เกษียร เตชะพีระ : รู้จักประชานิยมผ่านหนังสือดีที่สุด 5 เล่มกับ คาส มูด์เด (1)

เกษียร เตชะพีระ

ปีศาจตนหนึ่งกำลังหลอกหลอนยุโรป อเมริกา และส่งผลสะเทือนออกไปกว้างไกลทั่วโลก มันคือปีศาจประชานิยม…

หลังประชามติเบร็กซิทในอังกฤษและการชนะเลือกตั้งเป็นประธานาธิบดีของ โดนัลด์ ทรัมป์ ในอเมริกาเมื่อปีที่แล้วส่งสัญญาณว่ากระแสการเมืองประชานิยม (populism) กำลังรุ่งพุ่งแรงในโลกทุนนิยมตะวันตก

คำถามอันชวนวิตกหวั่นไหวก็ตามมาเป็นพรวนว่า…

ประชานิยมคืออะไรกันแน่?

มันจะดีหรือแย่ต่อประชาธิปไตยและเศรษฐกิจการค้าโลก?

แล้วไหงขบวนการและพรรคประชานิยมถึงมักได้ผู้นำเป็นเจ้าสัวอภิมหาเศรษฐีอย่างแบร์ลุสโกนี, ทรัมป์, หรือทักษิณล่ะ?

เพื่อไขปัญหาข้างต้นและอื่นๆ คาส มูด์เด (Cas Mudde) นักรัฐศาสตร์ผู้เกาะติดศึกษาประชานิยมมานานปีได้แนะนำให้ผู้สนใจลองทำความรู้จักประชานิยมผ่านหนังสือที่เขาเห็นว่าดีที่สุด 5 เล่มในเรื่องนี้

Credit: Rick O’Quinn, University of Georgia (https://www.uga.edu/faculty/profile/mudde-cas/)

ตัว คาส มูด์เด เองปัจจุบันเป็นรองศาสตราจารย์สังกัดสำนักกิจการสาธารณะและการระหว่างประเทศแห่งมหาวิทยาลัยจอร์เจีย สหรัฐอเมริกาและบรรณาธิการร่วมของวารสาร European Journal of Political Research

เขาเป็นชาวดัตช์ เรียนจบรัฐศาสตร์ปริญญาเอกที่มหาวิทยาลัยไลเดน โดยมีศาสตราจารย์ปีเตอร์ ไมเออร์ ผู้เชี่ยวชาญเรื่องพรรคการเมืองในยุโรปและเจ้าของแนวคิดปรากฏการณ์ “ประชาธิปไตยที่ไร้ประชาชน” ในโลกตะวันตกผู้ล่วงลับไปแล้วเป็นอาจารย์ที่ปรึกษา

หนังสือเรื่อง Populist Radical Right Parties in Europe (2007) ของ คาส มูด์เด ได้รางวัล Stein Rokkan Prize for Comparative Social Science Research ประจำปี 2008

และเขาร่วมกับรองศาสตราจารย์ Crist?bal Rovira Kaltwasser แห่งสำนักรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยดิเอโก ปอร์ตาเลส ประเทศชิลี กำลังจะตีพิมพ์หนังสือเรื่อง Populism : A Very Short Introduction อันอยู่ในชุดความรู้ฉบับพกพายอดนิยมของ Oxford University Press ที่สำนักพิมพ์ openworlds อำนวยการแปลและจัดพิมพ์ในเมืองไทยออกมาต่อเนื่องกัน

คาส มูด์เด ได้ให้สัมภาษณ์ Sophie Roell เกี่ยวกับหนังสือดีที่สุด 5 เล่มเรื่องประชานิยมเมื่อ 12 มกราคม ศกนี้ว่า (http://fivebooks.com/interview/cas-mudde-populism/) :-

 

ถาม : ดิฉันเพิ่งอ่านหนังสือเรื่อง Populism : A Very Short Introduction ของคุณจบไปและรู้สึกสนเท่ห์มากทีเดียวกับข้อสังเกตของคุณที่ว่าไม่มีใครเอ่ยอ้างตนเป็นนักประชานิยมเลยสักคน เพราะปกติแล้วมันเป็นศัพท์แสงที่มีไว้ใช้ก่นด่าประณามฝ่ายตรงข้ามทางการเมือง แต่ขณะเดียวกันคุณก็เถียงด้วยว่าคำว่าประชานิยมมีด้านบวกอยู่

คาส มูด์เด : ที่สหรัฐอเมริกานี่ คำว่าประชานิยมมีนัยด้านบวกอยู่บ้าง แต่แน่ชัดเลยว่าในยุโรป ประชานิยมถูกมองแง่ลบล้วนๆ แม้ว่าความข้อนั้นจะเริ่มเปลี่ยนไปนิดหน่อยก็ตาม ด้านบวกของมันก็คือว่าประชานิยมเป็นปากเสียงแสดงความขุ่นเคืองและมักตั้งคำถามเรื่องต่างๆ ที่ควรต้องเข้าไปจัดการแก้ไข ไม่จำเป็นหรอกครับว่าคำตอบของประชานิยมต่อคำถามเหล่านั้นจะเป็นสิ่งดีที่สุดสำหรับระบอบเสรีประชาธิปไตย แต่เห็นได้ชัดว่าคำถามที่พวกประชานิยมตั้งเป็นคำถามและความห่วงกังวลที่ประชากรในสัดส่วนที่ใหญ่พอควรมีร่วมกัน

 

ถาม : ใช่ค่ะ เพราะว่าอีกอย่างที่คุณชี้ให้เห็นในหนังสือของคุณก็คือพวกเราจำนวนมากพากันตีความความเป็นจริงทางการเมืองผ่านเลนส์ประชานิยม อย่างเวลาเราพูดทำนองว่า “โอ๊ย พวกนักการเมืองมันก็คอร์รัปชั่นกันทั้งนั้นแหละ” เป็นต้น แม้กระทั่งคนที่ไม่เห็นว่าตนเองเป็นพวกประชานิยมก็ยังใช้โวหารของพวกนั้นอยู่เลย

คาส มูด์เด : สื่อมวลชนมักใช้คำว่าประชานิยมในความหมายค่อนข้างกว้าง ในทำนองความรู้สึกนึกคิดต่อต้านระเบียบสถาบันทั่วไป เอาเข้าจริงความรู้สึกนึกคิดต่อต้านระเบียบสถาบันนั้นผู้คนมีร่วมกันกว้างขวางยิ่งทั้งในสหรัฐอเมริกา ยุโรปใต้และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ ในยุโรปเหนือด้วย มันเป็นเลนส์ส่องโลกที่มองเฉพาะ เจาะจงลงไปว่าพวกชนชั้นนำนั้นเป็นตัวการทำอะไรลับๆ ล่อๆ ไม่ชอบมาพากล หรือไม่ก็เห็นแต่ประโยชน์ส่วนตน และรับฟังหรือแสร้งทำทีรับฟังผู้ลงคะแนนเสียงสี่ปีหนแค่นั้น

ความคิดเห็นทำนองนี้มีร่วมกันกว้างขวางยิ่งและตีพิมพ์เผยแพร่กว้างขวางยิ่งเช่นกัน กรอบที่สื่อมวลชนมากหลายใช้มองการเมืองทุกวันนี้ก็เป็นกรอบแบบประชานิยมด้วยบางส่วน ซึ่งมองว่าประชาชนผู้บริสุทธิ์ไร้เดียงสากำลังถูกหักหลังโดยชนชั้นนำทุจริตฉ้อฉล

 

ถาม : แล้วมันไม่จริงหรือคะ?

คาส มูด์เด : มันก็ขึ้นกับว่าคุณอยู่ประเทศไหนแหละครับ มีบางประเทศที่ระเบียบสถาบันการเมืองทุจริตฉ้อฉลเกือบสิ้นเชิง ตัวอย่างเช่น โรมาเนียหรืออิตาลีซึ่งมีปัญหาคอร์รัปชั่นมหาศาล แต่เมื่อคุณไปเดนมาร์กหรือเนเธอร์แลนด์ซึ่งมีพรรคประชานิยมที่เข้มแข็งด้วยเหมือนกัน ปัญหาคอร์รัปชั่นกลับเป็นแค่เรื่องรอง ถามว่าจริงไหมที่นักการเมืองเป็นตัวแทนผลประโยชน์ของประชาชนทั้งปวง? ของมันก็ชัดแจ้งแดงแจ๋ละครับว่ามีช่องว่างอยู่ แต่ช่องว่างที่ว่ามันก็มีมาแต่ไหนแต่ไรแล้วเหมือนกัน

ประเด็นก็คือว่าในประเทศส่วนใหญ่ พรรคประชานิยมได้คะแนนเสียงข้างน้อยเท่านั้นเพราะพวกเขาเป็นตัวแทนประชาชนส่วนน้อย แต่ประชาชนพวกนั้นดันเชื่อว่าพวกตนเป็นเสียงข้างมากเสียฉิบ

 

ถาม : คุณก็ศึกษาประชานิยมมานานแล้ว คุณคิดว่าสื่อสังคมออนไลน์ทำให้มันเข้มแข็งขึ้นไหม? ตัวอย่างเช่น ดิฉันเพิ่งอ่านอัตชีวประวัติทางการเมืองของ นิก เคล็กก์ ผู้นำพรรคเสรีประชาธิปไตยและอดีตรองนายกรัฐมนตรีอังกฤษที่ตีพิมพ์ออกมาเมื่อเดือนกันยายนศกก่อนจบ เขาชี้ว่าผู้คนได้อำนาจเพิ่มขึ้นมากในชีวิตประจำวันจากสื่อสังคมออนไลน์ เช่น ถ้าคุณสั่งของจากซูเปอร์มาร์เก็ต พวกเขาจะมาส่งอาหารให้คุณได้ใน 24 ชั่วโมง เปรียบกันไปแล้ว การเมืองดูเหมือนจะเชื่องช้าและหลุดลอยจากกระแสปัจจุบันเอามากๆ และนั่นยิ่งทำให้ผู้คนหงุดหงิดรำคาญนักการเมืองแรงกล้าขึ้น แน่ละค่ะว่าเขากำลังพูดแบบนักการเมืองผู้รู้สึกถูกกดดันจากคำร้องทุกข์สารพัดที่มาจากทุกทิศทาง ซึ่งในฐานะนักการเมือง คุณก็ไม่มีปัญญาจะแก้ไขมันได้จริงต่อให้มีเจตนาดีที่สุดที่ดีได้แค่ไหนก็ตาม

คาส มูด์เด : ที่คุณพูดมาก็เป็นความจริง แต่ปัญหาอยู่ตรงนักการเมืองส่วนใหญ่เสแสร้งว่าตัวแก้ไขได้อย่างน้อยก็ในระหว่างรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งนี่ซีครับ เวลาคุณสัญญาจะทำสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ คุณย่อมจะต้องถูกลงโทษ และ นิก เคล็กก์ ก็เป็นตัวอย่างที่ค่อนข้างดีของการนั้น เขาขึ้นมาครองอำนาจด้วยระเบียบวาระที่แน่นอนหนึ่งและพอได้อำนาจแล้วก็ไม่สามารถทำตามนั้นได้

ส่วนเรื่องสื่อสังคมออนไลน์ ผมไม่คิดว่ามันเปลี่ยนแปลงการเมืองไปในเชิงคุณภาพขั้นมูลฐาน เพียงแต่ว่ามันไปเสริมสร้างกระบวนการที่ดำเนินอยู่แล้วเท่านั้นเอง กล่าวหยาบๆ ได้ว่า สื่อมวลชนแบบเดิมโดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุโรปถูกควบคุมอย่างแน่นหนาโดยบรรดาพรรคการเมืองที่ตั้งมั่นจนกระทั่งถึงคริสต์ทศวรรษที่ 1980 แต่สภาพที่ว่านั้นก็กำลังเปลี่ยนแปลงไปก่อนหน้านี้แล้วเนื่องจากกระบวนการทำให้สื่อมวลชนเป็นการค้า หน้าที่ของสื่อในการเป็นยามเฝ้าประตูให้ระเบียบสถาบันการเมืองได้ถูกบั่นทอนให้อ่อนแอลงไปก่อนแล้ว และสื่อสังคมออนไลน์ยิ่งมาซ้ำเติมให้มันอ่อนปวกเปียกลงอีก

ถ้าหากคุณทำให้คนติดตามอ่านข้อความของคุณได้มากในทวิตเตอร์ สื่อมวลชนแบบเดิมก็จะเขียนถึงมันเองแหละ แต่ถ้าหากสื่อแบบเดิมไม่เขียนถึงมัน ก็จะไม่มีอะไรเกิดขึ้นมากนัก อำนาจของสื่อสังคมออนไลน์อยู่ตรงกำหนดระเบียบวาระ แต่มันก็ยังตกเป็นธุระของสื่อหลักที่จะนำพาระเบียบวาระนั้นไปให้มวลประชาชน

 

ถาม : ประเด็นน่าสนใจที่คุณกล่าวไว้ในหนังสือของคุณอีกประเด็นคือเรื่องประชานิยมไม่จำเป็นต้องมีผู้นำประชานิยมก็ได้ เพราะความรู้สึกนึกคิดแบบนั้นมันมีอยู่แล้ว แต่ถ้าดูตัวอย่างในสหราชอาณาจักร ความรู้สึกนึกคิดแบบต่อต้านคนอพยพจำนวนมากมันถูกโหมกระพือโดยหนังสือพิมพ์อย่างเดลีเมล์ ดังนั้น เอาเข้าจริงมันจำเป็นแค่ไหนที่ประชานิยมต้องมีใครสักคนมาโหมกระพือและส่งเสริมทัศนคติเหล่านี้ขึ้นมาอย่างเป็นระบบ?

คาส มูด์เด : ขอพูดให้ชัดเลยนะครับว่าไม่ใช่พวกประชานิยมทั้งหมดจะเกลียดกลัวต่างชาติ และก็ไม่ใช่ว่าพวกเกลียดกลัวต่างชาติทั้งหมดจะเป็นนักประชานิยม บรรดาผู้นำทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นผู้นำการเมืองหรือสื่อมวลชนสำคัญตรงที่พวกเขาทรงอิทธิพลต่อผู้คนบางกลุ่มที่ไม่เคยมีความคิดเห็นเรื่องใดเรื่องหนึ่งมาก่อน แล้วก็เลยไปได้ความคิดเห็นนั้นมาจากพวกผู้นำนั่นแหละ แต่ที่สำคัญกว่านั้นก็คือพวกผู้นำมีแนวโน้มที่จะไปส่งเสริมความคิดเห็นและอคติที่ดำรงอยู่มาก่อนแล้วให้แรงกล้าขึ้น

ฉะนั้น ถ้าเผื่อคุณรู้สึกอยู่แล้วว่าคนมุสลิมเป็นปัญหา แล้วคุณไปอ่านเจอเรื่องอาชญากรรมของคนมุสลิมในหนังสือพิมพ์ตลอดเวลา มันก็ไปเสริมความสำคัญของความรู้สึกนั้นให้สูงเด่นขึ้น มันก็อีหรอบเดียวกับกรณีถ้าคุณเกิดรู้สึกอยู่แล้วว่าพวกนักการเมืองมันไม่ได้รับฟังคุณจริงจังอะไร แล้วคุณก็อ่านเจอในหนังสือพิมพ์ทุกเมื่อเชื่อวันว่าพวกนักการเมืองทุจริตฉ้อฉลและไม่เห็นหัวผู้ลงคะแนนเสียง ฯลฯ มันก็ย่อมไปส่งเสริมทรรศนะของคุณ แต่กล่าวโดยทั่วไป สื่อมวลชนเป็นตัวแทนทรรศนะที่ดำรงอยู่แล้วแหละครับ เป็นทั้งผลลัพธ์พอๆ กับที่เป็นต้นเหตุของทรรศนะที่ว่านั้น ถ้าหากสื่อมวลชนเป็นประชานิยมแต่ไม่มีใครมีท่าทีประชานิยมเลยสักคน ก็จะไม่มีใครอ่านสื่อนั้นหรอก

 

ถาม : ก็คือมันจะไม่ไปแทงใจดำใคร

คาส มูด์เด : ใช่ครับ และในที่สุดสื่อเป็นเรื่องของเงิน ถ้าไม่มีใครอ่านหนังสือพิมพ์ ก็ไม่รู้จะทำไปหาอะไร

(ต่อหนังสือเล่มแรกสัปดาห์หน้า)