‘เทศกาลหนัง’ กับความเปลี่ยนแปลงใน ‘โลกภาพยนตร์’

คนมองหนัง

เทศกาลภาพยนตร์แฟนตาซีนานาชาติบูชอน อาจจะไม่ใช่เทศกาลหนังที่ใหญ่ที่สุดของเกาหลีใต้ และอาจยังไม่ได้เป็นเทศกาลหนังระดับท็อปทรีของทวีปเอเชีย

แต่เทศกาลหนังดังกล่าวก็สามารถสร้าง-สั่งสมชื่อเสียงและอัตลักษณ์อันโดดเด่นของตนเอง ผ่านการจัดฉายภาพยนตร์ที่มีกลุ่มคนดูเฉพาะ (หนังแนวแฟนตาซี-ลี้ลับ-เขย่าขวัญ-สยองขวัญ) จนมีที่ทางที่มั่นคงในประชาคมภาพยนตร์นานาชาติ และสามารถจัดงานได้ต่อเนื่องมาเป็นเวลา 27 ปีแล้ว (เทศกาลครั้งล่าสุดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 29 มิถุนายน ถึง 9 กรกฎาคมที่ผ่านมา)

เร็วๆ นี้ ได้อ่านบทสัมภาษณ์ของ “ชินชอล” ผู้อำนวยการเทศกาลภาพยนตร์แฟนตาซีนานาชาติบูชอน ในเว็บไซต์ screendaily.com ซึ่งมีประเด็นน่าสนใจชวนขบคิดหลายประการ

ตั้งแต่กระบวนการริเริ่ม-โปรโมตอุตสาหกรรมสร้างสรรค์/ซอฟต์เพาเวอร์ที่ไม่ผิวเผิน มีระบบขั้นตอน และไปไกลกว่าความเป็นชาตินิยม

ความสัมพันธ์ระหว่างเมือง, ชุมชนในเมือง และเทศกาลภาพยนตร์ของเมือง

ไปจนถึงความผันแปรของเทคโนโลยีที่ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมภาพยนตร์

ดังรายละเอียดต่อไปนี้

: อะไรคือเป้าหมายหลักๆ ของเทศกาลหนังแฟนตาซีบูชอนในปีนี้?

พวกเราพยายามที่จะขยับขยายขอบเขตของผลงานที่เป็น “เมด อิน เอเชีย” นี่คือการริเริ่มที่เกิดขึ้น เมื่อเราได้พิจารณาตัวเลขรายได้และภาพรวมของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ทั่วทั้งทวีป

เราจึงได้เชิญโปรดิวเซอร์และผู้กำกับฯ หนังหลายคนมาพูดถึงสภาวะของอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในประเทศตัวเอง แล้วตีพิมพ์เป็นเอกสารสรุปภาพรวมออกมา เรายังคงขับเน้นและอยากจะขยายงานส่วนนี้ออกไปอีก นำไปสู่การเชิญแขกให้มาร่วมกิจกรรม “เมด อิน เอเชีย” ในจำนวนที่มากขึ้นในปีนี้

สำหรับในทวีปเอเชีย บูชอนได้รับการจดจำในฐานะผู้ผลักดันหนังแนวแฟนตาซี-ลี้ลับ-เขย่าขวัญ-สยองขวัญ ซึ่งก็ดูเหมือนจะมีคุณูปการกับอุตสาหกรรมอยู่พอสมควร

เช่น หนังเรื่อง “Tiger Stripes” จากประเทศมาเลเซีย (ได้รับรางวัลแกรนด์ไพรซ์จากสายการประกวด Critics’ Week ในเทศกาลหนังเมืองคานส์ปีล่าสุด) ซึ่งเคยเข้าร่วมในโปรเจ็กต์ มาร์เก็ตของเรา (กิจกรรมที่เปิดโอกาสให้ภาพยนตร์ที่ยังสร้างไม่แล้วเสร็จ ได้มีโอกาสนำเสนอโครงการต่อโปรดิวเซอร์ นักลงทุน และผู้จัดจำหน่ายหนังทั่วโลก) ดังนั้น นี่จึงถือเป็นผลลัพธ์ที่ดี

ตอนนี้ เราถูกมองเป็นเทศกาลภาพยนตร์ที่สำคัญของเอเชีย ดังนั้น เราจึงพยายามที่จะแสดงบทบาทในการเป็นฮับของหนังที่มีคนดูเฉพาะกลุ่มแนวนี้ต่อไป

ขณะเดียวกัน “เอลเลน คิม” ผู้อำนวยการฝ่ายคัดเลือกภาพยนตร์ของเทศกาล ก็ได้ไปริเริ่มงานสำคัญอีกส่วนหนึ่ง นั่นคือ การก่อตั้งองค์กรความร่วมมือในการผลิตหนังตระกูลนี้ ร่วมกับคนทำหนังจากไต้หวัน อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และประเทศอื่นๆ

งานส่วนนี้เพิ่งเริ่มต้นตั้งไข่ และทางเราจะทำงานในเรื่องโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ ให้แล้วเสร็จในปีนี้ โดยได้ปรึกษาหารืออย่างใกล้ชิดกับสภาภาพยนตร์แห่งเกาหลี (โคฟิก) ว่าด้วยคำถามสำคัญๆ เช่น อัตลักษณ์ของภาพยนตร์, ความเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วในรูปแบบการหารายได้ผ่านโรงหนัง ซึ่งสัมพันธ์กับระบบสตรีมมิ่งออนไลน์

: อยากให้คุณช่วยอธิบายเพิ่มเติมเกี่ยวกับ “ความเปลี่ยนแปลง” ที่คุณประสบพบเจอหน่อยได้ไหม?

อุตสาหกรรมภาพยนตร์เกาหลีเปลี่ยนแปลงไปเร็วมากๆ เพราะเทคโนโลยีสตรีมมิ่ง มันเหมือนกับสภาพการณ์ที่อุตสาหกรรมเพลงของเราเคยประสบเมื่อ 20 ปีก่อน ที่จู่ๆ ยอดขายผลงานของบรรดาค่ายเพลงก็หายวับไปกับตา คิดเป็นตัวเลขเกินกว่า 80 เปอร์เซ็นต์ ภายในช่วงเวลาสั้นๆ

สัญญาณทำนองนั้นกำลังเกิดขึ้นกับโรงภาพยนตร์ ในยุคที่คอนเทนต์จำนวนมหาศาลถูกบรรจุรวมอยู่ในเครื่องมือสื่อสารใกล้ตัว แถมยังมีเรื่องเอไอเสริมเข้ามาอีก

สำหรับในระดับภูมิภาค บูชอนได้พยายามเปิดตลาดหนังแนวแฟนตาซีของเอเชีย ในปีนี้ เราจึงเชิญแขกในวงการมาร่วมงานมากกว่า 200 ราย

เทศกาลภาพยนตร์ของเราจะมีอายุครบ 27 ปี ในวาระ 50 ปีของการก่อตั้งเมืองบูชอนพอดี นี่เป็นประวัติศาสตร์ที่น่าสนใจของเมืองเมืองหนึ่ง ที่เริ่มต้นจากการเป็นเขตอุตสาหกรรม แล้วต่อมาก็ได้ประกาศตัวเองเป็น “เมืองวัฒนธรรม”

และเราก็จะมาร่วมเฉลิมฉลองให้กับความเป็นเมืองวัฒนธรรมดังกล่าวในปีนี้

Shin Chul

: ในปีนี้ ทางเทศกาลจะร่วมเฉลิมฉลองอะไรกับทางเมืองบูชอนบ้าง?

ในฐานะเทศกาลภาพยนตร์ ชุมชนนับเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับเรา มุมมองของพลเมืองชาวบูชอนได้ค่อยๆ เปลี่ยนแปลงไป เมื่อพวกเขาได้เข้ามามีส่วนร่วมกับเทศกาลและร่วมสนุกกับการชมภาพยนตร์ตลอด 27 ปีที่ผ่านมา และความต้องการของชาวเมืองเหล่านี้ก็เพิ่มสูงมากขึ้นด้วย นอกจากดูหนังกับเรามาเกือบ 30 ปีแล้ว พวกเขายังอยากจะมีส่วนร่วมกับเทศกาลในลักษณะที่กระตือรือร้นมากขึ้น ดังนั้น ตั้งแต่ปีก่อน เราจึงเริ่มจัดกิจกรรม “คาร์นิวัล” ขึ้นมา

ย้อนไปเมื่อปีที่แล้ว เราทดลองจัดกิจกรรมเสริมเล็กๆ เป็นงาน “ฮัลโลวีน” เนื่องจากเทศกาลหนังจะมีขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคมพอดี มาปีนี้ เราได้ขยายกิจกรรมดังกล่าวให้ใหญ่ขึ้นอีก แต่เราไม่สามารถใช้ชื่องานว่า “ฮัลโลวีน” ได้อีกแล้ว ภายหลังอุบัติเหตุที่ร้ายแรงมาก (ที่ย่านอิแทวอน ซึ่งนำไปสู่การเสียชีวิตของผู้คนกว่า 150 ชีวิต)

ด้วยเหตุนี้ เราจึงเปลี่ยนชื่อกิจกรรมเป็น “คาร์นิวัล” (ซึ่งจะประกอบด้วยการเดินพาเหรด, แดนซ์ปาร์ตี้, การเล่นปืนฉีดน้ำ และนันทนาการอื่นๆ ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วเมือง)

 

: ระยะหลัง คุณมักเสนอให้ขยับขยายคำนิยามของ “ภาพยนตร์” เสียใหม่ โดยให้นับรวมซีรีส์เข้ามาด้วย เพื่อความอยู่รอดของวงการภาพยนตร์เอง ซึ่งนำไปสู่คำพูดของคุณที่เคยตั้งคำถามไว้ว่า “ทำไมเราเรียก ‘Harry Potter’ ว่าภาพยนตร์ แต่ไม่ถือว่า ‘Squid Game’ ก็เป็นภาพยนตร์เช่นกัน?”

ตําแหน่งแห่งที่ของภาพยนตร์ ในความหมายดั้งเดิม กำลังถูกเขย่าอย่างรุนแรง เพราะมันมีหลายสิ่งหลายอย่างนอกโรงหนังให้เราได้รับชม ขณะที่การปรับเปลี่ยนรูปแบบการทำงานในอุตสาหกรรมบันเทิงก็เริ่มเกิดขึ้นแล้ว

ผมพูดเรื่องนี้มาราวๆ 3-4 ปี แล้วสถานการณ์ก็ยิ่งขยายใหญ่โตและย่ำแย่หนักขึ้นเรื่อยๆ โดยที่ผู้เกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมภาพยนตร์, นักวิชาการ และผู้มีอำนาจในรัฐบาล ยังไม่ได้เสนอแนวคิดหรือวิธีการแก้ไขปัญหาออกมา

คนทำเทศกาลภาพยนตร์อย่างเราไม่มีหนทางแก้ปัญหาหรอก เราทำได้แค่ตั้งคำถามว่าสถานการณ์ลักษณะนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร?

และเราควรทำอะไรกันต่อไป?

และเราก็จะยังคงตั้งคำถามทำนองนี้ไปเรื่อยๆ พร้อมทั้งโยนกรณีศึกษาให้ผู้เกี่ยวข้องได้นำไปถกเถียงกันต่อ •

 

ที่มา https://www.screendaily.com/features/bifan-festival-director-shin-chul-on-expansion-rapid-change-and-becoming-a-hub-for-genre-film-in-asia/5183465.article

 

| คนมองหนัง