ทางเท้าไร้หัวใจ (1)

ชาตรี ประกิตนนทการ

ได้มีโอกาสเห็นโพสต์หนึ่งจาก facebook page ที่คอยสอดส่องความเป็นระเบียบเรียบร้อยของเมืองกรุงเทพฯ โดยเฉพาะทางเท้าสาธารณะตามจุดต่างๆ ซึ่งปัจจุบันโพสต์นี้ถูกลบ (หรือซ่อนจากสาธารณะ) ไปแล้ว

โพสต์ดังกล่าวแสดงภาพบริเวณทางเท้าแยกราชดำริก่อนถึงพระพรหมเอราวัณที่มีรถเข็นขายของและผู้คนนั่งอยู่บนเสื่อริมขอบถนน พร้อมแคปชั่นประกอบคำอธิบายภาพความว่า

“…น่าจะมีสิบล้อเสียหลักพุ่งมาแถวนี้บ้างนะ…แล้วก็ลากไปให้ถึงสำนักงานอะไรซักอย่างที่อยู่ตรงนั้น แวะกวาดเอาไอ้พวกสันหลังยาวที่อยู่ในนั้นไปด้วย ตัวไหนตายก็ไปวัดปทุมฯ ข้างหน้านั่น ตัวไหนสาหัสก็เข้า ร.พ.ตำรวจ ใกล้ๆ…”

โดยปิดท้ายข้อความด้วยอิโมจิหัวเราะจนน้ำตาไหล

แม้เชื่อว่าคนโพสต์ไม่ได้ต้องการให้เกิดเหตุการณ์สิบล้อเสียหลักจริงๆ แต่การเขียนข้อความดังกล่าวออกมาได้พร้อมกับหัวเราะอย่างสนุกสนานก็ชวนให้ผมตกใจกับวิธีคิดและจิตสำนึกของคนโพสต์

ภาพจาก facebook page แห่งหนึ่งที่ไม่พอใจรถเข็นและคนที่นั่งบนทางเท้าจนอยากให้มีสิบล้อพุ่งชนกวาดคนเหล่านี้ออกจากถนน

ในความเป็นจริง มีงานศึกษามากมายยืนยันตรงกันว่า หาบเร่แผงลอยบนทางเท้าคือแหล่งอาหารที่สำคัญมากของผู้มีรายได้น้อยที่อาศัยอยู่ในเมือง

จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และองค์กร WEIGO พบว่า ประชากรที่มีรายได้ต่ำกว่า 9,000 บาทต่อเดือน ร้อยละ 60 จะมีการซื้อของจากร้านหาบเร่แผงลอยทุกวัน ซึ่งหากหาบเร่แผงลอยเหล่านี้หายไป คนกลุ่มดังกล่าวซึ่งมีปริมาณหลายแสนคนจะต้องซื้ออาหารในราคาที่แพงขึ้น และเป็นราคาที่สูงมากกว่าค่าแรงขั้นต่ำที่พวกเค้าได้รับในหนึ่งวัน (อ้างถึงใน วาระทีดีอาร์ไอ, “หาบเร่แผงลอย : วิถีชีวิตที่รัฐมองข้าม,” กรุงเทพธุรกิจ, 23 เมษายน 2561: https://www.bangkokbiznews.com/blog/detail/644451)

หากจะมองในแง่ของตัวเลขทางเศรษฐกิจล้วนๆ หาบเร่แผงลอยก็เป็นหนึ่งในกลไกที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญไม่น้อย

จากรายงาน ‘ข้อเสนอเชิงนโยบายการบริหารจัดการหาบเร่แผงลอยในกรุงเทพมหานคร เพื่อสร้างเสริมเศรษฐกิจฐานราก ชีวิต และชุมชน’ ของคณะกรรมาธิการการแก้ปัญหาความยากจนและลดความเหลื่อมล้ำ วุฒิสภา พบว่า ใน พ.ศ.2560 ผู้ประกอบการธุรกิจอาหารริมทางมียอดขายรวมมากถึง 271,355 ล้านบาทต่อปี

และจากข้อมูลของธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทยและมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ยังพบด้วยว่า กลุ่มหาบเร่หรือแผงลอยทำให้เกิดมูลค่าเศรษฐกิจนอกระบบราว 135,369 ล้านบาทต่อปี สามารถกระตุ้นการบริโภคเพิ่มขึ้น 89,944 ล้านบาทต่อปี และส่งผลให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศเพิ่มขึ้น 224,713 ล้านบาทต่อปี

(อ้างถึงใน “หาบเร่แผงลอย’ แหล่งอาหารที่กรุงเทพฯ ‘ทั้งรักทั้งเกลียด,” Rocket Media Lab, 29 เมษายน 2565 : https://rocketmedialab.co/bkk-street-food/)

ภาพหาบเร่แผงลอยบนทางเท้าบริเวณท่าช้างเมื่อราว พ.ศ.2517
ที่มา : รายงาน visual survey ของนักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยคุณเรืองยุทธ ธีระวณิช พ.ศ.2517

หากจะมองในมิติทางสังคม ความคึกคักของทางเดินเท้าจากการมีอยู่ของหาบเร่แผงลอยในหลายพื้นที่คือเครื่องมือสำคัญที่สร้างความปลอดภัยให้กับย่านและชุมชนหลายแห่งที่มีลักษณะทางกายภาพที่เปลี่ยวและสุ่มเสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรม

หรือหากจะมองในมิติทางวัฒนธรรม อาหารริมทางแบบนี้คือเอกลักษณ์ที่สำคัญของกรุงเทพฯ ที่ช่วยดึงดูดนักท่องเที่ยวได้ไม่น้อย

แน่นอน แม้หาบเร่แผงลอยจะมีบทบาทสำคัญทั้งในเชิงเศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม แต่ในอีกด้านหนึ่งก็ต้องยอมรับว่ากิจกรรมทางเศรษฐกิจระดับรากหญ้าแบบนี้ในหลายพื้นที่ได้สร้างความสกปรก ไร้ระเบียบและกติการ่วมกัน

จนหลายกรณีได้เข้ามากีดขวางการสัญจรบนทางเท้าของผู้คนเป็นจำนวนมากจนต้องลงไปเดินบนท้องถนนซึ่งสุ่มเสี่ยงต่ออันตราย

แต่กระนั้น ทัศนะเชิงรังเกียจจากคนกรุงเทพฯ (ซึ่งส่วนใหญ่คือชั้นกลางระดับบนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจดีพอจนไม่จำเป็นต้องพึ่งพาหาบเร่แผงลอย) ที่สะท้อนผ่าน social media ที่ยกมาข้างต้น ก็น่ากังวลและชวนตั้งคำถามอยู่ไม่น้อยว่า อะไรถึงทำให้ความรังเกียจทวีความรุนแรงได้มากเช่นนี้

อะไรที่ทำให้คนเราสามารถเกลียดรถเข็นขายของบนทางเท้าและคนที่เอาเสื่อมานั่งบนทางเท้า (ไม่ว่าจะด้วยเจตนาอะไรก็ตาม) ในระดับที่สามารถจินตนาการอยากให้รถพุ่งชนและชนกวาดทิ้งคนเหล่านี้ออกไปให้พ้นจากทางเท้า

ภาพจาก facebook page แห่งหนึ่งที่ไม่พอใจรถเข็นขายของบนทางเท้าแม้ว่าจะไม่ได้กีดขวางทางสัญจรแต่อย่างใด

มิได้มีเพียงกรณีนี้เท่านั้นนะครับ หากใครติดตามก็จะพบว่ามีเพจแบบนี้เกิดมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ซึ่งมีลักษณะร่วมกันคือ เน้นแชร์ภาพทางเท้าในที่ต่างๆ ของกรุงเทพฯ ที่ไร้ระเบียบ สกปรก มีหาบเร่แผงลอย หรือมีวินมอเตอร์ไซค์รับจ้างจอดรับส่งผู้โดยสาร เพื่อนำมาประจาน บ่นด่า และเรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐเข้ามาจัดระเบียบเรียกคืนทางเท้าให้คนเดินเท้า

ยิ่งหากเข้าไปอ่านคอมเมนต์เราก็จะพบอารมณ์ร่วมในลักษณะแบบเดียวกันเป็นจำนวนมากจนน่าตกใจ

แม้ส่วนใหญ่จะไม่แสดงออกถึงความรุนแรงมากเท่าตัวอย่างที่ผมยกมา แต่ก็มองเห็นถึงความรังเกียจที่มีร่วมกันได้อย่างชัดเจน

คนชั้นกลางระดับบนเหล่านี้ไม่สนใจและไม่ตระหนักสักนิดเลยว่า หากไม่มีหาบเร่แผงลอย ผู้มีรายได้น้อยในพื้นที่เมืองที่เป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ให้เป็นอยู่ในแบบที่เป็นอยู่ได้ทุกวันนี้ ไม่ว่าจะเป็น พนักงานออฟฟิศระดับล่าง ข้าราชการชั้นผู้น้อย แรงงานในพื้นที่ก่อสร้างทั่วเมืองซึ่งไม่เคยหยุดนิ่ง คนทำความสะอาด แม่บ้าน รปภ. ไปจนถึงนักศึกษาที่ยังไม่สามารถหาเงินได้เองและครอบครัวไม่ได้มีฐานะมากนัก ฯลฯ จะไม่สามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ เพราะค่าอาหารสูงเกินค่าแรงขั้นต่ำ

และสุดท้าย กรุงเทพฯ ก็จะกลายเป็นพื้นที่ของความเหลื่อมล้ำ เป็นเครื่องจักรของการเอารัดเอาเปรียบที่แม้กระทั่งพื้นที่ทางเท้าสาธารณะก็กลายเป็น “ทางเท้าไร้หัวใจ” ที่ไม่ยอมแบ่งปันให้เกิดกิจกรรมอื่นใดทั้งสิ้น นอกจากการเดิน (อาจยอมรวมการวิ่งและปั่นจักรยานแบบคนชั้นกลางเข้าไปด้วยได้)

 

ปรากฏการณ์ “ทางเท้าไร้หัวใจ” เอาเข้าจริง เป็นสิ่งที่คนกรุงเทพฯ เพิ่งถูกบ่มเพาะขึ้นมาไม่ยาวนานนัก หากเรามองภาพถ่ายเก่าเมืองกรุงเทพฯ ย้อนหลังกลับไปเพียงไม่เกิน 40 ปี เราก็จะพบว่า ทางเท้าเป็นพื้นที่ใช้สอยอย่างหลากหลาย (multi-functional space) ที่สามารถทำกิจกรรมได้หลายอย่าง ทั้งการเดิน ปั่นจักรยาน ตั้งแผงขายของ ขายอาหาร เล่นหมากรุก นั่งพักผ่อน ฯลฯ โดยที่แทบไม่มีใครรู้สึกว่าเป็นกิจกรรมที่ไม่เหมาะสมและควรต้องถูกกำจัดออกไปให้พ้นๆ

หากมีการกีดขวางกันบ้างก็หลบเลี่ยงกัน พูดจาต่อรองกัน หรืออาจจะต่อว่าต่อขานกัน ซึ่งเป็นเรื่องปกติที่ทุกคนต่างแชร์ใช้พื้นที่สาธารณะที่เรียกว่าทางเท้าร่วมกันตามความประสงค์ที่แตกต่างกันไป

แต่ปัจจุบัน คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่มักรู้สึกขัดตา อึดอัด และรังเกียจ รถเข็นขายอาหารที่ตั้งบนทางเท้าหรือการใช้พื้นที่ทางเท้าในกิจกรรมอื่นที่ไม่ใช่การเดินได้อย่างชอบธรรมโดยที่ในหลายกรณีไม่ได้ส่งผลกระทบต่อการเดินเลยด้วยซ้ำ พวกเขาเหล่านั้นสามารถมองเหยียด บ่นด่า และถ่ายรูปมาประจานได้อย่างเป็นเรื่องธรรมดา

เพราะเกือบทุกคนคิดและรู้สึกว่า “ทางเท้าคือพื้นที่ไว้สำหรับการเดิน” เท่านั้น

 

กระบวนการเปลี่ยนทางเท้าให้เหลือแค่พื้นที่เพื่อการเดิน คือ ส่วนหนึ่งของการเมืองว่าด้วยการต่อรองและต่อสู้เพื่อสถาปนาสิทธิที่จะมีอำนาจกำหนดชีวิต การใช้งาน และความเปลี่ยนแปลงของเมือง (The Right to the City ตามข้อเสนอของ Henri Lefebvre)

ปรากฏการณ์ “ทางเท้าไร้หัวใจ” คือชัยชนะของคนชั้นกลางระดับบน (ภายใต้การสนับสนุนจากภาครัฐ) ในการสถาปนาอำนาจเหนือพื้นที่เมือง เป็นชัยชนะที่สามารถทำให้หาบเร่แผงลอยกลายเป็นสิ่งแปลกปลอมที่แปลกแยกจากพื้นที่สาธารณะของเมือง

และในอีกด้านหนึ่งคือความพ่ายแพ้ของคนที่มีฐานะทางเศรษฐกิจต่ำที่จำเป็นต้องอาศัยอยู่ในพื้นที่เมือง แต่ไม่ได้รับอนุญาตให้มีสิทธิและอำนาจในการกำหนดชีวิต การใช้งาน และความเปลี่ยนแปลงของเมือง

หากมองในมิติทางประวัติศาสตร์ ปรากฏการณ์นี้อาจกล่าวได้ว่าเริ่มต้นขึ้นอย่างเป็นรูปธรรมในช่วงราวทศวรรษที่ 2520 ในช่วงเวลาที่กรุงเทพฯ กำลังถูกนิยามว่าเป็นเมืองที่เต็มไปด้วยปัญหาสภาพแวดล้อม สิ่งสกปรก มลพิษ ขยะล้นเมือง น้ำเสีย รถติด แออัด ไร้ระเบียบ ซึ่งจะต้องเร่งรีบจัดการก่อนที่ทุกอย่างจะสายเกินไป

และหนึ่งในจำเลยของความเสื่อมโทรมที่กำลังกัดกินกรุงเทพฯ อยู่ ณ ขณะนั้นก็คือปัญหาที่เกิดขึ้นจากหาบเร่แผงลอย