E-DUANG : อารมณ์ร่วม รัฐประหาร พม่า ในสังคมพม่า และสังคมไทย

สถานการณ์ในพม่าสร้างความระทึกในดวงหทัยเป็นอย่างสูง ไม่ว่าจะในกลุ่มที่เห็นชอบกับ”รัฐประหาร” ไม่ว่าจะในกลุ่มที่ไม่เห็นชอบกับกรรมวิธีของ”รัฐประหาร”

แน่นอน ฝ่ายที่เห็นชอบด้วยกับกระบวนการ”รัฐประหาร”ย่อมเอาใจช่วย พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย

และแช่งให้ฝ่ายของ นางอองซาน ซูจี ถดถอย แพ้พ่าย

ตรงกันข้าม ฝ่ายที่ไม่เห็นชอบด้วยกับกระบวนการ”รัฐประหาร” ย่อมเอาใจฝ่ายของ นางอองซาน ซูจี โดยเฉพาะอยากให้ชาวพม่าออกไปแสดงออกบนท้องถนนอย่างคึกคัก

ความน่าสนใจอย่างเป็นพิเศษก็คือ ความรู้สึกนี้มิได้เกิดขึ้นและดำรงอยู่แต่เพียงในหมู่ชาวพม่าเท่านั้น แม้กระทั่งในหมู่ของคนไทยที่เฝ้าติดตามสถานการณ์ก็เกิดขึ้น

เกิดการแบ่งเป็นกลุ่มเชียร์ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย เกิดการแบ่งเป็นกลุ่มเชียร์ นางอองซาน ซูจี ขึ้นโดยอัตโนมัติ

สะท้อนให้เห็นถึงอิทธิพลและผลสะเทือนจากรัฐประหารในพม่าได้ส่งผลตกกระทบมาถึงสังคมประเทศไทยอย่างมิอาจปฏิเสธได้

 

อย่าได้แปลกใจไปเลยที่จะมีข่าวแพร่กระจายอย่างกว้างขวางว่ากลุ่ม ชาติพันธุ์ในพม่าไม่ใช่จะเห็นด้วยกับ นางอองซาน ซูจี และออกมาชื่นชมการตัดสินใจของ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย

ข่าวที่มีความโน้มเอียงไปทางชมชอบรัฐประหารเช่นนี้แพร่กระจายอย่างกว้างขวางในกลุ่มนิยมรัฐบาล

เป็นรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา

แต่แล้วเมื่อความจริงได้ปรากฏมากขึ้นกลายเป็นว่า แท้จริงแล้วแม้กลุ่มชาติพันธุ์จะหงุดหงิดกับนโยบายบางนโยบายของ นางอองซาน ซูจี แต่ก็ไม่ชอบทหาร ไม่ชอบการรัฐประหาร

ความไม่พอใจต่อการรัฐประหาร ความไม่พอใจต่อทหาร จึงกลายเป็น”อารมณ์ร่วม”ในสังคมพม่า

นำไปสู่การต้าน”รัฐประหาร” นำไปสู่การต้าน”ทหาร”

 

เมื่อเสียงปืนดังขึ้นที่เมียวดีคนที่ชอบ พล.อ.อาวุโสมิน อ่อง หล่าย ก็ร้องเชียร์ แต่เสียงเชียร์ก็ดังอยู่ไม่นานเท่าใดนัก เพราะดูเหมือนว่าชาวพม่าก็ไม่กลัว

เสียงเคาะถ้วยชามรามไหก็ยังดังกึกก้องทุกค่ำคืน

การลงสู่ท้องถนนของชาวพม่ากำลังกลายเป็นโรคระบาดใหม่ที่แพร่กระจายออกไปทั่วประเทศและทั่วโลก

คนต้านรัฐประหารก็ชอบ คนชอบรัฐประหารก็หงุดหงิด