เผยแพร่ |
---|
ถามว่าเหตุปัจจัยอะไรทำให้การปรากฏตัวของ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ในสถานการณ์”กราดยิง” ณ สยามพาราก็อน กลายเป็นเรื่องใหญ่
เพียงแต่เมื่อเดินออกจากสถานที่เกิดเหตุและ นายชาดา ไทย เศรษฐ์ ยกสองมือขึ้นสูงก็ถูกนำไป”ตีความ”หลายนัยยะ
นัยยะหนึ่งเห็นว่าเป็นเรื่องไม่เหมาะสมกับ”สถานการณ์”
เมื่อกรณีการตีความจากภาพของ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ มากไปด้วยความนัยอันยอกย้อน ก็ต้องยอมรับว่าภาพของ นายเศรษฐา ทวีสิน ก็ไม่อยู่ในข่ายของการยกเว้นเหมือนกัน
เป็นการตีความจาก”เสื้อ”ที่สวมใส่ เป็นการตีความจากอากัปกิริยาซึ่งสำแดงออกไปในแนวที่เห็นว่า ไม่เหมาะสม ไม่สอดรับกับ”อารมณ์”แห่ง”สถานการณ์”
กระนั้น เมื่อมองในเชิงเปรียบเทียบ “ปฏิกิริยา”ของสังคมที่มีต่อ นายเศรษฐา ทวีสิน อ่อนจางมากกว่ากับกระแสที่โหมกระหน่ำ เข้าใส่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์
นั่นก็เนื่องจาก”รากฐาน”อันเป็น”ภูมิหลัง” นั่นก็เนื่องจากการปรากฏ”เงาร่าง”ของใน”เหตุการณ์”
เมื่อนำ”องค์ประกอบ” 2 ส่วนมา”ตีความ”ก็ยอกย้อน
ต้องยอมรับว่าบทบาทและการอภิปรายของ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ในที่ประชุมรัฐสภา มากด้วยความร้อนแรง มากด้วยความแหลมคมในเชิงโวหาร
โดยเฉพาะเมื่อเขาปวารณาตนเป็น “โจร”ที่มีความรักชาติ และเสนอให้มีกฎหมายที่สามารถ”ยิงคน”ที่ไม่รักชาติได้
ความร้อนแรงนี้ยิ่งได้รับความสนใจพลันที่ นายอนุทิน ชาญวีรกูล มอบหมายให้ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ รับผิดชอบจัดทำบัญชี”ผู้มีอิทธิพล”ในฐานะรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย
และก็ด้วยสถานะแห่งความเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวง มหาดไทยนี้เองผลักดันให้ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ ไปปรากฏตัวในสถานการณ์กราดยิงที่สยามพาราก็อน
และเดินออกมาจากที่เกิดเหตุพร้อมกับภาพยก 2 มือชูขึ้นสูง
คำถามของสังคมเกิดจากการนำเอาภูมิหลังในทางสังคมของ นาย ชาดา ไทยเศรษฐ์ มาโยงเข้ากับความร้อนแรงมากด้วยความสงสัยต่อความร้ายแรงของการกราดยิง
ก่อให้เกิด”นัยยะ”อันหลากหลายในทางความคิด การเมือง
ถามว่าทำไมเรื่องแบบนี้ไม่เกิดขึ้นกับ นายเศรษฐา ทวีสิน ทำไมไม่เกิดขึ้นกับ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล แต่มาเกิดขึ้นกับ นายชาดา ไทยเศรษฐ์
น่าเห็นใจต่อ”ปฏิกิริยา”ที่ นายชาดา ไทยเศรษฐ์ อยู่ในภาวะต้องแบกรับอย่างยิ่ง