ขอแสดงความนับถือ ประจำฉบับวันที่ 3-9 กันยายน 2564

 

ขอแสดงความนับถือ

 

คอลัมน์ Cool Tech ของจิตต์สุภา ฉิน ใน “มติชนสุดสัปดาห์” ฉบับนี้

นำเสนอศัพท์สามคำให้พิจารณา

เริ่มที่คำแรก

Well-being washing

 

Well-being washing มีความหมายถึงการสร้างภาพบางอย่าง เพื่อให้เข้าใจถึงความเป็นอยู่หรือสวัสดิภาพในรูปแบบที่แตกต่างจากความเป็นจริง

โดยออกไปในแนวความเป็นอยู่ไม่ดี แต่ถูกกลบเกลื่อนให้รู้สึกว่าดีอะไรทำนองนั้น

จิตต์สุภา ฉิน บอกว่า ก่อนหน้าที่โควิด-19 ระบาด

เทรนด์ใหม่ที่มาแรง

คือการที่คนยุคใหม่ถูกทำให้เข้าใจว่าบริษัทที่ดีจะต้องมาพร้อมกับออฟฟิศเท่ๆ

มีสวัสดิการแปลกใหม่

เช่น ออฟฟิศตกแต่งด้วยสีสันที่แสนสนุก

มีสไลเดอร์ โต๊ะสนุ้ก โต๊ะฟูสบอล ห้องเล่นเกม ห้องโยคะ ฟิตเนส บีนแบ็ก

มีอาหารเช้า เที่ยง เย็น ฟรี ขนมขบเคี้ยวที่เดินไปหยิบเมื่อไหร่ก็ได้ กาแฟหรือสมูธตี้ให้เติมพลังยามสายและยามบ่าย โต๊ะปรับระดับได้

ไปจนถึงห้องคาราโอเกะหรือห้องงีบ

ผู้นำเทรนด์ก็คือบริษัทในแวดวงเทคโนโลยีนั่นแหละ

ซึ่งก็ฮอตฮิตมาก

ถึงขนาดหลายๆ คนใช้เป็นเหตุผลเลือกบริษัทที่อยากจะเข้าทำงานด้วยเลยทีเดียว

 

แต่เวลาผ่านไปไม่นาน

โดยเฉพาะการมาถึงของไวรัสระบาด

กิมมิกแสนสนุกในออฟฟิศกลายเป็นสิ่งไม่พึงประสงค์

พนักงานทั่วโลกต้องหยุดการเข้ามาทำงานออฟฟิศ และเริ่มกลับไปทำงานจากที่บ้าน

ซึ่งการทำงานที่บ้านนี้เอง ทำให้หลายคนกลับไปสู่พื้นฐานของการทำงานอันแท้จริง

และเริ่มมีการตั้งถามหลายๆ คำถาม

อย่างถามถึงความเรียบง่าย

ถามถึงเงื่อนไขการทำงานที่ยุติธรรม และมีสมดุล

ไม่หลงมายาภาพ หรือ Well-being washing ที่เราพบว่า มีสิ่งที่ต้อง “จ่ายหนัก” ไปอย่างไม่รู้ตัวให้กับบริษัท หรือองค์กร

 

จาก Well-being washing ที่เสมือนมายาภาพดังกล่าว

คำคำนี้ นำเราย้อนกลับไปสู่ศัพท์อีกคำหนึ่ง

นั่นคือคำว่า

Greenwashing

เป็นศัพท์ที่บริษัทต่างๆ ใช้พูดถึงนโยบายการตลาดหรือประชาสัมพันธ์

เพื่อหลอกให้สาธารณชนเข้าใจว่าผลิตภัณฑ์หรือบริการของตัวเองเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม

“เกิน” หรือ “มาก” กว่าความเป็นจริง

อย่างเช่น การบอกว่าผลิตภัณฑ์ของตัวเองทำมาจากวัสดุรีไซเคิล หรือมีความสามารถในการช่วยประหยัดพลังงาน

ทั้งที่เบื้องหลังคำกล่าวอ้างนั้นอาจจะเป็นจริงเพียงแค่บางส่วนเท่านั้น

แต่ตั้งใจให้ผู้บริโภคเชื่อแบบเต็มๆ และซื้อของของตัวเองได้อย่างสนิทใจมากขึ้น

ซึ่งเราจะพบสินค้า และบริษัท “ลวงๆ” เหล่านี้จำนวนมาก

 

Greenwashing นี้แตกหน่อมาจากศัพท์ที่สาม

คือ Whitewashing

อันหมายถึงการปกปิดหรือใช้ข้อมูลที่ชวนให้เข้าใจผิด มากลบทับพฤติกรรมแย่ๆ

พูดง่ายๆ คือ ทำดำให้กลายเป็นขาว

หรือฟอกขาว ที่เราคุ้นเคยนั่นเอง

และตลอดสัปดาห์นี้

ในสัปปายะสภาสถาน ซึ่งมีการเปิดอภิปรายไม่ไว้วางใจนายกรัฐมนตรี และ 5 รัฐมนตรี

เชื่อว่าปรากฏการณ์ Whitewashing คงจะเกิดขึ้นมากมาย

ดังนั้น ประชาชน ในฐานะผู้ติดตาม

คงจะต้องแยกแยะ และใช้วิจารณญาณตัดสินกันให้ดี

เพื่อที่จะได้ไม่เป็นเหยื่อ Whitewashing

เสมือนถูก “ถุงดำ” คลุมหัว จนมืดมิด มองไม่เห็น หายใจไม่ออก!