จักรวรรดิในกำแพง : กำเนิดจักรวรรดิ ตอนที่ 17

วรศักดิ์ มหัทธโนบล

ฮั่นสมัยหลังกับเงื่อนปมใหม่ทางการเมือง 

แม้ฮั่นสมัยหลังจะเป็นความต่อเนื่องจากฮั่นสมัยแรกก็จริง แต่ก็เป็นความต่อเนื่องที่มีปมอยู่ที่การเข้ามาสืบทอดราชวงศ์โดยบุคคลในสกุลหลิวเป็นหลัก ทั้งที่ในความเป็นจริงแล้วกลับถูกคั่นด้วยอีกยุคสมัยหนึ่งที่เรียกขานตนเองว่าราชวงศ์ซิน

ราชวงศ์นี้ครองแผ่นดินจีนอยู่ราว 14 ปี (ค.ศ.9-23) จึงล่มสลาย จากนั้นฮั่นสมัยหลังจึงถือกำเนิดขึ้นและปกครองจีนไปอีกราว 195 ปี

ถึงกระนั้นก็ตาม การเกิดขึ้นของฮั่นสมัยหลังย่อมแยกไม่ออกจากบทเรียนสองบทใหญ่ หนึ่งคือ การเข้ามาคั่นของราชวงศ์ซิน อีกหนึ่งคือ ประสบการณ์ทั้งดีและร้ายที่ฮั่นสมัยแรกได้ทิ้งเอาไว้

บทเรียนนี้เป็นสิ่งที่ฮั่นสมัยหลังพึงศึกษาเพื่อสร้างจักรวรรดิขึ้นมาใหม่อีกครั้งหนึ่ง และพอเวลาผ่านไปฮั่นในยุคนี้ก็ต้องเผชิญกับเงื่อนปมใหม่ๆ ที่เข้ามาบ่อนเซาะเสถียรภาพ

เงื่อนปมนี้แม้ยังคงเป็นบุคคลกลุ่มต่างๆ ที่แวดล้อมราชวงศ์ก็ตาม แต่มันก็พัฒนาบทบาทขึ้นมาอีกขั้นหนึ่งที่ชัดเจนกว่าก่อนยุคก่อนหน้านี้ แต่ที่ไม่ต่างจากยุคก่อนหน้านี้คือ ปมเงื่อนนี้แม้จะช่วยสร้างเสถียรภาพให้จักรวรรดิฮั่น แต่ก็เป็นตัวทำลายเสถียรภาพในอีกเวลาหนึ่งจนฮั่นล่มสลายไปในที่สุด

ต่อไปนี้คือประเด็นต่างๆ ที่จะศึกษาโดยลำดับ ดังนี้

 

ก.ซินกับกำเนิดฮั่นสมัยหลัง

ดังได้กล่าวไปก่อนหน้านี้แล้วว่า ก่อนที่หวังหมั่งจะก้าวขึ้นสู่อำนาจนั้น ฮั่นตะวันตกกำลังตกอยู่ในภาวะที่เสื่อมถอยอย่างถึงที่สุด ภาวะนี้ได้เรียกร้องต้องการผู้ที่จะมากอบกู้ราชวงศ์ให้ยืนอยู่ต่อไปได้

และผู้ที่มาได้อย่างสอดคล้องกับการเรียกร้องต้องการนั้นก็คือ หวังหมั่ง

จากเหตุนี้ การก้าวขึ้นสู่อำนาจของหวังหมั่งแม้จะมาจากการยึดอำนาจของบุคคลสกุลหลิวก็ตาม แต่ก็หาใช่ประเด็นที่เขาจะถูกประณามแต่อย่างไร เพราะเหตุการณ์ทำนองนี้แทบจะเป็นเรื่องปกติไปแล้วยามเมื่อบ้านเมืองวิกฤต และผู้คนต่างก็ถามหาวีรชนที่จะมากอบกู้

ดังนั้น การก้าวขึ้นสู่อำนาจของหวังหมั่งจึงเป็นไปด้วยสภาพเช่นนี้ ต่อเมื่อเขาตั้งตนเป็นจักรพรรดิไปแล้ว ผลงานของเขาต่างหากที่จะเป็นตัวประเมินบทบาทของเขา และนั่นก็คือที่มาของการประณามตัวเขาที่ปรากฏในบันทึกประวัติศาสตร์ของราชวงศ์ฮั่น

แต่กับปัจจุบันแล้วการประเมินกลับมีแนวโน้มที่เป็นไปในทางตรงข้าม และทำให้เรื่องราวของเขามีเสน่ห์ที่น่าสนใจไม่น้อย

หลังจากก้าวขึ้นเป็นจักรพรรดิแล้ว ผลงานของหวังหมั่งก็ทยอยปรากฏออกมาเป็นระยะและส่งผลสะเทือนอยู่ไม่น้อย

ในเบื้องต้นสามารถสรุปผลงานของเขาที่กระทำผ่านนโยบายต่างๆ ได้โดยสังเขป

 

เช่น การให้ถือครองที่ดินไม่เกินคนละ 100 หมู่หรือประมาณ 41.6 ไร่ (1 ไร่ของไทยเทียบกับหมู่ของจีนได้ประมาณ 2.4 หมู่) ในครอบครัวที่มีสมาชิกไม่เกินแปดคน ซึ่งหมายความว่าแต่ละครอบครัวที่มีสมาชิกตามจำนวนดังกล่าวจะถือครองที่ดินได้ไม่เกิน 800 หมู่ ส่วนที่เกินจะถูกยึดเป็นของหลวง

หรือการยึดที่ดินทั่วจักรวรรดิเป็นของหลวง การควบคุมการค้าทาสและที่นาที่เข้มงวด การลงโทษผู้กระทำผิดด้วยการเนรเทศไปชายแดน การเปลี่ยนเงินตราหลายครั้งหลายชนิดจนรวมแล้วมีถึง 28 ชนิด

การฟื้นฟูตำแหน่งขุนนางและเปลี่ยนชื่อเรียกตำแหน่งขุนนางไปจากเดิม เปลี่ยนชื่อเรียกชนชาติที่มิใช่ฮั่น การผูกขาดการค้าสุรา (เพิ่มจากที่ผูกขาดเหล็กและเกลือที่มีอยู่เดิม) หรือการตั้งหน่วยงานใหม่ขึ้นในเมืองเศรษฐกิจที่สำคัญเพื่อทำหน้าที่ควบคุมสินค้า

ออกเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ รับซื้อผ้าไหมและผลผลิตทางการเกษตร ตลอดจนเพื่อดูแลการจัดเก็บภาษี เป็นต้น

นโยบายเหล่านี้มีบางนโยบายที่พ่อค้าและขุนนางพบว่ามีจุดอ่อน แล้วแปรจุดอ่อนนั้นเพื่อฉ้อราษฎร์บังหลวงและเก็งกำไร ในขณะที่บางนโยบายก็เป็นไปได้ยาก เช่นนี้แล้วความล้มเหลวจึงเกิดขึ้น จนเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้หวังหมั่งถูกต่อต้านจนราชวงศ์ซินล่มสลายในเวลาต่อมา

 

และหลังจากล่มสลายแล้ว พงศาวดารฮั่น (ฮั่นซู) ในส่วนที่เป็นเรื่องราวของเขาก็เป็นไปในเชิงลบแทบจะสิ้นเชิง ซึ่งมีส่วนอย่างมากที่ทำให้ภาพลักษณ์ของหวังหมั่งแทบจะไม่เหลือดี ตราบจนจีนเข้าสู่ยุคสมัยใหม่หลังศตวรรษที่ 19 ไปแล้ว นักวิชาการจีนและนักวิชาการชาวต่างชาติจึงได้เปลี่ยนมุมมองใหม่ที่มีต่อเขาอย่างน่าสนใจ

อย่างเช่น หูซื่อ1 ปัญญาชนจีนในช่วงครึ่งแรกของศตวรรษที่ 20 เห็นว่าหวังหมั่งเป็นนักสังคมนิยมที่มีจินตนาการที่สร้างสรรค์ และปกครองโดยไม่เอาประโยชน์ตนเป็นที่ตั้ง

แต่ที่เขาล้มเหลวก็เพราะจีนในยุคนั้นไม่พร้อมที่จะยอมรับคนอย่างเขา

ข้างนักวิชาการตะวันตกบางคนก็เห็นไม่ต่างกัน คือแม้ไม่ถึงกับยกย่อง แต่ก็ไม่ได้วิจารณ์หวังหมั่งอย่างเสียหาย โดยบางคนเห็นว่า หวังหมั่งไม่ได้ฉลาดในการใช้เล่ห์เหลี่ยมมาสร้างปฏิปักษ์กับทุกชนชั้น แล้วปล่อยให้ปฏิปักษ์เหล่านั้นเป็นฝ่ายกระทำจนนำมาซึ่งหายนะต่อตัวเองในท้ายที่สุด

ขณะที่บางคนก็เห็นว่า ฮั่นสมัยแรกดำเนินไปตามวิถีอย่างที่ควรจะเป็น และจีนในเวลานั้นก็ต้องการคนอย่างหวังหมั่ง แต่ด้วยความหาญกล้าที่จะผลักดันความคิดที่สร้างความขมขื่นแก่ทุกคน ความคิดนั้นจึงไปยั่วยุฝ่ายต่อต้านจนนำมาซึ่งความพินาศแก่ตัวเขาเอง

จากทัศนะที่ว่ามานี้จะเห็นถึงความสมเหตุสมผลก็ตรงที่ว่า คงไม่มีบุคคลที่ฉลาดคนใดที่จะหาความเดือดร้อนมาให้ตัวเองเป็นแน่ หากมิใช่เพราะความจำเป็นและความปรารถนาดี

คำถามจึงมีว่า ถ้าเช่นนั้นแล้วทัศนะที่มีต่อหวังหมั่งไปในทางที่เลวร้ายมีต้นธารมาจากไหน?

 

คําตอบคือ มาจากอิทธิพลของประวัติศาสตร์นิพนธ์สมัยฮั่นของปันกู้ ด้วยว่าปันกู้บันทึกประวัติศาสตร์ช่วงนี้บนฐานคิดที่ว่าหวังหมั่งเป็นผู้แย่งชิงบัลลังก์ของฮั่น

ดังนั้น ไม่ว่าหวังหมั่งจะประกาศใช้นโยบายหรือกฎหมายใดก็ตาม ต่างก็ถูกมองว่าเป็นสิ่งผิดปกติไปหมด อย่างเช่นการลดค่าเงินกษาปณ์ลงนั้น ครั้งหนึ่งก็เคยเป็นนโยบายของฮั่นอู่ตี้ด้วยเช่นกัน

แต่ที่น่าสนใจคือ การลดค่าเงินของหวังหมั่งสะท้อนถึงความก้าวหน้าอย่างชัดเจน ด้วยเป็นการลดค่าผ่านน้ำหนักของเหรียญกษาปณ์ที่เบากว่า ด้วยวิธีนี้จะทำให้รัฐบาลสามารถคำนวณปริมาณโลหะที่จะใช้ผลิตเหรียญได้ง่ายขึ้น

และไม่มีผลใดๆ ต่อเกษตรกรที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ของประเทศ เพราะคนกลุ่มนี้ถือเงินน้อยหรือมิได้ถือเลยก็ว่าได้ ในขณะที่บรรดาพ่อค้าและผู้ดีก็ยังสามารถทำธุรกรรมด้วยค่าเงินที่ลดลงได้ต่อไป

ในทำนองเดียวกัน หวังหมั่งก็มิใช่จักรพรรดิองค์แรกที่เปลี่ยนชื่อเรียกตำแหน่งขุนนางหรือหน่วยปกครอง คราวที่เกิดวิกฤตการณ์เจ็ดรัฐเมื่อ ก.ค.ศ.114 ก็มีการเปลี่ยนชื่อเรียกตำแหน่งขุนนางเช่นกัน และยังเปลี่ยนอีกครั้งเมื่อ ก.ค.ศ.104 อีกด้วย

ส่วนการควบคุมการค้าทาสส่งผลสะเทือนไม่มากนัก และได้มีการยกเลิกไปใน ค.ศ.12 ในขณะที่การควบคุมการค้าที่นานั้นได้รับการสนับสนุนเป็นอย่างดี และอยู่ยาวนานต่อไปอีกนับศตวรรษ แม้หวังหมั่งในฐานะผู้บุกเบิกจะล่วงลับไปแล้วก็ตาม เพราะเป็นนโยบายที่มีฐานคิดเพื่อความเสมอภาคในการถือครองที่ดิน

เท่าที่ยกมาอธิบายนี้จะเห็นได้ว่า หลายนโยบายของหวังหมั่งไม่เพียงจะไม่ต่างไปจากยุคก่อนหน้าเท่านั้น แต่ที่โดดเด่นอย่างมากคือ นโยบายของหวังหมั่งมีความก้าวหน้ามากกว่า คือก้าวหน้าบนฐานคิดเพื่อชนชั้นล่างที่เป็นชนส่วนใหญ่ของสังคมในขณะนั้น

เหตุฉะนั้น ภาพลักษณ์หวังหมั่งที่มีแต่ความเลวร้ายจึงถูกวาดโดยปันกู้ผู้สมาทานหลักคิดสำนักหญู

————————————————————————————————————–
(1) หูซื่อ (ค.ศ.1891-1962) เป็นปัญญาชนจีนที่มีชื่อเสียงในศตวรรษที่ 20 มีผลงานนิพนธ์มากมายจนเคยได้รับการเสนอชื่อเพื่อรับรางวัลโนเบลสาขาวรรณกรรม เนื่องจากมีหลักคิดเสรีนิยมโดยพื้นฐาน หลังการปฏิวัติของพรรคคอมมิวนิสต์จีนใน ค.ศ.1949 หูซื่อจึงได้อพยพไปไต้หวัน และพำนักอยู่ที่ไต้หวันจนวันสุดท้ายของชีวิต