วิกฤติศตวรรษที่21 : การแยกตัวจากดอลลาร์สหรัฐของแกนจีน-รัสเซีย-อิหร่าน

โลกหลังอเมริกา : การเคลื่อนย้ายอำนาจโลก (6)

การแยกตัวจากดอลลาร์สหรัฐของแกนจีน-รัสเซีย-อิหร่าน

แกนจีน-รัสเซีย-อิหร่านล้วนมีประสบการณ์ตรงจากการแซงก์ชั่นของสหรัฐ เบาบ้าง หนักบ้าง ขึ้นอยู่กับสภาพภูมิรัฐศาสตร์และสถานการณ์

ที่โดนหนักที่สุดคือ อิหร่าน เนื่องจากเป็นประเทศขนาดเล็ก และมีเศรษฐกิจพึ่งพาการส่งออกน้ำมันเป็นสำคัญ ทำให้ “ล้อมกรอบ” ได้ง่าย

ทั้งอิหร่านยังขึ้นมาท้าอิทธิพลของสหรัฐในภูมิภาคตะวันออกกลางอย่างเปิดเผยและแยบยล ตั้งแต่การปฏิวัติอิสลามปี 1979

สำหรับรัสเซียนั้นเนื่องจากตั้งอยู่ใน “ดินแดนหัวใจ” ซึ่งทำให้ประเทศมหาอำนาจใดที่ต้องการจะเป็นใหญ่ในยุโรปหรือในโลก จำต้อง “ล้อมกรอบ” โจมตีดินแดนบริเวณนี้ ดังที่พระเจ้านโปเลียนแห่งฝรั่งเศส และอดอล์ฟ ฮิตเลอร์ผู้นำเยอรมนีได้กระทำมาแล้ว

สหรัฐใช้โอกาสการล่มสลายของสหภาพโซเวียตรุกคืบไปในดินแดนยุโรปตะวันออกที่เคยเป็นเขตอิทธิพลของโซเวียต

และที่สำคัญก็คือการเข้าไปก่อการปฏิวัติสี และสร้างรัฐบาลที่สนับสนุนตะวันตกขึ้นในประเทศยูเครน ซึ่งรัสเซียไม่สามารถยอมได้

ยูเครนนี้ตั้งอยู่ในบริเวณที่เรียกว่า “ดินแดนหัวใจ” ด้วย ความสำคัญทางยุทธศาสตร์ของยูเครนต่อรัสเซียก็คือ รัสเซียมีการฐานทัพเรือขนาดใหญ่อยู่ที่แหลมไครเมีย โดยมีสัญญาเช่ากับยูเครน

ถ้าหากรัสเซียเสียยูเครน ก็เท่ากับสูญเสียอำนาจทางทะเลในทะเลดำให้แก่สหรัฐ ที่สามารถครอบงำประเทศจอร์เจียได้แล้ว

ทะเลดำนี้เป็นเส้นทางหลักในการเชื่อมต่อกับทะเลเมดิเตอร์เรเนียน สู่ตะวันออกกลางและแอฟริกาตอนเหนือจนถึงมหาสมุทรแอตแลนติก

รัสเซียตอบโต้สหรัฐด้วยการผนวกแหลมไครเมีย โดยที่สหรัฐและตะวันตกไม่ทันตั้งตัว แม้แต่ทหารยูเครนที่ประจำการอยู่ที่นั้นเอง ก็ไม่ทันได้ต่อสู้

นอกจากนี้ รัสเซียยังส่งหน่วยปฏิบัติการพิเศษไปสนับสนุนการต่อสู้ของกลุ่มที่ต้องการแบ่งแยกดินแดนยูเครนตะวันออกมารวมกับรัสเซีย

ซึ่งสหรัฐและตะวันตกได้ตอบโต้ด้วยการแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจอย่างรุนแรงและต่อเนื่อง เพื่อให้รัสเซียยอมคายไครเมียและยูเครนด้านตะวันออก

แต่ปูตินก็ไม่ยินยอม ทำสิ่งตรงข้ามกับความปรารถนาของสหรัฐ

นั่นคือสร้างสะพานเชื่อมแผ่นดินรัสเซียกับแหลมไครเมีย เป็นสะพานใหญ่ มีทั้งเส้นทางรถยนต์และทางรถไฟ ความยาว 19 กิโลเมตร คาดว่าจะเปิดใช้งานได้ในเดือนธันวาคม 2018

อย่างไรก็ตาม การถูกแซงก์ชั่นดังกล่าวก่อความเจ็บปวดแก่รัสเซียอย่างไม่รู้ลืม

สําหรับจีนนั้นถูกแซงก์ชั่นเบากว่าใคร เนื่องจากอยู่ไกลจากยุโรปและตะวันออกกลางที่เป็นยุทธศาสตร์สำคัญของสหรัฐ

นอกจากนี้ จีนยังเดินนโยบาย “ซ่อนตัว” ทำให้ชาวตะวันตกเชื่อในเรื่อง “การรุ่งเรืองอย่างสันติของจีน” หลบเลี่ยงการเฝ้าสังเกตจากสหรัฐ จนสามารถเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลกได้ในปลายปี 2001 สมัยประธานาธิบดีบุชผู้ลูก

ซึ่งฝ่ายขวาในสหรัฐยังเสียใจจนถึงทุกวันนี้ว่า ไม่ควรปล่อยให้จีนเข้ามาเป็นสมาชิก ซึ่งจะทำให้สามารถแซงก์ชั่นทางเศรษฐกิจต่อจีนได้ง่ายกว่านี้

อย่างไรก็ตาม เล่ากันว่าที่สหรัฐปล่อยให้จีนเข้าเป็นสมาชิกองค์การการค้าโลก ก็ด้วยเหตุผล 2 ประการ

ประการแรก จีนได้ช่วยสหรัฐรักษาโครงสร้างการเงินโลกที่ถูกกระทบอย่างรุนแรงจากวิกฤติการเงินเอเชียในปี 1997 ที่เรียกว่าวิกฤติต้มยำกุ้ง

วิกฤตินี้ลามไปยังกลุ่มประเทศละตินอเมริกา รัสเซีย และสู่อเมริกา ในวันที่ 3 สิงหาคม 1998 ดัชนีหุ้นดาวโจนส์ตกลง 300 จุด และในวันที่ 31 สิงหาคม ยังตกไปอีก 512 จุด กระทบต่อสถาบันการเงินลองเทิร์ม แคปิตัล แมเนจเมนต์ที่เป็นเฮดจ์ฟันด์ใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของสหรัฐ

ธนาคารกลางสหรัฐต้องระดมความช่วยเหลืออัดฉีดเงิน 3.5 พันล้านดอลลาร์ เพื่อให้รอดพ้นจากการล้มละลาย ส่วนจีนนั้นช่วยรับภาระทางด้านเอเชีย อัดฉีดเงินและช่วยสร้างกลไกทางการเงินจนกระทั่งพ้นวิกฤติไปได้

จีนยังช่วยเหลือสหรัฐในเฉพาะหน้า (ปี 2001) อีกประการหนึ่งก็คือ สหรัฐต้องการความร่วมมือจากประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในสงครามต่อต้านการก่อการร้าย ที่ต้องทำสงครามยึดครองอัฟกานิสถาน และต่อมาอิรัก ซึ่งจีนก็ไม่ได้ขัดขวางอะไร

สรุปก็คือเป็นเรื่องของผลประโยชน์ต่างตอบแทน สหรัฐไม่ได้ไว้วางใจแก่จีนแต่อย่างใด

AFP PHOTO / ZACH GIBSON

สถานการณ์เปลี่ยนไปในปี 2011 ในสมัยประธานาธิบดีโอบามา เมื่อกลุ่มอำนาจนำของสหรัฐมองเห็นภัยคุกคามจากจีนชัดเจนขึ้น ประกาศนโยบาย “ปักหลัก” เอเชีย คล้ายกับว่าจะถอนกำลังจากส่วนอื่นมาล้อมกรอบจีน

แต่ในการปฏิบัติก็ไม่สามารถถอนจากยูเครน ตะวันออกกลาง และแอฟริกามาได้ เท่ากับว่าเป็นการเป็นสนามรบใหม่เพิ่มขึ้นอีก โดยอาศัยสถานการณ์คาบสมุทรเกาหลีเป็นเชื้อปะทุ

เมื่อจีนรู้สึกว่าตนตกเป็นเป้าหมายการล้อมกรอบ ก็เริ่มโต้กลับ

ตั้งแต่สีจิ้นผิงขึ้นสู่อำนาจในปี 2013 เช่น การประกาศ “เขตห้ามบิน” ในทะเลจีนตะวันออก ซึ่งสหรัฐไม่ยอมรับ ทำให้การเผชิญหน้ากันชัดเจนขึ้น เพียงแต่ว่าอาศัยที่โอบามาเป็นคนสุขุม แสดงออกภายนอกนิ่มนวล ใช้ประเด็นความร่วมมือ เช่น ด้านสิ่งแวดล้อม มากลบเกลื่อนความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ-การเมือง

ถึงสมัยประธานาธิบดีทรัมป์ที่ดำเนินนโยบาย “อเมริกาเหนือชาติใด” สิ่งที่ถูกกลบเกลื่อนอยู่ก็เปิดเผยตนเองอย่างชัดแจ้ง

นั่นคือ สหรัฐไม่ต้องการเสียเปรียบดุลแก่จีนปีละนับแสนล้านดอลลาร์อีกต่อไป และคุกคามที่จะทำสงครามการค้าและเศรษฐกิจกับจีน

จากประสบการณ์ตรงของแต่ละประเทศที่มีรายละเอียดต่างกัน แต่ก็มีผลสรุปร่วมกัน การต่อสู้กับการแซงก์ชั่น และสงครามเศรษฐกิจของสหรัฐนั้น ชี้ขาดอยู่ที่การแยกตัวจากเงินดอลลาร์สหรัฐให้ได้

ถ้าหากจีน-รัสเซีย-อิหร่าน ยังคงพัฒนาเศรษฐกิจของตนโดยใช้ฐานเงินดอลลาร์ต่อไป ก็มีแต่จะตกเป็นเบี้ยล่าง ถูกสหรัฐแซงก์ชั่นโขกสับอย่างไม่รู้จบ

ความขัดแย้งและการต่อสู้ที่ดุเดือดในโลกนี้ มีรากฐานอยู่ที่สงครามเศรษฐกิจดังกล่าว

กล่าวอย่างแบ่งข้างก็มีสองฝ่าย

ฝ่ายหนึ่งได้แก่ โลกาภิวัตน์เก่า ที่นำโดยแนวคิด “ฉันทามติวอชิงตัน” ซึ่งเกิดขึ้นในช่วงราวปี 1989 (ประจวบกับเหตุการณ์ทลายกำแพงเบอร์ลินในปีเดียวกัน) เป็นชุดนโยบายทางเศรษฐกิจสำหรับประเทศทั้งหลายโดยเฉพาะประเทศกำลังพัฒนาที่ได้รับการเห็นพ้องจากกองทุนการเงินระหว่างประเทศหรือไอเอ็มเอฟ ธนาคารโลก และกระทรวงการคลังสหรัฐ ที่มีสำนักงานใหญ่ที่กรุงวอชิงตัน รู้จักกันอีกชื่อหนึ่งว่าลัทธิเสรีนิยมใหม่ เป็นการสร้างกระบวนโลกาภิวัตน์ที่ใช้เงินดอลลาร์สหรัฐเป็นฐาน (เสริมด้วยเงินปอนด์ของอังกฤษ และเงินยูโร กับเงินเยน)

อีกฝ่ายหนึ่งได้แก่ โลกาภิวัตน์ใหม่ ที่อาจตั้งชื่อได้ว่า “ฉันทามติเซี่ยงไฮ้”

เป็นชุดนโยบายพัฒนาเศรษฐกิจของจีน-รัสเซียกับบางประเทศในเอเชียกลาง จนสร้างแกนจีน-รัสเซีย-อิหร่านได้ในปี 2008 เมื่ออิหร่านที่เป็นสมาชิกสังเกตการณ์ขอสมัครเข้าเป็นสมาชิกเต็มตัวขององค์การความร่วมมือเซี่ยงไฮ้ คาดกันว่าอาจได้เป็นสมาชิกเต็มตัวในปี 2018 นี้

“ฉันทามติเซี่ยงไฮ้” เป็นโลกาภิวัตน์ที่ต้องการให้เงินหยวนเป็นฐานเศรษฐกิจโลก ดูจากสถานการณ์ปัจจุบันแล้วยังต้องใช้เวลาอีกไม่น้อย เพราะเศรษฐกิจโลกยังใช้เงินดอลลาร์เป็นฐานหลัก แม้ว่าจะมีขนาดเล็กลงก็ตาม

การต่อสู้ดังกล่าวมีลักษณะเป็นเชิงโครงสร้าง ต้องบดบี้กันยาวนาน ไม่ได้เกิดจากผู้นำคนหนึ่งคนใด (อย่างเช่น มีการกล่าวโทษทรัมป์ว่าเป็นต้นเหตุ) และจะส่งผลให้ทั้งโลกตกอยู่ในความเสี่ยงมากขึ้น

ดังจะเห็นได้จาก “รายงานความเสี่ยงโลก” ที่เผยแพร่ในการประชุมประจำปี 2018 ของ “เวทีเศรษฐกิจโลก” ที่สวิตเซอร์แลนด์ ในปลายเดือนมกราคมนี้

เอกสารนี้ประมวลขึ้นจากทัศนะของนายธนาคารใหญ่ ผู้บริหารระดับสูงของบรรษัทและรัฐบาล นักวิชาการชั้นนำทั่วโลกจำนวน 1,000 คน ให้ภาพความเสี่ยงโลกที่สูงขึ้นมาก ชื่อเอกสารว่า “ความปริร้าว ความหวาดกลัว และความล้มเหลว”

ตัวอย่างชื่อบทเช่น “พายุฝนทางเศรษฐกิจ” “การช็อกจากอนาคต” ซึ่งมีหลายประเด็น ได้แก่ เรื่องการเก็บเกี่ยวที่ล้มเหลว ความตายของการค้า ประชาธิปไตยที่บิดเบี้ยว (ในประเทศพัฒนาแล้ว) การดิ่งลึกสู่ก้นบึ้ง (ของความขัดแย้งทางเศรษฐกิจ-การเมือง) สงครามที่ไร้กฎเกณฑ์ ความเหลื่อมล้ำที่ซึมซ่าน และการสร้างรั้ว

และยังมีบทว่าด้วย “การเคลื่อนย้ายอำนาจทางภูมิรัฐศาสตร์” เมื่อนายธนาคารและผู้บริหารระดับสูงของบรรษัทและรัฐบาลอยู่ในขั้น “นอนไม่หลับ” เหล่าพลเรือนชาวรากหญ้าก็ควรเตรียมพร้อมไว้

ประสบการณ์ของอิหร่าน

เศรษฐกิจการต่อต้าน (Resistance Economy)

หลังการปฏิวัติอิสลามในปี 1979 อิหร่านก็ต้องเผชิญกับการแซงก์ชั่นและแรงกดดันอย่างหนักและต่อเนื่องจากสหรัฐ-ตะวันตก

เช่น ขณะที่เกิดสงครามอิหร่าน-อิรักยาวนานเกือบสิบปี สหรัฐได้เพิ่มมาตรการแซงก์ชั่นแก่อิหร่าน และหนุนหลังอิรัก

การแซงก์ชั่นอิหร่านนั้นกระทำทั้งโดยใช้มติของคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติ และกระทำไปโดยลำพัง

เช่น ในปี 2002 ประธานาธิบดีบุชผู้ลูก ก่อนที่จะทำสงครามรุกรานอิรัก ได้กล่าวปราศรัยว่า อิหร่านอยู่ในกลุ่ม “แกนแห่งความชั่วร้าย” ร่วมกับอิรักและเกาหลีเหนือ

ดังนั้น ตั้งแต่การปฏิวัติอิสลาม อิหร่านทำหน้าที่เป็นแกนกลางสำหรับการก่อรูปนโยบายต่างประเทศของสหรัฐต่อภูมิภาคมหาตะวันออกกลาง เหมือนฝุ่นสำหรับให้ไอน้ำจับตัวเป็นหยดน้ำและตกลงมาเป็นฝน

นโยบายตะวันออกกลางอื่นของสหรัฐได้แก่ การสนับสนุนซาอุดีอาระเบียและกลุ่มรัฐอ่าวอาหรับเพื่อต้านอิทธิพลอิหร่าน และการสร้างสันติภาพอิสราเอล-ปาเลสไตน์ เพื่อให้อิสราเอลเป็นที่ยอมรับในประเทศอาหรับ และร่วมกันต้านอิหร่าน

แต่นโยบายท้ายนี้ปฏิบัติไม่สำเร็จ จนถึงสมัยทรัมป์เรื่องดูยิ่งบานปลายขึ้นไปอีก

ชุดนโยบายตะวันออกกลางของสหรัฐนี้ มีเป้าประสงค์สูงสุดเพื่อป้องกันไม่ให้มหาอำนาจอื่นเข้ามามีอิทธิพลในตะวันออกกลางได้ ที่เรียกว่าสงครามต่อต้านการก่อการร้ายเป็นเพียงข้ออ้างบังหน้า ซึ่งจะหลุดลอกในที่สุด

การแซงก์ชั่นของสหรัฐ-ตะวันตกต่ออิหร่านมีที่สำคัญได้แก่

ก) การทำลายอุตสาหกรรมพลังงานของอิหร่าน อย่างถึงราก เป็นเหมือนการตัดเส้นเลือดใหญ่

ข) การอายัดทรัพย์สินของอิหร่านเป็นจำนวนหลายหมื่นล้านดอลลาร์

ค) การตัดกิจการธนาคารของอิหร่านออกจากระบบ เป็นต้น ทำให้ค่าเงินอิหร่านหล่นฮวบ การพัฒนาเศรษฐกิจเป็นไปอย่างยากลำบาก แต่อิหร่านก็หาทางตอบโต้

การตอบโต้สำคัญของทางฝ่ายอิหร่านได้แก่ การสร้างเศรษฐกิจการต่อต้านขึ้น ผู้นำสูงสุด อยาตุลเลาะห์ อาลี คาเมนี (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 1989 ถึงปัจจุบัน) ได้เสนอทฤษฎีเศรษฐกิจการต่อต้านตั้งแต่ราวปี 2010 และได้เสนออย่างต่อเนื่องในโอกาสต่างๆ

ทฤษฎีเศรษฐกิจการต่อต้าน ไม่ใช่ของใหม่ แต่ว่าเหมาะเจาะกับอิหร่าน นั่นคือเป็นทั้งแนวหน้าและรากฐานของการปฏิวัติอิสลามในอิหร่าน

ที่ว่าเป็นแนวหน้าได้แก่ การป้องกันเศรษฐกิจจากการแซงก์ชั่น และอิทธิพลภายนอก ที่เป็นรากฐานก็คือเมื่อเศรษฐกิจพัฒนาและมั่นคง ก็ประกันให้สามารถรักษาความบริสุทธิ์ของการปฏิวัติได้

หลักการของเศรษฐกิจการต่อต้านที่สำคัญได้แก่การผลิตในท้องถิ่นเพื่อท้องถิ่น นั่นคือใช้ทรัพยากร เงินทุน แรงงาน และเทคโนโลยีภายในประเทศให้สูงสุด เพื่อความมั่นคงทางอุตสาหกรรม เศรษฐกิจ ยกระดับความเป็นอยู่ของประชาชนและการมีงานทำ

ประธานาธิบดี ฮัสซัน โรฮานี (ดำรงตำแหน่งตั้งแต่ปี 2013 จนถึงปัจจุบันเป็นสมัยที่สอง) อยู่ในสายปฏิรูป ต้องการเปิดเศรษฐกิจของประเทศ ได้ยอมรับทฤษฎีเศรษฐกิจการต่อต้าน ประกาศเป็นนโยบายของรัฐบาล

แต่ในทางปฏิบัติก็ยังไม่เป็นที่ถูกใจของปีกปฏิวัติอิสลามเท่าใดนัก

เขากระตือรือร้นที่จะเจรจาทำข้อตกลงกับสหรัฐในเรื่องการพัฒนาพลังงานนิวเคลียร์ จนกระทั่งสามารถตกลงกันได้ในปลายปี 2015

แต่คาเมนีเห็นว่าสหรัฐเลิกแซงก์ชั่นแต่บนกระดาษ แต่ในทางปฏิบัติยังคงทำอยู่ และว่า ไม่ควรเฝ้ารอเงินลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งไม่แน่นอน เรียกร้องสูง และมักไม่มาจริง

ในต้นปี 2017 คาเมนีได้ปราศรัยว่า เศรษฐกิจการต่อต้านหมายถึงการผลิตที่เป็นจริงและการจ้างงาน

ดังนั้น ในอิหร่านเองก็มีความขัดแย้งทางนโยบายและการสร้างอัตลักษณ์ประเทศในหมู่ชนชั้นนำเข้มข้นอยู่ไม่น้อย

การออกมาประท้วงครั้งใหญ่ชาวอิหร่านในเดือนธันวาคม 2017 ต่อปัญหาทางเศรษฐกิจ ได้แก่ ราคาเชื้อเพลิง และอาหารสูงขึ้น สวัสดิการของรัฐลดลง ทั้งมีปัญหาการว่างงานโดยเฉพาะในหมู่เยาวชน ที่เป็นกำลังสำคัญในการประท้วง มีการปะทะกันถึงขั้นบาดเจ็บล้มตายจำนวนหนึ่ง

นอกจากนี้ การคุกคามจากสหรัฐที่จะเลิกข้อตกลงนิวเคลียร์ และแซงก์ชั่นอิหร่านหนักขึ้น จะทำให้ทฤษฎีเศรษฐกิจการต่อต้านของปีกปฏิวัติแข็งแรงขึ้น และอิหร่านไม่มีทางเลือก นอกจากการหันหน้าไปสู่ตะวันออก

ฉบับต่อไปจะกล่าวถึงประสบการณ์การถูกแซงก์ชั่นและการตอบโต้ของรัสเซีย