E-DUANG : บทเรียน เลือกตั้ง 2544 2554 บทเรียน ประยุทธ์ จันทร์โอชา

เมื่อ นายชวน หลีกภัย ตัดสินใจยุบสภาในเดือนพฤศจิกายน 2543 เมื่อ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ตัดสินใจยุบสภาในเดือนพฤษภาคม 2554

ในฐานะนายกรัฐมนตรี ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ย่อมมากด้วยความมั่นใจเป็นอย่างสูง

เป็นความมั่นใจที่จะกำชัยชนะในการเลือกตั้ง

สายตาที่มองไปยังการเกิดขึ้นของพรรคไทยรักไทย สายตาที่มองไปยังภาพลักษณ์ในทางการเมืองของ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นภาพลักษณ์ที่อ่อนด้อยและไร้ความหมาย

เหมือนกับการตัดสินใจในปี 2554 เพราะว่าการยุบพรรคพลังประชาชนเพิ่งผ่านมา เพราะว่าการปราบปรามอย่างดุดันใน เดือนเมษายน พฤษภาคม 2553 มีความเด่นชัด

เด่นชัดว่ารัฐบาลอยู่ในสถานะเป็นฝ่ายรุก เป็นฝ่ายกระทำ เด่นชัดว่าสายสัมพันธ์ที่รัฐบาลมีกับขุมกำลังในกองทัพอันมี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นผู้นำมีความแนบแน่น

เมื่อมองไปยังพรรคเพื่อไทยก็เห็นแต่ความระส่ำระสายภายใต้การเสนอคนหน้าใหม่อย่าง นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เข้ามา

แล้วผลการเลือกตั้งปี 2544 และปี 2554 เป็นอย่างไร

 

การเลือกตั้งในเดือนมกราคม 2544 ปรากฏขึ้นด้วยชัยชนะของ พรรคไทยรักไทยอย่างชนิดถล่มทลาย พรรคประชาธิปัตย์เป็นฝ่าย พ่ายแพ้ต้องเล่นบทฝ่ายค้าน

ยิ่งเมื่อ นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกรัฐมนตรียิ่งสร้างปรากฏการณ์และก่อให้เกิดภาพทางการเมืองใหม่

นั่นก็คือ ความสามารถในการแปรนามธรรมแห่ง”นโยบาย”ที่ ประกาศไปสู่รูปธรรมทาง”การปฏิบัติ”ที่เป็นจริง สร้างผลงานและ ความสำเร็จมากมายที่เรียกว่า”ประชาธิปไตยกินได้”

ผลงานและความสำเร็จจึงจำหลักอย่างหนักแน่นและมีผลสะ เทือนมาถึงการเลือกตั้งในเดือนกรกฎาคม 2554 ทำให้ นส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ได้เป็นนายกรัฐมนตรี

นี่คือบทเรียนในทางการเมืองจากยุคพรรคประชาธิปัตย์ ต่อเนื่องมายังยุคพรรคพลังประชารัฐ ยุคพรรครวมไทยสร้างชาติ

 

ความจริง สังคมอ่านออกตั้งแต่มีการเสนอชื่อ นส.แพทองธาร ชินวัตร มาแล้วว่าสภาพการณ์ทางการเมืองจะดำเนินไปอย่างไร เป็นเช่นเมื่อปี 2544 เป็นเช่นเมื่อปี 2554 หรือไม่

นั่นก็คือ ความมั่นใจที่พรรคเพื่อไทยจะได้รับเลือกอันดับ 1

หากไม่เป็นเช่นนี้คงไม่มีพรรครวมไทยสร้างชาติเกิดขึ้น หากไม่เป็นเช่นนี้คงไม่มีการปล่อยข่าวจึงเกิดขึ้น

ด้วยหวั่นว่าผลจะเป็นเช่นเมื่อปี 2544 และเมื่อปี 2554