ยุทธการ 22 สิงหา : รอยร้าว ลึก ‘พลังประชาชน’ มากับ วาทกรรม กลุ่ม 4 คน

(Photo by PORNCHAI KITTIWONGSAKUL / AFP)

ความเห็น “ต่าง” ในเรื่องจะสนับสนุน หรือไม่สนับสนุน นายสมัคร สุนทรเวช เป็นนายกรัฐมนตรี สะท้อนความสัมพันธ์อันซับซ้อนภายในพรรคพลังประชาชนให้ปรากฏออกมาอย่างเด่นชัด

แม้ตัวเลือกหนึ่งจะเป็นชื่อ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ แม้อีกตัวเลือกหนึ่งจะเป็นชื่อ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

แต่เห็นชื่อ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ก็ชัดเจน

ชื่อของ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ดำรงอยู่ในลักษณะหลอก ชื่อของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ก็ดำรงอยู่ในลักษณะประชดประเทียด

หลอกเพราะ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ มีพื้นฐานอยู่เชียงใหม่

ประชดประเทียดเพราะ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี แม้จะเป็นบัญชีรายชื่อในพื้นที่บุรีรัมย์ และดำรงตำแหน่งเป็นเลขาธิการพรรคในห้วงซึ่ง นายสมัคร สุนทรเวช เป็นหัวหน้าพรรค

ขณะเดียวกัน ก็เป็นกลุ่มคนเดือนตุลาคมที่มีสายสัมพันธ์ยึดโยงอยู่กับ นพ.พรหมินทร์ เลิศสุริย์เดช อย่างแนบแน่น

สายสัมพันธ์นี้คือสายตรงไปยัง “บ้านจันทร์ส่องหล้า”

 

ในการเคลื่อนไหวเพื่อ “ขวาง” มิให้ นายสมัคร สุนทรเวช ได้หวนกลับเข้าดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรี มีกำลังสำคัญมาจากภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยเฉพาะจากจังหวัดร้อยเอ็ด

เหมือนกับจะเป็นเงาสะท้อนแห่งผลสะเทือนจาก “อาจสามารถโมเดล” ในห้วงก่อนการเลือกตั้งเดือนกุมภาพันธ์ 2548

เรียกกลุ่มของตนว่า “พลังอีสานพัฒนา”

ความน่าสนใจอยู่ตรงที่ได้มีการเปิดประเด็นว่าด้วย “กลุ่ม 4 คน” ที่ดำรงอยู่ในรัฐบาล นายสมัคร สุนทรเวช

เหมือนจะเน้นไปยัง นายธีรพล นพรัมภา เลขาธิการนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับความไว้วางใจจาก นายสมัคร สุนทรเวช ตั้งแต่ดำรงตำแหน่งเป็นเลขานุการผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

แต่ก็มีชื่อ นายเนวิน ชิดชอบ และมีชื่อ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี รวมอยู่ด้วย

เป็นไปได้หรือที่กลุ่ม ส.ส.อีสานโดยเฉพาะแกนนำเจ้าของสำนวนที่ว่า “แก๊ง 4 คน” จะมาจากความริเริ่มของ “พลังอีสานพัฒนา”

ในเมื่อนี้เป็นสำนวนในยุคแห่งการโค่นตอนปลาย “ปฏิวัติวัฒนธรรม”

นี่ย่อมแฝงกลิ่นอายทางการเมืองในสังคมไทยยุคต่อเนื่องจากสถานการณ์เดือนตุลาคม 2516 และคึกคักเป็นอย่างมากในขบวนการนักศึกษาประชาชนในห้วงก่อนเกิดสถานการณ์เดือนตุลาคม 2519

หากติดตามบทบาทของ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี ตั้งแต่เป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยมหิดล กระทั่งเข้ามาร่วมก่อตั้งพรรคไทยรักไทย และได้รับมอบหมายให้ดำรงตำแหน่งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุขรับผิดชอบโครงการ 30 บาทรักษาทุกโรคก็จะสัมผัสได้ในร่องรอย

แม้จะถูกกวาดรวมไปเป็น 1 ใน “กลุ่ม 4 คน” แห่งรัฐบาลของ นายสมัคร สุนทรเวช ก็ตาม

 

เรื่องของ นายสมัคร สุนทรเวช มากด้วยความซับซ้อน เรื่องของ “กลุ่ม 4 คน” มากด้วยความซับซ้อน แต่เรื่องของ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ทั้งซับซ้อนทั้งเปิดเผย

ซับซ้อนเพราะเป็น “ตัวแทน” ในการชน นายสมัคร สุนทรเวช

เปิดเผยเพราะ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ คือสามีของ นางเยาวภา วงศ์สวัสดิ์ น้องสาวที่เป็น “มือการเมือง” ให้กับ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อยู่ในสถานะอันเป็นเจ้าแม่ “วังบัวบาน”

จึงไม่แปลกที่จะมีการเปิดเผยชื่อ นายสมพงษ์ อมรวิวัฒน์ ขึ้นมาดำรงอยู่ในฐานะเป้าหลอกในทางการเมือง

เหมือนกับอีกฝ่ายชูชื่อ นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี

จึงแจ่มชัดว่าตัวจริงเสียงจริงที่กำหนดมาแล้วจาก “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ย่อมเป็น นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์

จึงจำเป็นต้องใช้สำนวนว่าด้วย “กลุ่ม 4 คน” เป็น “อาวุธ”

 

หากถามว่าเหตุใดจึงไม่ใช้บริการของ นายสมัคร สุนทรเวช อีกต่อไป คำตอบมีให้พิจารณาหลายคำตอบ

1 มนต์เดิมของ นายสมัคร สุนทรเวช หมดความขลัง

การดับเครื่องชนกับ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ยิ่งทำให้อำนาจของอีกฝ่ายเพิ่มความกระชับเป็นทวีคูณ

แท้จริง ที่คิดว่าเป็น “บารมี” ก็เสมอเป็นเพียง “เครื่องมือ”

เป็นเครื่องมือในสถานการณ์หลังเดือนตุลาคม 2516 เป็นเครื่องมือในสถานการณ์ก่อนและหลังเดือนตุลาคม 2519

เมื่อถึงยุค พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ก็แทบหมดความหมาย

เพราะในทางการเมืองพรรคที่เป็นเครื่องมืออย่างสำคัญคือ พรรคประชาธิปัตย์ พรรคกิจสังคม พรรคชาติไทย

และสามารถสร้าง “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย” ขึ้นมาได้

ขณะเดียวกัน 1 เมื่อ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ มองออกอ่านทะลุ ทางด้านของ “บ้านจันทร์ส่องหล้า” ก็มองออกอ่านทะลุเช่นเดียวกัน

เพียงแต่ความขัดแย้งในกรณี นายสมัคร สุนทรเวช ได้ก่อความขัดแย้งใหม่ขึ้น

 

แม้ว่าที่ประชุมคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนจะมีมติเห็นชอบให้เสนอชื่อ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ ขึ้นดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีคนใหม่แทนที่ นายสมัคร สุนทรเวช ที่ถอนตัว

มติคณะกรรมการบริหารพรรคพลังประชาชนออกมาในวันที่ 15 กันยายน 2551

ขณะเดียวกัน ก็ปรากฏปฏิกิริยาจาก ส.ส.กลุ่มเพื่อนเนวินออกแถลงการณ์คัดค้านมติพร้อมกับประกาศว่าจะขอให้เอกสิทธิ์ตามรัฐธรรมนูญไม่ยอมให้ใช้มติพรรคมาบีบบังคับในการประชุมสภาเพื่อเลือก นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรีในวันที่ 17 กันยายน

พร้อมกับประกาศว่าจะสนับสนุน นพ.สุรพงษ์ สืบวงศ์ลี เป็นนายกรัฐมนตรี

แม้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ จะพยายามหารือทำความเข้าใจโดยมี นายเนวิน ชิดชอบ ร่วมอยู่ด้วย แต่ในเบื้องต้น “กลุ่มเพื่อนเนวิน” ก็ยังยืนกรานความเห็นโดยไม่ยินยอมแปรเปลี่ยน

ต่อรุ่งเช้าจึงยินยอมและออกแถลงการณ์แสดงการสนับสนุน นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

น่าสังเกตว่าจำนวน “กลุ่มเพื่อนเนวิน” มีมากถึง 72 คน

ทุกอย่างจึงเรียบร้อยและราบรื่นโดยเห็นจากการลงมติให้ นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี 298 คะแนน

ที่เหลืออีก 163 คะแนนเป็นของ นายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ

ในวันที่ 18 กันยายน 2551 นายชัย ชิดชอบ ก็ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง นายสมชาย วงศ์สวัสดิ์ เป็นนายกรัฐมนตรี

ถือเป็นนายกรัฐมนตรีคนที่ 22

 

ความเห็นต่างในเรื่องการจะดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของ นายสมัคร สุนทรเวช นี้เองคือ “รอยร้าว” อันแหลมคมในทางการเมือง

เป็น “รอยร้าว” ที่ยิ่งจะ “ขยาย”

เมื่ออีกฝ่ายทะลวงเข้ามาในจังหวะเวลาอันเหมาะสม ท่ามกลางการรุกทางการเมืองอย่างต่อเนื่อง

ไม่ว่าจะจาก “พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย”

ไม่ว่าจะจากพรรคฝ่ายค้านโดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของพรรคประชาธิปัตย์ภายใต้การเคลื่อนไหวอันมากด้วยความยอกย้อนของ นายสุเทพ เทือกสุบรรณ

และเมื่อ “ตุลาการภิวัฒน์” ได้เวลาอันเหมาะสมในการ “จัดการ”