เกษียร เตชะพีระ : ทรัมป์กำลังทำให้จีนยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง – การแผ่ขยายอำนาจอิทธิพลเชิงรุกของจีน

เกษียร เตชะพีระ

ทรัมป์กำลังทำให้จีนยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง (6)

คลิกย้อนอ่านตอน  (5)  (4)

เป็นธรรมดาที่นโยบายแผ่ขยายอำนาจอิทธิพลเชิงรุกของจีนสู่โลกอย่างก้าวร้าวรวดเร็วย่อมไปกระตุ้นปฏิกิริยาตอบโต้แบบชาตินิยมจากประเทศต่างๆ

เหมือนดังที่ “ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก” อันเป็นส่วนหนึ่งของโครงการริเริ่มหนึ่งแถบหนึ่งเส้นทางของจีนได้ไปทุ่มทุนจัดวางท่าเรือและฐานทัพคอยรองรับเรือสินค้าและเรือรบจีนยาวเหยียดจากทะเลจีนใต้ ผ่านมหาสมุทรอินเดีย ไปจรดตะวันออกกลางและแอฟริกา โดยเฉพาะในประเทศแถบเอเชียใต้อย่าง ศรีลังกาและมัลดีฟส์ ส่งผลให้มันถูกโจมตีต่อต้านจากพลังการเมืองบางฝ่ายในประเทศเหล่านี้ว่าเป็นการ “เที่ยวเข้ากว้านซื้อประเทศเจ้าบ้าน” และสร้าง “อาณานิคมของจีน” รวมทั้ง “จักรวรรดินิยมเจ้าหนี้” ขึ้น

(www.bbc.com/news/world-asia-38541673 ; asia.nikkei.com/Politics-Economy/International-Relations/Maldives-unrest-shapes-into-proxy-fight-for-China-and-India ; www.project-syndicate.org/commentary/china-sri-lanka-hambantota-port-debt-by-brahma-chellaney-2017-12)

ที่ออสเตรเลีย สื่อมวลชนได้เปิดโปงความพยายามของพรรคคอมมิวนิสต์จีนในการส่งอิทธิพลต่อรัฐบาลออสเตรเลีย

เมื่อเดือนธันวาคมศกก่อน นายแซม ดาสต์ยารี สมาชิกวุฒิสภา ต้องลาออกหลังจากถูกแฉว่าเขากล่าวเตือนนักธุรกิจที่ให้เงินสนับสนุนเขาคนหนึ่งซึ่งมีสายสัมพันธ์เชื่อมโยงกับทางการจีนว่าโทรศัพท์ของนักธุรกิจผู้นั้นน่าจะถูกดักฟังโดยหน่วยข่าวกรองออสเตรเลีย หลังจากนั้น นายกรัฐมนตรี มัลคอล์ม เทอร์นบูล ก็ประกาศห้ามต่างชาติบริจาคเงินอุดหนุนทางการเมือง โดยอ้างเหตุผลว่า “มีรายงานอันน่ากังวลเกี่ยวกับอิทธิพลของจีน”

ก่อนหน้านั้น ทางการจีนได้ใช้พลังอำนาจทางเศรษฐกิจเล่นงานคู่พิพาทประเทศเล็กกว่า เช่น สั่งห้ามนำเข้ากล้วยหอมจาก ฟิลิปปินส์ มาขายในจีนเนื่องจากข้อพิพาทเรื่องเขตน่านน้ำในทะเลจีนใต้

อีกทั้งจำกัดนักท่องเที่ยวจีนเข้า เกาหลีใต้ และสั่งปิดเครือข่ายร้านขายของลดราคาของเกาหลีใต้ในจีนเนื่องจากข้อพิพาทเรื่องการติดตั้งระบบป้องกันขีปนาวุธของอเมริกันในเกาหลีใต้ เป็นต้น

แม้แต่นอร์เวย์ ก็ถูกจีนระงับการเจรจาด้านการค้าด้วยไปเกือบ 7 ปี เนื่องจากบังอาจให้รางวัลโนเบลสาขาสันติภาพแก่หลิวเสี่ยวโป นักเคลื่อนไหวสิทธิมนุษยชนชาวจีนเมื่อปี ค.ศ.2010

จีนยังตามไปเล่นงานชาวจีนฝ่ายค้านที่วิจารณ์ตนในต่างประเทศโดยข้ามพรมแดนไปบังคับอุ้มหายมากักตัวไว้ในจีน อาทิ เริ่มตั้งแต่ปี ค.ศ.2015 ผู้จัดพิมพ์หนังสือวิจารณ์ผู้นำจีนหลายรายถูกอุ้มหายจาก ฮ่องกงและเมืองไทย ไปคุมตัวในจีนโดยไม่ผ่านขั้นตอนส่งผู้ร้ายข้ามแดนอย่างเปิดเผยแต่อย่างใด

และเมื่อมกราคมศกก่อน เสี่ยวเจียนหัว เศรษฐีพันล้านชาวแคนาดาเชื้อสายจีน ผู้จัดการสินทรัพย์ให้แก่ “คณะองค์ชาย” หรือลูกหลานผู้นำและเจ้าหน้าที่ระดับสูงของจีนรวมทั้งอดีตเลขาฯ พรรคเจียงเจ๋อหมิน ก็ถูกกลุ่มคนลึกลับจับใส่รถเข็น เอาผ้าคลุมหัว ลักพาตัวจากโรงแรมโฟร์ ซีซั่นในฮ่องกงไปจีนแผ่นดินใหญ่โดยยังไม่รู้ชะตากรรมตราบเท่าทุกวันนี้

ไม่เพียงฝ่ายค้านข้ามแดน แม้แต่เอกสารวิชาการออนไลน์ต่างชาติก็โดนจีนเล่นงานด้วย ดังปรากฏข่าวเมื่อเดือนสิงหาคมศกก่อนว่า สำนักพิมพ์มหาวิทยาลัยเคมบริดจ์ ของอังกฤษลบบทความวิชาการราว 300 ชิ้นจากเว็บไซต์ในจีนของตนเนื่องจากบทความเหล่านี้เอ่ยถึงเรื่องล่อแหลมในจีน เช่น กรณีปราบปรามนองเลือดจัตุรัสเทียนอันเหมิน เป็นต้น เพื่อเอาใจเจ้าหน้าที่เซ็นเซอร์ของจีน

ส่งผลให้นักวิชาการทั้งหลายโวยวายคัดค้านจนทางสำนักพิมพ์ต้องยกเลิกการลบทิ้งนี้ไปในที่สุด

อย่างไรก็ตาม สำนักพิมพ์วิชาการอีกแห่งได้แก่ สปริงเกอร์ เนเจอร์ ได้ตัดสินใจเซ็นเซอร์ตัวเองในทำนองเดียวกัน โดยอธิบายว่าจำต้องทำเช่นนี้ “เพื่อป้องกันผลกระทบใหญ่หลวงกว่าที่อาจเกิดแก่ลูกค้าและผู้เขียนของเรา”

ปรากฏการณ์เหล่านี้ถูกวิจารณ์ว่าสะท้อนบุคลิกลักษณะและอาการของขั้วอำนาจใหม่อย่างจีนที่ยังขาดพร่องด้าน “อำนาจละมุน” (soft power) เมื่อเทียบกับขั้วอำนาจเก่าอย่างอเมริกา

โจเซฟ ไน (Joseph Nye) นักรัฐศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดในอเมริกา เจ้าของแนวคิด “อำนาจละมุน” ซึ่งหมายถึงการใช้ความคิดและแรงดึงดูดใจอื่นมาขยายอำนาจอิทธิพลของประเทศตนแทนที่จะใช้กำลังดิบๆ อธิบายว่า : (www.newyorker.com/magazine/2018/01/08/making-china-great-again)

จีนได้ปรับปรุงความสามารถในการจูงใจหรืออำนาจละมุนของตัวเองขึ้นไประดับหนึ่ง

แต่กระนั้นก็ยังมีข้อจำกัดหากเปรียบกับอเมริกา

ทั้งนี้เพราะอเมริกาสร้างอำนาจละมุนของตนขึ้นมาจากประชาสังคม (civil society) เป็นหลัก อันได้แก่ ผลผลิตและกิจการทางวัฒนธรรมนอกภาครัฐตั้งแต่ภาพยนตร์ฮอลลีวู้ดไปถึงมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกอย่างฮาร์วาร์ดและมูลนิธิของบิล เกตส์ เป็นต้น แต่จีนยังไม่เข้าใจความข้อนี้ จึงยังไม่ได้เปิดพื้นที่ประชาสังคมเสรีของตนขึ้นมาอย่างเต็มที่ ซึ่งในระยะยาวแล้วจะก่อผลเสียต่อจีนเอง

โจเซฟ ไน คาดว่าภาพลักษณ์เชิงลบในระดับโลกของประธานาธิบดีทรัมป์จะไม่ถึงกับลบล้างข้อได้เปรียบด้านอำนาจละมุนของอเมริกา หากมองดูประวัติศาสตร์การเมืองอเมริกันระยะยาวแล้ว ทรัมป์น่าจะเป็นแค่ความตกต่ำชั่วครู่ชั่วคราว มากกว่าหัวเลี้ยวหัวต่อที่พลิกผันทิศทาง เหมือนกับตัวละครพิลึกพิเรนทร์ที่ปรากฏขึ้นเป็นครั้งคราวในกระบวนการทางการเมืองอเมริกัน อาทิ โจเซฟ แม็กคาร์ธี วุฒิสมาชิกนักปลุกผีคอมมิวนิสต์ (ค.ศ.1908-1957) หรือ จอร์จ วอลเลซ ผู้ว่าการมลรัฐแอละแบมาและผู้สมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีแนวประชานิยม (ค.ศ.1919-1998) เป็นต้น

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นยกเว้นเกิดเหตุเลวร้ายเป็นพิเศษ 2 กรณี ได้แก่ :

– ทรัมป์พาอเมริกาเข้าสู่สงครามใหญ่

– ทรัมป์ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีอีกรอบและลงเอยด้วยการก่อความวิบัติฉิบหายแก่ระบบตรวจสอบถ่วงดุลทางการเมืองในอเมริกาหรือชื่อเสียงเกียรติภูมิของอเมริกันในฐานะสังคมประชาธิปไตย

อย่างไรก็ตาม โจเซฟ ไน คิดว่าทั้งสองกรณีไม่น่าจะเป็นไปได้ ทว่า เขาก็ไม่มั่นใจพอที่จะรับประกันว่ามันจะไม่เกิดจริง!

แล้วรัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ได้พยายามปรับปรุงแนวนโยบายเพื่อฉวยโอกาสและใช้ประโยชน์จากจุดอ่อนและความขัดแย้งของจีนกับนานาประเทศบ้างหรือไม่อย่างไร?

ปลายปีที่แล้ว ทำเนียบขาวดูเหมือนตกลงใจว่าจะใช้ยุทธศาสตร์ 2 ชั้นกับจีน กล่าวคือ

ชั้นแรก ทรัมป์ยังคงดำเนินความสัมพันธ์ฉันมิตรโอภาปราศรัยกับสีจิ้นผิงต่อไป

แต่ชั้นสอง พวกเจ้าหน้าที่อเมริกันระดับล่างลงมาจะใช้ไม้แข็งกับจีน โดยกระทรวงต่างประเทศ+สภาความมั่นคงแห่งชาติ+หน่วยงานสหรัฐที่เกี่ยวข้องอื่นๆ กำลังพิจารณานโยบายโต้กลับจีนใน 3 ด้านคือ 1) ปฏิบัติการขยายอิทธิพลของจีน 2) พฤติกรรมการค้าของจีน และ 3) ความพยายามที่จีนจะกำหนดโฉมหน้าเทคโนโลยีในอนาคต โดยดำเนินการในลักษณะประหนึ่งวางแผนทำสงคราม ร่วมกับสมาชิกสภาคองเกรสและพันธมิตรนานาชาติ

มาตรการที่สหรัฐกำลังพิจารณามี อาทิ :

– จำกัดวีซ่าเข้าประเทศสหรัฐของชาวต่างชาติที่จะมาเรียนต่อด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี วิศวกรรม และคณิตศาสตร์ เพื่อป้องกันการโจรกรรมความลับทางการค้า

– ขยายความร่วมมือทางทหารกับอินเดีย ญี่ปุ่น และออสเตรเลีย เพื่อประกันให้เขตมหาสมุทรอินโด-แปซิฟิกเป็นน่านน้ำเปิดกว้างและเสรี (ปลอดจากการอ้างสิทธิ์ลำพังฝ่ายเดียวของจีน)

– ผู้แทนการค้าสหรัฐกำลังพิจารณาจะกำหนดพิกัดอัตราภาษีศุลกากรเพื่อลงโทษจีนฐานละเมิดทรัพย์สินทางปัญญาและทุ่มสินค้าออกราคาถูกสู่ตลาดสหรัฐ โดยอ้างว่าไม่ใช่เพื่อทำสงครามการค้ากับจีน แต่เพื่อยืนยันต่อต้านนโยบายอุตสาหกรรมแบบล่าเหยื่อของจีนซึ่งล้วงไส้หัตถอุตสาหกรรมอเมริกันโดยเฉพาะภาคไฮเทคจนกลวงโบ๋

ปัญหาคือยุทธศาสตร์ 2 ชั้นดังกล่าวดูขัดกันยังไงชอบกล และไม่น่าจะไปด้วยกันได้

บรรดาผู้เชี่ยวชาญจีนศึกษาทั้งหลายตั้งข้อสังเกตว่าเอาเข้าจริงนโยบายทรัมป์ต่อจีนค่อนข้างอภิมหาโกลาหล

เช่น ในช่วง 11 เดือนแรกของรัฐบาลทรัมป์ ไม่มีรัฐมนตรีคนใดแถลงนโยบายสำคัญเรื่องจีนเลย, อีกทั้งจนแล้วจนรอด ทรัมป์ก็ยังไม่ได้แต่งตั้งใครเข้าดำรงตำแหน่งผู้ช่วยรัฐมนตรีต่างประเทศด้านกิจการเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกซึ่งรับผิดชอบนโยบายต่อจีนและภูมิภาคนี้เสียที เป็นต้น

ถึงแก่ เดวิด แลมป์ตัน ผู้อำนวยการจีนศึกษาแห่งมหาวิทยาลัยจอห์น ฮอปกินส์ บ่นว่าการดำเนินนโยบายเรื่องจีนของรัฐบาลทรัมป์นั้น “เหมือนขี้เมาก๊วนนึงชกต่อยยื้อแย่งพวงมาลัยกันในรถยนต์”

(ต่อสัปดาห์หน้า)