ลัทธิของเพื่อน : เสถียร โพธินันทะ

ก่อนเข้าไปสู่ “ปรัชญามหายาน” ของ เสถียร โพธินันทะ มีความจำเป็นต้องย้อนกลับไปหา “ลัทธิของเพื่อน” เพื่อสร้างความรับรู้อย่างเป็นมูลฐาน

จุดร่วมอย่างสำคัญเริ่มต้นจาก

หนังสือต่างๆ ว่าด้วยตำนานพระพุทธศาสนากล่าวว่า นิกายมหายานได้ปรากฏเป็นครั้งแรกในรัชสมัยของพระเจ้ากนิษกะ

แท้จริงแล้ว ลัทธิของฝ่ายมหายานเริ่มปรากฏมีมาแต่ครั้งทุติยสังคายนาแล้ว

ลัทธินี้ค่อยเจริญและพอกพูนหลักอันผิดแผกไปจากนิกายเถรวาทเลื่อนเปื้อนเป็นลำดับมา เช่น บังเกิดมีพระพุทธเจ้าขึ้นหลายพระองค์ เป็นจำนวน 4 บ้าง 7 บ้างโดยลำดับและขนานพระนามพระพุทธเจ้าว่า พระตถาคต คือพระผู้ไปแล้วอย่างนั้น และพระโพธิสัตว์ไมเตรยะจะมาตรัสเป็นพระพุทธเจ้าถัดต่อไป

ต่อมา จำนวนพระพุทธเจ้านี้ขยายเป็นลำดับมากขึ้นไปเป็น 24, 35 และ 100 และยังพระปัจเจกพุทธด้วย

เพราะฉะนั้น จะกำหนดลงไปให้ชัดแน่ว่ามหายานมีขึ้นเมื่อไรไม่ได้

ที่กล่าวว่า ปรากฏขึ้นในสมัยพระเจ้ากนิษกะก็เพราะมีคณาจารย์ชื่ออัศวโฆษเป็นมัคคุเทศก์แสดงลัทธิแต่ในสมัยนั้นยังไม่เรียกว่ามหายานลงไปชัดทีเดียว

จะเห็นชัดว่าเป็นมหายานต่อเมื่อระยะกาลล่วงแล้วได้ 2 ชั่วอายุคนถัดจากสมัยของอัศวโฆษ

อัศวโฆษผู้นี้เป็นชาวเมืองสาเกตในแคว้นอโยธนา และเป็นพระราชครูของพระเจ้ากนิษกะกล่าวว่าเพราะมีเสียงดังเหมือนเสียงม้าร้อง

นัยว่า ครั้งหนึ่งพระเจ้ากนิษกะเสด็จกรีธาทัพยกไปล้อมกรุงปาฏลิบุตร พระเจ้าปาฏลิบุตรไม่ทันเตรียมทัพป้องกันพระนครต้องขอยอมอ่อนน้อม แต่พระเจ้ากนิษกะต้องพระประสงค์ค่าไถ่เป็นเงิน 9 โกฏิรูปี พระเจ้ากรุงปาฏลิบุตรไม่สามารถจะให้ได้

ภายหลังทำความประนีประนอมกันโดยพระเจ้ากรุงปาฏลิบุตรยอมยกอัศวโฆษซึ่งพระเจ้ากนิษกะทรงตีราคาเท่ากับเงิน 3 โกฏิ กับถวายบาตรของพระพุทธเจ้าและสิ่งอื่นอันเป็นอนุสาวรีย์ที่บูชาคิดราคา 6 โกฏิ

ดังนี้ จะเห็นได้ว่าตัวอัศวโฆษผู้ที่แต่งคัมภีร์ในสมัยนั้นได้เกียรติยศเป็นอย่างดี มิฉะนั้น คงไม่ตีราคาเป็นเงินถึง 3 โกฏิ

อัศวโฆษมีชื่อลือว่าเป็นปราชญ์ เป็นจินตกวี เป็นนักดนตรีและเป็นธรรมกถึกอย่างเยี่ยม

ได้รจนาคัมภีร์ลือชื่อไว้เรื่องหนึ่งคือ “คัมภีร์ศรัทโธตบาท” (การตื่นขึ้นแห่งศรัทธา) ของมหายาน คัมภีร์เล่มนี้ต้นฉบับภาษาเดิมหายสูญหาไม่ได้ คงมีอยู่แต่ที่แปลสู่ภาษาจีนเท่านั้น เป็นคัมภีร์อันกล่าวด้วยหลักสำคัญของมหายานทั้งหมด

ลัทธิมหายานได้ปรากฏให้เห็นเด่นชัดก็ในระยะกาลถัดจากอัศวโฆษ ผู้ที่สั่งสอนและแสดงลัทธินี้โดยตรงชื่อนาคารชุน

แน่นอนจาก “ลัทธิของเพื่อน” อันท่าน “เสถียรโกเศศ-นาคะประทีป” เรียบเรียงร่วมกันก็ได้รับการขยายความเริ่มต้นผ่านบทความของ เสถียร กมลมาลย์ ในธรรมจักษุฉบับประจำเดือนตุลาคม 2489 ถึงเดือนมกราคม 2490

นั่นก็คือ การระบุนามแห่ง “อัศวโฆษ” ว่าจีนเรียกว่า “หม่าหมิง” เป็นผู้ประกาศเผยแผ่นิกายมหายานโดยตรง

ท่านผู้นี้เป็นผู้แตกฉานในพระไตรปิฎกและพาหิรลัทธิ ได้รจนาคัมภีร์ที่เกี่ยวกับมหายานคัมภีร์หนึ่งชื่อ “มหายานศรัทโธตปาทศาสตร์” หรือ “ต้าเซิ้งชี่สิ่นลุ่น” คัมภีร์นี้เป็นหลักยืนยันได้ดีว่ามหายานได้มีความรุ่งเรืองขึ้นในยุคนี้ และแต่นั้นมาพระพุทธศาสนาก็ได้แยกออกเป็น 2 นิกายใหญ่ คือ เหนือและใต้จวบจนปัจจุบัน และอาจแบ่งได้โดยภูมิประเทศ คือ บรรดาแว่นแคว้นฝ่ายเหนือของอินเดียมีอาทิ แคว้นคันธาระ กาษมีระ ฯลฯ เป็นแดนของมหายาน

และตั้งแต่แคว้นมคธลงไปจนถึงเกาะลังกาเป็นแดนของเถรวาท

บทความ “คัมภีร์บาลีในไตรปิฎกจีน” อันตอนต้นเริ่มด้วยการแบ่งเป็น 2 นิกายของพระพุทธศาสนานับแต่รัชสมัยพระเจ้ากนิษกะมหาราชแห่งอินเดียภาคเหนือ

เป็นงานเรียบเรียงก่อน “สารัตถปรัชญามหายาน” ซึ่งเริ่มตีพิมพ์ในปี 2491

“ข้าพเจ้ารู้สึกว่า การศึกษาพระพุทธศาสนาโดยกว้างขวางนั้น วงการพระปริยัติธรรมของเรายังขาดแคลนหนังสือประเภทนี้มาก”

นั่นคือเจตนาการในการเรียบเรียง “ปรัชญามหายาน” ของ เสถียร โพธินันทะ