เกษียร เตชะพีระ : ทรัมป์กำลังทำให้จีนยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง (การเดินหมากของจีนกับคนที่คาดเดาไม่ได้แบบทรัมป์)

เกษียร เตชะพีระ

ทรัมป์กำลังทำให้จีนยิ่งใหญ่ขึ้นมาอีกครั้ง (4)

สีจิ้นผิง : “นี่คือคำบัญชาของข้าพเจ้า ทหารทุกระดับชั้นพึงต้องเสริมสร้างการฝึกซ้อมทางทหารและความพร้อมรบให้เข้มแข็ง จัดวางการฝึกซ้อมทางทหารให้มีฐานะความสำคัญทางยุทธศาสตร์อย่างแน่วแน่ และถือเป็นภาระหน้าที่ใจกลางในการปฏิบัติการฝึกซ้อมทางทหารให้ลุล่วงไปอย่างมีประสิทธิผล ทหารทุกระดับชั้นพึงต้องยึดมั่นหลักการที่ให้ชั้นบนได้แสดงบทบาทนำ ปฏิบัติการฝึกซ้อมจริงร่วมกันภายใต้สภาวะการสู้รบสืบต่อไป รวมทั้งปฏิบัติการฝึกซ้อมอย่างเคร่งครัดตามแนวทางเค้าโครงการฝึกซ้อมและประเมินทางทหารสืบต่อไป”

ทหารจีน 7,000 นายพร้อมอาวุธยุทโธปกรณ์ 300 ชิ้นในพิธีสวนสนามซ้อมรบใหญ่หนึ่งในกว่า 4,000 พิธีที่จัดขึ้นทั่วประเทศเป็นครั้งแรกของคณะกรรมาธิการทหารส่วนกลางของพรรคคอมมิวนิสต์จีน กล่าวตอบ

: “ข้าพเจ้าขอกล่าวปฏิญาณ ข้าพเจ้าจะเดินตามการนำของพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศจีนและรับใช้ประชาชนอย่างสุดจิตสุดใจ เชื่อฟังคำบัญชา ปฏิบัติวินัยอย่างเคร่งครัด ต่อสู้อย่างวีระอาจหาญ ไม่กลัวเสียสละ ทำงานหนักเพื่อปรับปรุงสมรรถภาพสู้รบของข้าพเจ้า เตรียมพร้อมเข้าสู่สนามรบตลอดเวลา และจะไม่ทรยศกองทัพและมาตุภูมิเด็ดขาดไม่ว่าในสภาพการณ์ใด”

สําหรับคนที่ต้องยื่นใบสมัครถึง 10 ครั้งกว่าจะได้เข้าเป็นสมาชิกพรรคคอมมิวนิสต์จีน ความที่บิดาของเขา สีจงซุน ถูกตราหน้าเล่นงานทางการเมืองระหว่างการปฏิวัติวัฒนธรรม จึงทำให้สีจิ้นผิงผู้เป็นลูกพลอยมัวหมองถูกมองว่ามีคุณสมบัติไม่เหมาะสมไปด้วยอยู่ช้านาน (www.lrb.co.uk/v39/n22/qi-gua/the-headline-prince)

อีกทั้งสีจิ้นผิงยังเบียดแซงหลี่เค่อเฉียง นายกรัฐมนตรีจีนคนปัจจุบัน ขึ้นมาเป็นทายาทรับสืบทอดตำแหน่งผู้นำสูงสุดของพรรค-รัฐสืบต่อจากหูจิ่นเทาในสมัชชาพรรคครั้งที่ 17 เมื่อปี ค.ศ.2007 อย่างเฉียดฉิว ทั้งที่เดิมทีหูจิ่นเทาออกจะโปรดปรานหลี่เค่อเฉียงมากกว่า ค่าที่หลี่เค่อเฉียงดันด่างพร้อยตรงที่เคยแสดงท่าทีใจกว้าง โน้มเอียงสนับสนุน “การปกครองในระบบรัฐธรรมนูญ” ให้ฝ่ายบริหาร รัฐสภา และฝ่ายตุลาการเป็นอิสระจากกัน ตามพื้นเพการศึกษากฎหมายแบบเสรีนิยมในมหาวิทยาลัยปักกิ่งของตน (Richard McGregor, The Party : The Secret World of China”s Communist Rulers, pp. 23-24)

การที่สีจิ้นผิงพลิกกลับตาลปัตรธรรมเนียมการนำของจีนแบบ “พรรคเหนือผู้นำ” ในยุคเจียงเจ๋อหมินและหูจิ่นเทา – อันเป็นการสรุปบทเรียนด้านลบยุคเหมาเจ๋อตงแห่งการปฏิวัติวัฒนธรรม – แล้วกลับฟื้นฟูธรรมเนียมการนำแบบ “ผู้นำเหนือพรรค” (หรือจะเรียกว่า บุคลาทิษฐาน the cult of personality ก็ได้) ยุคเหมาเจ๋อตงและเติ้งเสี่ยวผิงขึ้นมาใหม่สำหรับตัวเอง จึงเป็นเรื่องน่าตื่นตาตื่นใจยิ่ง (The Party, p. 7)

ทว่าการที่ โดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐเมื่อปลายปี ค.ศ.2017 ก็ถึงแก่ทำให้สีและพรรค-รัฐจีนสะดุ้งช็อกและอึ้งกิมกี่ไปเลยทีเดียว อย่างน้อยก็ในระยะแรก

ที่สีและจีนวิตกก็คือทรัมป์จะทำตัวเป็นศัตรูคู่อาฆาตกับจีนหนักข้อกว่าอดีตประธานาธิบดีโอบามาหรือเปล่า เพื่อรับมือการนี้ ทางการจีนถึงแก่ยกร่างยุทธศาสตร์ตอบโต้แก้เผ็ดอเมริกาไว้ อาทิ ข่มขู่กดดันบริษัทสัญชาติอเมริกันในจีน ระงับการลงทุนจากจีนในเขตเลือกตั้งของสมาชิกสภาคองเกรสอเมริกันที่ทรงอิทธิพล เป็นต้น

แต่ที่สำคัญกว่าคือจีนแปรอาการทึ่งสนเท่ห์ในชัยชนะเลือกตั้งเหนือความคาดหมายของทรัมป์ไปเป็นการหาความรู้โดยระดมสถาบันคลังสมองจีนให้ช่วยกันวิเคราะห์ว่าทรัมป์ทำไง เจรจาต่อรองอย่างไร จึงชนะเลือกตั้งมาได้ แล้วประมวลรวมผลการศึกษาที่ได้ทำเป็นคู่มือในการจัดการเจรจาต่อรองกับทรัมป์ขึ้นมา

ข้อสรุปเบื้องต้นของทางการจีนคือทรัมป์เป็นนักปฏิบัตินิยมทำนองเดียวกับเติ้งเสี่ยวผิง ทรัมป์ไม่แคร์เรื่องระบบหรือลัทธิ ขอให้ได้สิ่งที่ต้องการเป็นพอ และสิ่งที่ทรัมป์ต้องการคือสร้างงานให้คนอเมริกัน

ดังนั้น เมื่อทรัมป์ดันยกหูรับและพูดคุยโทรศัพท์กับประธานาธิบดีหญิงไช่อิงเหวินของไต้หวันหลังชนะเลือกตั้งในอเมริกาไม่ถึงเดือน สีจิ้นผิงจึงพยายามระงับโทสะไว้ไม่เปรี้ยงปร้างทำสงครามน้ำลายออกไป แต่เดินหมากอย่างแยบคายคือ :-

ด้านหนึ่ง สำแดงแสนยานุภาพขีปนาวุธนำวิถีข้ามทวีปรุ่นใหม่ของจีนให้อเมริกาเห็นในชั่วไม่กี่สัปดาห์ต่อมา ในทำนอง “อั๊วมีไอ้นี่ ลื้อจะเอาไง?”

แต่อีกด้านหนึ่ง ก็ส่ง แจ๊ก หม่า แห่งอาลีบาบา ไปพบทรัมป์ที่นิวยอร์ก พร้อมข้อเสนอว่าอาลีบาบาจะสร้างงานในอเมริกาให้ 1 ล้านตำแหน่ง

สรุปคือจีนวางหมากตีกรอบจำกัดพฤติการณ์ลมเพลมพัดตามอารมณ์คาดเดาไม่ได้ของทรัมป์เอาไว้ ให้พอจะคาดเดาได้มากขึ้น โดยเสนอให้อเมริกาปล่อยวางไต้หวันแลกกับการสร้างงาน

หลังทรัมป์เข้าบริหารประเทศไม่นาน จีนก็จับทางได้ว่า ในทำเนียบขาว มี 2 ขั้วอำนาจ 2 ยุทธศาสตร์ที่ประชันขันแข่งกันอยู่เกี่ยวกับนโยบายต่างประเทศต่อจีน ได้แก่ :

1) ขั้วสายเหยี่ยว สตีเฟน แบนนอน หัวหน้านักยุทธศาสตร์ประจำทำเนียบขาวของประธานาธิบดีทรัมป์ เขาเป็นนักชาตินิยมทางเศรษฐกิจขวาจัดที่สนับสนุนให้คนผิวขาวขึ้นมาเป็นใหญ่ ผู้พยายามผลักดันให้ทรัมป์เล่นไม้แข็งกร้าวกับจีนถึงขั้นเปิดฉากทำสงครามการค้ากันเลยทีเดียว เพราะแบนนอนเห็นว่าจีนเป็น “การท้าทายทางอารยธรรม” ต่ออเมริกา

2) ขั้วสายพิราบ จาเร็ด คุชเนอร์ ลูกเขยและที่ปรึกษาของทรัมป์ ผู้รับคำชี้แนะมาจาก เฮนรี คิสซิงเจอร์ อดีต รมว.ต่างประเทศอเมริกันผู้บุกเบิกความสัมพันธ์กับจีนแดงตั้งแต่สมัยประธานาธิบดีนิกสัน และคุชเนอร์ยังพบปะสังสรรค์บ่อยครั้งกับ ชุยเทียนไข เอกอัครรัฐทูตจีนประจำสหรัฐ โดยคุชเนอร์ผลักดันให้สีจิ้นผิงกับทรัมป์ได้ผูกสัมพันธไมตรีร่วมงานกันใกล้ชิด

ปรากฏว่าแนวทางแบบคุชเนอร์ชนะ ส่วนแบนนอนกลับถูกกดดันให้ลาออกไปเมื่อสิงหาคมศกก่อน

คุชเนอร์ร่วมกับ เร็กซ์ ทิลเลอร์สัน รมว.ต่างประเทศสหรัฐ จัดแจงเชิญสีจิ้นผิงเดินทางมาเยือนสหรัฐและพบปะประชุมสุดยอดกับทรัมป์เพื่อทำความรู้จักมักคุ้นแบบกันเองที่ มาร์-อา-ลาโก อันเป็นรีสอร์ตหรูของทรัมป์เองในฟลอริดา เมื่อเมษายนศกก่อน โดยให้ลูกน้อยทั้งสองของคุชเนอร์ (หลานของทรัมป์) มาร้องเพลงและท่องบทกวีภาษาจีนต้อนรับสี

และในทางกลับกัน ทางการจีนก็ตอบสนองน้ำใจโดยอนุมัติและอำนวยความสะดวกแก่ธุรกรรมต่างๆ ของคุชเนอร์กับภรรยาในจีนอย่างรวดเร็วทันใจ

ผลสำคัญของการพบปะสุดยอดครั้งนี้คือสีและพรรค-รัฐจีนหายหวาดวิตกทรัมป์เป็นปลิดทิ้ง เพราะพบว่าในระหว่างการเจรจา ทรัมป์ไม่ค่อยประสีประสารู้เรื่องรู้ราวประเด็นปัญหาต่างๆ อย่างลุ่มลึกชัดเจนนัก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทิเบต, ไต้หวัน, หรือเกาหลีเหนือ

พอสีจิ้นผิงว่ายังไง ทรัมป์ก็คล้อยรับไปอย่างนั้นง่ายๆ กล่าวคือ ทรัมป์ไม่มีฐานความรู้ส่วนตัวมากพอที่จะตอบโต้ยันกลับฝ่ายจีน

ดังที่ทรัมป์สารภาพเองกับหนังสือพิมพ์ Wall Street Journal ต่อมาว่าหลังจากฟังเรื่องสัมพันธ์พิเศษระหว่างจีนกับเกาหลีเหนือไปสิบนาที เขาก็ตระหนักว่ามันไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ยังงั้น

สรุปคือฝ่ายจีนยึดกุมหยั่งรู้ทรัมป์ได้ แน่ล่ะว่าจีนรู้ว่าทรัมป์มีบุคลิกวูบไหวสะเปะสะปะคาดเดาไม่ได้ซึ่งชวนวิตกและคงก่อปัญหาอยู่บ้าง

ทว่าโดยพื้นฐานแล้ว ทรัมป์เป็นแค่ “เสือกระดาษ” เห็นได้ชัดว่าหลายเรื่องที่ทรัมป์อวดโอ่ข่มขู่ไว้ตอนหาเสียงเลือกตั้ง กลับทำไม่ได้จริง ไม่ว่าการสร้างกำแพงยาวเหยียดกั้นพรมแดนอเมริกากับเม็กซิโก การยกเลิกเพิกถอนนโยบายหลักประกันสุขภาพของโอบามา

สภาคองเกรสไม่ได้หนุนหลังทรัมป์เต็มที่อย่างคาดหวัง และตัวเขาเองรวมทั้งลูกน้องใกล้ชิดก็ยังถูกเพ่งเล็งสอบสวนเรื่องรัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งประธานาธิบดีอเมริกัน เป็นต้น

ดังที่สถาบันคลังสมองแพนโกล (Pangoal Institution) ในปักกิ่งตีพิมพ์บทวิเคราะห์รัฐบาลประธานาธิบดีทรัมป์ว่า มันเป็น “ดงที่เต็มไปด้วยก๊กก๊วนต่างๆ ทำศึกแก่งแย่งชิงดีกัน”

โดยก๊วนทรงอิทธิพลที่สุดได้แก่ “ก๊วนตระกูลทรัมป์” ซึ่งดูจะเป็นตัวการส่งผลกำหนดการตัดสินใจขั้นสุดท้ายเกี่ยวกับธุรกิจและการทูตในลักษณะที่น้อยนักจะพบเห็นได้ในประวัติศาสตร์การเมืองสหรัฐ

โดยก๊วนตระกูลทรัมป์ประพฤติปฏิบัติต่อรัฐอเมริกันเสมือนหนึ่งมันเป็นสมบัติส่วนตัว ()

(อ่านต่อสัปดาห์หน้า)