“จองพารา” คืออะไร ? ในหมู่ชาวไทยใหญ่

อ่านเป็นภาษาล้านนาว่า “จองพารา”

จองพารา เป็นภาษาไทใหญ่ คำว่า “จองพารา” ในที่นี้สะกดตามเสียงภาษาไทใหญ่

คำว่า “จอง” แปลว่า วัด หรือปราสาท ส่วนคำว่า “พารา” แปลว่า พระพุทธรูปหรือพระพุทธเจ้า

จองพารา จึงหมายถึง ปราสาทที่สร้างขึ้นเพื่อรับเสด็จพระพุทธเจ้าที่กลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ในวันออกพรรษา

ประเพณีแห่จองพารา ไทใหญ่ว่า จองเข่งต่างส่างปุ๊ด หรือที่เรียกว่าประเพณีปอยเหลินสิบเอ็ด เป็นประเพณีของไทใหญ่ โดยเชื่อว่า เมื่อพระพุทธเจ้าได้ตรัสรู้เป็นเวลา 7 พรรษา แล้วเสด็จไปโปรดพระพุทธมารดาบนสวรรค์เป็นเวลา 3 เดือน พระองค์เสด็จกลับโลกมนุษย์ในวันเพ็ญเดือน 11 ณ เมืองสังกัสสนคร

พระโมคคัลลานะได้บอกข่าวนี้ไปจนทั่วทุกหนแห่ง บรรดามนุษย์และสัตว์ก็มารับเสด็จนคร แต่สำหรับผู้ที่ไม่สามารถไปรับเสด็จได้ ก็จัดทำพารา (ซุ้มปราสาทรับเสด็จ) ที่บ้านของตน

พอถึงเช้าวันเพ็ญเดือน 11 จะจัดอาหารและขนมนมเนยไว้ถวาย

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จมาประทับยืนอยู่ที่หัวบันไดแก้ว จะทรงเปล่งฉัพพรรณรังสีกระจายสาดส่องไปถึงซุ้มปราสาทรับเสด็จของทุกบ้านเรือน ทำให้บรรดาพุทธบริษัทที่อยู่ในบ้านเรือนรู้สึกชื่นชมยินดีเป็นอย่างยิ่ง จึงพร้อมใจกันถวายภัตตาหารและจุดธูปเทียนบูชาเป็นเวลา 7 วัน

การจุดเทียนนี้มาจากการที่พระพุทธเจ้าทรงเปล่งพระรัศมีแล้วเหล่าเทพบุตร เทพยดา ซึ่งมีรัศมีมารับเสด็จ ทำให้เกิดแสงสว่างไสว จึงเป็นที่มาของประเพณี “แห่ต้นเตน” หรือ แห่ต้นเทียน

จองพารา หรือปราสาทพระ สร้างด้วยไม้ไผ่มาสานขัดราชวัตร มีฐานเป็นสี่เหลี่ยม แล้วบุด้วยกระดาษสา ตกแต่งด้วยกระดาษสี กระดาษเงิน กระดาษทองที่ตัดฉลุลาย รอบฐานตรงมุมทั้งสี่จะมีหน่อกล้วย หน่ออ้อย ต้นข้าว ดอกไม้ต่างๆ ผูกไว้ ใต้ฐานห้อยด้วยผลไม้ เผือก มัน ขนม กล้วย อ้อย

จองพารา ประกอบด้วย 3 ส่วน คือ ส่วนฐาน ส่วนตัวจองพารา ซึ่งมีส่วนประกอบอีก 3 ส่วน คือ ฐาน ปราสาท และยอด และเครื่องห้องหรือเครื่องบูชา

นั่งร้านที่ตั้งบูชาจองพารา จะสร้างไว้ที่หน้าบ้านหรือหน้าวัด โดยใช้ไม้ไผ่ฝังเป็นเสา 4 ต้น สานไม้ไผ่ทำชานสี่เหลี่ยมเป็นพื้น และทำกรอบรอบ 3 ด้าน เหลืออีกด้านทำเป็นบันไดพาดไว้ ที่มุมเข่งใช้ต้นกล้วย ต้นอ้อยผูกไว้

และจัดประดับประทีปโคมไฟให้มีแสงสว่าง

สําหรับการบูชาจองพาราจะมีวัตรปฏิบัติดังนี้ ทุกเช้าถวายข้าวพระพุทธ จุดเทียนบูชา กลางคืนจุดเทียนบูชา ตั้งไว้ 7-15 วัน โดยเริ่มวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 จากนั้นพอถึงวันแรม 8 ค่ำ หรือแรม 14-15 ค่ำ ซึ่งถือเป็นวัน “อ่องจ๊อด” วันปิดเทศกาล จะนำไปทิ้งไว้ในป่า ยกเว้นจองพาราที่ทำด้วยไม้หรือสังกะสีเป็นแบบถาวร อาจเก็บไว้ใช้ในปีต่อไป

ทุกปีในวันเพ็ญเดือน 11 ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 13 ตุลาคม คนไทใหญ่ถือว่าเป็นประเพณีที่สำคัญมาก โดยเฉพาะที่จังหวัดแม่ฮ่องสอน

เมื่อย่างเข้าเดือน 11 ระหว่างขึ้น 13-14 ค่ำ จะมีตลาดนัดขายของสำหรับตกแต่งจองพาราและอาหารทั้งวันทั้งคืน

พอรุ่งเช้าของวันขึ้น 15 ค่ำ จะมีการทำบุญตักบาตรเทโวโรหนะจากวัดพระธาตุดอยกองมู ลงมาสู่วัดม่วยต่อ

ตอนเย็นคนไทใหญ่จะนำดอกไม้ธูปเทียนและขนมข้าวต้มไปขอขมาบิดามารดา และญาติผู้ใหญ่

ในเวลากลางคืนจะมีการจุดประทีปโคมไฟเพื่อเป็นพุทธบูชาตามบ้านและวัด และมีการแห่จองพาราที่ประดับประดาอย่างสวยงาม

ทุกวันตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ ไปจนถึงวันแรม 8 ค่ำ จะมีการถวายข้าวที่จองพาราในตอนเช้าและจุดเทียนหรือประทีปโคมไฟในตอนกลางคืน ก่อนถึงวันแรม 8 ค่ำ จะมีพิธี “หลู่เตนเหง” เป็นการถวายเทียนพันเล่ม โดยแห่ต้นเทียนไปถวายวัด

ในวันแรม 8 ค่ำ มีพิธีถวายไม้เกี๊ยะ โดยนำไม้สนภูเขา มามัดรวมกันสูงไม่ต่ำกว่า 2.5 เมตร ขนาดเส้นผ่านศูนย์กลางไม่ต่ำกว่า 30 เซนติเมตร แห่พร้อมขบวนฟ้อนนางนก สิงโต ที่เรียกว่า ฟ้อนก้านก ก้าโต และเครื่องประโคมไปทำพิธีจุดถวายเป็นพุทธบูชาที่ลานวัด

คนไทใหญ่เชื่อว่า บุญกุศลจากประเพณี “จองพารา” จะทำให้ชุมชนอยู่เย็นเป็นสุข ส่งผลให้ครอบครัวประสบความสำเร็จในการประกอบอาชีพไปตลอดปี