ขอแสดงความนับถือ/ฉบับประจำวันที่ 2-8 กรกฎาคม 2564

ขอแสดงความนับถือ

 

เพราะโรคเลื่อนจากเหตุต่างๆ ที่วิจารณ์กันขรมไปทั้งเมือง

ทำให้องค์การปกครองส่วนท้องถิ่นไม่ทันได้แสดงฝีมือว่าการบริหารจัดการ “วัคซีนป้องกันโควิด-19” จะมีประสิทธิภาพเพียงใด

ซึ่งถ้าหากทำได้ดี

ภาพพจน์ขององค์การปกครองส่วนท้องถิ่น คงดีขึ้น (บ้าง) ในสายตาชาวบ้าน

แต่อย่างที่ทราบ พลันที่ประเด็น “ประติมากรรมนานาสิงสาราสัตว์บนเสาไฟฟ้า” อื้อฉาวขึ้นมา

ภาพของการปกครองส่วนท้องถิ่น ซึ่งเป็นพื้นฐานของระบอบประชาธิปไตย

ก็ต่ำเตี้ยเรี่ยดินลงไปอีก

ภาพของการโกงกิน แสวงผลประโยชน์

ถูกตอกย้ำลงสู่ อบต. อบจ. เทศบาล จนยากจะ “ถอน” ออกไปได้

 

กระนั้น สำหรับ “ธงทอง จันทรางศุ” นอกจากเป็นนักวิชาการ ยังผ่านงานราชการมาอย่างโชกโชน

ดูยังมีหวังว่า หลังลับแล (ยัง) มีอรุณรุ่ง สำหรับการปกครองส่วนท้องถิ่น อยู่ตามสมควร

ด้วยยังมีคนพยายามคิดดี ทำดีอยู่ไม่น้อย

“…ผมมีรุ่นน้องที่คุ้นเคยกัน เพิ่งสมัครรับเลือกตั้งในเวทีการเมืองระดับท้องถิ่นเป็นครั้งแรกและได้รับเลือกเป็นสมาชิกสภาเทศบาล

เขามาขอพบเพื่อปรึกษาผมว่า มีความเป็นไปได้เพียงใดที่เทศบาลของเขาจะจัดซื้อวัคซีนไปให้บริการกับประชาชน…”

แต่ก็อย่างที่ อาจารย์ธงทองสรุปว่า “หนังม้วนนี้ยังอีกยาวครับ เพราะต้องผ่านกฎกติกาอีกหลายเรื่อง โดยเฉพาะอย่างยิ่งต้องฟังความเห็นของกระทรวงมหาดไทยซึ่งเป็นผู้คุ้มกฎคนสำคัญ”

เรื่องการจัดหาวัคซีนขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จึงไม่รู้ว่าจะเกิดขึ้นจริงเมื่อใด

 

กระนั้น อาจารย์ธงทองก็ยังคงให้กำลังใจ และปลุกปลอบใจ “ท้องถิ่น”

โดยบอกว่า

“เรื่องการจัดหาวัคซีน ทำให้ได้ฉุกคิดว่า การให้บริการประชาชนแบบมีคุณภาพถึงใจพระเดชพระคุณต่อไปในวันข้างหน้า เห็นจะหวังพึ่งพาราชการส่วนกลางหรือราชการส่วนภูมิภาคเท่านั้นไม่ได้แล้ว

นับวันราชการส่วนท้องถิ่น ตั้งแต่องค์การบริหารส่วนจังหวัด เทศบาล หรือองค์การบริหารส่วนตำบล จะต้องทำตัวให้เข้มแข็งขึ้น และให้เป็นที่พึ่งพาอาศัยของประชาชนได้อย่างแท้จริง”

“…รัฐบาลท่านเป็นคุณพ่อลูกดกครับ หลายเรื่องก็สุดปัญญาเหมือนกันที่จะดูแลให้ลูกแต่ละคนมีกินมีใช้ได้เพียงพอเสมอกัน

บ้านที่คุณพ่อคุณแม่มีลูกหลายคน บ่อยครั้งที่เราได้เห็นอิทธิฤทธิ์ของลูกคนโตที่สามารถแย่งจานข้าวไปจากหน้าตักน้องคนเล็กได้อย่างสบายมือกันมามากแล้ว”

จึงต้องช่วยตนเอง

โดยยังมีเรื่องราวอีกมากมายที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะสามารถทำงานให้เป็นประโยชน์กับชุมชนและญาติพี่น้องของตัวเองได้

อาจารย์ธงทองยกตัวอย่างไว้หลายตัวอย่างในคอลัมน์หลังลับแลมีอรุณรุ่ง

เช่น วันนี้สังคมไทยของเรากำลังเดินหน้าเป็นสังคมผู้สูงอายุเต็มตัว

เทศบาลหรือ อบต.ที่ไหนได้คิดอ่านเรื่องนี้ไว้บ้างแล้วหรือไม่

“…รัฐบาลกลางท่านอยู่ไกล มองไม่เห็นรายละเอียดลึกซึ้งอะไรหรอกครับ

เรื่องที่ท้องถิ่นทำได้ และสามารถทำได้ดีมีประสิทธิภาพ รอท้าทายฝีมือของท่านผู้บริหารท้องถิ่นอยู่อีกเป็นอันมาก

ถ้ามีเวลาว่างจากการทำเสาไฟฟ้ารูปกินรีราคาแพงโหดสุดๆ ปักถี่ๆ ไว้กลางดงหญ้าป่าทึบเมื่อไหร่

ฝากคิดเรื่องเหล่านี้ด้วยนะครับ”

 

นั่นคือการบ้านที่อาจารย์ธงทองทิ้งไว้ให้ “นักการเมืองท้องถิ่น”

คิดและทำ

ถือเป็น “แสงส่องทาง” ให้เดินไป

โดยไม่จำเป็นต้องพึ่งพาเสาไฟฟ้าสิงสาราสัตว์แต่อย่างใด