สุจิตต์ วงษ์เทศ : ประวัติศาสตร์สังคม จีนค้าสำเภาเข้าทะเลอ่าวไทย ในวรรณกรรมคำบอกเล่า

ประวัติศาสตร์สังคม

จีนค้าสำเภาเข้าทะเลอ่าวไทย

ในวรรณกรรมคำบอกเล่า

นิทานเกี่ยวกับสำเภาจีนแล่นมาอ่าวไทยมีหลายเรื่อง แต่ที่มีฉากทะเลอ่าวไทยตั้งแต่เพชรบุรีและสถานที่ใกล้เคียงแถบอ่าวไทย แล้วบันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรเอกสารเก่าสุดเท่าที่พบขณะนี้ มี 3 เรื่อง คือ
(1) มหาเภตรา และ
(2) ท้าวม่องไล่ เจ้ากงจีนและเจ้าลาย
ในหนังสือสมุดราชบุรี (พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2468 หน้า 55-63)
(3) เจ้าอู่ โอรสจักรพรรดิจีน
ในหนังสือพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ. 2182
จะคัดมาพิมพ์โดยจัดย่อหน้าใหม่กับจัดหัวข้อย่อย เพื่อสะดวกอ่าน

มหาเภตรา

แต่เมื่อครั้งดึกดำบรรพ์โพ้น เวิ้งทะเลเพชรบุรีปรากฏว่ามีแต่น้ำกับฟ้านั้น ยังมีมหาเภตราสำเภาใหญ่มหึมาลำหนึ่ง ว่าเป็นเทพนิมิตด้วยฝาหอยกาบซีกหนึ่งอันลอยอยู่ตรงที่ทุกวันนี้เรียกว่าบ้านพอหอย ทางตะวันออกนั้น ได้ท่องเที่ยวอยู่กลางทะเล กว้างยาวใหญ่แต่ละด้านนับด้วยโยชน์ๆ เป็นประมาณ
ในลำเภตรานั้นมีบ้านเรือนเรือกสวนไร่นาแบ่งไว้เป็นแผนกๆ มีสิงสาราสัตว์เนื้อนกต่างๆ เล่ากันว่าลำเภตรานั้นลอยอยู่ในทะเลปรากฏราวกับว่าบ้านเรือนที่ตั้งอยู่บนพื้นดินฉะนั้น
สินค้าในลำสำเภานั้นมีสารพัดทุกอย่าง เป็นที่จำหน่ายขายซื้อกันแต่พวกชาวเขาชาวดอน
ครั้งหนึ่งสำเภาเภตรานั้นได้แล่นผ่านมาทางน่านน้ำเหนือภูเขาลูกหนึ่ง ท้องสำเภาได้กระทบเอายอดเขาหักกระดอน น้ำพัดไปตกอยู่ที่ตำบลหนึ่งซึ่งเรียกว่าเขาพนมขวด ยังปรากฏอยู่ ณ ระหว่างเขามหาสวรรค์กับเขาหลวงทุกวันนี้ และตัวเขาเดิมนั้นเมื่อยอดหลุดไปเสียแล้วตรงกลางก็คอดลาดยาวไป เลยเรียกกันว่าเขากิ่ว กลายเป็นเขตแยกเขาพืดเดียวกันนั้นออกเป็นสองลูก เรียกว่าเขาบันไดอิฐลูกหนึ่ง จึงได้พูดกันในภายหลังว่าเขากิ่วนั้นเป็นทางเรือหรือทำสำเภาแต่นั้นมา
ฝ่ายว่ามหาเภตรานั้น ตั้งแต่วันที่ได้กระทบยอดเขามาวันนั้นก็ชำรุดแล่นไปย่านทะเลตำบลหนึ่ง ได้เอาสมอตั้งบัตรพลีบวงสรวงกัน ตำบลนั้นภายหลังจึงเรียกว่าสมอพลี นัยหนึ่งเขาเล่าว่าเมื่อบัตรพลีสมอนั้นสมอได้กระดอนปรื๋อเลื่อนลงน้ำไป ไขอรรถว่าสมอปรื๋อ คือสมอพลีนั่นเอง ชักอุทาหรณ์เทียบกับคำว่า ราชบุรี กับ ราชพฤๅ เพชรบุรี กับ เพชรพฤๅ สมอปรื๋อ เป็น สมอพลี อย่างนั้นก็ว่า
เมื่อสมอลงน้ำไปแล้ว สายสมอจดถึงพื้นทะเล เรือได้ลากสมอจนถึงย่านทะเลตำบลหนึ่ง เกาะอยู่จนเพรียงกินเรือจวนผุ สายสมอก็เก่าเสาใบทะลุปรุไปน้ำไหลเข้าลำสำเภาแล่นไป สมอหลุดจากเรือ จึงเรียกที่ตำบลนั้นในภายหลังว่าสมอหลุด คือที่บ้านหมอหลก หรือลกในทุกวันนี้ แล้วสมอนั้นน้ำพัดไปกบดานอยู่ที่พื้นอันเกือบจะเป็นหาดทะเลนั้น ครั้นจะถอนก็ไม่ขึ้น จึงเรียกที่นั้นในภายหลังว่า สมอดาน คือสมอกบดานอยู่นั้น
ฝ่ายสำเภาใหญ่นั้น เมื่อลอยไปได้สักหน่อยก็ถูกลมตะเภาเป็นพายุพัดคลื่นกระแทกเอาสำเภาทะลุ เพราะเป็นที่ตำบลร้าย น้ำเข้าท้องเรือได้ พวกลูกเรือได้ช่วยกันอุดและวิดน้ำ แล้วใช้ใบทวนกลับมาที่เรือทะลุนั้น จึงเรียกว่าบางทะลุต่อมา
สำเภาลอยมาถึงย่านทะเลตำบลหนึ่ง ถูกลมบ้าหมูพัดเอาหมุนเคว้งดังจักรหัน จะลงสมอรอเรือก็ไม่ได้ ไม่มีสมอจะลง สำเภาก็หันเหหมุนไปตามลมดูด ที่ตรงนั้นจึงเรียกภายหลังว่าตำบลหันตะเภาต่อมา
สำเภามหึมานั้นได้หมุนเคว้งไปถึงย่านทะเลแห่งหนึ่งก็จมลง ฝูงคนและสัตว์พลัดพรายพากันจมน้ำตายมากที่สำเภาจมนั้น เมื่อน้ำเริ่มลดแล้วเล่าว่ายังแลเห็นเสากระโดงโผล่อยู่ในมหาบึง เรียกกันว่าอู่ตะเภา แต่กาลนั้นมา บ้างก็เรียกว่าอุดตะเภา เพราะอุดไม่ไหวเรือจึงจม
ฝ่ายฝูงคนที่เหลือตายได้พากันว่ายและเกาะกระดานเครื่องเรือต่างๆ ไปขึ้นได้ที่เขาตำบลหนึ่ง ตั้งชุมชนบ้านเรือนอยู่ที่เขานั้น ภายหลังนิยมว่าเป็นต้นสกุลแห่งเจ้าลาย ณ เขาเจ้าลายนั้น

[คัดจากหนังสือ สมุดราชบุรี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2468]

ท้าวม่องไล่ เจ้ากงจีน และเจ้าลาย

ว่าด้วยโลกเมื่อตั้งกัลป์ยุคนั้น โลกเรามีแต่น้ำกับฟ้า ตอนตั้งแต่นี้ต่อมาช้านาน จึงน้ำทะเลลดแล้งงวดลงจนปรากฏยอดเขาและภูเขาเป็นบางแห่งแล้ว ก็ปรากฏพื้นแผ่นดินเป็นบางแห่ง ที่ปรากฏแผ่นดินเป็นพื้นแผ่นนั้น ปรากฏที่ชมพูทวีปเราก่อนประเทศทั้งปวง จึงได้สมมุติเรียกที่ตรงนั้นว่ามัธยมประเทศ
ในตอนที่มัธยมประเทศได้ตั้งเป็นบ้านเป็นเมืองลงบางแห่งบางประเทศแต่ยังไม่ถึงเป็นพืดเป็นแผ่นนั้น จะเห็นได้ว่าระดับน้ำด้านตะวันออกมาเพิ่งมีภูเขาและแผ่นดิน บางประเทศบางแห่งเพิ่งโผล่จากน้ำหรือเพิ่งเป็นพืดเป็นสันโขดเขินเนินเขาและดินเป็นกระท่อนกระแท่น
ในเวิ้งน้ำบางแห่ง เช่นดังเวิ้งทะเลด้านตะวันออกแห่งชมพูทวีปที่เวิ้งต่างๆ เมื่อครั้งพระพุทธองค์ยังทรงพระชนม์อยู่ ได้เสด็จถึงเวิ้งทะเลรามัญ เกาะหงษาเพิ่งจะโผล่จากน้ำ ประเทศหนองโสนน้ำยังเจิ่งทั่วไป ต้องประทับบนเขาราว 3 เดือน เมื่อเสด็จเข้าสู่พระปรินิพพานแล้ว หน้าเมืองสัชนาลัย น้ำทะเลยังท่วมถึงหน้าเมือง ที่เงาพระพุทธบาทน้ำทะเลยังซัดถึงจนพระฐานเก จำเริญสมานธรรมไม่ได้หนวกหูจนต้องย้ายไปเหลี่ยมอื่น
ย่านเพชรบุรีเรานี้ ก็อาจกล่าวได้ว่าเวลาหนึ่งเดิมจะเริ่มเป็นบ้านเป็นเมือง ก็ได้ตั้งอาณาจักรของกษัตริย์ขึ้นที่จอมเขาหรือไหล่เขาก่อนเป็นเดิมมา ตั้งตำนานกล่าวว่าเขาเจ้าลาย ซึ่งเริ่มแรกมีเจ้าองค์หนึ่งมีฤทธิ์เดชได้ปกครองเขานั้น เขานั้นจึงได้เรียกชื่อว่าเขาเจ้าลายตามนามเจ้า และยังมีอีกเขาหนึ่งเรียกว่าเขาตาม่องไล่ หรือท้าวม่องไล่ ก็เป็นเจ้าครองอยู่อีกเขาหนึ่ง และเจ้ากงจีนหนึ่ง
คะเนความในเรื่องตำนานเขาเจ้าลาย ตามภูมิของเขาที่ได้โผล่ทะเลขึ้นในเวิ้งทะเลเพชรบุรี มีเขาหลายลูกที่แลเห็นเป็นกระปุ่มกระป่ำอยู่ริมน้ำ เวลานั้นบางเขาก็มีคนตั้งบ้านเรือนประกอบการทำมาหากิน บางเขาก็ตั้งเป็นบ้านเป็นเมืองมีแทบทั่วไปตามลูกเขา การทำมาหากินในชั้นนั้นก็เรื่องหาปลาจับสัตว์ทะเลขายแลกแก่ประเทศที่เป็นดอนเป็นเขินต่างๆ
การที่ยึดเอาลูกเขาเป็นบ้านเป็นเมืองลงนั้น มีทางหากินอยู่ 2 ทาง คือ ทางที่หนึ่งนั้นหากินทางสลัดปล้นเรือพ่อค้าพาณิชที่ค้าสำเภาแล่นผ่านมาใกล้เขา ทางหนึ่งหากินทางพรานปลาเป็นชาวประมง แลกขายก็เอา แย่งชิงปล้นสะดมชาวเรือก็เอา
อำนาจอุกฉกรรจ์นั้นจึงได้เกิดเป็นเจ้าทะเลขึ้น การที่จะปกครองเขาเป็นเจ้าทะเลได้ ก็อาศัยฤทธิ์เดชมีฝีมือลือชาคนเกรงขามจึงจะตั้งตัวได้ เวลานั้นเวิ้งทะเลเพชรบุรีมีเจ้าอยู่คือเจ้าลาย 1 ท้าวม่องไล่ 1 และเจ้ากงจีน จะอยู่เขาใดหรือเวิ้งทะเลจีน 1
ตำนานเขาเล่าว่า เจ้าเขา 3 ตนนี้มีฤทธิ์เดชมากขึ้นชื่อลือนามอยู่ในเวิ้งทะเลคนละด้าน แต่ท้าวม่องไล่มีธิดาสวยงามทรงรูปโฉมลือชาทั่วไป มีคนปองหวังอยู่เป็นอันมาก

เจ้าลาย
วันหนึ่งเจ้าลายคิดจะไปดูตัวนาง จึงปลอมเป็นพรานปลาไปค้าที่ท่าเขาท้าวม่องไล่ มีนางชาวในแม่ครัวเครื่องเสวยมาซื้อปลาไปถวายนาง แล้วทูลว่าพ่อค้าปลาคนหนึ่งรูปสวย ตัวลายพร้อยงดงามเป็นสังวาล
พระธิดาได้ยินก็อยากดู จึงได้สั่งให้เอาปลาไปขายในวังถึงตำหนัก พระธิดาได้เห็นเจ้าลายสะสวยก็ให้นึกรัก ต่อปลาพลางตรัสยิ้มแย้มกับเจ้าลาย เจ้าลายก็พูดจาแช่มช้อยถ่อมตนพลางชายหูชายตาพลาง จนต่างคนรู้สึกปฏิพัทธ์กัน เจ้าลายเลยถวายปลาพระธิดาโดยไม่คิดเอาราคา พระธิดาจึงได้ประทานของรักรางวัลตอบ
ต่อนั้นมาเจ้าลายก็พักอยู่ที่ท่าเรือ ให้บ่าวไพร่ไปบรรทุกปลามาขายทุกวัน การถวายกับซื้อปลานั้น จนเป็นเรื่องสนิทชิดชอบกัน ทั้งนางท้าวมารดาก็โปรดปรานเจ้าลาย จนภายหลังรู้เรื่องกันชัดว่าเจ้าลายเป็นเจ้าอยู่เขาเจ้าลาย ได้พูดจาสู่ขอพระธิดาต่อนางท้าว
นางท้าวได้หารือท้าวม่องไล่ก็ตรัสว่าตามใจ จึงนัดเป็นการตกลงจนนางท้าวรับหมั้นของเจ้าลายไว้แล้ว ได้กำหนดฤกษ์อภิเษกสมรสกันด้วย

เจ้ากงจีน
ในระหว่างหมั้นนั้น เจ้ากงจีนได้ทราบเรื่องว่าเขาหมั้นกันแล้ว เมื่อได้ข่าวพระธิดาท้าว ม่องไล่สวย จะใคร่เห็นตัวนางบ้าง ก็นำเอาของทองเงินรูปพรรณบรรทุกสำเภาปลอมเป็นพ่อค้ามายังเมืองท้าวม่องไล่ ชาวเมืองเห็นสำเภามาพากันลงไปซื้อผ้าแพรพรรณต่างๆ เจ้ากงจีนจัดได้ผ้าแพรของดีๆ ขนจากสำเภาไปถวายบรรณาการท้าวม่องไล่ เจ้าพนักงานนำพ่อค้าสำเภาเข้าถวายของวันนั้น
ท้าวม่องไล่เมื่อได้เห็นของผ้าผ่อนแพรพรรณมีค่าต่างๆ ก็ดีพระทัย ตรัสชมเชยพ่อค้าสำเภาต่างๆ และทั้งตรัสให้นางท้าวพาพระธิดามาชมและเลือกของบรรณาการ เจ้ากงจีนก็ได้เห็นพระธิดา พระธิดาก็ได้เห็นเจ้ากงจีนแล้วด้วยกันทั้งสองฝ่าย
จนภายหลังเจ้ากงจีนนำของวิเศษยิ่งกว่าหลายสิบเท่าเข้าถวายอีก ท้าวม่องไล่เห็นของมีค่ายิ่งปลื้มใจสุดจะปลื้ม เจ้ากงจีนได้ทีก็ทูลว่าตนเป็นเจ้ากงจีนจะขอเป็นสุวรรณปาทุกาทองรองรับบาทาบาทบงสุ์มอบตนให้อยู่ใต้พระบาท เวลานี้ยังหามีพระมเหสีไม่ จะขอพระธิดาไปอภิเษกเป็นเอกอัครมเหสี
ท้าวม่องไล่ก็ยินดีอย่างยิ่ง ด้วยเจ้ากงจีนเป็นเจ้าสืบฟ้าสืบทะเลมาดึกดำบรรพ์ มั่งมีสมบัติไม่มีใครสู้ได้ในโลก ก็ให้เผลอสติลืมคิดว่าพระธิดาได้หมั้นเสียแล้ว จึงยอมให้พระธิดาและยอมรับหมั้นกำหนดฤกษ์อภิเษกสมรส วันนัดไปตกพ้องกันกับวันกำหนดอภิเษกฤกษ์เดียวกับเจ้าลาย เพราะโหรคนเดียวกัน

ยกขันหมาก
ครั้นเมื่อถึงวันกำหนดอภิเษกสมรส เจ้าลายก็ยกพยุหยาตรานาวาทัพแห่เครื่องขันหมากมาทอดท่าอยู่หน้าเมือง
ฝ่ายเจ้ากงจีนก็ยกพยุหยาตราสำเภาแห่เครื่องขันหมากมาลอยลำอยู่หน้าเมืองพร้อมกัน
แล้วทั้งสองฝ่ายก็แต่งทูตให้ขึ้นเฝ้าท้าวม่องไล่ แถลงเหตุแห่งการขันหมากซึ่งจะขอรับนางไป
ท้าวม่องไล่ก็พิจารณาเหตุเห็นว่าจะต้องทำสงครามกันแน่แล้ว จึงเพทุบายผัดแก่ทูตทั้งสองว่าให้ถอยสำเภาและกองทัพเรือออกไปจอดเสียให้ห่างหน้าเมืองเสียก่อน ฝ่ายนครม่องไล่จะได้จัดการกระบวนเรือรับรองแห่แหนให้เป็นเกียรติยศจึงจะเป็นการงดงาม
ครั้นกองทัพสองฝ่ายถอยห่างออกไปแล้ว ท้าวม่องไล่ก็เกณฑ์เรือปลาเรือทะเลและสำเภาใหญ่น้อยให้มาลอยล้อมนครรอบเขาพร้อมด้วยศาสตราอาวุธครบมือกัน แล้วจึงได้ให้ทูตมาทูลเจ้านครทั้งสอง ว่าท้าวเธอได้ลั่นวาจาว่าจะยอมยกพระธิดาให้เจ้านครทั้งสองตามนัดหมาย แต่พระธิดามีพระองค์เดียว ก็จะต้องแบ่งพระธิดาออกเป็นสองภาค แบ่งให้กันคนละซีกฉะนี้ เจ้านครทั้งสองจะยินยอมหรือไม่
ฝ่ายเจ้านครทั้งสองได้ทราบคำทูตทูลดังนั้นก็ตกใจไม่ยินยอม รีบให้ทูตกลับไปทูลว่าที่จะแบ่งภาคนางนั้นไม่ถูกต้องคลองยุติธรรม

สงครามขันหมาก
ฝ่ายเจ้านครทั้งสองเมื่อได้ตอบทูตแล้ว เจ้าลายก็แห่เรือขันหมากไปขึ้นพักไว้ที่เขาแห่งหนึ่ง (ซึ่งภายหลังปรากฏชื่อว่า เขาสามร้อยยอดนั้น หมายความว่ายอดคือซองขันหมาก) แล้วกรีธานาวาทัพมาจะรบกับท้าวม่องไล่ แต่ทว่าเวลานั้นเจ้ากงจีนผู้ดาลโมหะมุทะลุได้เข้าประชิดท้าวม่องไล่อยู่แล้ว
ท้าวม่องไล่ก็ทรงพระคทาฤๅเดช ลงเรือรบแผลงฤทธิ์เข้าตีเจ้ากงจีน สำเภาเลากาก็แตกร่นล่าหนีไป ท้าวม่องไล่ไล่ตามตีจนขับพลขึ้นปล้นบนสำเภา จับได้ไต้ก๋งล้าต้าต้นหนบั้นจู๊ฝูงคนพ่อค้าจีนได้สิ้น แต่เจ้ากงจีนได้โดดน้ำหายไปในก้นทะเล
ท้าวม่องไล่ก็ให้เททิ้งเครื่องขันหมากเจ้ากงจีนลงทะเล (กลายเป็นหอยเป็นปลาไปสิ้น จนภายหลังปรากฏชื่อว่า หอยมวนพลู คลองขนมจีน เป็นอาทิ)
เมื่อเวลาเจ้ากงจีนติดเมืองนั้น ฝ่ายพระธิดาเกรงว่าจะเสียทีเจ้ากงจีน เพราะนางไม่รักจึงได้ลอบลงเรือหนีไปในกลางคืน จะเข้าหาเจ้าลาย แต่เผอิญคลื่นได้ซัดเรือซัดเซไปล่มลง นางได้ว่ายน้ำไปขึ้นอาศัยอยู่ที่เขาหนึ่ง (ซึ่งภายหลังปรากฏชื่อว่า เขานมสาว)
เมื่อเจ้าลายขับเรือรบมาถึงเมือง ไม่เห็นทัพท้าวม่องไล่ก็ให้ขับพลเข้าเมืองเข้าค้นในราชฐานเพื่อจะหานาง พบแต่นางท้าวมารดาทราบว่านางได้ลงเรือไปหากองทัพตนแต่ไม่พบกัน ก็รีบถอยทัพออกจากเมืองม่องไล่ เพื่อตามหานางกลางทะเล ไปพบนางที่เขานางสาวนั้น จึงได้รับนางกลับ พวกจีนที่เรือแตกติดเกาะอยู่ จะพาไปเขาเจ้าลายแล่นมากลางทะเล
ท้าวม่องไล่เมื่อมีชัยชนะแก่เจ้ากงจีนแล้ว ก็ขับให้คุมสำเภาเลากาสินค้าข้าวของเงินทองผู้คนจีนที่จับได้เอามาเมืองมากมาย ขึ้นเมืองแล้วไม่เห็นพระธิดา ถามนางท้าวก็ว่าพระธิดาหายไปก่อน แต่เจ้าลายยังไม่ได้เข้าเมือง ท้าวม่องไล่กริ้วนางท้าว จึงได้จับตัวโยนทะเลเสียให้ตาย นางท้าวได้ว่ายน้ำทะเลไปขึ้นที่เขาหนึ่ง (ซึ่งเรียกว่า เขาแม่ลำพึงต่อมาในภายหลังนี้)
แล้วท้าวม่องไล่ให้จัดเรือรบเป็นอันมาก ยกกองทัพเรือเที่ยวไล่ตามหาพระธิดากลางทะเล ได้เห็นกองทัพเจ้าลายกำลังแล่นจะกลับเมือง ท้าวม่องไล่ก็ขับพลเข้าไปสะกดตาม เจ้าลายเห็นว่ากองทัพศัตรูมากมายจะหนีไม่พ้น จึงได้แวะกองทัพเข้าแอบเข้าลูกหนึ่ง แล้วยกขึ้นตั้งมั่นรับอยู่ที่ยอดเขานั้น
ท้าวม่องไล่ก็ให้ล้อมไว้รอบเขา เจ้าลายจะแหกออกก็ไม่ได้ ต้องแพ้วอยู่บนยอดเขา พากันขาดเสบียงอาหารอดอยากเต็มที มีเสบียงกรังก็ข้าวตังกับกะปิเท่านั้น (เขานั้นจึงได้ปรากฏชื่อว่าเขาเสวยกะปิต่อมา)
เมื่อเจ้าลายอดอยากหิวโหยเต็มที จึงปรึกษากับพระธิดา พระธิดาว่าให้ลงไปงอนง้อขอรับผิดชอบเสียเถิด แล้วก็พากันลงมาขอโทษท้าวม่องไล่ ท้าวม่องไล่ก็หายพิโรธ แล้วก็รับมาอภิเษกสมรสกันที่เมืองม่องไล่ แล้วส่งกลับไปครองเขาเจ้าลายต่อมา
ครั้นกาลนานมา แต่บรรดาเจ้าเขาทั้งหลายได้สืบพืชพันธุ์กันเมื่อตั้งเอกราชอยู่ตามจอมเขาต่างๆ นั้น ได้ทำสงครามกันเหตุด้วยแย่งนางกันบ้าง แย่งเขากันบ้าง จนรวมๆ กันเป็นเจ้าอำนาจ เจ้าทะเล ในย่านทะเลหนึ่งๆ นับเป็นเอกราชหนึ่ง ในเวิ้งเขาทะเลหนึ่ง นมนานมา จนน้ำทะเลลดแห้งลงเป็นโขดเป็นเขินเป็นเนินเป็นดินดอน ถึงกับเป็นพืดเป็นแผ่นพื้นแผ่นดินพืดเดียว ก็ยังคงถืออำนาจสืบๆ กัน จึงได้จัดตั้งชนบทนิคมคามราชธานีน้อยใหญ่ตามภูมิพื้นแผ่นดินอันเป็นดึกดำบรรพ์นั้น

[คัดจากหนังสือ สมุดราชบุรี พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2468]

 

 

เจ้าอู่ โอรสจักรพรรดิจีน

ท้าวอู่ทองจากเมืองจีน

สร้างเมืองเพชรบุรีและกรุงศรีอยุธยา

ท้าวอู่ทองหรือพระเจ้าอู่ทองมาจากเมืองจีน มีจดอยู่ในเอกสารของ วัน วลิต ชื่อ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ. 2182
วัน วลิต เป็นพ่อค้าชาวฮอลันดาเดินทางเข้ามาประจำสำนักงานการค้าอยู่ที่พระนครศรีอยุธยา ระหว่าง พ.ศ. 2176-2185 ในแผ่นดินสมเด็จพระเจ้าปราสาททอง ได้ศึกษาหาความรู้เกี่ยวกับราชอาณาจักรสยามในสมัยนั้น แล้วเรียนรู้ภาษาไทยด้วยนิทานเรื่องท้าวอู่ทองหรือพระเจ้าอู่ทองที่จดไว้ วัน วลิต คงฟังมาจากคำบอกเล่าของชาวพระนคร ศรีอยุธยา ทั้งที่เป็นขุนนาง ข้าราชการ และพ่อค้าประชาชนสมัยนั้น อาจกล่าวว่ามีการบันทึกนิทานเรื่องนี้เป็นลายลักษณ์อักษรที่เก่าที่สุดก็ได้
วัน วลิต จดคำบอกเล่าไว้ว่า พระเจ้าอู่ทองเดิมมีพระนามว่าเจ้าอู่ เป็นโอรสของจักรพรรดิจีน ต่อมาถูกเนรเทศไปอยู่เมืองปัตตานี เพราะกระทำความผิดร้ายแรงแล้วเสด็จไปสร้างเมืองนครศรีธรรมราช เมืองกุยบุรี เมืองพริบพรี เมืองคองขุดเทียม (หรือบางขุนเทียน) เมืองบางกอก ท้ายที่สุดทรงสร้างเมืองอยุธยา แล้วเสวยราชย์เป็นพระเจ้าแผ่นดินองค์แรกของสยาม มีพระนามว่าสมเด็จพระราชารามาธิบดีฯ แล้วไปสร้างเมืองนครหลวงไว้ที่กัมพูชาด้วย มีเนื้อหารายละเอียดอยู่ในหนังสือ พงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต
(คัดจากพงศาวดารกรุงศรีอยุธยา ฉบับวัน วลิต พ.ศ. 2182 (วัน วลิต แต่ง ดร. เลียวนาร์ด แอนดายา แปลเป็นภาษาอังกฤษจากภาษาฮอลันดา มิเรียม เจ. แวน เดน เบอร์ก คัดลอกจากต้นฉบับเดิม ศ. เดวิด เค. วัยอาจ บรรณาธิการ วนาศรี สามนเสน แปลเป็นภาษาไทยจากภาษาอังกฤษ ศ. ดร. ประเสริฐ ณ นคร ตรวจ) ภาควิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร จัดพิมพ์เมื่อ พ.ศ. 2523)

แผนที่แสดงเส้นทางตามเอกสารวัน วลิต เรื่องเจ้าอู่ โอรสจักรพรรดิจีน ถูกเนรเทศลงสำเภาไปทะเลถึงปัตตานีแล้วแล่นเลียบชายฝั่งอ่าวไทย (ภาพจากหนังสือ ประชุมหลักฐานประวัติศาสตร์ เรื่อง พระเจ้าอู่ทอง ไม่ได้มาจากเมืองอู่ทอง แต่มาจากเมืองจีน-ทางทะเล มาจากเมืองลาว-ทางบก สำนักพิมพ์มติชน พิมพ์ครั้งแรก พ.ศ. 2545)

เจ้าอู่ โอรสจักรพรรดิจีน

“เป็นเวลานานกว่า 300 ปีมาแล้ว มีพระเจ้าแผ่นดินองค์หนึ่ง ซึ่งปกครองแว่นแคว้นหลายแว่นแคว้นในประเทศจีน (ชาวสยามไม่ทราบพระนามพระเจ้าแผ่นดินพระองค์นี้) พระองค์มีโอรสองค์หนึ่ง พระนามว่าเจ้าอู่ (T’Jaeu ou-e)1 ซึ่งเป็นเจ้าชายที่ตัณหาจัด ได้ ข่มเหงภรรยาขุนนางจีนสำคัญๆ ไปหลายคน2 หญิงคนใดที่ไม่ยอมให้พระองค์ข่มเหงก็จะถูกฆ่าตายอย่างลึกลับ ขุนนางเหล่านี้ได้เข้าร้องเรียนพระเจ้าแผ่นดินถึงความประพฤติตัวไม่ถูกต้องทำนองคลองธรรมของพระราชโอรส และขู่จะถอดถอนพระเจ้าแผ่นดินออกจากราช บัลลังก์ ถ้าหากพระองค์ทรงปฏิเสธไม่ปลงพระชนม์พระราชโอรสเสีย พระเจ้าแผ่นดินทรงยินยอมและตั้งใจที่จะปลงพระชนม์พระราชโอรส แต่สมเด็จพระราชินี (พระมารดาของเจ้าชายที่ถูกกล่าวหา) ทรงคัดค้านและเห็นว่าวิธีที่ดีที่สุดก็คือให้พระราชโอรสออกนอกประเทศ พระเจ้าแผ่นดินทรงยินยอมและได้เล่าความคิดนี้แก่พวกขุนนาง พวกขุนนางก็พออกพอใจและเห็นด้วยกับพระองค์
เมื่อพระราชโอรสได้ทราบข่าวว่าการเนรเทศ พระองค์ไม่ทรงแปลกพระทัยมากนัก พระองค์ตรัสว่า ‘พวกขุนนางพิจารณาว่าฉันประพฤติตัวเลวมากถึงขนาดจะฆ่าฉันหรือฆ่าพระราชบิดา และพระบิดาตัดสินว่าควรจะไปเสียให้พ้น เมื่อเป็นเช่นนั้นแล้วฉันจะยอมรับพระบรมราชโองการทุกประการ’
พระเจ้าแผ่นดินพระราชทานเรือสำเภาหลายลำพร้อมทั้งเสบียงมากมาย เช่น ข้าว อาวุธยุทธภัณฑ์ และทุกสิ่งทุกอย่างที่จำเป็นต่อการเดินทางไกลให้แก่พระราชโอรส พระองค์ยังพระราชทานข้าราชบริพารให้อีก 200,000 คน และของมีค่าต่างๆ ดังนั้นพระราชโอรสก็ออกเดินทางจากประเทศจีนพร้อมด้วยทรัพย์สมบัติดังกล่าว พระราชโอรสทรงตั้งพระทัยที่จะตั้งถิ่นฐานตามความประสงค์ของพระผู้เป็นเจ้าและตามกระแสลมที่จะพัดพาขบวนเรือของพระองค์ไป พระเชษฐา3 ก็ได้เสด็จตามพระอนุชามาด้วย เนื่องจากทรงรักพระอนุชาองค์นี้มาก
ขบวนเรือของเจ้าอู่มาถึงปัตตานีโดยบังเอิญ พระองค์พร้อมด้วยข้าราชบริพารก็ขึ้นบกที่นั่น แต่เมื่อพระองค์ทรงพบว่าปัตตานีเป็นเมืองที่มีประชาชนอยู่หนาแน่นแล้ว พระองค์จึงไม่ต้องการตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ปัตตานีอีก เสด็จลงเรือเดินทางเลียบชายฝั่งเข้าไปในแผ่นดินจนถึง อุลุปัตตานี (Oulou Van Ptanij)4 พระองค์ได้สร้างเมือง Langh seca5 (ลังกาสุกะ) ขึ้นที่นั่น หลังจากที่พระองค์ได้จัดการเมืองใหม่ให้เป็นปึกแผ่น ประกอบด้วยประชาชน ทหาร และมีกฎหมาย และระเบียบเรียบร้อยแล้ว พระองค์เสด็จลึกต่อไปในแผ่นดินจนถึงบริเวณที่เรียกว่า ลีคร (Lijgoor = Ligor = ละคร = นครศรีธรรมราช)6 เนื่องจากบริเวณนั้นเป็นแต่เพียงป่ารกร้าง7 พระองค์ทรงฉวยโอกาสตั้งเมืองขึ้นที่นั่นเองเรียกว่าเมืองลีคร พระองค์ได้ปกครองเมืองลีครและจัดการให้มีทุกสิ่งทุกอย่างและเสด็จต่อไปจนถึง กุย (Cuij) และถึงแม้พระองค์ทรงพบว่าเป็นแต่เพียงป่าก็ตาม พระองค์ยังทรงสร้างเมืองใหม่ขึ้นอีกแห่งหนึ่งและประทับอยู่ที่เมืองตลอดมา
ในเวลานั้นมีเรือสำเภาจากจักรพรรดิจีนสองลำมาปรากฏที่เมืองกุย และมีข่าวเข้าหูเจ้าอู่ว่า นายเรือ (annachodas)8 และพ่อค้าจีนยินดีที่จะได้รับไม้ฝาง พระองค์จึงใช้วิเทโศบายให้ไม้ฝางแก่บุคคลดังกล่าวเป็นจำนวนมากเท่าที่เรือทั้งสองลำจะบรรทุกไปได้ ดังนั้นพวกพ่อค้าจึงกลับเมืองจีนไปด้วยความปีติอย่างล้นพ้น เมื่อมาถึงเมืองจีนก็ได้รายงานให้พระจักรพรรดิทราบถึงเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น และไม้ฝางซึ่งได้มาเป็นของกำนัล พระจักรพรรดิทรงปีติเป็นอย่างมากที่ได้ไม้ฝางเป็นกำนัล จึงยกพระธิดาพระนามว่านางปะคำทอง (Nangh Pacham Tongh) ให้อภิเษกกับเจ้าอู่9 พระองค์ได้จัดพิธีส่งพระราชธิดาอย่างเอิกเกริก นอกจากนี้ยังพระราชทานนามเจ้าอู่ว่าท้าวอู่ทอง10 เพื่อเป็นรางวัลอีกด้วย
หลังจากที่เจ้าอู่ ซึ่งมีพระนามใหม่ว่าท้าวอู่ทอง ครองราชสมบัติอยู่ที่เมืองกุยกับพระมเหสีธิดาจักรพรรดิจีนชั่วระยะเวลาอันสั้น พระองค์ก็ตัดสินพระทัยที่จะตั้งบ้านเมืองในประเทศสยามให้ดีกว่านี้ เมื่อได้ทราบข่าวว่ามีโอกาสที่จะทำได้ พระองค์ก็ทรงเดินทางออกจากเมืองกุย (Cuji) และสร้างเมืองอื่นๆ ขึ้น เมืองแรกได้แก่ พริบพรี (Pijprij)11
ขณะที่กำลังขุดดินอยู่นั้น คนงานก็ได้พบรูปปั้นทองแดงสูงประมาณหกสิบฟุตนอนอยู่ใต้ดิน ซึ่งนำความแปลกใจมาให้พระเจ้าอู่ทองเป็นอันมาก แต่หลังจากที่พระองค์ได้สดับคำอธิบายเกี่ยวกับรูปปั้นและรากฐานของศาสนาชาวสยาม พระองค์จึงได้เปลี่ยนจากนับถือศาสนาของจีนมานับถือศาสนาของชาวสยาม”

 

เชิงอรรถ

1 ต้นฉบับวัน วลิต สะกด tž Jaeu-cu-e ฟังคล้ายๆ กับ เจ้าอุย
2 ในต้นฉบับใช้คำว่า ขุนนาง (mandarins) เมื่อกล่าวถึงข้าราชการในราชอาณาจักร (ผู้แปล)
3 พระราชโอรสองค์นี้ไม่ได้กล่าวถึงอีกต่อไปในเนื้อเรื่อง
4 หมายถึงตอนเหนือของประเทศหรือภายในเขตปัตตานี คือขึ้นไปตามลำน้ำปัตตานี
5 ข้อนิเทศนี้ก่อให้เกิดความประหลาดใจและความขัดแย้งเป็นศตวรรษในเรื่องที่ตั้งของอาณาจักรที่ชาวจีนรู้จักในนามของ Lang-ya-hsiu ตั้งแต่ศตวรรษที่ 7 เป็นต้นมา หลังจากที่ พอล วีธเลย์ (Paul Wheatley) ได้ศึกษาปัญหาและลักษณะที่ตั้งอย่างละเอียดแล้วในปี พ.ศ. 2499 ได้เสนอว่าที่ตั้งอาณาจักรดังกล่าวอยู่ในเขตเมืองปัตตานี ปัจจุบันดู เรื่องลังกาสุกะ ?LangkasukaŽ ในตุงเป้า ฉบับที่ 44 (1956) หน้า 381-412 และ The Golden Khersonese (Kuala Lumpur, 1961) หน้า 252-67
6 นครศรีธรรมราช
7 ข้อความนี้ไม่ค่อยตรงกับประวัติศาสตร์สมัยต้นที่ยาวนาน ของจังหวัดนคร ดูตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ใน The Crystal Sands, โดย D.K. Wyatt (Ithaca, N.Y., 1975)
8 นายเรือ.
9 เปรียบเทียบนิยายที่คล้ายคลึงกันใน ตำนานเมืองนครศรีธรรมราชŽ ในรวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช (กรุงเทพฯ พ.ศ. 2505) หน้า 52-55
10 ตำแหน่งที่รู้จักกันทั่วไปของผู้สร้างกรุงศรีอยุธยา ดูรวมเรื่องเมืองนครศรีธรรมราช หน้า 51-52, 84-85 เรื่อง พงศาวดารเหนือŽ หน้า 388 และ Legends sur le Siam et le Cambodge โดย Notten หน้า 90-94, 97-104
11 เมืองเพชรบุรีมีอยู่แล้วตั้งแต่สมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 แห่งกัมพูชา (ปี พ.ศ. 1725-1761) ดูศิลาจารึกปราสาทพระขรรค์ ใน BEFEO fasc. 2 (1942) หน้า 296 บรรทัดที่ 117