สุรชาติ บำรุงสุข : พลาดตาเดียว แพ้ทั้งกระดาน! ถอยพลาดก็แพ้ ถอยผิดก็ยิ่งแพ้

“พลาดตาเดียว แพ้ทั้งกระดาน…การเล่นหมากรุกเป็นฉันใด สงครามก็เป็นฉันนั้น”

ประธานเหมาเจ๋อตุง

สภาวะขาลงของรัฐบาลปัจจุบันเป็นสิ่งที่ท้าทายความเป็นผู้นำรัฐบาลที่เป็นทหารเป็นอย่างยิ่ง

เพราะหากเปรียบแล้ว การเมืองก็เป็นการสงครามในอีกรูปแบบหนึ่งนั่นเอง

ฉะนั้น หากมองสถานการณ์การต่อสู้ทางการเมืองของรัฐบาลทหารที่ต้องการอยู่ในอำนาจให้ได้อย่างยาวนาน แต่กลับต้องเผชิญกับความท้าทายที่กำลังเกิดขึ้นแล้ว

คำถามสำคัญจากสภาวะเช่นนี้ก็คือ แล้วผู้นำรัฐบาลที่เป็นทหารจะกำหนด “ยุทธศาสตร์” อย่างไรกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น

และถ้ายอมรับว่าสภาวะดังกล่าวเป็นช่วงขาลงแล้ว ประเด็นสำคัญที่ตามมาก็คือผู้นำทหารจะกำหนด “ยุทธศาสตร์ทางออก” (Exit Strategy) จากแรงกดดันและความท้าทายต่างๆ อย่างไร

ยุทธศาสตร์ทางออก

โดยหลักการสงครามแล้ว นักการทหารที่มุ่งหวังแต่ชัยชนะเพียงอย่างเดียวนั้น เป็นเพียงการคิดในจินตนาการที่อาจไม่เป็นจริง

เพราะผลของการสงครามเป็นความสัมพันธ์ของพลังอำนาจของทั้งสองฝ่ายที่ถูกจัดวางในสนามรบ

หรือดังที่ประธานเหมากล่าวเป็นข้อเตือนใจว่า “แผนการทหารใดๆ ก็ควรสร้างขึ้นบนพื้นฐานของการใคร่ครวญสภาพการณ์ของฝ่ายข้าศึกกับฝ่ายเรา และความสัมพันธ์ซึ่งกันและกันอย่างรอบคอบ”

ในสภาพเช่นนี้นักการทหารจะต้องไม่วางแผนทางทหารไว้บนพื้นฐานของความปรารถนาของตนฝ่ายเดียว

แผนการชนิดนี้เป็นพียงความเพ้อฝันและไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง และที่สำคัญก็คือแผนการทางทหารในลักษณะเช่นนี้ไม่อาจนำมาซึ่งชัยชนะ นักการทหารแบบเพ้อฝันจึงมักมีความเข้าใจแบบผิวเผินและจบลงด้วยอาการ “หัวชนกำแพง”

กฎการสงครามเช่นนี้ไม่ได้แตกต่างจากกฎการเมืองแต่อย่างใด

ถ้าในสนามรบทางการทหารไม่มี “นายพลผู้ชนะศึกตลอดกาล” ฉันใด ในสนามรบทางการเมืองก็ไม่มี “นายพลผู้ชนะการเมืองตลอดกาล”

ฉันนั้น คำสอนทางยุทธศาสตร์ที่สำคัญจากกรณีเช่นนี้ก็คือ นักการทหารจะต้องไม่หลงติดอยู่กับความเชื่อว่าตนเองจะเป็นผู้ชนะเสมอ

เพราะในประวัติศาสตร์สงคราม มีตัวอย่างมากมายที่สอนให้เห็นบทเรียนที่สำคัญว่าแม้จะรบชนะเรื่อยมา

แต่เมื่อถึงการรบที่สำคัญและแพ้เพียงครั้งเดียว ก็อาจจะทำให้ผลสำเร็จจากการรบก่อนหน้านี้สูญสิ้นไป

และขณะเดียวกันก็มีบทเรียนที่แสดงให้เห็นว่า แม้จะรบแพ้มาหลายครั้ง แต่ก็สามารถชนะในการรบที่สำคัญได้ จนกลายเป็นรบชนะครั้งเดียวก็สามารถพลิกสถานการณ์ให้เกิดความเปลี่ยนแปลงและเป็นฝ่ายชนะได้

นักการทหารในสภาพเช่นนี้จะต้องตระหนักว่าถ้าไม่มีนายพลผู้ชนะตลอดกาลแล้ว การเตรียมตัวรับสถานการณ์ที่จะเป็นฝ่ายที่ถูกตีโต้เป็นประเด็นที่มีความสำคัญ

หรือกล่าวในทางการทหารก็คือ การเตรียม “การถอยทางยุทธศาสตร์” เป็นจังหวะก้าวที่สำคัญที่ไม่อาจละเลยได้ในยามเป็นรอง ผู้ที่คัดค้านก็มักจะเป็นนักการทหารแบบ “มุทะลุ” และมองสถานการณ์อย่างผิวเผินและคิดทะนงตนว่าจะเป็น “ผู้ชนะตลอดกาล” จนละเลยหลักการที่สำคัญว่า การถอยก็เป็นปัญหาทางยุทธศาสตร์

ดังนั้น การคิดถึงการถอยทางยุทธศาสตร์ก็คือ การพิจารณาถึง “ยุทธศาสตร์ทางออก” อันเป็นหลักการพื้นฐานของการวางแผนทางทหาร จึงเป็นสิ่งที่ไม่อาจละเลยได้

ยกเว้นนักการทหารที่ประมาทและเลินเล่อซึ่งมักจะเป็นพวกวางแผนแบบด้านเดียวที่หลงระเริงไปกับอำนาจของตนโดยละเลยต่อเงื่อนไขของสภาพแวดล้อมและความเป็นจริง

และชอบคิดเข้าข้างตนเองจนขาดความเข้าใจพื้นฐานว่า การสงครามเป็นความสัมพันธ์ของทั้งเราและฝ่ายตรงข้าม ไม่ใช่เราจะเป็นฝ่ายเดียวที่กำหนดความเป็นไปในสงครามตามใจปรารถนาได้ทั้งหมด นักการทหารในชุดความคิดแบบนี้ไม่แตกต่างจาก “นักเขียนนวนิยาย” ที่จะสามารถเนรมิตความปรารถนาแบบด้านเดียวใส่ลงไปในนิยายของเขา

แต่นิยายแบบด้านเดียวเช่นนี้ก็ไร้ค่าและไม่สมจริง

และกลายเป็นเพียง “เครื่องประโลมใจ” สำหรับความพ่ายแพ้ที่อาจจะเกิดขึ้นตามมาจากปัจจัยดังที่กล่าวแล้ว

สงครามและการเมือง

วันนี้หากพิจารณาถึงสถานการณ์ของรัฐบาลรัฐประหารที่กรุงเทพฯ แล้ว จึงน่าสนใจว่าบรรดาผู้นำทหารที่อยู่ในการเมืองจะมียุทธศาสตร์ทางออกอย่างไร

วันนี้ผู้นำทหารในฐานะ “นักการเมืองในเครื่องแบบ” (politician in uniform) อาจจะละเลยหลักการสำคัญว่า สงครามและการเมืองเป็นเรื่องเดียวกัน และยืนอยู่บนหลักการพื้นฐานเดียวกัน ฉะนั้น นักการทหารที่ขาดหลักคิดทางยุทธศาสตร์จึงเป็นเพียงพวกที่ต่อสู้ได้ในการรบทางยุทธวิธี และก็มักจะหลงไปว่าชัยชนะทางยุทธวิธีเป็นชัยชนะทางยุทธศาสตร์ และปัญหาที่สำคัญอย่างมากในปัญหาเช่นนี้ก็คือ นักการทหารในสำนักนี้จึงเหมาเอาเองว่า ชัยชนะทางยุทธศาสตร์ถูกชี้ขาดโดยชัยชนะทางยุทธวิธี

ความเข้าใจผิดต่อปัญหาหลักการทางยุทธศาสตร์เช่นนี้จึงทำให้นักการทหารที่มีอำนาจการเมืองไม่มีความสามารถเพียงพอที่จะแยกแยะว่าอะไรคือปัจจัยของการแพ้ชนะในสงคราม เมื่อพวกเขาคิดว่าชัยชนะทางยุทธวิธีเป็นตัวกำหนดชัยชนะทางยุทธศาสตร์แล้ว พวกเขาจึงไม่ตระหนักว่าความบกพร่องหรือความผิดพลาดในบางกรณีอาจจะมีนัยสำคัญที่ก่อให้เกิดการพ่ายแพ้ทั้งกระบวน

หรือกล่าวโดยสำนวนก็คือ “พลาดตาเดียว แพ้ทั้งกระดาน”

หรือที่กล่าวเปรียบเทียบในข้างต้นว่า “การเล่นหมากรุกเป็นฉันใด การสงครามก็เป็นฉันนั้น”

ดังนั้น คงต้องยอมรับว่านักการทหารที่มีเพียงความคิดทางยุทธวิธี จึงคิดเอาชนะเพียงแต่ในระดับทางยุทธวิธี ซึ่งไม่ใช่เพียงเพราะพวกเขาไม่เข้าใจหลักการทางยุทธศาสตร์เท่านั้น

หากพวกเขามักจะเกาะยึดติดอยู่กับความคิดที่ไม่ตระหนักว่าอำนาจที่มีอยู่ในมือนั้นเป็น “อำนาจเชิงสัมพัทธ์” (relative power) อำนาจเช่นนี้ไม่ใช่ “อำนาจที่สัมบูรณ์” (absolute power)

ฉะนั้น อำนาจในสนามรบเป็นความสัมพันธ์โดยตรงระหว่างเรากับฝ่ายตรงข้าม นักการทหารแบบ “นักเขียนนิยาย” จึงมักสมมติเอาเองเสมอว่า อำนาจที่ตนมีสูงสุดและสัมบูรณ์แบบที่อีกฝ่ายเปรียบไม่ได้

และถ้าต้องต่อสู้แล้ว ฝ่ายตนจะเป็น “นายพลผู้ชนะศึกตลอดกาล” เสมอไป (สำนวนประธานเหมาเจ๋อตุง)

ฉะนั้น นายทหารที่ขาดความเข้าใจในทางยุทธศาสตร์ เมื่อมีอำนาจทางการเมืองแล้ว พวกเขาก็จะขาดความเข้าใจทางการเมืองไม่แตกต่างกัน

ฉะนั้น จึงไม่ใช่เรื่องแปลกสำหรับผู้มีอำนาจเหล่านี้ว่าพวกเขาไม่เข้าใจยุทธศาสตร์

พวกเขาก็ไม่เข้าใจการเมือง

และในความไม่เข้าใจเช่นนี้ พวกเขาเมื่ออยู่ในอำนาจจึงขาดความ “ตระหนักรู้” ทางปัญญาว่าความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ซึ่งเป็นจุดชี้ขาดของชัยชนะในการสงครามนั้นพลาดเพียงครั้งเดียว อาจจะจบลงด้วยความพ่ายแพ้ทั้งหมดจนไม่อาจแก้ไขได้

หรือโดยเปรียบเทียบก็คือ ความผิดพลาดทางการเมืองที่มีนัยของการเป็นความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์นั้น เป็นปัจจัยที่ชี้ขาดต่อความอยู่รอดของรัฐบาลทหารในสนามรบทางการเมือง ไม่แตกต่างกับการที่ปัจจัยเช่นนี้ชี้ขาดต่อความอยู่รอดของกองทัพในสนามรบทางการทหาร…

หลักการชุดนี้ไม่แตกต่างกัน เพราะสงครามและการเมืองเป็นการต่อสู้ที่อยู่ในบริบทเดียวกัน จนอาจกล่าวได้ว่าถ้าขาดปัญญาที่จะเข้าใจสงครามฉันใด ก็ไม่เข้าใจการเมืองฉันนั้น และหากไร้ปัญญาที่จะเข้าใจการเมือง ก็ไม่เข้าใจสงคราม และความไม่เข้าใจเช่นนี้คือจุดเริ่มต้นของความพ่ายแพ้นั่นเอง

การถอยทางยุทธศาสตร์

สิ่งที่เป็นความเข้าใจผิดอย่างใหญ่หลวงของผู้นำรัฐประหารก็คือการยึดอำนาจสำเร็จคือชัยชนะ

ซึ่งในความเป็นจริงแล้วเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของชัยชนะทางยุทธวิธีเท่านั้นเอง

แม้การจัดตั้งรัฐบาลทหารจะเป็นดังการ “พลิกเกม” และเข้าควบคุมการเมืองได้

แต่ในโลกสมัยใหม่ รัฐบาลทหารคือจุดเริ่มต้นที่อ่อนแอที่สุด

ไม่ว่าจะมองจากบริบทของความชอบธรรมทางการเมือง

ไม่ว่าจะมองในมุมของอำนาจทางศีลธรรม

ไม่ว่าจะมองจากกรอบของกระแสโลก

หรือไม่ว่าจะมองจากขีดความสามารถและประสิทธิภาพของรัฐบาลทหารในการบริหารรัฐ

ฉะนั้น จึงไม่แปลกอะไรที่รัฐบาลทหารจะถูกต่อต้านตั้งแต่วันแรก

และที่สำคัญแทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่รัฐบาลทหารปัจจุบันจะสามารถเข้าควบคุมระบบการเมืองได้จริง

ระบบการเมืองไทยในโลกสมัยใหม่ซับซ้อนเกินกว่าความเข้าใจของผู้นำทหาร

และยิ่งขาดความรู้ในการมองปัญหาในกรอบทางยุทธศาสตร์ด้วยแล้ว ระบบการปกครองของทหารปัจจุบันจึงกลายเป็นเพียงกลไกของการสร้างรัฐ “เสนาอำมาตยาธิปไตย” อันเป็นการผสานระหว่างอำนาจของทหารภายใต้การขับเคลื่อนของระบบราชการ พร้อมกับการหันไปเป็นพันธมิตรกับกลุ่มทุนใหญ่

ผลจากสภาพเช่นนี้ทำให้รัฐประหาร 2557 เป็นเพียงการสร้างพันธมิตรสามประสานครั้งใหญ่ในเชิงอำนาจ

คือ การรวมพลังของกองทัพ ระบบราชการ และทุนใหญ่

รัฐบาลเช่นนี้จึงไม่มีพลังในการสร้างความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ใดๆ ทั้งสิ้น

นอกจากการถูกผลักดันและการแสวงประโยชน์ของกลุ่มทุนใหญ่และระบบราชการ

ในความเป็นจริงรัฐบาลแทบไม่มีความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ อันหมายถึงการมีผลงานอย่างเป็นรูปธรรมที่จะบ่งบอกถึงขีดความสามารถของรัฐบาลในการพาประเทศและประชาชนไปสู่อนาคต และผลงานเช่นนี้ต้องโดดเด่นกว่าสิ่งที่รัฐบาลเลือกตั้งได้กระทำมาแล้ว

หากพิจารณาในกรอบเช่นนี้ อาจจะต้องถือว่ารัฐบาลทหารไม่มีความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ใดๆ รองรับตัวเอง เว้นแต่การเล่นอยู่กับตัวเลขในผลโพล หรืออ้างถึงตัวเลขทางเศรษฐกิจบนกระดาษ

แต่ผู้คนโดยทั่วไปขาดกำลังซื้อ

หรือโครงการที่รัฐบาลพยายามผลักดันก็ไม่ได้แตกต่างจากรัฐบาลพลเรือนมากนัก เช่น กรณีรถไฟความเร็วสูง หรือโครงการประชานิยมที่ทำโดยทหารและระบบราชการ จนดูเสมือนว่ารัฐบาลทหารไม่ได้มีนโยบายอะไรใหม่ในเชิงทิศทางยุทธศาสตร์ต่างไปจากรัฐบาลพลเรือนที่ตนได้โค่นล้มลง

เว้นแต่เพียงการเปลี่ยนภาษาอันทำให้เกิดข้อวิจารณ์เสมือนกับ “การลอก” นโยบาย สภาพเช่นนี้ตอกย้ำถึงการที่รัฐบาลไม่มีความสำเร็จทางยุทธศาสตร์อย่างแท้จริง แม้จะเอาตัวเลขในโพลมา “กลบกระแส” ในข้างต้นว่า ความสำเร็จคือการทำให้สังคมไทยไม่มีการชุมนุมทางการเมือง ซึ่งการขายวาทกรรมว่า “รัฐบาลทหารทำให้สังคมสงบ” อาจจะไม่ใช่เรื่องของความสำเร็จทางยุทธศาสตร์ในวันนี้แล้ว

ในขณะเดียวกัน ความผิดพลาดทางยุทธศาสตร์ได้เกิดขึ้นเป็นระยะ

การจัดซื้อยุทโธปกรณ์ที่มีมูลค่าสูง แต่ไม่มีความชัดเจนในการใช้ ประกอบกับภาวะที่เศรษฐกิจของประเทศกำลังประสบปัญหา

อีกทั้งนายทหารระดับสูงในรัฐบาลไม่มีความโปร่งใสในหลายๆ เรื่อง

และสุดท้ายปัญหานี้ปะทุเป็น “วิกฤตนาฬิกา”

นอกจากนี้ บุคคลในรัฐบาลและเครือข่าย (แม่น้ำทั้งห้าสาย) ได้รับค่าตอบแทนเป็นจำนวนมาก แต่รัฐบาลไม่ได้มีประสิทธิภาพสูงตาม

ความถดถอยทางยุทธศาสตร์ของรัฐบาลมีจุดเริ่มต้นมาจากรัฐบาลไม่มีผลสำเร็จทางยุทธศาสตร์เพื่อเป็นเครื่องยืนยันถึงขีดความสามารถของรัฐบาลในการพาประเทศไปสู่อนาคต

อีกทั้งเมื่อถูกโถมทับจาก “วิกฤตนาฬิกา”

ตามมาด้วย “วิกฤตคำสัญญา” และต่อด้วย “วิกฤตความน่าเชื่อถือ” แล้ว ปัญหาทั้งหมดได้กลายเป็น “วิกฤตศรัทธา” อันเป็นเงื่อนปมของความพ่ายแพ้ทางยุทธศาสตร์ครั้งสำคัญ

และสภาพเช่นนี้ในที่สุดแล้วจึงเป็น “ความพ่ายแพ้ทางการเมือง” ในตัวเองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ด้วย และหากคิดจะขยายเวลาด้วยการ “สืบทอดอำนาจ” แล้ว ก็จะยิ่งเป็นความพ่ายแพ้ทางการเมืองครั้งใหญ่อย่างแน่นอน

ในสภาวะเช่นนี้ การถอยทางยุทธศาสตร์เป็นเรื่องที่มีความสำคัญอย่างมาก

ถ้าเป็นรัฐบาลเลือกตั้ง ยุทธศาสตร์ทางออกเป็นเรื่องง่ายคือยุบสภา แล้วคืนอำนาจกลับไปให้ประชาชนด้วยการเลือกตั้ง

แต่สำหรับรัฐบาลรัฐประหารแล้วยุทธศาสตร์นี้ไม่ง่ายเลย

เพราะยุทธศาสตร์ถูกวางอยู่บนความต้องการที่จะอยู่ในอำนาจต่อไปอย่างยาวนาน จนละเลยความเป็นจริงของสภาวะแวดล้อมที่เป็น “ขาลง”

รัฐบาลทหารวันนี้ไม่ได้อยู่ใน “กระแสสูง” ที่เป็นขาขึ้นแต่อย่างใด

การถอยในภาวะที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทางการทหารเป็นเรื่องยาก

แต่การถอยในภาวะที่เป็นฝ่ายพ่ายแพ้ทางการเมืองเป็นเรื่องยากกว่า

ประเด็นเช่นนี้ท้าทายปัญญาและความเข้าใจทางยุทธศาสตร์ของผู้นำรัฐบาลที่เป็นทหารอย่างมาก

เพราะ “ถอยพลาดก็แพ้ ถอยผิดก็ยิ่งแพ้”

เป็นกฎทางยุทธศาสตร์ที่หลีกเลี่ยงไม่ได้

เว้นเสียแต่รัฐบาลทหารจะยังเชื่อว่าตนเองอยู่ในกระแสสูง จนไม่ต้องคิดอะไรมาก!