E-DUANG : ทำไมจึงเป็น พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ทำไมไม่ใช่ ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์

สภาพการณ์อันเกิดกับ นส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ จากมติพรรคก้าวไกลเลือก นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ เป็น”ว่าที่”ผู้สมัครชิงตำแหน่งนายกอบจ.เชียงใหม่ ท้าทายเป็นอย่างสูง

ไม่ว่าจะมองจากมุมของ”ความคิด” ไม่ว่าจะมองจากมุมของ“การเมือง”

มิได้เป็นการท้าทายต่อ นส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ เท่านั้น

หากที่สำคัญเป็นอย่างมากยังเป็นการท้าทายต่อสถานะและการดำรงอยู่ของพรรคก้าวไกลซึ่งสืบทอดและพัฒนามาจากพรรค อนาคตใหม่อย่างมีนัยสำคัญ

มองจากรากฐานทางการเมืองของ นส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ ไม่ว่าจะมองจากการเป็นสส.หลายสมัย ไม่ว่าจะมองจากการอยู่ในตระกูลใหญ่ที่มากด้วยคะแนนและความนิยม

ต้องถือว่า นส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ มีความเหมาะสมเป็นอย่างสูงที่จะได้รับเลือกให้เป็นตัวแทนเพื่อจะเข้าชิงชัยกับคนของพรรคเพื่อไทย

แล้วเหตุใดคณะกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลไม่เลือก นส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ กลับเลือก นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์

เชื่อว่า นส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ เองก็คงมี”คำถาม”

 

หากมองว่ารากฐานในการคัดสรรผู้สมัครรับเลือกตั้งเป็นนายกอบจ.มาจากการทำงานของคณะก้าวหน้าเมื่อปี 2564 และส่งมอบให้กับพรรคก้าวไกลในปี 2567

ก็ต้องยอมรับว่าเรื่องนี้ดำเนินมาตั้งแต่ก่อนการเลือกตั้งอย่าง เป็นการทั่วไปเมื่อเดือนพฤษภาคม 2566

มีตัวเลือกอยู่ก่อนแล้วก่อน นส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ เข้ามา

เป็นตัวเลือกในเส้นทางสายเดียวกันกับคณะก้าวหน้า เป็นตัว เลือกในเส้นทางสายเดียวกันกับพรรคก้าวไกลอันสืบทอดและพัฒ นามาจากพรรคอนาคตใหม่

การเปรียบเทียบระหว่างคุณสมบัติของ นส.ทัศนีย์ บูรณุปกรณ์ กับคุณสมบัติของ นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ จึงต้องเกิดขึ้นและดำเนินไปด้วยความแหลมคม

การเลือก นายพันธุ์อาจ ชัยรัตน์ แทนที่จะเป็น นส.ทัศนีย์ บูร ณุปกรณ์ จึงก่อให้เกิด”เส้นแบ่ง”ในทางการเมือง

 

เส้นแบ่งนี้คล้ายกับจะแสดงจุดตัดอย่างชัดเจนระหว่างการเมืองในแบบ”ใหม่” กับการเมืองในแบบ”เก่า”

มองเห็นแต่ด้านที่”ชัยชนะ”โดยไม่มองลักษณะ”เด่น”อื่น

ลักษณะเด่นอันกลายเป็นบรรทัดฐานให้กับพรรคอนาคตใหม่ ลักษณะเด่นอันกลายเป็นบรรทัดฐานและสร้างความเชื่อมั่นให้กับพรรคก้าวไกล

นี่คือการดำรงอยู่ในทิศทางแห่ง”สตาร์ทอัพ”ที่ขึ้นกับวิถีแห่งความเป็น”นวัตกรรม”ทางการเมืองอันเข้มข้น