รัฐประหาร22พฤษภาคม2557เป็นรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตย?(19) : I Vote, therefore I am!

ตามทฤษฎี “รัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตย” (Democratic Coup d”etat) ของ Varol ได้ย้ำว่า หลังรัฐประหาร ผู้นำกองทัพที่ทำรัฐประหารควรจะต้องกำหนดช่วงเวลาที่จะให้มีการเลือกตั้งไว้ไม่ให้เนิ่นนานเกินไป นั่นคือ ในราว 1-2 ปี

การกำหนดช่วงเวลาที่จะให้มีการเลือกตั้งจะเป็นสิ่งที่สร้างความชอบธรรมให้กับรัฐบาลทหารที่ทำหน้าที่รักษาการ

เพราะการกำหนดวันเลือกตั้งที่แน่นอนจะทำให้รัฐบาลรักษาการตระหนักรับรู้ถึงภาวะที่จำกัดของบทบาทหน้าที่ของตนและเป็นการส่งสัญญาณว่าวาระในการดำรงตำแหน่งของตนนั้นเป็นเพียงแค่ชั่วคราวเท่านั้น

Varol กล่าวว่า เกณฑ์ข้อนี้จะเป็นจริงได้ก็ต่อเมื่อ หนึ่งในสิ่งแรกๆ ที่ทหารจะต้องทำหลังรัฐประหาร ทหารจะต้องประกาศให้มีการเลือกตั้งโดยเร็วและจะต้องทำหน้าที่ดูแลกระบวนการที่นำไปสู่การเลือกตั้งอย่างเป็นกลางในระดับหนึ่ง

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นในกรณีของรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตยของโปรตุเกส คือ หนึ่งวันหลังรัฐประหาร กองทัพโปรตุเกส ได้ออกแถลงการณ์ว่ากองทัพจะจัดให้มีการเลือกตั้งสมาชิกสภาและประธานาธิบดีภายในสองปี

และในฐานะที่จะมุ่งทำหน้าที่ดูแลอย่างเป็นกลาง กองทัพจะไม่แทรกแซงการเลือกตั้ง โดยปล่อยให้พรรคการเมืองต่างๆ ได้จัดตั้งและเข้ามีส่วนร่วมในการเลือกตั้งอย่างอิสระเสรี

ยกเว้นพรรคการเมืองที่สัมพันธ์กับระบอบเผด็จการเบ็ดเสร็จหรือระบอบอำนาจนิยมที่ถูกรัฐประหารไป

อย่างไรก็ตาม โดยส่วนใหญ่แล้ว พรรคการเมืองที่สัมพันธ์กับผู้นำเดิมที่เป็นเผด็จการหรืออำนาจนิยมจะสิ้นสภาพไปหลังรัฐประหารและไม่ได้ลงเลือกตั้ง หรือหากลงเลือกตั้งก็ลงในนามของพรรคการเมืองที่จัดตั้งขึ้นใหม่

ตัวอย่างเช่นในกรณีของอียิปต์ หลังรัฐประหาร ค.ศ.2011 รัฐบาลทหารรักษาการได้เปิดโอกาสให้พรรคการเมืองต่างๆ จัดตั้งขึ้นอย่างอิสระและลงสมัครรับเลือกตั้ง

ยกเว้นพรรคการเมือง “National Democratic” ของนายมูบารักที่ถูกศาลปกครองสูงสุด (High Administrative Court) ตัดสินลงโทษให้ยุบพรรคด้วยข้อหากระทำการผูกขาดอำนาจและใช้อำนาจเข้าแทรกแซงควบคุมการเลือกตั้ง

Varol ชี้ว่า สำหรับรัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตย การเลือกตั้งมักจะเกิดขึ้นในช่วงเวลาประมาณหนึ่งหรือสองปีหลังรัฐประหาร

ทหารมุ่งมั่นที่จะถ่ายโอนอำนาจไปยังผู้นำที่ได้รับการเลือกตั้งตามวิถีประชาธิปไตยเพราะต้องการที่ออกจากภารกิจการบริหารประเทศ อันเป็นภารกิจที่พวกเขาไม่ถนัด และกลับไปสู่ภาระหน้าที่หลัก นั่นคือ การปกป้องประเทศจากภัยคุกคามภายนอก

ตัวอย่างที่ Varol ยกมาได้แก่ กรณีทหารตุรกีทำรัฐประหารในปี ค.ศ.1960 และในกรณีของโปรตุเกสในปี ค.ศ.1974 ทหารทั้งสองประเทศคืนอำนาจให้กับผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งภายในระยะเวลาสองปี

และในช่วงเปลี่ยนผ่านไปสู่ประชาธิปไตย ทหารจำเป็นที่จะต้องทำภารกิจหน้าที่ที่สำคัญที่จำเป็นต่อการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

ตัวอย่างได้แก่ ทหารอาจจะวางโครงสร้างพื้นฐานทางการเมืองที่เอื้อให้มีการจัดตั้งพรรคการเมืองและเพื่อให้เกิดการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม

อาทิ การจัดตั้งคณะกรรมการการเลือกตั้ง การออกกฎหมายเลือกตั้งและกฎกติกาต่างๆ เป็นต้น

หรืออย่างในกรณีรัฐประหารของโปรตุเกสในปี ค.ศ.1974 ทหารจัดให้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญเพื่อร่างรัฐธรรมนูญก่อนที่จะมีการเลือกตั้งสภาหรือประธานาธิบดี

หรือในกรณีของตุรกีในปี ค.ศ.1960 ไม่ได้มีการเลือกตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ แต่ทหารเป็นผู้เลือกและแต่งตั้งคณะบุคคลขึ้นมาร่างรัฐธรรมนูญเอง

แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นในกระบวนการเปลี่ยนผ่าน ทหารจะไม่พยายามที่จะขยายเวลาการครองอำนาจของตนไว้และอยู่ในอำนาจนานเกินความจำเป็นต่อการเปลี่ยนผ่านประเทศไปสู่ประชาธิปไตย

และถ้าจะถามว่า ระบอบที่เกิดขึ้นจาก “รัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตย” (democratic coup d”eat) เป็นอย่างไร?

คำตอบที่ Varol ให้ก็คือ ไม่ได้จะเป็นประชาธิปไตยสมบูรณ์เลอเลิศอะไร

Varol ตั้งเกณฑ์เพียงว่า ระบอบที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหารจะต้องสอดคล้องกับนิยามประชาธิปไตยของ Samuel Huntington นั่นคือ เป็นระบอบที่ผู้นำทางการเมืองได้รับการคัดเลือกผ่านการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม นิยามประชาธิปไตยของ Huntington เน้นให้ความสำคัญกับกระบวนการเลือกตั้ง โดยกระบวนการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรมจะต้องเปิดให้มีการแข่งขันและการมีส่วนร่วม การแข่งขันหมายถึงการที่ผู้สมัครแข่งขันกันอย่างเสรีเพื่อชิงการเป็นรัฐบาล และการมีส่วนร่วมหมายถึงการที่ประชาชนที่เข้าเกณฑ์ตามวัยวุฒิมีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงเลือกตั้งอย่างเสมอภาค อย่างไรก็ดี ในการประเมินว่าระบอบการเมืองที่เกิดขึ้นนั้นเป็นประชาธิปไตย Varol ไม่ได้ใช้เกณฑ์ตัดสินในเชิงคุณภาพ แต่ใช้เกณฑ์การแข่งขันอย่างเสรีของนักการเมืองและการมีส่วนร่วมของประชาชนเท่านั้น

Varol ชี้ว่า แม้ว่าเกณฑ์ด้านการแข่งขันเสรีและมีส่วนร่วมนี้จะดูเป็นเกณฑ์ขั้นพื้นฐาน แต่ก็ถือว่ามีความสำคัญยิ่งสำหรับประเทศที่เป็นเผด็จการหรืออำนาจนิยมมาก่อน ที่มีการเลือกตั้งไม่เสรีและเป็นธรรมและไม่เปิดให้ประชาชนมีส่วนร่วมเท่าที่ควร

อย่างเช่นในกรณีของตูนิเซีย ที่จัดให้มีการเลือกตั้งในปี ค.ศ.2011 หนังสือพิมพ์ตูนิเซียฉบับหนึ่งได้พาดหัวข่าวรณรงค์การเลือกตั้งว่า “I vote, therefore I am”

หรืออย่างในกรณีของอียิปต์ที่เป็นเวลาหลายสิบปีที่การเลือกตั้งไม่มีความหมายจริงจังอะไรนอกจากจะเป็นแค่พิธีกรรมหรือเครื่องมือตบตาในการผูกขาดอำนาจของนายมูบารัก หลังจากที่ทหารจัดให้มีการเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม ในวันเลือกตั้ง ประชาชนชาวอียิปต์ต่างพากันเข้าแถวยาวเหยียดเป็นชั่วโมงๆ เพื่อรอที่จะลงคะแนนเสียง

จะสังเกตได้ว่า Varol ไม่ได้ตั้งมาตรฐานสูงสำหรับระบอบประชาธิปไตยที่เกิดขึ้นหลังรัฐประหาร และยอมรับว่า ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งที่เป็นประชาธิปไตย—นั่นคือ การเลือกตั้งที่เสรีและเป็นธรรม—สามารถฉ้อฉลและละเมิดเสรีภาพของปัจเจกบุคคลได้

แต่เขาชี้ว่า ค่าสหสัมพันธ์ระหว่างประชาธิปไตยกับเสรีภาพของปัจเจกบุคคลนั้นสูงมาก ผู้นำที่มาจากการเลือกตั้งมีแนวโน้มที่จะใช้ความรุนแรงกับพลเมืองน้อยกว่าผู้นำอำนาจนิยม ในประชาธิปไตยหลายประเทศ มีแรงจูงใจให้ใช้ความรุนแรงน้อยกว่าเผด็จการ/อำนาจนิยม เพราะมีวิถีทางที่เป็นที่ยอมรับกันในการแสดงออกของความเห็นต่าง รวมทั้งการแสดงความไม่เห็นด้วยผ่านบัตรเลือกตั้งที่ผู้มีสิทธิ์ลงคะแนนเสียงสามารถปฏิเสธนักการเมืองได้

จากคำอธิบายหลักเกณฑ์ข้อนี้ของ Varol หากนำมาปรับใช้กับกรณีรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 เราจะพบว่า คณะทหารที่ก่อการรัฐประหารได้ประกาศเจตนารมณ์ไว้หลังรัฐประหารว่า

“เพื่อยุติความขัดแย้งของคนในชาติ ขับเคลื่อนเศรษฐกิจและฟื้นฟูความเชื่อมั่น ภายใต้ระบบบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ เป็นการใช้พระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ผ่านกระบวนการดังกล่าวซึ่งเดิมรัฐบาลปกติได้ใช้อำนาจนั้น โดยมีสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่เหนือความขัดแย้งทั้งปวง ตลอดจนสร้างความเชื่อมั่นให้กับต่างประเทศ องค์กรระหว่างประเทศ ในเวทีนานาชาติ บนพื้นฐานของการรักษาผลประโยชน์ชาติ และสร้างความมั่นใจในการลงทุน การประกอบกิจการต่างๆ ของชาวต่างประเทศในประเทศไทย สร้างเสถียรภาพในทุกมิติ ทั้งด้านการเมือง ความมั่นคง เศรษฐกิจ สังคม และวัฒนธรรม เพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยไปสู่การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างสมบูรณ์และยั่งยืน โดยได้รับความเชื่อมั่นจากทุกพวกทุกฝ่าย ประสานแนวคิด แสวงจุดร่วมของผู้ที่มีความเห็นแตกต่าง โดยมุ่งผลประโยชน์ของชาติเป็นหลัก ยกระดับการศึกษา สร้างมาตรฐานของการดารงชีวิตของประชาชนในสังคมไทย ตามแนวทางปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข อย่างยั่งยืนตลอดไป” และในตอนท้ายสุดของเจตนารมณ์ได้กล่าวถึงการเลือกตั้งว่าจะจัดให้มีการ “การปรับปรุงระบบการเลือกตั้ง ให้มีความสุจริต เที่ยงธรรม สะท้อนถึงความต้องการที่แท้จริงของประชาชน โดยครอบคลุมถึงกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับพรรคการเมือง กระบวนการคัดสรรผู้สมัคร กระบวนการตรวจสอบการเลือกตั้ง ฯลฯ ทุกภาคส่วนจะมีส่วนร่วมในการปรับปรุงระบบการเลือกตั้ง ทั้งนี้ เป็นไปตามธรรมนูญการปกครองที่จะได้ประกาศให้ทราบต่อไป”

และได้กล่าวสรุปว่า “…เจตนารมณ์และนโยบายในด้านต่างๆ ที่มีความจำเป็น และต้องดำเนินการ ในสถานการณ์ปัจจุบัน ซึ่งอาจจะกล่าวว่าไม่สามารถดำเนินการได้ในระยะเวลาอันสั้น แต่ก็เป็นเจตนารมณ์อันแน่วแน่ที่จะสร้างสรรค์ ดูแลประโยชน์ให้กับคนไทยและประเทศไทยในช่วงการเปลี่ยนผ่านที่สำคัญนี้…ในการที่จะร่วมกันปฏิรูปเพื่อเปลี่ยนผ่านประเทศไทยสู่ระบอบประชาธิปไตยที่สมบูรณ์ อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขอย่างยั่งยืน”

แต่นั่นคือ ตัวหนังสือ! คงต้องรอดูกันไปว่าจะเป็นจริงตามนั้นหรือไม่?