คณะเทพธิดามิวส์ กับดนตรีพิธีกรรม ความรู้ในยุคคลาสสิคของโลกตะวันตก

ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ
Apollo and the Muses, by John Singer Sargent, 1921, via the Museum of Fine Arts Boston

คณะเทพธิดามิวส์ กับดนตรีพิธีกรรม

ความรู้ในยุคคลาสสิคของโลกตะวันตก

 

คําว่า “music” ในภาษาอังกฤษ ซึ่งแปลเป็นภาษาไทยตรงกับคำว่า “ดนตรี” มีรากศัพท์มาจากคำกรีกโบราณว่า “mousike” แต่นอกเหนือจากที่จะหมายถึง “ดนตรี” แล้ว ศัพท์คำนี้ยังแปลความได้ว่า “ความรู้” (art) และ “ทักษะ” (techne) ของคณะเทพธิดามิวส์ (Muses) ได้อีกด้วยนะครับ

ส่วนคณะเทพธิดาที่ว่านี้ ตามเทพปกรณัมกรีกเล่าว่า มหาเทพซุส (Zeus) ได้สมสู่กับเมโมสิเน (Mnemosyne, รากศัพท์ของคำว่า memory ในภาษาอังกฤษ) เทพีแห่ง “ความทรงจำ” หรือ “ความรำลึก” แล้วบังเกิดเทพธิดาที่ดลใจศิลปวิทยาทั้งหลาย

ว่ากันว่า เบื้องต้นมีเทพธิดาเหล่านี้มีเพียงสามองค์ คือ 1) วาจากวี 2) เสียงดนตรี และ 3) การร่ายรำ ต่อมาเทพธิดาทั้งสามได้ขยายจำนวนเป็น 9 องค์ (3 x 3 = 9, ตามการเล่นเลขศักดิ์สิทธิ์ที่คนโบราณทุกชาติทุกภาษานิยมกัน) ซึ่งก็ได้แก่

1.คัลลิโอปี (Calliope) เทพธิดาแห่งวรรณกรรมมหากาพย์ 2.ไคลโอ (Clio) เทพธิดาผู้ครองประวัติศาสตร์ 3.อีเรโต (Erato) เทพธิดาประจำเพลงรัก 4.ยูเตอร์พี (Euterpe) เทพธิดาแห่งดนตรี 5.เมลโพเมเน (Melpomene) เทพธิดาแห่งละครโศกนาฏกรรม 6.ธาเลีย (Thalia) เทพธิดาแห่งละครสุขนาฏกรรม 7.โพลีฮิมเนีย (Polyhymnia) เทพธิดาประจำบทกวีสรรเสริญเทพเจ้า 8.เทอร์ซิคอเร (Terpsichore) เทพธิดาผู้ครองการระบำ และสุดท้ายคือ 9.อูราเนีย (Urania) เทพธิดาผู้ครองโหราศาสตร์

คณะเทพธิดาทั้ง 9 องค์นี้เรียกรวมกันว่า “มิวส์” (Muse)

 

การรวมกลุ่มของเทพธิดาอาจจะดูประหลาดพิกล เพราะสมัยโบราณไม่ได้แยก “ศิลปะ” ออกจาก “วิทยาศาสตร์” เหมือนอย่างที่แยกกันในทุกวันนี้ ในสมัยโบราณวิทยาศาสตร์ยังเป็นศิลปะ และศิลปะยังเป็นวิทยาศาสตร์ ดังนั้น “ประวัติศาสตร์” กับ “โหราศาสตร์” ยังผนวกกับ “กวีนิพนธ์” “ดนตรี” และ “ระบำ” ได้สะดวกไม่ขัดกัน

เราไม่ทราบว่า โบราณท่านบูชาเทพธิดาเหล่านี้อย่างไร เพราะโบราณสถานกรีก-โรมันถูกทำลายมาก แต่สันนิษฐานกันว่า เทวรูปของเทพธิดาเหล่านี้คงเรียงรายในกำแพงแก้ว (ที่ปัจจุบันเรียกว่า Gallery)

ไมเคิล ไรท นักวิชาการนอกเครื่องแบบผู้ได้รับสมญาว่า “ฝรั่งคลั่งสยาม” ผู้ล่วงลับ เคยอธิบายถึงวิธีการบูชาคณะเทพธิดามิวส์เอาไว้ในบทความชื่อ “พิพิธภัณฑ์ เกี่ยวกับเทพธิดาอย่างไร?” ว่า ศิลปินผู้ใดที่รับความสำเร็จ (หรือยังต้องการความดลบันดาลใจ) ก็จะได้มาจุดประทีป เผาเครื่องหอม และถวายพวงมาลัย

หลักฐานจากวรรณคดีชัดเจนดีกว่าโบราณคดี นั่นคือ นักประพันธ์กรีก-โรมันล้วนขึ้นต้นด้วยคำสรรเสริญบูชาหรืออ้อนวอนเทพธิดาให้มาดลใจ ตัวอย่างที่ดีที่สุดคือ มหากาพย์อิเลียด (Iliad) ของโฮเมอร์ (Homer) ซึ่งประพันธ์ขึ้นเมื่อราว 800 ปีก่อนคริสตกาล ที่ขึ้นต้นว่า

“จงเดือดดาลเถิดเทพี เล่าเรื่องร้ายอาฆาตพญาอคิลลิส

ฆาตกรที่มัจจุราชจองไว้ ที่นำชาวกรีกให้เสียหาย

จนวิญญาณหาญถูกฟาดลงไปสู่แดนนรกไม่ถ้วน

วีรชนล้วนที่กายกลายเป็นเหยื่อ

โอชาแห่งสุนัขและนกอีแร้ง

ตามพระประสงค์ของซุสกำหนดไว้

เริ่มเถิด เทพธิดา (Muse) ครั้นสองท่านเกิดเคืองกัน

อกาเมมนอนยอดนราและอคิลลิสมหาวีระ” (สำนวนแปลของคุณไมค์)

กล่าวโดยสรุปแล้ว มหากวีโฮเมอร์ไม่กล้าอวดอ้างว่าท่านแต่งมหากาพย์นี้ขึ้นเอง ท่านได้แต่ขอร้องให้เทพธิดามิวส์เสด็จมาช่วยดลบันดาลให้บันทึกความสะเทือนใจที่เหลือใจมนุษย์จะทนได้

ในทัศนะของพวกกรีก “มิวส์” จึงเป็นคณะเทพธิดาที่ทั้งดลบันดาลและอำนวยพรให้เกิดทั้ง “ศาสตร์” และ “ศิลป์” หรือ “ความรู้” ต่างๆ โดยแน่นอนว่าก็ต้องรวมถึงอะไรที่เรียกว่า “music” คือ “ดนตรี” ซึ่งมีรากศัพท์มาจากเทพธิดาคณะนี้ด้วยแน่

Minerva and the Muses, โดย Jacques Stella, 1640-45, พิพิธภัณฑ์ลูร์ฟ

น่าสนใจว่าในบรรดาเทพธิดามิวส์ทั้งหลาย มีอยู่หลายองค์ทีเดียวที่กิจการที่ไท้เธอครองอยู่นั้น เกี่ยวข้องกับดนตรีการ บางองค์อย่าง “ยูเตอร์พี” ก็ถึงกับครองการละเล่น “ดนตรี” เองเลยทีเดียว ดังนั้น ดนตรีจึงเป็นสิ่งที่สำคัญสำหรับชาวกรีกในยุคคลาสสิค

และยิ่งทำให้ไม่น่าประหลาดใจเลยที่นักปราชญ์คนสำคัญอย่าง เพลโต (Plato, 424-348 ปีก่อนคริสตกาล) และอริสโตเติล (Aristotle. 384-322 ปีก่อนคริสตกาล) จะเคยเสนอเกี่ยวกับแนวทางการเล่นดนตรีในวัฒนธรรมกรีกไว้ว่า ควรเล่นเฉพาะบางโหมด (mode) เช่น โหมดที่ให้ความฮึกเหิมใช้เล่นสำหรับสรรเสริญวีรบุรุษ แต่ไม่ควรเล่นโหมดที่ให้ความรู้สึกเศร้าโศกเสียใจ เป็นต้น

แต่เมื่อปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่อย่าง “เพลโต” เอ่ยถึงคำว่า “mousike” นั้น ท่านไม่ได้จำกัดความหมายอยู่เฉพาะแค่หมายถึงแต่ “ดนตรี” เท่านั้นนะครับ เพราะท่านยังครอบคลุมความหมายถึงงานศิลปะ บทกวี หรืองานสร้างสรรค์แขนงอื่นๆ อีกด้วย

ต่างจากคำว่า “mousike” ที่เอื้อนเอ่ยออกมาจากปราชญ์ผู้ศิษย์ของเพลโตเองอย่าง “อริสโตเติล” ที่คำนี้มีความเฉพาะเจาะจงถึงดนตรีการเป็นการเฉพาะแล้ว

ถึงจะมีความหมายที่แตกต่างออกกันไปบ้าง แต่ก็พอจะสรุปได้ว่า นักปราชญ์ชาวกรีกในยุคคลาสสิค (และควรจะรวมถึงประชากรในวัฒนธรรมกรีกยุคเดียวกันด้วย) นั้นถือว่า “ดนตรี” เป็น “ความรู้” ชนิดหนึ่งที่ส่งผลสะเทือนต่ออารมณ์ความรู้สึกของคน และรัฐ

ในทางกลับกัน ดนตรียังคงเป็นเครื่องมือในการเซ่นสรวง ปรนนิบัติ และเข้าถึงหมู่เทพเจ้าอยู่เสมอ หน้าที่อย่างนี้คงจะเป็นหน้าที่แต่ดั้งเดิมของดนตรี เช่นเดียวกับอีกหลากหลายสังคมวัฒนธรรมในโลก

การได้รับการดลใจเพื่อรังสรรค์งานศิลปวิทยาต่างๆ จากคณะเทพธิดาเทพมิวส์เองก็คงไม่ต่างกันนัก โดยเฉพาะเมื่อหลายองค์ในบรรดาไท้เธอต่างครองไว้ซึ่งอำนาจแห่งดนตรีการ การระบำ ละครประเภทต่างๆ

สรรพความรู้ที่เหล่าเทพธิดามิวส์ดลบันดาลให้แก่มนุษย์เอง แต่แรกเริ่มก็ออกมาในรูปลักษณะของดนตรี เพราะท่วงทำนองในการโอดเอื้อนคือเครื่องมือวิเศษในการช่วยจำ ไม่ต่างไปจากการเทศนาของพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา ที่ท่องทอดออกเป็นท่วงทำนอง

และอันที่จริงแล้วศิลปวิทยาจากเทพธิดามิวส์บางองค์ซึ่งไม่เกี่ยวข้องกับการดนตรีโดยตรงอย่าง เทพธิดาผู้ครองประวัติศาสตร์ และโหราศาสตร์ อย่างคลิโอ (Clio) และอูราเนีย (Urania) ตามลำดับ ก็อาจถูกถ่ายทอดผ่านดนตรีการด้วย ไม่ต่างจากที่พระเวทของพวกพราหมณ์ถูกขับออกมาเป็นทำนอง หรือพระไตรปิฎกของศาสนาพุทธที่เอื้อนทำนองออกมาผ่านปากของพระสงฆ์

 

ลักษณะอย่างนี้ชวนให้นึกถึงคำว่า “ดนตรี” ในภาษาอาหรับ ซึ่งมีคำเรียกหา “ดนตรี” อยู่อย่างน้อย 2 คำ หนึ่งคือ “musik” และสองคือ “ghina” สำหรับคำหลังมีความหมายเป็นเอกพจน์ เมื่อใช้เป็นพหูพจน์จะผันเป็นคำว่า “aghani”

คำว่า “ghina” และ “aghani” นอกจากจะหมายถึง “ดนตรี” แล้วยังหมายถึง “บทสวด” ได้ด้วย ลักษณะอย่างนี้ต้องตรงกับธรรมชาติของชาวอาหรับที่นิยมเพลงสวด บทกลอนบทกวีต่างๆ

ส่วนคำว่า “musik” หยิบยืมมาจากภาษากรีกแน่ จึงเป็นคำใหม่ของพวกอาหรับ และไม่มีความหมายครอบคลุมไปถึงบทกวีบทสวดอื่นๆ เป็นไปได้ว่าเหตุการณ์ดังกล่าวได้เกิดขึ้นเมื่อปราชญ์อาหรับได้นำความรู้เกี่ยวกับดนตรีของชาวกรีกมาปรับประยุกต์จนสร้างทฤษฎีดนตรีของพวกอาหรับเองในช่วงระหว่าง ค.ศ.900-1000

ข้อมูลเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำให้เห็นถึงแนวคิดทางปรัชญาของพวกกรีกถือว่า “ดนตรี” เป็น “ความรู้” ชนิดหนึ่งที่ส่งผลสะเทือนต่ออารมณ์ความรู้สึกของคน และรัฐ (แน่นอนว่าความคิดนี้ส่งไปยังพวกอาหรับ และมุสลิมที่รับเอาคำว่า “mousike” ของกรีกไปใช้ด้วย)

และในทางกลับกัน ดนตรียังคงเป็นเครื่องมือในการเซ่นสรวง ปรนนิบัติ และเข้าถึงหมู่เทพเจ้าอยู่เสมอ หน้าที่อย่างนี้คงจะเป็นหน้าที่แต่ดั้งเดิมของดนตรี เช่นเดียวกับอีกหลากหลายสังคมวัฒนธรรมในโลก

ในโลกยุคก่อนสมัยใหม่ (modernity) “ดนตรี” จึงไม่ใช่แค่การละเล่น กิจกรรมยามว่าง เครื่องผ่อนคลายอารมณ์ ตามอย่างความเข้าใจในโลกปัจจุบัน แต่เป็นเรื่องของศาสตร์ที่เกี่ยวพันกับความรู้ อำนาจ รัฐ ฯลฯ ต่างหาก •

 

On History | ศิริพจน์ เหล่ามานะเจริญ