ที่มา | มติชนสุดสัปดาห์ ฉบับวันที่ 30 ธันวาคม 2565 - 5 มกราคม 2566 |
---|---|
คอลัมน์ | ล้านนาคำเมือง |
เผยแพร่ |
“เป๋นแม่ญิง บ่ดีนุ่งสิ้นล้ำตั๋ว บ่ดีใค่หัวล้ำบ้าน”
อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “เป๋นแม่ญิง บ่ดีนุ่งสิ้นล้ำตั๋ว บ่ดีใค่หัวล้ำบ้าน”
แม่ญิง แปลว่า หญิงสาว
บ่ดี แปลว่า ไม่ควร
สิ้น แปลว่า ซิ่น ผ้าซิ่น หรือผ้าถุง
ล้ำ แปลว่า เกิน
ล้ำตั๋ว แปลว่า เกินตัว
ใค่หัว แปลว่า หัวเราะ
รวมความแล้วแปลว่า “เป็นผู้หญิง ไม่ควรนุ่งผ้าซิ่นเกินฐานะของตน ไม่ควรหัวเราะเสียงดังจนอยู่นอกบ้านก็ได้ยิน”
นี่คือ “สุภาษิตสอนหญิง” ฉบับล้านนา สอนให้ผู้หญิงล้านนาอ่อนน้อมถ่อมตน รู้จักสำรวม เป็นคนเรียบร้อย เก็บกิริยาอาการ ไม่กระโดกกระเดก อันเป็นภาพลักษณ์ของผู้หญิงล้านนาสมัยโบราณ
ผ้าซิ่นในสมัยโบราณเป็นเครื่องแต่งกายของผู้หญิงล้านนาเช่นเดียวกับหญิงไทยทั่วไป ผ้าซิ่นถือเป็นหน้าเป็นตาของหญิงสาว มีหลายแบบ มีสวย มีแบบสวยกว่า สนนราคาก็แตกต่างกันหลายระดับ
ผู้หญิงล้านนาแต่ละคนมีผ้าซิ่นหลายผืน ผ้าซิ่นผ้าฝ้ายแบบธรรมดาใช้ในชีวิตประจำวัน นุ่งไปทำงานในบ้าน ในสวนในไร่ ส่วนผืนที่สวย เนื้อผ้าเป็นผ้าไหม ผ้าซิ่นราคาแพง เป็นต้น จะนุ่งในวาระพิเศษ เช่น ไปงานปอย งานรับกฐิน เป็นการแต่งกายที่เหมาะสมตามกาลเทศะ
อย่างไรก็ตาม ผ้าซิ่นบ่งบอกฐานะของผู้สวมใส่ได้ คนมีฐานะมักจะใช้ผ้าซิ่นราคาแพง ใครดูก็รู้ ผู้ใหญ่ล้านนาจึงเตือนสาวๆ ว่า การแต่งกายเกินหน้าเกินตาหรือเกินฐานะของตัวเองนั้นไม่งาม ไม่สมควรกระทำ
ส่วนจริตของผู้หญิงก็บ่งบอกถึงมารยาทที่ถูกบ่มสอนมา การส่งเสียงหัวเราะดังลั่นได้ยินไปสามบ้านแปดบ้านนั้นเป็นหญิงสาวที่จารีตล้านนาไม่ปลื้ม และไม่ส่งเสริม
นับเป็นสุภาษิตสอนหญิงที่คนโบราณล้านนาว่าไว้ และยังน่าจะนำไปประยุกต์ใช้ได้ในทุกวันนี้ •
สะดวก ฉับไว คุ้มค่า สมัครสมาชิกนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ได้ที่นี่https://t.co/KYFMEpsHWj
— MatichonWeekly มติชนสุดสัปดาห์ (@matichonweekly) July 27, 2022