ขอแสดงความนับถือ

มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับนี้ คาบเกี่ยวเทศกาลตรุษจีน (10 กุมภาพันธ์) และเทศกาลแห่งความรัก (14 กุมภาพันธ์)

มีคำ 3 คำของเรื่องภายในฉบับ

ที่มีกระอายเกี่ยวข้องกับ “จีน” และ “รัก” อย่างน่าสนใจ

“เกียซู” ในคอลัมน์ของ “กาแฟดำ” (หน้า 69)

“โคะโดะกุชิ” ในบทความพิเศษ ของ จักรกฤษณ์ สิริริน (หน้า 37)

และ “โตโม” ในคอลัมน์ The Gratitude Diary ขอบคุณที่ทำให้ชีวิตนี้มีความหมาย ของ ท้อฟฟี่ แบรดชอว์ (หน้า 32)

 

kiasu (เกียซู)

มาจากภาษาจีนฮกเกี้ยน

“เกีย” แปลว่า “กลัว

“ซู” แปลว่า “แพ้”

แปลตรงตัวว่า “ความกลัวแพ้”

คำคำนี้ แม้จะมาจากจีน

แต่เป็นคำประจำชาติของสิงคโปร์

สิงคโปร์ ประเทศที่เล็กจ้อย มีความรู้สึก “ไม่มั่นคง” ฝังลึกในสังคม

ดังนั้น การจะอยู่รอด หรือยืนหยัดได้

ต้องสู้ สู้เพื่อไม่แพ้ เท่านั้น

สิงคโปร์จึงมีสัญชาตญาณในการ “เอาตัวรอด” สูง

ทุกอย่างต้องมีการแข่งขันกันอย่างดุเดือดเลือดพล่าน

เป็นสังคมที่สะกดคำว่า “เอื้ออาทร” ไม่เป็น

จนมีทัศนคติว่า การปล่อยให้โอกาสที่จะได้อะไรมากกว่าคนอื่นผ่านไปเท่ากับเป็น “ความล้มเหลว” ของชีวิตที่ให้อภัยไม่ได้

 

Kiasuism หรือ “ลัทธิเกียซู” แม้ทำให้สิงคโปร์ชาติเล็กๆ กลายเป็นประเทศชั้นนำของโลก เป็นต้นแบบแห่งการพัฒนา

แต่กระนั้น มีด้านลบที่ปฏิเสธไม่ได้

โดยเฉพาะบ่มเพาะให้คนมีนิสัยที่ต้องแข่งขันในทุกเรื่อง เพื่อไม่ให้แพ้

ทำให้ดินแดนแห่งเกียซู ขาดความรัก ความเอื้ออาทร อย่างรุนแรง

ถึงขนาดอดีตนายกฯ ลี กวน ยิว ผู้ก่อตั้งสิงคโปร์ ต้องออกแผนรณรงค์ให้คนสิงคโปร์ “หัดยิ้ม” เสียบ้าง

เพราะคนทั้งเกาะเครียดเกินไป

แต่ก็ดูเหมือนจะจะเป็นขำขื่น

ที่ด้านหนึ่ง ผู้นำกระตุ้นเตือนให้คนสิงคโปร์ต้องสร้างอุปนิสัยของการพร้อมจะแข่งขันกับทุกคนในทุกกรณีเพื่อความอยู่รอด

แต่อีกด้าน แม้แต่การ “ยิ้ม” ผู้นำยังต้องเป็นคนออกนโยบายให้ “แข่งกันยิ้ม”

จากเกาะสิงคโปร์ ข้ามไปยังเกาะญี่ปุ่น

ญี่ปุ่นซึ่งเป็นต้นแบบแห่งความขยันขันแข็ง มีระเบียบวินัย

เป็นสังคมที่มีความสุข ผู้คนอายุยืน และมีคุณภาพชีวิตที่ดี

แต่ตอนนี้กำลังเผชิญปัญหาสังคม เด็กเกิดน้อย คนวัยทำงานลดลง แรงงานหายาก ผู้สูงอายุตายช้า ผู้สูงอายุมีมาก เมื่อผู้สูงอายุตายลง บ้านร้างก็นับวันจะมีมากขึ้นเรื่อยๆ

ปัญหาขาดแคลนแรงงาน นอกจากเป็นปัญหาใหญ่ในภาคการผลิตแล้ว

อาชีพที่วิกฤต คืออาชีพดูแลคนสูงอายุ หรืออาชีพอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับคนแก่ ก็ยิ่งทำให้คนชราญี่ปุ่นต้องเผชิญกับคุณภาพชีวิตที่ย่ำแย่

นำมาสู่ภาวะ “โคะโดะกุชิ”

อันแปลว่า “ตายอย่างโดดเดี่ยว”

หมายถึง ผู้สูงอายุที่ใช้ชีวิตเพียงลำพังมาอย่างยาวนาน และเสียชีวิตในที่พัก

โดยที่ไม่มีใครรู้เห็น หรือสังเกตพบ กระทั่งเวลาผ่านไปนานเป็นสัปดาห์ หรือนานนับเดือน หรือหลายเดือน บางครั้งเกือบปี

ทำให้ตอนนี้เกิดอาชีพใหม่ในญี่ปุ่น

คือ บริษัทรับทำความสะอาดบ้านหรืออพาร์ตเมนต์ที่พบผู้สูงอายุเสียชีวิต

มีหน้าที่ทำความสะอาดบ้าน หลังเจ้าหน้าที่ทางการได้นำร่างผู้เสียชีวิตออกไปแล้ว

เก็บกวาดข้าวของเครื่องใช้ เสื้อผ้า หรือเศษอาหารที่ระเกะระกะ บางครั้งรวมถึงซากสัตว์เลี้ยงที่ตายเพราะไม่มีคนให้อาหาร

รวบรวมข้าวของให้ญาติเก็บไว้เพื่อเป็นที่ระลึก

แต่หลายครั้งที่ชวนเศร้า และสลดหดหู่ ที่ญาติผู้เสียชีวิตไม่สนใจ เมินเฉย ไม่มีใครอยากได้ของพวกนั้น

“โคะโดะกุชิ” การตายอย่างโดดเดี่ยว จึงเป็นปรากฏการณ์อันชวนสลด

และสักวันหนึ่ง คงพบมากขึ้นในสังคมไทยเช่นกัน

 

“เกียซู” และ “โคะโดะกุชิ” ดูช่างไม่เข้ากับบรรยากาศเทศกาลตรุษจีนและเทศกาลแห่งความรัก เอาเสียเลย

ดังนั้น เพื่อมิให้ความรู้สึก ถูก “บ่อนเซาะ กร่อน ทำลาย” (ฮา) เกินไป

โปรดได้รับการปลอบโยนจากโตโม (Tomo) แผงขายผักเล็กๆ ที่อีบิสุ ในย่านออฟฟิศของกรุงโตเกียว

เป็นแผงขายผักที่ไม่มีพนักงานขาย

ลูกค้าจะหยอดเหรียญจ่ายค่าผักที่ถูกจัดแยกเป็นชุดๆ ชุดละ 100 เยน

โดยแบ่งขายแต่ละชุดในปริมาณพอรับประทาน โดยเฉพาะสำหรับคนอยู่คนเดียว

แน่นอน อาจจะเปลี่ยวเหงาบ้าง

แต่คุณภาพ และที่มาของผัก ของโตโม

รวมถึงป้ายที่โตโมเขียนที่แผงขายผักว่า “Tomo อยู่ที่นี่เพื่อคุณ”

สร้างความรู้สึก “รัก” และเป็น “ขุมกำลังใจ” ของลูกค้า

เข้ากับบรรยากาศปีใหม่ (จีน) และวาเลนไทน์ ตามสมควร •