‘ไพร่ฟ้าหน้าใส’ สร้อยคำชวนสงสัย ในจารึกพ่อขุนรามคำแหง

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ

ในศิลาจารึกสุโขทัยหลักที่ 1 หรือที่มักจะรู้จักกันโดยทั่วไปในชื่อของ “จารึกพ่อขุนรามคำแหง” เพราะข้อความในจารึกหลักดังกล่าวอ้างว่า พ่อขุนรามคำแหงแห่งรัฐสุโขทัย เป็นผู้รับสั่งให้สร้างศิลาจารึกหลักดังกล่าวขึ้นมานั้น มีข้อความที่ว่า “ไพร่ฟ้าหน้าใส” ระบุอยู่ในนั้น

แต่ในยุคสมัยที่สร้างศิลาจารึก ไม่ว่าจะสร้างขึ้นในรัฐสุโขทัย ยุคพ่อขุนรามคำแหง ยุคพญาลิไท หรือเพิ่งจะมาสร้างกันเอาเมื่อสมัยรัชกาลที่ 4 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ อย่างที่บรรดานักประวัติศาสตร์เขาถกเถียงกันอย่างไม่รู้จักจบสิ้นนั้น “ไพร่ฟ้า” ทำไมจะต้อง “หน้าใส” กันด้วยเล่าครับ?

โดยปกติแล้ว “ไพร่” หรือ “ไพร่ฟ้า” (คือ ไพร่ของ “ฟ้า” ซึ่งหมายถึง พระเจ้าแผ่นดิน) หมายถึง สามัญชนทั่วไปที่ไม่ได้อยู่ในฐานะทาส หรือเจ้าขุนมูลนาย มีอิสระในการประกอบอาชีพ การตั้งบ้านเรือน มีครอบครัว แต่มีหน้าที่ในการถูกเกณฑ์แรงงาน หรือเสีย “ส่วย” และถูกเกณฑ์ทหารในยามศึกสงคราม

แต่ไพร่ก็ยังแบ่งออกได้เป็นสองประเภทคือ “ไพร่หลวง” และ “ไพร่สม”

“ไพร่หลวง” พูดง่ายๆ ก็คือไพร่ที่ขึ้นตรงต่อกษัตริย์ ไพร่ชนิดนี้จะยอมจ่ายสตางค์ หรือส่งส่วยสิ่งของแทนการถูกเกณฑ์แรงงาน ในกรณีนี้เรียกว่า “ไพร่ส่วย”

ที่สำคัญคือกษัตริย์สามารถที่จะพระราชทานไพร่หลวงให้แก่ขุนนางได้ ไพร่ประเภทนี้นี่แหละที่เรียกกันว่า “ไพร่สม” มูลนายจะมีไพร่มากเพียงใดขึ้นอยู่กับยศ ตำแหน่ง ศักดินา โดยไพร่สมจะต้องทำงานปีละ 1 เดือน ส่วนเวลาที่เหลือต้องทำให้มูลนาย หรือส่งส่วยให้แทน หากมูลนายถึงแก่กรรม ไพร่สมจะถูกโอนกลับไปเป็นไพร่หลวง เว้นเสียแต่ว่าผู้บุตรจะขอควบคุมไพร่สมต่อจากบิดา

(น่าสนใจด้วยว่า คำว่า “ไพร่ฟ้า” ถึงแม้จะควรหมายถึงไพร่ของพระเจ้าแผ่นดิน แต่ไม่ควรจะหมายถึงเฉพาะแค่เพียงแต่ “ไพร่หลวง” เท่านั้น แต่ยังหมายรวมถึง “ไพร่สม” อีกด้วย ดังจะกล่าวถึงต่อไปข้างหน้า)

 

ส่วน “ทาส” แม้จะมีอยู่มากมายถึง 7 ประเภท แต่ส่วนใหญ่แล้วก็คือ “ทาสสินไถ่”

“ทาสสินไถ่” หมายถึงทาสที่เกิดจากการที่พ่อแม่ขายบุตร หรือสามีขายภรรยา ส่วนคนที่ยากจนจนหาเลี้ยงตนเองไม่ได้ เลยต้องมาขายตัวเอง เรียกว่า “ทาสที่ช่วยไว้ให้พ้นจากความอดอยาก” ยิ่งถ้าใครต้องคดีแล้วไม่สามารถจ่ายค่าปรับ ผู้ที่ออกสตางค์จ่ายค่าปรับให้ก็จะได้เป็นนายทาสของคนผู้นั้น ทาสประเภทนี้เรียกว่า “ทาสที่ช่วยไว้จากโทษทัณฑ์”

สตรีที่เป็นทาส ไม่ว่าจะเป็นด้วยกรณีใดก็ตาม หากมีบุตรธิดา ลูกของพวกเธอก็จะถูกตีตราเป็น “ทาสในเรือนเบี้ย” นับตั้งแต่เพิ่งตัดสายสะดือ

ที่สำคัญคือทาสที่โอนผ่านกันเป็นมรดกได้นะครับ ถ้านายทาสตาย บุตรของนายทาสก็จะได้รับมรดกมีชีวิตเหล่านี้ไว้เรียกว่า “ทาสที่รับมาด้วยมรดก”

แถมนายทาสยังสามารถยกทาสของตนเองให้กับคนอื่นได้ด้วย ทาสประเภทนี้เรียกว่า “ทาสท่านให้”

ส่วนทาสประเภทสุดท้ายเรียกว่า “ทาสเชลย” ซึ่งไม่ต้องอธิบายอะไรมากก็คงเข้าใจตรงกันว่าได้มาจากการสงคราม

แต่ก็แน่นอนด้วยว่า ที่ศิลาจารึกพ่อขุนรามคำแหงระบุว่า “หน้าใส” นั้น ก็มีเฉพาะเพียงพวกไพร่ (โดยไม่ได้ระบุสถานภาพชี้ชัดลงไปว่าเป็นไพร่หลวง หรือไพร่สม เพราะมีคำว่า “ฟ้า” กำกับอยู่ข้างท้ายคำว่า “ไพร่”) แต่ไม่ได้หมายรวมถึงพวกทาส ซึ่งไม่น่าจะมีสิทธิ์หน้าสวยใสอย่างบรรดาพวกไพร่เขาด้วย

 

อย่างไรก็ตาม คำว่า “หน้าใส” นั้นไม่เคยพบในจารึกของสุโขทัยหลักอื่นเลยแม้แต่หลักเดียวนะครับ

และนี่ไม่ใช่สิ่งที่ผมค้นคว้าขึ้นมาเอง แต่เป็น รองศาสตราจารย์ ดร.พิริยะ ไกรฤกษ์ ซึ่งได้ค้นคว้าเกี่ยวกับจารึกพ่อขุนรามคำแหงอย่างหนักหน่วงที่สุดในโลกคนหนึ่งได้เคยสรุปเอาไว้ และผมก็แค่นำมาบอกต่อให้ฟังกันอีกทอดหนึ่งเท่านั้น

ในจารึกพ่อขุนรามคำแหงหลักนี้ ได้ปรากฏคำว่า “ไพร่ฟ้าหน้าใส” ถึง 2 แห่งเลยทีเดียว โดยแห่งที่หนึ่งนั้น ปรากฏอยู่ในจารึกด้านที่ 1 บรรทัดที่ 21 มีใจความว่า

“…จักใคร่ค้าม้า ค้า ใครจักใคร่ค้าเงือน (คือ เงิน) ค้าทอง ค้า ไพร่ฝ้า (ฟ้า) หน้าใส…”

ข้อความที่ผมยกมาข้างต้น หมายความว่า ใครอยากค้าอะไรก็ค้า จะขายม้า ค้าเงิน หรือขายทองก็ทำได้ กล่าวคือ ข้อความตอนนี้มีความหมายระหว่างบรรทัดอยู่โดยนัยด้วยว่า เป็นยุคสมัยที่มีเสรีในการค้า (อย่างน่าสงสัยหากจะเป็นจารึกที่สลักขึ้นในสมัยสุโขทัย ที่ควรจะมีระบบการค้าผูกขาดตามแบบรัฐจารีตของภูมิภาคอุษาคเนย์ ในยุคก่อนสมัยใหม่ ซึ่งยังไม่ได้รับอิทธิพลของการค้าขายแบบโลกตะวันตกเข้ามา) และมีเศรษฐกิจที่ดีนั่นเอง

แต่คำเดียวกันนี้เองที่อยู่ในจารึกด้านที่ 1 บรรทัดที่ 6 (แต่ต้องอ่านความมาตั้งแต่บรรทัดที่ 4 และต่อเนื่องไปจนถึงบรรทัดที่ 10 จึงจะรู้เรื่อง) ดังปรากฏมีข้อความที่ว่า

“…สีบ (สิบ) เก้าเข้า ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอด มาท่ (ที่) เมืองตาก พ่อกูไปรบ ขุนสามชนหัวซ้าย ขุนสามชนขับมาหัวขวา ขุนสามชนเกลื่อนเข้า ไพร่ฝ้า (ฟ้า) หน้าใสพ่อกู หนีญญ่ายพายจแจ้น กูบ่อหนี กูขี่ช้างเบกพล กูขับเข้าก่อนพ่อกู กูฏ่อ (ต่อ) มาสเมือง (ชื่อช้างของขุนสามชน) แพ้ ขุนสามชนพ่ายหนี พ่อกูจึ่ง (จึง) ขึ้นชื่อกู ชื่อพระรามคำแหง เพื่อกูพู่ง (พุ่ง) ช้างขุนสามชน…”

สรุปความง่ายๆ ว่า เมื่อพ่อขุนรามคำแหงครบ 19 พระชันษา ขุนสามชนเจ้าเมืองฉอดบุกเข้ามาที่เมืองตาก พระราชบิดาของของพ่อขุนรามฯ จึงทรงออกไปรบ แต่ขุนสามชนรบเก่ง “ไพร่ฟ้าหน้าใส” ของพระราชบิดาพ่อขุนรามจึงแตกหนี เว้นแต่องค์พ่อขุนรามคำแหงเองนี่แหละครับ ที่กำลังทรงพระห้าวเป้ง เลยทรงไสช้างเข้าไปต่อรบจนขุนสามชนแพ้

(แน่นอนว่า บรรดา “ไพร่ฟ้า” ที่ถูกกษัตริย์ คือผู้นำของเมืองเกณฑ์เข้าร่วมรบในการรณรงค์สงครามนั้น ย่อมต้องไม่ได้มีเฉพาะแค่ “ไพร่หลวง” ที่ขึ้นตรงต่อพระองค์เท่านั้น บรรดา “ไพร่สม” ของขุนนางที่เข้าร่วมทำการศึก ย่อมต้องถูกเกณฑ์มาใช้ในการเสริมกำลังพลด้วยแน่ ดังนั้น ถึงแม้คำว่า “ไพร่ฟ้า” ควรจะมีความหมายตรงตัวถึงไพร่พลของกษัตริย์ คือพระเจ้าแผ่นดิน แต่ก็ไม่ควรจะหมายถึงเฉพาะแต่ไพร่หลวงเท่านั้น ดังนั้น คำว่า ไพร่ฟ้า จึงควรจะหมายถึงไพร่อย่างรวมๆ โดยมีความหมายในเชิงยกย่องบุญญาบารมีของกษัตริย์ตามขนบโบราณเสียมากกว่า)

และก็เป็นด้วยเหตุการณ์ในความตอนนี้เอง ที่ทำให้พระราชบิดาของพระองค์คือ “พ่อขุนศรีอินทราทิตย์” ได้พระราชทานนามให้ว่า “พ่อขุนรามคำแหง” ด้วยความห้าวหาญในการไสช้างเข้าสู้รบอย่างดุดัน ไม่เกรงใจศัตรู หรือใครอื่นดังความที่จารึกหลักนี้ได้กล่าวอ้าง

 

แน่นอนว่า ในสนามรบคงจะไม่มีไพร่ที่ไหนหน้าใสเด้งเหมือนไปโมมาจากเกาหลีหรอกนะครับ

ความตอนนี้ก็บอกอยู่แล้วว่าไพร่ฟ้าพวกนี้สู้ไม่ได้ก็เลยจำต้อง “หนีญญ่ายพายจแจ้น” (อ่านว่า หนี-ยะ-ย่าย-พาย-จะ-แจ้น) คือ หลบลี้หนีหน้าไป โดยไม่ต้องห่วงมาด หรือโนสน โนแคร์ต่อลุคหน้าใสใดๆ ทั้งสิ้น

ดังนั้น เมื่อนักอ่านจารึกระดับอาวุโสมือทองทั้งหลาย โดยมีตัวอย่างสำคัญก็คือ ศาสตราจารย์ ประเสริฐ ณ นคร (พ.ศ.2461-2562) จะแปลคำว่า “ไพร่ฟ้าหน้าใส” ว่า “ไพร่” หรือ “ประชาชน” เฉยๆ ก็เท่านั้น

แต่ก็ย่อมเป็นไปได้เช่นกันด้วยว่า คำว่า “หน้าใส” นี้ ยังไม่มีนักอ่านจารึก หรือนักประวัติศาสตร์ผู้เชี่ยวชาญในภาษาไทยโบราณท่านไหนแปลออก ซึ่งก็แน่นอนด้วยว่า เพราะเป็นสร้อยคำที่ปรากฏอยู่ในจารึกหลักเดียวกันถึง 2 แห่ง แต่ความดูจะขัดกันนั่นแหละ

น่าสังเกตว่า ความบางตอนในกัณฑ์มหาพน ของ “มหาชาติคำหลวง” ซึ่งเป็นหนังสือที่เล่าเรื่องของพระเวสสันดร ที่เรียบเรียงขึ้นจากการที่สมเด็จพระบรมไตรโลกนาถ แห่งกรุงศรีอยุธยา ได้ประชุมนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลายให้ช่วยกันแปลและแต่งขึ้นที่เมืองพิษญุโลกเมื่อ พ.ศ.2025 นั้น ได้ปรากฏข้อความว่า

“…ไพร่ฟ้าหน้าใส ชาวเชตุดร กำจัดท้าวจรจากเมืองมานาน…”

คำว่า “ไพร่ฟ้าหน้าใส” ในข้อความข้างต้น ควรจะหมายถึง “ราษฎร” หรือ “ประชาชน” โดยทั่วไป เพราะเล่าถึงความที่ว่าบรรดาประชาชนพลเมืองในนครเชตุดร แห่งแคว้นสีพี ได้ขับไล่พระเวสสันดร (ซึ่งเป็นเจ้าชายของเมือง) ออกจากเมือง (เพราะโกรธแค้นที่ทรงบริจาคช้างปัจจัยนาเคนทร์ ให้แก่กษัตริย์เมืองกลิงคะ) ไปนานแล้ว

เอาเข้าจริงแล้ว ผมก็จึงไม่รู้หรอกนะครับว่า ไอ้เจ้าสร้อยคำ “หน้าใส” ที่ต่อท้ายว่า “ไพร่ฟ้า” นั้น หมายถึงอะไรแน่ รู้ก็แต่สร้อยคำดังกล่าวนี้ไม่ได้มีความหมายถึง ความงามของหน้าตา หรือความสุขสันต์ใดๆ เป็นพิเศษกว่ารัฐอื่นนอกเหนือจากสุโขทัยเลยสักนิด •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ