วงค์ ตาวัน : รู้สึกพอใจที่เป็นทาส

วงค์ ตาวัน

การที่วันเลือกตั้งยังไม่กำหนดชัดเจนเสียที คงมีเหตุผลหลายประการ เช่น ยังไม่มั่นใจว่าผลการเลือกตั้งจะออกมาโดยที่พรรคการเมืองขั้วตรงข้ามกับรัฐบาลทหารจะยังเป็นฝ่ายชนะหรือไม่

ทั้งถ้ามีหนทางตัดสินใจเลือกได้

“คงยังไม่อยากจะให้มีการเลือกตั้ง ยังไม่อยากกลับสู่ประชาธิปไตยปกติ อยากจะให้การเมืองอยู่ในสภาพแบบนี้ไปเรื่อยๆ”

แกนนำรัฐบาล คสช. หลายคน มักกล่าวในวงสนทนาทำนองอิจฉาการเมืองของจีน ซึ่งมีพรรคคอมมิวนิสต์ปกครองพรรคเดียวยาวนาน แถมล่าสุดยังแก้รัฐธรรมนูญเพื่อให้ผู้นำอยู่ในตำแหน่งได้โดยไม่ต้องมีกำหนดวาระเสียอีก

อ้างว่าการปกครองที่ทำให้การเมืองนิ่งแบบจีน ส่งผลให้รัฐบาลทำงานได้ต่อเนื่อง การพัฒนาเป็นไปได้อย่างมั่นคง จนวันนี้จีนกลายเป็นมหาอำนาจของโลกไปแล้ว

“นั่นเป็นความคาดหวังโดยไม่อยู่บนความเป็นจริงทางประวัติศาสตร์ ซึ่งระหว่างจีนกับไทยนั้น คนละเรื่องเดียวกัน”

สังคมจีนเปลี่ยนจากยุคดั้งเดิมมาเป็นยุคคอมมิวนิสต์นับร้อยปีเข้าไปแล้ว คนจีนไม่ได้สัมผัสความเป็นประชาธิปไตยมาก่อน

แถมชัยชนะของพรรคคอมมิวนิสต์จีน เป็นการปฏิวัติที่ประชาชนส่วนใหญ่เข้าร่วม พร้อมใจกันลุกฮือด้วยปัญหาอดอยากปากท้องและความเหลื่อมล้ำทางชนชั้นสุดกู่ นั่นเป็นการปฏิวัติจริงๆ ดำเนินการด้วยกองทัพประชาชน

“เปลี่ยนแปลงจากข้างล่าง พลิกโค่นสังคม”

ขณะที่ คสช. เข้าสู่อำนาจ โดยการก่อรัฐประหาร ด้วยการใช้กำลังทหารเข้ายึดอำนาจรัฐ เป็นการเปลี่ยนแปลงในส่วนบนกันเอง ไม่ได้กระทำโดยมีประชาชนส่วนใหญ่เข้าร่วม ไม่ใช่การเปลี่ยนแปลงจากส่วนล่าง

อีกทั้งสังคมไทยเรา เข้าสู่ความเป็นประชาธิปไตยมาก่อนแล้ว หลัง 14 ตุลาคม 2516 เป็นต้นมา เป็นไปอย่างชัดเจน จะแค่ครึ่งใบ เสี้ยวใบ ก็ประชาธิปไตยไปแล้ว

ประชาชนไทยได้มีส่วนร่วมทางการเมือง ได้ใช้อำนาจในมือตัวเองเพื่อร่วมตัดสินอนาคตในวันเลือกตั้งมาแล้วหลายหนหลายรอบ

เหล่านี้จึงบอกได้ว่า เป็นไปไม่ได้ที่จะถอยหลังไปถึงขั้น ไม่ต้องมีประชาธิปไตย ไม่ต้องเลือกตั้งอย่างถาวรไปเลย เช่น จีน

คสช. จึงทำได้เพียงแค่สัญญาว่าขอเวลาอีกไม่นาน พร้อมกับกำหนดโรดแม็ปว่า จะเลือกตั้งในราวช่วงนี้ปีนี้ แล้วก็ขอเลื่อนขอขยับไปเรื่อยๆ

แต่สุดท้ายคงหนีการเลือกตั้งไปไม่พ้น

โฆษกรัฐบาล คสช. เพิ่งออกมาตอบโต้กระแสโจมตีเรื่องยื้อเลือกตั้งว่า อีกไม่กี่เดือนก็จะเปิดให้มีการเลือกตั้งแล้ว พรรคการเมืองและนักการเมืองที่กดดันรัฐบาล จะอดทนรอหน่อยไม่ได้หรือ

การชี้แจงเช่นนี้ พูดราวกับว่า การเลือกตั้งเป็นเรื่องของนักการเมืองเท่านั้น เหมือนกับที่พยายามประดิษฐ์ถ้อยคำทำลายประชาธิปไตย ด้วยการเรียกว่านักเลือกตั้ง

จริงอยู่ นักการเมืองบ้านเราจำนวนไม่น้อยยังด้อยคุณภาพ

“แต่นักการเมืองจะดีหรือชั่ว ก็เข้าสู่วงจรผ่านการเลือกตั้ง ยึดโยงกับประชาชน เป็นระบบที่ประชาชนมีส่วนร่วมได้”

ประเภทที่อ้างว่า การเมืองยังเลวร้าย ขอให้ทหารเข้ามาปกครองก่อน เพื่อปฏิรูปก่อนเลือกตั้ง พูดแบบนี้คือไล่ประชาชนออกจากระบบ แล้วให้คนกลุ่มเดียวเข้ามาควบคุมจัดการแทน

เป็นระบบที่ไม่ใช่ประชาธิปไตย ประชาชนไม่มีสิทธิไม่มีส่วน ให้คนกลุ่มเดียวมานั่งสั่งสอนชาวบ้าน ให้คนกลุ่มเดียวมากำหนดกติกาให้คนทั้งประเทศทำตาม โดยไม่มีส่วนร่วมคิดอะไรด้วยเลย

“มองในแง่ของประชาชน วิธีนี้ดูถูกกันเกินไป หรือไม่ก็แค่หลอกยึดอำนาจไปจากประชาชนส่วนใหญ่ เอาอำนาจไปใช้กันเองในกลุ่มคนแค่หยิบมือ”

นักการเมืองจะดีหรือเลว ก็เป็นระบบที่ชาวบ้านได้ร่วมตัดสินใจ แล้วประชาธิปไตยคือระบบที่มีพลวัตในตัวเอง เดินหน้าไปเรื่อย พัฒนาไปสู่คุณภาพมากขึ้นๆ ประชาชนร่วมเรียนรู้ ร่วมยกระดับความคิด ไปสู่ประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ขึ้นไปเรื่อยๆ

“โดยจุดสำคัญคือ ประชาธิปไตยต้องไม่สะดุด ไม่โดนล้มกระดานเป็นระยะๆ ต้องเดินเครื่องไปเรื่อยๆ พร้อมๆ กับยกระดับไปในตัวตลอดเวลา”

ตั้งแต่หลังรัฐประหารใหม่ๆ มีการตั้งสภาที่คัดมากันเอง เพื่อมาปฏิรูปการเมือง แล้วโดนนักการเมืองออกมาวิพากษ์วิจารณ์ถึงระบบคิดของคนที่มาจากการแต่งตั้งโดยอำนาจทหาร

ฝ่ายสภาจากการแต่งตั้งออกมาโต้ว่า นักการเมืองเลิกแสดงความเห็นได้แล้ว เพราะที่กำลังปฏิรูปการเมืองอยู่นี้ ไม่ได้ทำเพื่อนักการเมือง 4-5 พันคน แต่ทำเพื่อประชาชนหลายสิบล้านคน

ประชาชนฟังแล้วก็ขำกลิ้ง เพราะนักการเมืองไม่กี่พันคนนั้น เขายึดโยงกับอำนาจในมือประชาชน ส่วนสภาที่ตั้งมาโดยคณะรัฐประหาร เอาอะไรมาคิดว่า กำลังทำเพื่อคนส่วนใหญ่ เพราะจริงๆ แล้วที่ปฏิรูปกันอยู่นี้ คือการมากำหนดให้คนส่วนใหญ่ต้องทำตามความคิดของคนกลุ่มน้อยนิด

“คนจำนวนหยิบมือเดียว ที่ไม่ได้มีที่มาเชื่อมโยงกับประชาชน แต่มาจากการแต่งตั้งของคณะรัฐประหาร ไม่มีทางที่จะคิดอะไรบนพื้นฐานความต้องการของคนส่วนใหญ่ได้!!”

ทุกวันนี้เรานั่งดูข่าวสารจากสื่อต่างประเทศ เห็นความเป็นไปในประเทศเผด็จการทหาร เต็มไปด้วยความล้าหลัง ประชาชนไร้ความสุขเพราะถูกบังคับควบคุมเช่นไร

เช่นเดียวกัน สายตาคนทั่วโลกที่มองมายังบ้านเมืองเราในวันนี้ คงไม่ต่างจากนั้น

ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง จึงเป็นภาพรวมของบ้านเมือง ดังคำกล่าวที่ว่า การเลือกตั้งไม่ใช่แค่ความปรารถนาของนักการเมืองเท่านั้น แต่เป็นอนาคตของสังคมประเทศชาติทั้งหมด

คนบางส่วนที่มีสถานะได้เปรียบทางสังคม โดยเฉพาะชนชั้นกลาง ชนชั้นสูง มักแสดงท่าทีพึงพอใจกับบ้านเมืองในยุคนี้ ที่มีความสงบเรียบร้อย ส่วนจะสงบเพราะอำนาจรัฐบาลทหาร ทำให้ไร้เสรีภาพ เศรษฐกิจการค้าตกต่ำ

คนส่วนนี้ไม่สนใจมากนัก เพราะมีฐานะทางเศรษฐกิจที่ดีกว่าคนทั่วไป และด้วยความได้เปรียบทางสังคมที่เหนือกว่า จึงกลับรู้สึกว่า ประชาธิปไตยและการเลือกตั้ง ทำให้คนในชนบทมีสิทธิมีเสียงเทียบเท่ากับชนชั้นตัวเอง

“คนพวกนี้จึงไม่มีความสุข หากคนในชนบทกับชนชั้นตนเอง สามารถมี 1 เสียงเสมอภาคกัน!”

ดังที่เคยมีการเรียกร้องในหมู่คนที่ไปร่วมชัตดาวน์ล้มรัฐบาลเลือกตั้ง ทำนองว่า น่าจะเปลี่ยนคะแนนเสียงในการเลือกตั้ง โดยคนที่มีความรู้ มีปริญญา มีตัวเลขการเสียภาษีสูง

ควรมีคะแนนเสียงมากกว่า ชาวนาชาวไร่ ที่ไร้ความรู้ รายได้ต่ำ เสียภาษีน้อยนิด

“4 ปีที่ผ่านมา คนพวกนี้จึงรู้สึกพึงพอใจ ที่คนต่างจังหวัด ไม่มีผู้แทนเป็นปากเสียง ไม่มี 1 สิทธิ 1 เสียงเท่าตนเอง”

ดังนั้น เมื่อเริ่มมีเสียงเรียกร้องการเลือกตั้ง ทวงสัญญา คสช. ที่ขยับโรดแม็ปมาหลายรอบ จึงมีปฏิกิริยาจากชนชั้นกลางชนชั้นสูง เช่น กลุ่มคนในวงการบันเทิงที่แห่กันเข้าร่วมเป่านกหวีดอย่างไม่ลืมหูลืมตา

“แสดงความรำคาญต่อความเคลื่อนไหวของคนอยากเลือกตั้ง และของนักการเมือง พรรคการเมือง ที่ทวงถามการคืนอำนาจการเมืองให้กับคนทั้งประเทศ”

ทั้งๆ ที่ลึกๆ แล้ว ความสุขของชนชั้นสูงและชนชั้นกลางในวันนี้คือ ระบบที่คนทั้งหมด ไม่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองใดๆ ได้ เป็นแค่คนที่โดนปกครองโดยรัฐบาลจากคนหยิบมือเดียว

มีแต่ทัศนะความคิดของประเภท “ทาสที่ปล่อยไม่ไป” จึงจะพึงพอใจต่อระบบการเมืองที่เป็นแค่คนถูกปกครองโดยรัฐบาลขุนศึกขุนทหาร

ส่วนนักศึกษาปัญญาชน นักวิชาการ นักการเมืองที่เป็นตัวแทนของคนในชนบท

“ซึ่งรวมๆ แล้ว ไม่ใช่คนประเภท “ทาสที่ปล่อยไม่ไป”

จึงต้องการประชาธิปไตย ที่คนส่วนใหญ่สามารถมีส่วนร่วมทางการเมืองได้ ร่วมตัดสินใจชะตากรรมการเมืองได้ ด้วยการเดินเข้าคูหากาบัตร

พร้อมๆ กับร่วมกันเรียนรู้และยกระดับการเมืองไปข้างหน้า ซึ่งการร่วมกันของประชาชนส่วนใหญ่จะทำให้การพัฒนานั้น มั่นคงยั่งยืนกว่า

“คนที่รู้สึกว่าชนชั้นตนเองได้เปรียบในระบบวันนี้ ก็มองแค่ประโยชน์เฉพาะหน้าสั้นๆ”

ไม่มองด้วยซ้ำว่า ที่เคลื่อนไหวสร้างกระแสปกป้องอำนาจรัฐบาลที่ไม่มาจากการเลือกตั้ง เพื่อให้ตนเองก็ไม่ต้องมีสิทธิ์มีเสียงทางการเมืองไปด้วยนั้น

เป็นการลดคุณค่าความเป็นมนุษย์ของตัวเองลงไปแท้ๆ

กลายเป็นดังคำเปรียบเปรยทางการเมืองที่ว่า เป็นทาสที่ปล่อยไม่ไป!