ภาพยนตร์ : WEST SIDE STORY ‘คลาสสิค’ / นพมาส แววหงส์

นพมาส แววหงส์

 

WEST SIDE STORY

‘คลาสสิค’

 

กำกับการแสดง

Steven Spielberg

 

นำแสดง

Ansel Elgort

Rachel Zegler

Ariana DeBose

David Alvarez

Rita Moreno

Mike Faist

Brian d’Arcy James

Corey Stoll

 

ไม่มีข้อสงสัยเลยว่าจะไม่มีอะไรมาลบเลือนความประทับใจวัยเด็กจากหนังมิวสิเคิล West Side Story ได้

ผู้เขียนยังอายุเกินสิบขวบมาได้ไม่เท่าไรเมื่อได้ดูครั้งแรก

เพลงแสนไพเราะที่เลนเนิร์ด เบิร์นสตีน แต่งทำนองและสตีเฟน ซอนด์ไฮม์ แต่งเนื้อร้อง (Maria, Tonight, One Hand One Heart, America, I Feel Pretty, Somewhere หรือเพลงสนุกชวนขบขันอย่าง Officer Krupke ที่ได้รับการตีความให้เข้มข้นและเจ็บแสบขึ้นในเวอร์ชั่นใหม่นี้) ซึ่งใครๆ ก็จำได้ขึ้นใจและร้องกันกระหึ่มไปทั่วโลก

งานออกแบบท่าเต้นที่สนุกสนานเร้าใจ ฝีมือของเจโรม รอบบินส์…แค่ฉากเปิดเรื่องยกพวกตีกันของพวกเจ็ตกับพวกชาร์ก ซึ่งมีการดีดนิ้วเป็นจังหวะ ก็ชวนให้อ้าปากค้างแล้ว…เวอร์ชั่นใหม่ก็ไม่ยอมให้เสียเอกลักษณ์ของเพลงนี้นะคะ

พระเอก-นางเอก ริชาร์ด บีย์เมอร์ และนาตาลี วู้ด แสนสวย ซึ่งถูกกำหนดให้เป็นโรเมโอกับจูเลียตสมัยใหม่ หรือคู่รักที่ต้องมีอันคลาดคลาพลัดพรากกันไป…ทำให้คนดูร้องไห้ออกจากโรงกันน้ำตาเป็นเผาเต่าเลยทีเดียวเชียว

พระรอง-นางรอง เจ้าบทบาท จอร์จ ชาคิริส สุดหล่อคมเข้ม และริต้า โมเรโน ที่คว้าออสการ์จากบทสมทบไปครองทั้งสองคน

แต่หนังเวอร์ชั่นใหม่ ฝีมือสตีเวน สปีลเบิร์ก ก็ไม่ได้ยิ่งหย่อนไปกว่าแม้แต่น้อย ด้วยโปรดักชั่นอันละเมียดด้วยการเลือกโทนสีและองค์ประกอบภาพ รวมทั้งการตีความในรายละเอียดปลีกย่อยซึ่งมีประเด็นแหลมคมขึ้นสำหรับคนในยุคปัจจุบัน โดยยังคงฟื้นความหลังฝังใจ ชวนเราเดินกลับไปบนถนนแห่งความทรงจำก่อนเก่าเมื่อ 60 ปีที่แล้ว คืนความสดชื่นกลับมาใหม่ โดยไม่สร้างความรู้สึกที่แปลกแปร่งไปจากเดิม

แต่ก็ลับประเด็นให้แหลมคมยิ่งไปกว่าเดิมขึ้นอีก

สปีลเบิร์กกำกับหนังที่เป็นรีเมกเรื่องนี้อย่างระมัดระวังด้วยความคารวะยิ่งทั้งต่อละครมิวสิเคิลต้นฉบับ (1957) และหนังมิวสิเคิล (1961) โดยเฉพาะในเมื่อหนังกวาดออสการ์ไปถึง 10 รางวัล รวมทั้งรางวัลใหญ่ คือภาพยนตร์ยอดเยี่ยม และผู้กำกับยอดเยี่ยม (โรเบิร์ต ไวส์ และเจโรม รอบบินส์)

โดยเวอร์ชั่นใหม่นี้มีโทนี คุชเนอร์ (Angel in America, Munich, Lincoln) เป็นผู้เขียนบทและดึงแง่ปัญหาสังคม การแบ่งแยกผิว ความเกลียดชังที่นำไปสู่ “สงคราม” รวมทั้งประเด็นทางวัฒนธรรมอันหลากหลายให้เห็นโดดเด่นขึ้น

หนังยังคงวางท้องเรื่องไว้ในปลายทศวรรษ 1960 ในย่านเวสต์ไซด์ตอนเหนือของแมนฮัตตัน

และโฉมหน้าของถิ่นนี้กำลังจะแปรเปลี่ยนไป โดยการทุบตึกเก่าๆ ในย่านเสื่อมโทรมทิ้งไป เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับการสร้างลินคอล์นเซ็นเตอร์ เพื่อเป็นศูนย์ศิลปะการแสดงแห่งใหม่ในมหานครนิวยอร์ก

ย่านนี้มีแก๊งวัยรุ่นสองกลุ่มแย่งชิงความเป็นใหญ่ในพื้นที่อยู่

เดอะเจ็ตส์ เป็นแก๊งผิวขาว ซึ่งประกอบด้วยกลุ่มผู้อพยพชาวไอริสและชาวอิตาลี ภายใต้การนำของริฟฟ์ (ไมก์ เฟสต์) สมัยนี้ก็ต้องเรียกว่า “ขยะผิวขาว” (white trash) นั่นแหละ

และเดอะชาร์กส์ เป็นแก๊งผิวคล้ำ ประกอบด้วยผู้อพยพชาวเปอร์โตริโก หรือพวกละติน ภายใต้การนำของเบอร์นาโด (เดวิด อัลวาเรซ)

การช่วงชิงอำนาจของทั้งสองฝ่ายมาจากความเกลียดชังของเผ่าพันธุ์ ทำให้เห็นหน้ากันที่ไหนเป็นไม่ได้เลย จะต้องเบ่งกล้ามใส่กัน ท้าตีท้าต่อย หรือยกพวกเข้าวิ่งไล่กันอยู่เป็นประจำ

เป็นที่เหนื่อยหน่ายของตำรวจผู้ดูแลความสงบเรียบร้อยของบ้านเมือง…ตรงนี้ทำให้เจ้าหน้าที่ตำรวจชื่อ ครัปกี เข้ามาคอยห้ามปรามหรือจับกุม…นำไปสู่เพลง Gee, Officer Krupke อันชวนจดจำ

Ariana DeBose as Anita and David Alvarez as Bernardo in 20th Century Studios’ WEST SIDE STORY. Photo by Niko Tavernise. © 2021 20th Century Studios. All Rights Reserved.

ประเด็นที่แฝงอยู่เบื้องหลังของสงครามช่วงชิงพื้นที่จากแก๊งทั้งสอง คือ ทั้งสองฝ่ายที่เป็นชนชั้นล่างในสังคมจะไม่มีใครได้ครอบครองเป็นใหญ่เหนือพื้นที่ได้เลย เพราะย่านทั้งย่านกำลังจะกลายเป็นศูนย์ศิลปะการแสดงสำหรับชนชั้นกลางขึ้นไปจนถึงชนชั้นสูง

พูดง่ายๆ คือการประกาศสงครามระหว่างแก๊งนี้กระทำเพื่อช่วงชิงพื้นที่ซึ่งจะไม่มีใครได้เป็นเจ้าถิ่นในอนาคตข้างหน้าอันไม่ช้าไม่นานนี้

จึงนับเป็นความเกลียดชังที่เปล่าประโยชน์แท้ๆ และรังแต่จะนำมาซึ่งความสูญเสียของทั้งสองฝ่าย โดยไม่มีใครเป็นผู้ชนะหรือเป็นฝ่ายได้ประโยชน์อันใดเลย

เช่นเดียวกับกรณีพิพาทหรือการทะเลาะเบาะแว้งระหว่างตระกูลมอนตะคิวกับตระกูลคาปุเล็ตในบทละครเรื่อง Romeo & Juliet ของเช็กสเปียร์ ซึ่งมีแต่จะต้องสูญเสียอย่างใหญ่หลวงกันทั้งสองฝ่าย

สรุปว่า ไม่ผิดหวังเลยค่ะสำหรับ West Side Story ฝีมือสปีลเบิร์กนี้ สูสีคู่คี่แบบยากที่จะตัดสินเมื่อเทียบกับหนังคลาสสิคปี 1961

แต่ก็ชอบมากเลยค่ะที่เขียนบทให้โมเรโน เจ้าของบท “อนิตา” เดิม ซึ่งปัจจุบันเธออายุ 90 แล้ว มาอยู่ในเรื่องด้วย (อาเรียนา เดอโบส ที่มาเป็นอนิตาคนใหม่ ก็ทรงพลังไม่น้อยเลย) โดยเข้ามาแทนบทของ “ด็อก” เจ้าของร้านขายยาที่พระเอกโทนีอาศัยอยู่ด้วย ในเวอร์ชั่นใหม่ ด็อกเสียชีวิตแล้ว ทิ้งร้านให้อยู่ในความดูแลของวาเลนตินา ผู้ภรรยาที่มีเชื้อสายละติน ซึ่งยังพูดอังกฤษด้วยสำเนียงแปร่งจัดอยู่

เรื่องราวของด็อกกับวาเลนตินาเป็นคู่ขนานที่สะท้อนถึงความรักข้ามวัฒนธรรมข้ามเชื้อชาติที่มีมาแต่ไหนแต่ไร ก่อนจะมาถึงคู่ของโทนี (แอนเซล เอลกอร์ต จาก A Fault in the Stars และ Baby Driver) กับมาเรีย (เรเชล ซีเกลอร์ นักแสดงหน้าใหม่ที่ร้องเพลงเพราะเหลือเกิน และมีเลือดชาวละตินแท้ๆ พูดภาษาสเปนคล่องเป็นไฟ สมบทบาทของมาเรียยิ่งนัก)

ริตา โมเรโน ในบทของวาเลนตินา เป็นคนร้องเพลงสุดท้ายที่ซาบซึ้งตรึงใจยิ่ง คือ Somewhere หลังจากโศกนาฏกรรมที่พรากคู่รักที่ถูกโชคชะตาขวางกั้นไปอย่างไม่มีวันหวนกลับคืน

เพลงที่วาเลนตินาร้องนี้ยกระดับของความโง่เขลาของความเยาว์วัยและอ่อนโลกขึ้นสู่ความสุขุมลุ่มลึกของคนสูงวัยที่ผ่านร้อนผ่านหนาวมาแล้วและมองทะลุข้ามพรมแดนของเชื้อชาติและความแตกต่าง

There’s a place for us, somewhere a place for us

Peace and quiet and open air wait for us somewhere

There’s a time for us, someday a time for us

Time together with time to spare, time to learn, time to care….

ดูหนังแล้วมีความสุขจริงๆ เลยค่ะ