพวกผู้เชี่ยวชาญก็เป็นเพราะว่าผู้เชี่ยวชาญพากันไปแสดงตัวอยู่ในค่าย “อยู่ (อียู) ต่อ” กันเกือบหมด ดังนั้น พวกเขาก็เลยกลายเป็นเข้าร่วมวงการต่อสู้ทางการเมืองไป

สิ่งที่คุณจะพบเห็นได้เกี่ยวกับพวกประชานิยมก็คือบ่อยครั้งพวกเขาจะแสดงความเคารพนอบน้อมมากเวลาเขียนถึงศาสตราจารย์สักคน พวกเขาจะระบุเสมอว่าเขาหรือเธอคนนั้นเป็นศาสตราจารย์เมื่อคนเหล่านั้นพูดอะไรบางอย่างที่เป็นประโยชน์ต่อพวกเขาออกมา

เวลาศาสตราจารย์คนหนึ่งพูดว่าระบบการเมืองมันเน่าเฟะ พวกเขาจะเน้นย้ำข้อที่ว่าคนที่พูดสิ่งนั้นเป็นศาสตราจารย์ผู้มีชื่อ แต่เวลาศาสตราจารย์สักคนพูดว่ามันแย่นะถ้าจะออกจากอียูไป ทีนี้ละก็เขาหรือเธอจะกลับกลายเป็น “ที่เรียกกันว่าผู้เชี่ยวชาญ” ไป มันเป็นเรื่องฉวยใช้ตามโอกาสกันอย่างมากทั้งนั้นแหละครับ

 

ถาม : ดังนั้น อย่างในอังกฤษซึ่งนักเศรษฐศาสตร์ 90% คัดค้านเบร็กซิทเพราะเห็นได้ชัดว่ามันแย่สำหรับเศรษฐกิจไม่ว่าจะมองแบบไหนก็ตาม พวกเขาทั้งหมดก็ต้องถูกก่นด่าประณามอย่างนั้นซีนะคะ?

คาส มูด์เด : เรื่องนี้เป็นของค่อนข้างใหม่และส่วนหนึ่งมันก็เกี่ยวกับว่าพวกผู้เชี่ยวชาญทั้งนำเสนอตัวเองอย่างไรและถูกนำเสนอออกมาอย่างไรด้วย นักเศรษฐศาสตร์รวมทั้งนักรัฐศาสตร์พวกนี้จำนวนเยอะแยะมากมายออกมาแสดงท่าทีในแบบการเมืองและแถลงว่าเบร็กซิทมันแย่ ไม่เพียงแต่สำหรับเศรษฐกิจ หากแต่แย่สำหรับประเทศอังกฤษด้วย ทีนี้กลุ่ม “อยู่ (อียู) ต่อ” มากมายหลายกลุ่มก็จะเปิดตัวพวกเขาออกมาเป็นพยานหลักฐานสนับสนุนคำกล่าวอ้างของตน แล้วมันก็เลยทำให้พวกเขาเข้าไปพัวพันกับการเมือง

 

ถาม : คุณมีอะไรอื่นที่อยากพูดเกี่ยวกับหนังสือของแท็กการ์ตอีกไหมคะ? ดิฉันลองเปิดอ่านดูและพบว่าเขามองดูประชานิยมรอบโลกตรงแก่นเรื่อง 6 ประการด้วยกัน ประการหนึ่งก็คือว่ามันเป็นปฏิกิริยาอันทรงพลังต่อสำนึกที่ว่ากำลังตกอยู่ในวิกฤตสุดโต่ง

คาส มูด์เด : ปัญหาเกี่ยวกับหนังสือของแท็กการ์ตอยู่ตรงเขาไม่เคยนิยามประชานิยมออกมาชัดเจนจริงๆ เลย นี่อาจเป็นเหตุข้อหนึ่งที่ทำให้หนังสือเล่มนี้ไม่ทรงอิทธิพลเท่าที่ควร เขาพูดถึงลักษณะสำคัญ 6 ประการ แต่เขาไม่ได้พูดออกมาจริงๆ เลยว่าประชานิยมมีลักษณะครบถ้วนทั้ง 6 อย่างหรือไม่ หรือว่ามันออกมายังไงกันแน่ ดังนั้น มันก็เป็นหนังสือที่ให้ภาพรวมของกลุ่มต่างๆ ซึ่งถูกเรียกขานบรรยายว่าประชานิยมได้ดียิ่ง ทว่า ท้ายที่สุดแล้ว คุณก็ยังไม่มั่นใจเต็มที่อยู่ดีว่าแก่นแกนของประชานิยมคืออะไร

เขาเอาความคิดเรื่องวิกฤตเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ประชานิยมค่อนข้างถูกนำไปเชื่อมโยงกับวิกฤตอยู่เสมอ แท็กการ์ตยังเอาประชานิยมไปเชื่อมโยงกับอาการปะทุขึ้นเป็นครั้งคราวด้วย เขาเถียงว่าเอาเข้าจริงประชานิยมปรากฏขึ้นในช่วงวิกฤตเท่านั้นและเหมือนดังที่วิกฤตเป็นเรื่องระยะสั้น ประชานิยมจึงเกิดขึ้นเป็นครั้งคราวเช่นกัน มันปรากฏขึ้นมาในยามวิกฤตแล้วก็หายสูญไปทันทีที่วิกฤตจบลง นี่เป็นความคิดที่ทรงพลังมากซึ่งเป็นพื้นฐานของหนังสือดีที่สุดเกี่ยวกับประชานิยมเล่มที่สี่ของเราซึ่งเขียนโดย จอห์น จูดิส

(ต่อสัปดาห์หน้า)