คุยกับทูตเบลเยียม | ซีบีย์ เดอ การ์ตีเย ดีฟว์ ศิลปะข้างถนนโดยศิลปินไทยและเบลเยียม

คุยกับทูตเบลเยียม | ซีบีย์ เดอ การ์ตีเย ดีฟว์

ศิลปะข้างถนนโดยศิลปินไทยและเบลเยียม

 

สตรีตอาร์ต (Street Art) หรือศิลปะข้างถนน เป็นการสื่อสารข้อความบางอย่างของศิลปินหรือภาพสะท้อนของสังคม เพื่อสร้างความเปลี่ยนแปลง

มักจะเป็นงานที่เข้าใจง่าย สามารถพบเห็นได้ในพื้นที่สาธารณะจนกลายเป็นแลนมาร์กสำคัญของชุมชนนั้นๆ

จากตึกรามบ้านช่องเก่าๆ ที่แลดูทรุดโทรมไม่น่าสนใจ แต่เมื่อมีสตรีตอาร์ต ผลงานศิลปะการแสดงออกอย่างอิสระชวนให้คิด จากศิลปินหรือจิตรกรเข้ามาวาดลวดลายที่มีเอกลักษณ์แตกต่างกัน นอกจากจะสร้างสีสันบนกำแพงของอาคารทำให้พื้นที่นั้นๆ เกิดความสดใสแล้ว

ยังดึงดูดผู้คนให้เกิดความสนใจอยากเดินทางมาเที่ยวและถ่ายรูปเก็บเอาไว้ชื่นชมกันมากขึ้นอีกด้วย

กระแสสตรีตอาร์ตเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้นเรื่อยๆ ในประเทศไทย หลายจังหวัด

เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต ลำปาง สุโขทัย ร้อยเอ็ด ใช้ศิลปะแขนงนี้นำมาเป็นจุดขายใหม่ทางการท่องเที่ยว เช่นเดียวกับย่านถนนทรงวาด ถนนเจริญกรุง ถนนเดโช และถนนสุรวงศ์

โดยผลงานศิลปะเหล่านี้ปรากฏให้เห็นบนกำแพงและตัวอาคารหลายจุดด้วยกัน ทำให้ย่านนี้กลายเป็นพื้นที่ศิลปะแห่งใหม่ของกรุงเทพฯ

เรื่องราวที่ถูกสร้างขึ้นโดยสตรีตอาร์ตมากที่สุดในประเทศไทย คือ เรื่องราวที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชุมชน ที่ก่อให้เกิดความภูมิใจในชุมชนของตนเอง

ปัจจุบัน ถนนทรงวาด นอกจากจะมีตึกแถว อาคารโบราณ วัด ศาลเจ้า มัสยิด สถาปัตยกรรมสวยๆ ให้ชม ยังมีแกลเลอรี ผลงานศิลปะมากมาย มีงานสตรีตอาร์ตที่รังสรรค์ขึ้นบนกำแพงอาคาร ทำให้ทิวทัศน์ชวนเดินมากขึ้น ไม่รวมอาหารการกินย่านเก่าที่น่าลิ้มลอง

นางซีบีย์ เดอ การ์ทีเย ดีฟว์ (H.E. Mrs. Sibille de Cartier d’Yves) เอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย

เมื่อปลายเดือนมีนาคมที่ผ่านมา สถานเอกอัครราชทูตราชอาณาจักรเบลเยียมประจำประเทศไทย โดย นางซีบีย์ เดอ การ์ตีเย ดีฟว์ (H.E. Mrs. Sibille de Cartier d’Yves) เอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย

พร้อมด้วยนางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม และนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร ร่วมในพิธีเปิดงานสตรีตอาร์ต ที่หมายรวมถึงศิลปะที่รายล้อมอยู่ในความเป็นชุมชนเมืองและสภาพแวดล้อมรอบตัว

นางลาลีวรรณ กาญจนจารี ผู้ช่วยรัฐมนตรีประจำกระทรวงวัฒนธรรม

การดำเนินกิจกรรมวาดภาพฝาผนัง เพื่อเพิ่มสีสันความน่าสนใจของเมืองและสร้างการมีส่วนร่วมของชุมชนด้านงานศิลปะ เป็นไปตามแนวคิด “Brighten your street, Color your neighborhood” เพื่อส่งเสริมความร่วมมือและความสัมพันธ์อันดีระหว่างสองหน่วยงาน

และเป็นการส่งเสริมนโยบายจัดแสดงงานศิลปะกลางแจ้งทุกมุมเมืองให้เป็นพื้นที่ศิลปะตามแนวคิด “สร้างสรรค์ดี” ของผู้ว่าฯ กทม.

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และนางซีบีย์ เดอ การ์ทีเย ดีฟว์  (H.E. Mrs. Sibille de Cartier d’Yves) เอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย

การทำงานร่วมกันระหว่าง น.ส.โจลีน คิดซูเน (Kitsune Jolene) ศิลปินชาวเบลเยียม และ น.ส.วริศรา จันทะคัต ศิลปินสตรีตอาร์ตหญิงเพียงคนเดียวในประเทศไทย ณ เพลย์ อาร์ต เฮาส์ แกลเลอรี่ เลขที่ 993 และลานจอดรถบริเวณอาคารเลขที่ 1390 ถนนทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ กรุงเทพฯ

เป็นสัญลักษณ์ของความร่วมมืออันแน่นแฟ้น ในวาระของความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างไทยและเบลเยียมที่ยืนยาวมาบรรจบครบรอบ 155 ปีในปี 2024 นี้

โจลีน คิดซูเน (Kitsune Jolene) ศิลปินชาวเบลเยียม

“เมื่อดิฉันมาถึงประเทศไทยในปี 2020 ที่ไม่ธรรมดา (จากวิกฤตโควิด) ได้เดินท่องไปตามท้องถนนต่างๆ ในกรุงเทพฯ จึงได้ค้นพบสมบัติล้ำค่าที่สวยงามมากมายแฝงไปด้วยอิทธิพลทางศาสนาและวัฒนธรรมหลากหลายซ่อนอยู่ในเมืองแห่งนี้”

นางซีบีย์ เดอ การ์ตีเย ดีฟว์ (H.E. Mrs. Sibille de Cartier d’Yves) เอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย เล่าถึงความเป็นมาและวัตถุประสงค์ในการจัดงานสตรีตอาร์ตที่กรุงเทพฯ

ผลงานของ โจลีน คิดซูเน (Kitsune Jolene) ศิลปินชาวเบลเยีย

“ดิฉันพบว่า คนไทยรู้จักแบ่งสรรพื้นที่ตามข้างถนนได้อย่างเหมาะเจาะจริงๆ ตั้งแต่แผงขายอาหารที่มีอยู่ทั่วไปตามข้างทาง เช่นเดียวกับได้เห็นเด็กๆ ได้รับการฝึกมวยไทย พื้นที่ข้างถนนบางแห่งเป็นส่วนหนึ่งของการจัดการโดยประชาชน นับเป็นส่วนหนึ่งที่เป็นอัตลักษณ์ของ ‘เมืองแห่งนางฟ้า’ โดยสมบูรณ์”

“ในเบลเยียม ศิลปะบนท้องถนนก็ได้รับความสนใจเช่นกัน เมื่อพิจารณาถึงประวัติศาสตร์อันยาวนานของเราในการเขียนการ์ตูนจนเป็นอัตลักษณ์ประจำชาติ ตั้งแต่ตินติน (Tintin) และสเมิร์ฟ (Smurfs) ผู้โด่งดังไปทั่วโลก ไปจนถึงศิลปินร่วมสมัยยุคใหม่ จึงเป็นเรื่องปกติที่งานศิลปะดังกล่าวจะดึงดูดศิลปินชาวเบลเยียมที่มีพรสวรรค์จำนวนมาก”

นางสาววริศรา จันทะคัต ศิลปินสตรีทอาร์ตหญิงคนเดียวในประเทศไทย กับผลงานของเธอ

“เพื่อเป็นการส่งเสริมและสนับสนุนความคิดริเริ่ม ‘สร้างสีสันให้กรุงเทพฯ’ ซึ่งเปิดตัวโดยกรุงเทพมหานคร ภายใต้การนำของนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โครงการนี้เกิดจากการรวมตัวของศิลปินสตรีตอาร์ตรุ่นเยาว์ผู้เก่งกาจสองคนจากทั้งสองประเทศ ได้แก่ น.ส.วริศรา จันทะคัต ศิลปินชาวไทย และ น.ส.โจลีน คิดซูเน ชาวเบลเยียม จึงเป็นการเน้นย้ำถึงการยอมรับที่ทำให้ข้างถนนเป็นพื้นที่สำหรับการแสดงออกทางศิลปะ และเป็นพื้นที่ของชุมชนในวงกว้างมากขึ้น”

“ดิฉันจึงรู้สึกขอบคุณสำหรับความร่วมมือของทีมงานกรุงเทพมหานครที่ทำให้เกิดความเป็นไปได้ รวมทั้งโรงเรียนทั้งหลายที่มีความกระตือรือร้นเข้าร่วมโครงการนี้กับเรา”

นักเรียนจากสามโรงเรียนร่วมกิจกรรม

เหล่านักเรียนได้นำเสนอกระเป๋าผ้าแคนวาส ซึ่งเพนต์โดยสีสเปรย์ธีม ‘ความสัมพันธ์ไทย-เบลเยียม’ โดยมีศิลปินเบลเยียมและศิลปินไทยเป็นพี่เลี้ยงให้คำแนะนำด้านเทคนิคของการใช้สีสเปรย์ในกิจกรรมศิลปะ Workshop ที่โรงเรียนวัดจักรวรรดิ เขตสัมพันธวงศ์ โดยมีนักเรียนจากโรงเรียนวัดจักรวรรดิ, โรงเรียนวัดปทุมคงคา และโรงเรียนวัดสัมพันธวงศ์ ร่วมกิจกรรมอย่างสนุกสนานกว่า 30 คน การนำศิลปะร่วมสมัยเข้าสู่รั้วโรงเรียน เปิดโลกการเรียนรู้นอกตำราเรียน

“โดยด้านหนึ่งโรงเรียนในท้องถิ่นมีส่วนร่วมและสนับสนุนให้นักเรียนระลึกถึงผลงานของศิลปิน และขอให้ศิลปินบูรณาการชุมชนด้วยผลงานของพวกเขา ส่วนอีกด้านหนึ่ง ทำให้เกิดการเจรจาสนทนาในหลากหลายแง่มุมระหว่างศิลปินสองคน ระหว่างสองประเทศ ระหว่างรุ่น ระหว่างศิลปินและชุมชนท้องถิ่นทั้งในโรงเรียนและชิ้นงานศิลปะที่เป็นรูปเป็นร่าง”

“เหล่านี้ เป็นส่วนหนึ่งของการสนับสนุนเล็กๆ น้อยๆ จากประเทศเบลเยียม และเป็นการเฉลิมฉลองมิตรภาพอันยาวนานระหว่างเราทั้งสองประเทศที่เพิ่งฉลองครบรอบ 155 ปีความสัมพันธ์ทวิภาคีระหว่างกัน”

“ในโอกาสนี้ ดิฉันขอขอบคุณสถาบันอย่างเป็นทางการทุกแห่งที่ร่วมมือกับเราเพื่อทำให้งานเฉลิมฉลองเหล่านี้เกิดขึ้นได้ ทั้งกรุงเทพมหานคร กระทรวงสาธารณสุข และกระทรวงวัฒนธรรม”

“ตลอดจนผู้สนับสนุนภาคเอกชน ได้แก่ บลู เอเลเฟ่นต์ (Blue Elephant), เมืองไทยประกันภัย, กลุ่มบริษัทโซลเวย์ (Solvay), กลุ่มเจริญโภคภัณฑ์ (CP), โรงเบียร์, สถาบันสอนการทำอาหารไทย, โรงแรมยูมิคอร์ (Umicore), โรงแรมเพนนินซูลา (The Peninsula), บิ๊กซี (Big C), บริษัทอีเลีย (Elia), บริษัท แกลโลไทย จำกัด (Gallothai), สายการบินเตอร์กิช แอร์ไลน์ (Turkish Airlines), บริษัทคามุส (Carmeuse), ฟาเบอร์ แฟล็กส์ (Faber flags) และบิสกิตดอกบัว (Lotus Biscoff)”

นักเรียนจากสามโรงเรียนร่วมกิจกรรมอย่างสนุกสนาน

ความร่วมมือร่วมใจทางภาคประชาชน ชุมชน หน่วยงานภาครัฐและเอกชน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยพัฒนาความยั่งยืนให้กับชุมชนได้อย่างมั่งคง

อีกทั้งการปลูกฝังงานศิลปะให้กับเยาวชนในชุมชนเป็นการบ่มเพาะความคิดและปัญญาเพื่อสร้างจิตสำนึก ก่อให้เกิดความรักและเข้าใจในชุมชนของตนเอง สร้างการเรียนรู้ความเข้าใจในถิ่นฐานของตนเอง

โดยหวังว่าเยาวชนเหล่านี้จะภูมิใจและหวนกลับมาพัฒนาชุมชนในอนาคตต่อไป

ใครที่กำลังมองหาที่เดินเที่ยวชมศิลปะข้างถนนได้ถ่ายรูปไปด้วย อย่าลืมแวะย่านเก่าแก่ด้านการค้าขายมาตั้งแต่สมัยโบราณ แถวๆ ถนนทรงวาด เขตสัมพันธวงศ์ ซึ่งเป็นอีกหนึ่งสถานที่ท่องเที่ยวที่กำลังได้รับความนิยมสำหรับทั้งคนท้องถิ่นและนักท่องเที่ยวต่างชาติ

เพราะจะรู้สึกอิ่มเอมและสัมผัสได้ถึงความมีเสน่ห์ของตึกเก่าโบราณที่กลับมามีชีวิตชีวาอีกครั้ง •

นางซีบีย์ เดอ การ์ทีเย ดีฟว์ เอกอัครราชทูตเบลเยียมประจำประเทศไทย

รายงานพิเศษ | ชนัดดา ชินะโยธิน

Chanadda Jinayodhin