ขอแสดงความนับถือ

ขอแสดงความนับถือ

 

งานเขียนสุดท้ายของ “นิธิ เอียวศรีวงศ์” ในมติชนสุดสัปดาห์ คือบทความเรื่อง “วันชาติ”

ตีพิมพ์ฉบับวันที่ 7-13 กรกฎาคม 2566

หากสังเกตสักนิด อาจารย์นิธิมีวงเล็บท้ายบทความว่า (ยังมีต่อ)

นั่นหมายความว่า บทความ วันชาติ ยังไม่จบสิ้นกระบวนความ

กระนั้น ก่อนที่ถึงกำหนดส่งต้นฉบับ

อาจารย์นิธิโทรศัพท์ประสานงานมายังกองบรรณาธิการมติชนสุดสัปดาห์

ด้วยน้ำเสียงที่มากด้วยความเกรงอกเกรงใจ

ว่ามีปัญหาสุขภาพ ไม่อาจส่งต้นฉบับได้

แม้มติชนสุดสัปดาห์ จะแจ้งให้อาจารย์นิธิทราบว่าไม่ต้องห่วงใยใดๆ สุขภาพกลับมาแข็งแรงก่อนค่อยกลับมาเขียน

แต่อาจารย์นิธิก็ดูจะมีน้ำเสียงกังวลอยู่ไม่น้อยกับการต้องขาดส่งต้นฉบับดังกล่าว

และพยายามจะกลับมาทำงานให้เร็วที่สุด

ด้วยอาจารย์นิธิน่าจะเป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าใจนาฬิกา และเวลา ดีที่สุดคนหนึ่ง

เข้าใจเวลา และนาฬิกา ว่าเดินหน้าไปไม่เคยหยุดยั้ง

และไม่เคยรอใคร

 

อาจารย์นิธิเคยกล่าวในงานงานเสวนา “นิธิ 20 ปีให้หลัง” ของสำนักพิมพ์มติชน ว่า

“ผมเป็นนักเล่นนาฬิกา สะสมนาฬิกาไว้หลายประเภท

…นาฬิกามีข้อดีอย่างหนึ่ง

คือ คุณสามารถหมุนเข็มมันกลับไปสู่อดีตเมื่อไหร่ก็ได้ ที่คุณรู้สึกว่าคุณต้องการ

…ถ้าเป็นนาฬิกาข้อมือที่มีวันที่

ก็หมุนวันที่ย้อนกลับไปให้เราได้ด้วย

แต่ข้อเสียมีอยู่อีกอย่าง คือ

ถึงเราหมุนกลับไปแค่ไหนก็ตาม แต่มันก็เดินก้าวหน้าต่อไม่ยอมหยุด

เดินหน้าไปถึงจุดที่เราไม่อยากให้มันมาถึงจนได้ซักวันหนึ่ง

ด้วยเหตุนั้นผมจึงคิดว่า นาฬิกามันสอนใจเรา

แม้หมุนกลับเวลาไปนาน หรือไกลแค่ไหนก็แล้วแต่ คุณอาจพอใจกับเวลาที่ตั้งใหม่ซึ่งเป็นอดีต

อย่าลืมว่านาฬิกามันไม่หยุด

มันเดินก้าวหน้ามาถึงยังจุดที่คุณไม่อยากจะเจอมันอีกตลอดไป

ในฐานะคนเล่นนาฬิกา ผมรู้สึกว่านาฬิกามันน่ารักมาก

เพราะมันบอกความจริงอะไรบางอย่าง…ไม่ว่าจะถอยกลับไปถึงตรงไหนก็ได้ทั้งนั้น

แต่ที่ร้ายกาจคือ เมื่อคุณถอยกลับไปแล้ว มันยังเดินต่อไปได้อีก

จนมาถึงจุดที่คุณไม่อยากให้มันมาถึงจนได้เสมอ”

ณ วันนี้ นาฬิกาเดินมาถึงจุดที่ทำให้อาจารย์นิธิต้อง “หยุดลง”

เชื่อว่า สำหรับอาจารย์นิธิแล้ว ย่อมเป็นธรรมดาอย่างยิ่ง

แต่สำหรับผู้ที่เคยยึดอาจารย์นิธิเป็นผู้ให้ความรู้ ผู้ให้แนวคิด ผู้ให้ความเห็นส่องทางให้สว่างไสวในทางปัญญา

ย่อมเป็นเรื่องน่าใจหาย

กล่าวสำหรับผู้อ่านมติชนสุดสัปดาห์ แม้อาจารย์นิธิจะไม่มีโอกาสขยายเรื่อง “วันชาติ” ต่อให้จบ

แต่สิ่งที่จบแล้วสำหรับอาจารย์นิธิ

นั่นคือ การยืนยันในความหมายของ “ชาติ” อันแท้จริง

ชาติ คือรัฐ ที่ต้องยอมรับ “อำนาจสูงสุดของประเทศนั้นเป็นของราษฎรทั้งหลาย”

และด้วยเหตุนี้ “พลเมืองทุกคนจึงมีความเท่าเทียมกัน”

คำว่าชาติ ที่อำนาจสูงสุดต้องเป็นของราษฎรทั้งหลาย และพลเมืองเท่าเทียม ตามที่อาจารย์นิธิยืนยันนั้น

แม้เวลาและนาฬิกาของคนไทย เกี่ยวกับคำว่า “ชาติ” ยังมาไม่ถึง

แต่เชื่อว่าสักวันหนึ่งจะมาถึง •