คลี่ปมเงินดิจิทัล ‘เศรษฐา’ วางมือขุนคลัง ลมสงบหรือพายุรออยู่?

บทความเศรษฐกิจ

 

คลี่ปมเงินดิจิทัล

‘เศรษฐา’ วางมือขุนคลัง

ลมสงบหรือพายุรออยู่?

 

เดือนเมษายน ร้อนแรงไม่เฉพาะอากาศ แต่ยังมาจากการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ล็อตแรก ล่าสุด พระบาทสมเด็จพระปรเมนทรรามาธิบดีศรีสินทรมหาวชิราลงกรณ พระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ลงมาแล้ว

หนึ่งในตำแหน่งร้อน คือ ขุนคลัง หรือรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ที่ “เศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี จากเดิมควบเก้าอี้ขุนคลังอีกตำแหน่ง ยอมถอย พร้อมดึง พิชัย ชุณหวชิร รับไม้ต่อขุนคลัง

โดยพิชัย ปัจจุบันเป็นที่ปรึกษานายกรัฐมนตรี อดีตประธานกรรมการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยหมาดๆ อดีตผู้บริหาร ปตท. ที่มีส่วนในการแปรรูป ปตท. ยุค “ทักษิณ ชินวัตร” ถือเป็นมือการเงินและบัญชี ที่มีความสนิทสนมกับบ้านชินวัตร

ขณะเดียวกัน ยังแต่งตั้ง “เผ่าภูมิ โรจนสกุล” จากเลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลังเพิ่มเติมอีกหนึ่งตำแหน่งด้วย ทำให้รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เพิ่มเป็น 3 คน จาก 2 คนเดิม คือ “จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์” โควต้าพรรคเพื่อไทยตามเดิม และ “กฤษฎา จีนะวิจารณะ” โควต้าพรรครวมไทยสร้างชาติ

การใช้บริการพิชัย และตั้งเผ่าภูมิ จึงมีเป้าหมายให้การขับเคลื่อนโครงการดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท สำเร็จแบบเบ็ดเสร็จ!!

 

โครงการเงินดิจิทัล มีความชัดเจนมากที่สุดนับตั้งแต่ประกาศนโยบายต่อรัฐสภา เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบในหลักการ พร้อมเดินหน้าเต็มสูบ

ชัดเจนแรก คือ การเปิดลงทะเบียนประชาชนและร้านในไตรมาสที่ 3 ปี 2567 (กรกฎาคม-กันยายน) และเริ่มใช้จ่ายได้ในไตรมาสที่ 4 ปี 2567 (ตุลาคม-ธันวาคม)

ชัดเจนต่อมาคือ เรื่องแหล่งเงิน 5 แสนล้านบาท ที่เปลี่ยนจากวิธีการออกพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กู้เงิน 5 แสนล้านบาท มาเป็นวิธีการทางงบประมาณ ได้แก่

1. เงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2568 ประมาณ 1.52 แสนล้านบาท

2. การดำเนินโครงการผ่านหน่วยงานของรัฐ หรือผ่านธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ตามกฎหมาย มาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง ประมาณ 1.72 แสนล้านบาท

และ 3. การบริหารจัดการเงินงบประมาณรายจ่ายปีงบประมาณ 2567 ประมาณ 1.75 แสนล้านบาท และรับการเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2567 เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

 

อย่างไรก็ตาม มีประเด็นที่ได้รับความสนใจมากที่สุด จนเกิดการถกเถียงข้อกฎหมายว่าทำได้จริงหรือไม่ คือ แหล่งเงินตามมาตรา 28 ผ่าน ธ.ก.ส. จำนวน 1.72 แสนล้านบาท

เพราะเงินตามมาตรา 28 เป็นแหล่งเงิน ถือเป็นเงินนอกงบประมาณ ที่รัฐบาลขอให้หน่วยงานของรัฐช่วยดำเนินการให้ก่อน ที่ผ่านมารัฐบาลหลายชุดใช้แหล่งเงินดังกล่าวดำเนินเดินโครงการ หลักๆ คือ โครงการสินเชื่อพิเศษดอกเบี้ยต่ำที่รัฐบาลช่วยอุดหนุนดอกเบี้ยที่ลดลงไป โครงการพักหนี้เกษตรกร โครงการจำนำข้าว และโครงการช่วยเหลือเกษตรกร ผ่านการประกันราคาสินค้าเกษตร โครงการไร่ละ 1,000 บาท เป็นต้น ซึ่งโครงการส่วนใหญ่จะทำเพื่อช่วยเหลือเกษตรกร จึงทำให้ใช้เงินของ ธ.ก.ส.จำนวนมาก

ปัจจุบันรัฐบาลยังต้องจ่ายคืนหนี้จำนำข้าวกว่า 2 แสนล้านบาท ขณะที่โครงการเพื่อเกษตรกรอื่นๆ รัฐบาลก็จ่ายคืนโดยการตั้งงบประมาณประจำปี จ่ายปีละ 10-12%

โดยการใช้เงินตามมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลัง พ.ศ.2561 นั้น เดิมตามกฎหมายคณะกรรมการวินัยการเงินการคลัง ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน กำหนดเพดานไว้ที่ 30% ของงบประมาณรายจ่ายประจำปี แต่ในปีงบประมาณ 2564 รัฐบาลมีโครงการจะใช้เงินจนล้นกรอบไป จึงขยายเพนดานไปที่ 35% และในปีงบประมาณ 2565 ก็ลดเพดานเหลือ 32% ปัจจุบันสถานะของมาตรา 28 อยู่ที่กว่า 31% ซึ่งถือว่าปริ่มๆ เพดานแล้ว

รัฐบาลจึงพิจารณาช่องว่างทางการเงินของมาตรา 28 ตามงบประมาณรายจ่ายประจำปี 2568 ที่ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนการยกร่าง แนวโน้มคือ การขยายกรอบงบฯ รายจ่ายเพิ่มไปถึง 3.6 ล้านล้านบาท เพราะมีการเพิ่มวงเงินการกู้ขาดดุลชดเชย ผนวกกับรัฐบาลมีการจ่ายคืนราว 8-9 หมื่นล้านบาท จึงคาดว่าช่องว่างทางการเงินเพียงพอถึง 1.72 แสนล้านบาท

 

ขณะที่เรื่องแหล่งเงินของโครงการดิจิทัล ช่วงเริ่มโครงการเคยมีข้อเสนอ จะใช้แหล่งเงินจากธนาคารออมสิน ผ่านมาตรา 28 พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังเช่นกัน แต่ติดขัดเรื่อง พ.ร.บ.ก่อตั้งธนาคารออมสิน ทำให้ข้อเสนอดังกล่าวถูกพับไป ขณะที่ ธ.ก.ส. มีจุลพันธ์เป็นประธานคณะกรรมการ (บอร์ด) ธ.ก.ส. น่าจะทำให้มติผ่านฉลุยได้

โดยจุลพันธ์ให้เหตุผลว่า การใช้เงินตามมาตรา 28 ทำโครงการเป็นอำนาจของรัฐบาลในการจะใช้แหล่งเงินนี้ดำเนินนโยบาย ที่ผ่านมาทุกรัฐบาลมีการใช้ไปให้หลายโครงการที่ดำเนินการไปแล้ว

“รัฐบาล และกระทรวงการคลัง มีความมั่นใจ 100% ว่าเงินตามมาตรา 28 สามารถทำได้และถูกต้องตามกฎหมาย ไม่ต้องถามกฤษฎีกาก็ได้ แต่ถ้าสังคมยกประเด็นขึ้นมา ตั้งข้อสงสัย รัฐบาลก็พร้อมจะส่งเรื่องให้กฤษฎีกา ไม่ได้มีประเด็นปัญหาอะไร และเชื่อมั่นว่าข้อสรุปนี้เป็นไปตามกฎหมายทุกประการ ไม่ต้องเตรียมแผนอะไรรองรับ ยืนยันว่า ธ.ก.ส.มีความพร้อมในเรื่องของสภาพคล่องเพียงพอ และยังมีเวลา 6-7 เดือนที่จะดำเนินการ”

จุลพันธ์ยังย้ำว่า การใช้เงินตามมาตรา 28 ไม่มีข้อกำหนดว่าจะต้องใช้เฉพาะช่วงวิกฤต

พร้อมระบุว่า การให้ ธ.ก.ส.ช่วยดำเนินโครงการดิจิทัลวอลเล็ต ตามมาตรา 28 ของ พ.ร.บ.วินัยการเงินการคลังนั้นยังไม่มีการพูดคุยกันในที่ประชุมบอร์ดนัดล่าสุด 26 เมษายน แต่ได้แจ้งให้ที่ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส.ทราบแล้ว หลังจากนี้ยังมีกลไกที่จะต้องดำเนินการก่อน คือ รัฐบาลจะเริ่มพิจารณาแหล่งเงินตามมาตรา 28 ช่วงเดือนตุลาคม 2567 หรืองบประมาณปี 2568 เริ่มมีผลบังคับใช้ และนำเข้า ครม.อีกครั้ง

“ขณะเดียวกันต้องส่งไปสอบถามกฤษฎีกาก่อน แล้วจึงส่งให้ที่ประชุมบอร์ด ธ.ก.ส.พิจารณาตามกฎหมาย ซึ่งช่วงเวลาที่จะเสนอเข้าบอร์ดยังระบุไม่ได้ โดยมีเวลาจนกว่าจะถึงเดือนตุลาคมนี้” จุลพันธ์ทิ้งท้าย

ข้อสรุปแหล่งเงินถือว่าเป็นความสำเร็จขั้นสำคัญของรัฐบาล คาดว่าเป็นอีกปัจจัยที่ทำให้ “เศรษฐ” ยอมปล่อยมือจากกระทรวงการคลัง

ภายใต้ลมที่สงบนิ่ง อาจจะมีพายุฝนรออยู่ เพื่อกระหน่ำ “โครงการดิจิทัลวอลเล็ต” อย่าพึ่งวางใจ!!