เนาวรัตน์ พงษ์ไพบูลย์ : บทอาขยานคืนสู่ห้องเรียน อนุบาล ประถม มัธยม ขอกระทรวงรีบทำ

เคยเขียนเรื่อง “บทอาขยานองค์รวมของภูมิปัญญา” ในมติชนสุดสัปดาห์ ฉบับเดือนพฤษภาคม 2548 สิบกว่าปีมาแล้ว ขอคัดความเบื้องต้นของบทความนั้น ดังนี้

ขออัญเชิญพระราชดำรัส ของสมเด็จพระเทพฯ ได้พระราชทานไว้ในการประชุมคณะกรรมการศึกษาประจำ ร.ร.พระตำหนักสวนกุหลาบ เมื่อวันอังคารที่ 3 ธันวาคม 2528 ตอนหนึ่ง ดังนี้

“ปัจจุบันไม่นิยมให้เด็กท่องจำ เพราะคิดว่าเป็นการให้เด็กท่องจำอย่างนกแก้วนกขุนทอง โดยไม่รู้ความหมายและเหตุผล

“แต่ในความเป็นจริง การอ่านออกเสียง และการท่องจำ มีประโยชน์หลายประการ เช่น การอ่านออกเสียงดังๆ จะทำให้สามารถพูดและออกเสียงได้คล่องแคล่วชัดเจน การท่องจำ เป็นการลับสมองอยู่เสมอทำให้มีความจำดี

“การเลือกสิ่งที่ดี และมีประโยชน์ให้เด็กท่องจำ จะเกิดประโยชน์กับเด็กมากกว่าการให้เด็กท่องจำข้อความไร้สาระ จากบทโฆษณาต่างๆ เพราะธรรมชาติของเด็กจะช่างจดจำอยู่แล้ว ถ้าให้ท่องจำในสิ่งที่เป็นความรู้หรือเป็นประโยชน์ สามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวันได้โดยครูอธิบายความหมายให้เข้าใจเสียก่อน ก็จะเป็นประโยชน์แก่เด็กเป็นอันมาก

“บทท่องจำทั้งร้อยแก้วและร้อยกรองนั้นจะเป็นตัวอย่างให้เด็กนำไปใช้ เพื่อการแต่งหนังสือต่อไป

“เด็กที่ท่องบทร้อยกรองได้แล้ว ต่อไปจะสามารถแต่งบทร้อยกรองด้วยตนเองได้ เพราะคุ้นเคยและชินกับคำคล้องจอง นอกจากนี้ เด็กจะได้สำนวนภาษาที่ดีจากบทท่องจำต่างๆ ด้วย…ฯ”

พระราชดำรัสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ดังอัญเชิญมานี้สมคำโบราณที่ว่า

จุดไฟในที่มืด หงายของที่คว่ำ บอกทางแก่คนหลงทาง

สมควรที่กระทรวงศึกษาธิการจะทบทวนหวนคิดนำเอาบทอาขยานคืนสู่ห้องเรียนในทุกระดับชั้น ตั้งแต่อนุบาล ประถม มัธยม ได้เลย

ดังเป็นข่าวว่า ทางกระทรวงดำริกระทำแล้ว

ขอจงเป็นจริงโดยพลันเถิด

เรื่อง “ท่องจำ” นี้เป็นประเด็นสำคัญด้วยกลายเป็นวาทกรรมเชิงลบที่ว่า เป็น “นกแก้วนกขุนทอง” ไปนั้น แท้จริงประจักษ์ได้ดังดำรัสของสมเด็จพระเทพฯ นั่นเอง ว่ามีประโยชน์ยิ่งอย่างไร โดยประการใด เช่น ทำให้อ่านคล่อง ฝึกลับสมองให้ความจำดี มีประโยชน์สมวัย

ช่วยให้สามารถแต่งหนังสือได้ทั้งร้อยแก้วและร้อยกรอง

การอ่านออกเสียงและการท่องจำนั้น ที่จริงเป็นกระบวนการเดียวกัน เช่น การอ่านออกเสียงพร้อมกันซ้ำๆ ดังเรียกว่าเป็นการ “ท่อง” นั้น

ที่สุดก็จะ “จำ” ได้เอง คนเคยท่องบทอาขยานมาในชั้นเรียนจะยืนยันได้ว่า อ่านพร้อมๆ กันทุกวันๆ ก็ไม่ต้องดูบทอีกแล้ว แถมยังจำได้ถึงวันนี้ด้วย

รุ่นผม เช่น

O แสนเสียดายนันทาที่น่ารัก

ชะล่านักเลี่ยงออกนอกถนน

มัวแต่เพลินปลาบปลื้มจนลืมตน

ถูกรถยนต์แล่นทับดับชีวา

นิจจาเอ๋ยเคยเห็นทุกเย็นเช้า

กลับเหลือแต่กรงเปล่าไม่เห็นหน้า

เคยวิ่งเล่นด้วยกันทุกวันมา

ช่างทิ้งข้าเปลี่ยวเปล่าเศร้าใจเอย ฯ

เชื่อว่า รุ่นท่องอาขยานบทนี้ ก็จะยังจำกลอนบทนี้ได้ดี ยังเห็นภาพแม่ไก่นันทาที่เด็กน้อยอุ้มอยู่หน้ากรงไก่นั้นได้

ยังบทอื่นๆ อีกมากมาย ใครท่องบทไหน บางคนก็จะท่องต่อตามกันได้เหมือนร่วมยุคร่วมสมัยอยู่ในที

ลองนึกดูเถิด ถ้าเอาบทอาขยานคืนสู่ห้องเรียนได้จริง และมี “บทหลัก” ให้ท่องร่วมชั้นกันทั้งประเทศ ไม่ว่าแม่ฮ่องสอนถึงเบตง โขงเจียมยันสังขละบุรี ก็จะมี “รากร่วมทางวัฒนธรรม” ที่หยั่งลึกลงในจิตใจได้จริงจังและจริงใจเสียยิ่งกว่าให้ท่องบทโฆษณาชวนเชื่อใดๆ

ขอเสนอดังนี้

ให้มีบทอาขยานสามระดับ คือ อนุบาล ประถม และมัธยม โดยอาจแบ่งประถมและมัธยมเป็นต้น-ปลาย

มีบทอาขยาน สามประเภท คือ

1. บทหลัก ใช้ร่วมกันทั้งประเทศ

2. บทรอง เลือกจากวรรณกรรมท้องถิ่น

3. บทเลือก เลือกจากที่นักเรียนแต่งกันเองเป็นครั้งคราวไป

วิธีท่องคือ ให้ท่องพร้อมกันทั้งชั้น โดยเลือกเวลาที่เหมาะสมตามสภาพ ประโยชน์ของการท่องพร้อมๆ กัน ซึ่งที่จริงเป็นการอ่านพร้อมกันนั่นเองซึ่งก็จะจำได้ไปโดยอัตโนมัติ เพราะเป็นการช่วยเสริมเติมให้จำได้โดยไม่รู้ตัว ยิ่งเป็นทำนองเสนาะด้วย ก็จะยิ่งจำได้สนิทใจในรสไพเราะของทำนองหลากหลายที่แตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาค

การจัดการศึกษาในประเทศญี่ปุ่นนั้น มีเรื่องการเขียนตัวอักษรด้วยพู่กันและการแต่งบทกวีด้วย เขาให้เหตุผลว่า

“เปรียบเหมือนดังการเรียนวิชาศิลปะในอีกแขนงหนึ่ง ที่นี่เด็กๆ จะได้เรียนการเขียนตัวอักษรด้วยพู่กันลงบนกระดาษสา สำหรับการสอนบทกวี ก็จะเน้นไปที่การให้นักเรียนแต่งบทกวีเพื่ออธิบายความรู้สึกหรือสิ่งที่คั่งค้างอยู่ในใจของตนออกมา ทั้งสองวิชาเป็นส่วนสำคัญที่ช่วยให้วัฒนธรรมดั้งเดิมของญี่ปุ่นยังคงสืบทอดต่อไป และได้เรียนรู้ที่จะเคารพในความคิดที่แตกต่างของคนอื่นอีกด้วย”

ในเวียดนาม มีคติว่า

“มนุษย์งอกงามได้ด้วยบทกวี มั่นคงได้ด้วยศีลธรรม เติมเต็มได้ด้วยดนตรี”

เพาะเมล็ดพันธุ์ความเป็นมนุษย์ให้งอกงามด้วยกันเถิด

อาขยานคืนห้อง

การจำ ไม่ใช่ต้องนั่งท่องจำ

เพียงการอ่านซ้ำซ้ำ ก็จำได้

ฉะนั้นสิ่งพึงจำ พึงย้ำไว้

ต้องอาศัยด้วยการ อ่านซ้ำซ้ำ

อ่านออกเสียงพร้อมกันวันละครั้ง

ประสานทั้งสำเนียงเสียงสูงต่ำ

มีลำนำทำนอง คำคล้องคำ

ก็ยิ่งช่วยให้จำ คำคล้องจอง

คุณธรรม คำกวี ที่ไพเราะ

ผสานเสนาะน้ำเสียงสำเนียงสนอง

อักษรสร้อย ร้อยแก้วแล้วร้อยกรอง

เป็นแผ่นทองประทับไว้ ในใจคน

ปูพื้นเด็กให้มี สุนทรียทัศน์

ต้องฝึกหัดให้เห็น เป็นเบื้องต้น

รู้รักอ่าน รักเขียน รักเรียนค้น

รู้ท่องบ่น ตำรา วิชาชาญ

ให้โรงเรียนร่วมนำ ความพร้อมเพรียง

ให้เสนาะสำเนียงเสียงขับขาน

ให้กวี เจื้อยแจ้ว แว่วกังวาน

จงอาขยานคืนครอง สู่ห้องเรียน ฯ