E-DUANG : การดำรง คงอยู่ของ ทะลุแก๊ซ มี”ชาวบ้าน”เป็นผู้ คุ้มปกป้อง

ถามว่า “เส้นแบ่ง”อันแหลมคมเป็นอย่างยิ่งจากการดำรงอยู่ของการเคลื่อนไหวแห่ง”เยาวชน”ไม่ว่าจะเรียก “ทะลุแก๊ซ” ด้วย ซ.โซ่ ไม่ว่าจะเรียก “ทะลุแก๊ส” ด้วย ส.เสืออยู่ตรงไหน

คำตอบ 1 อยู่ที่การสามารถสร้าง “ปรากฏการณ์”การชุมนุม ต่อเนื่องอย่างยาวนาน

จากวันที่ 1 สิงหาคม กระทั่งมาถึงวันที่ 6  กันยายน

คำตอบ 1 อยู่ที่การสามารถนัดหมาย”มวลชน”ให้เข้ามาร่วมโดยมิได้มีการนัดหมาย

นั่นก็คือ “มวลชน”มากันเอง ตามวันเวลาอย่างไม่มีการกำหนด

คำตอบ 1 อยู่ที่ไม่ว่าความต่อเนื่อง ไม่ว่าการเดินทางเข้าร่วมการชุมนุมเป็นการกระทำโดยไม่มีใครเป็น “เจ้าภาพ” โดยไม่มีใครเป็น “ผู้นำ”

นั่นก็คือ มากันเอง นั่นก็คือ เป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่มี”แกนนำ”

และคำตอบ 1 ซึ่งสำคัญและเป็นดั่งผนังทองแดง กำแพงเหล็กให้ความปกป้องคุ้มครองได้อย่างยอดเยี่ยม

นั่นก็คือ ความเห็นอกเห็นใจอันมาจาก”ประชาชน”ในพื้นที่

 

ในเบื้องต้นชาวบ้านที่อยู่อาศัยและทำมาหากินอยู่ใกล้กับบริเวณสามเหลี่ยมดินแดง อาจจะมองดูปรากฏการณ์การชุมนุมของเยาว ชนเหล่านี้ด้วยความสงสัย คลางแคลงใจ

แรกที่เห็นการขับเคลื่อนอย่างคึกคักของขบวน”การ์ม็อบ”พวกเขามิได้สงสัย แต่เมื่อเห็นเยาวชนส่วนหนึ่งมาเร่งเครื่องมอเตอร์ไซค์

สายตาที่มองก็คงเห็นไม่ต่างไปจากกิจกรรมของ”เด็กแว้นซ์”

ความแปลกแตกต่างอยู่ตรงที่เยาวชนเหล่านี้มีธงชาติ มีธงบ่งบอกราษฎรและบางคนถือธงอ่านจากภาษาอังกฤษได้ว่า”รีเด็ม”

เป้าหมายของเด็กเหล่านี้ต้องการก่อกวนอย่างแน่นอน แต่มิได้ เป็นการก่อกวนไปยังชาวบ้านแต่พุ่งเป้าไปยังตู้คอนเทนเนอร์

ลึกยิ่งไปกว่านั้นต้องการเข้าไปในพื้นที่หน้ากรมทหารราบที่ 1

 

มีความพยายามจากปฏิบัติการด้านการข่าวที่จะสร้างภาพเด็กๆให้เป็นเหมือนพวกกวนเมือง แต่เมื่อเด็กเหล่านี้หนีหน่วยควบตุมฝูงชน เข้าไปในพื้นที่หน้าแฟลตดินแดงกลับได้รับการคุ้มครอง

ไม่ว่าในวันแรกๆ ไม่ว่าในวันหลังๆในลักษณะของการปกป้อง

สะท้อนให้เห็นว่า กิจกรรม”ทะลุแก๊ซ”ของเด็กๆเป็นที่รับได้ในสายตาของชาวบ้าน แต่ที่ก่อให้เกิดปัญหากลับเป็นจาก”คฝ.”

การปกป้องและคุ้มครองจาก”ชาวบ้าน”จึงมีความหมายสำคัญ