คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง : ช้าหงส์และพราหมณ์ “ยองๆ ไหว้” ในพระราชพิธีตรีปวายตรียัมปวาย

คมกฤช อุ่ยเต็กเค่ง

ผมไปงานพระราชพิธีตรีปวายตรียัมปวายของปีนี้อยู่สองวัน คือวันที่สวดสักการะธรรมดา กับวันช้าหงส์ส่งพระอีศวร

ไปแล้วก็พยายามสังเกตอะไรหลายอย่าง พบสิ่งที่พราหมณ์สยามท่านพยายามรักษาไว้ดีมาก รวมทั้งความเปลี่ยนแปลงเล็กๆ น้อยๆ ในเชิงพิธีกรรม

ความเปลี่ยนแปลงที่ว่าคือ วันที่สวดถวายสักการะ “มุไรยสถานพระอีศวร” ได้เห็นท่านพระมหาราชครูฯ แสดง “มุทรา” เมื่อจะถวายข้าวตอกผลาหารกระยาบวชแด่พระเป็นเจ้า

ผมเข้าใจว่า ปกติในการถวายเครื่องกระยาบวชทั้งหลาย (ข้าวตอก กล้วยไข่ ส้มเขียวหวาน มะพร้าว ฯลฯ) พระมหาราชครูฯ จะไปพรมน้ำเทพมนตร์ พราหมณ์จะยก “อุลุบ” ถวายเท่านั้น ไม่ได้มีการแสดงมุทรา

แต่การที่ท่านแสดง “เธนุมุทรา” ก่อนจะถวายนี้ ท่านคงปรับมาจากธรรมเนียมของพราหมณ์ฮินดูฝ่ายอินเดียอีกที เพราะฝ่ายอินเดียทำเช่นนี้ และท่านพระมหาราชครูฯ ก็ทราบธรรมเนียมอินเดียมาก

น่าสนใจ น่าสนใจ

 

ส่วนธรรมเนียมเก่าๆ ที่พราหมณ์สยามรักษาไว้นั้นมีอะไรที่น่าดูมากมาย เช่นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างการใช้ผ้ากราบ และการนุ่งห่มของท่านพระมหาราชครูฯ เอง

เมื่อกระทำพิธีในพระเทวสถานนั้น ท่านพระมหาราชครูฯ นุ่งห่มอย่าง “กระทำพิธีทั้งปวง” คือท่านไม่ได้สวมเสื้อราชปะแตน อย่างที่เรามักเห็นท่านในสื่อ แต่ท่านจะสวมเสื้อแขนยาวมีชายยาวสีขาวผ่าหน้า ทว่าจะลดไหล่ลงข้างหนึ่งแล้วพับเอาแขนข้างหนึ่งพาดบ่า คล้ายการนุ่งเฉวียงบ่าของพระภิกษุ

ธรรมเนียมการลดบ่าลงข้างหนึ่งนี้เป็นธรรมเนียมการแสดงความเคารพของอินเดียมาแต่โบราณ ดังปรากฏในพระวินัยของพระภิกษุ แม้แต่ฆราวาสก็ทำดังเช่นในทิเบตทุกวันนี้ เมื่ออุบาสกอุบาสิกาไปฟังธรรม ก็ต้องลดไหล่เสื้อตัวนอกลงข้างหนึ่งเป็นธรรมเนียมปฏิบัติ

ผมนึกไปถึงพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ภาพหนึ่ง ที่มักบรรยายกันว่า กำลังทรงอุโบสถศีล ก็ทรงพระภูษาอย่างท่านพระมหาราชครูฯ นี่แล

ถ้าเป็นการพระราชพิธี หรือเข้าเฝ้าทูลละอองธุลีพระบาท เข้าใจว่าพราหมณ์จะต้องสวมครุย แต่ก็มีธรรมเนียมอย่างเดียวกันนี้ เช่น เมื่อเข้าเฝ้าก็สวมครุยปกติ เมื่อประกอบพิธีก็เฉวียงบ่า และเมื่อเป็นพนักงานช่วยการพิธีต่างๆ ก็เอามัดเอวไว้

ผมยังสังเกตว่า บรรดาพราหมณ์ทั้งหลายในพระเทวสถานนั้น ต่างมี “ผ้ากราบ” ประจำตัว ใครต้องสวด ต้องทำพิธีก็เอาเฉวียงบ่า ใครมาเป็นพนักงานช่วยต่างๆ ก็เอามัดเอวไว้ แบบเดียวกับครุย (ซึ่งไม่ใช่ของพราหมณ์ แต่เดิมเป็นของเปอร์เซียหรือตะวันออกกลาง)

ธรรมเนียมนี้เป็นของเก่าแก่ตั้งแต่ครั้งกรุงเก่า ใครต่อใครไม่ได้ถือธรรมเนียมนี้กันแล้ว แต่พราหมณ์สยามยังรักษาไว้อยู่

 

งานวันช้าหงส์ก็สนุกสนานนัก ด้วยเพราะมีการ “ออกร้าน” โรงทานอาหารขนมจำนวนมากจนคนแน่นเทวสถานไปหมด ด้วยเพราะภรรยาท่านพระมหาราชครูฯ ชักชวนให้บรรดาครอบครัวพราหมณ์นำอาหารมาเลี้ยงผู้คน พระราชพิธีค่อนข้างดึกทำให้หาอะไรรับประทานยาก ก็เป็นที่ควรอนุโมทนา

ตรงตามคติโบราณ มาเทวสถานต้องอิ่มทั้งกายและใจกลับไป

ที่จริงสิ่งที่ผมออกจะประทับใจมากที่สุด คือ “ท่ากราบ” ของพราหมณ์ บางท่านอาจเรียกว่า “กระหย่งไหว้” แต่ผมไม่แน่ใจนักว่าควรเรียกว่ากระหย่งไหว้หรือไม่ เพราะพจนานุกรมท่านว่ากระหย่งไหว้ คือการนั่งบนส้นเท้า เข่าราบที่พื้น อย่างกราบพระที่เราทำๆ กัน

แต่ที่พราหมณ์ท่านทำนั้น ท่านนั่ง “ยองๆ” ทอดผ้ากราบลง แล้วก้มลงกราบจากท่ายองๆ นั้น

มีคนบอกผมว่า ในหลายวัดยังมีธรรมเนียมที่พระปลงอาบัติกันด้วยท่านั่งยองๆ เช่นนี้ แต่เรียกว่า “กระหย่งไหว้” ตามพระวินัย บางท่านบอกว่าเป็นท่าเก่า (ดังมีภาพเขียนในหอพระไตรปิฎกวัดบวรนิเวศวิหาร และท่านั่งจากรูปปั้นภิกษุในวัดเทพธิดาราม)

ถามผู้รู้ทางพระวินัย ท่านว่า ท่าที่กำหนดในพระวินัยนั้น เรียกว่า “อุกฺกุฏิกํ นิสินฺน” ท่านก็บอกว่าคือท่านั่งวางเข่าลงที่พื้น ก้นทับส้นเท้าอย่างท่าจะกราบปกตินั่นแล ไม่ใช่ท่านั่งยองที่ไหน ท่านี้เอาไว้สำหรับทำสังฆกรรมต่างๆ ผู้รู้ทางสันสกฤตก็ว่า ในอินเดียท่านี้แสดงถึงการสยบยอมหรือแสดงความนอบน้อม

ผมคิดว่า ท่ายองๆ ไหว้ทั้งของพราหมณ์และของพระภิกษุนี้ ไม่ใช่ธรรมเนียมอินเดียแน่ๆ เพราะไม่เคยเห็นท่านี้ในพิธีกรรมใดๆ ทั้งของพุทธพราหมณ์ในอินเดีย เว้นแต่ชาวบ้านนั่งกันเองตามถนัด

แต่เป็นท่าแสดงความเคารพพื้นเมืองของอุษาคเนย์เอง (และลังกา?) ที่เมื่อรับพราหมณ์และพุทธแล้ว ก็เอาท่านี้เข้าไปใช้ในพิธีกรรมด้วย ดังมีหลักฐานทางโบราณคดี เช่น ภาพจิตรกรรม ประติมากรรม หรือหลักฐานโครงกระดูกมนุษย์โบราณที่แสดงให้เห็นว่า กระดูกมนุษย์แถวๆ นี้มีจุดเสื่อมที่เกิดจากการนั่งยองๆ มาแต่ดึกดำบรรพ์

ถามพราหมณ์อินเดียท่านก็ว่าไม่มีท่านี้ การแสดงความเคารพของพราหมณ์ ถ้าอย่างเป็นกราบ โดยมากก็เป็น อัษฏางคะ คือกราบมีองค์แปด ร่างกายราบไปกับพื้น ไม่นั่งยอง

บางท่านว่า พระสงฆ์ที่นั่งยองๆ ปลงอาบัติเอาอย่างมาจากมอญ ซึ่งก็เป็นอุษาคเนย์ด้วยกันนี่แหละ แต่จะทางไหน ก็ยังไม่พบในอินเดีย

 

ในวันช้าหงส์ ผมได้มีโอกาสคุยกับพี่ๆ นักวิชาการด้านคติชนและโบราณคดี ที่มาสังเกตการณ์ด้วยความบังเอิญ คุยๆ กันไปมีท่านหนึ่งพูดขึ้นมาว่า “ช้าหงส์นี่พื้นเมืองใช่ไหม เหมือนเรือนกส่งวิญญาณ”

ได้ฟังผมก็แวบขึ้นมา เพราะไม่ได้คิดถึงเรื่องนี้มาก่อน

การช้าหงส์คือนำเทวรูปขึ้นประดิษฐานในชิงช้าทำรูปหงส์ แล้วมีพราหมณ์ขับสวดพร้อมกับไกวหงส์นั้น สมมุติว่าได้ส่งพระเป็นเจ้ากลับสวรรค์ กระทำในช่วงสุดท้ายของพระราชพิธี

ในโบสถ์พระเป็นเจ้าของสยามจึงมีเสาหงส์กลางเทวสถานสำหรับช้าหงส์ส่งพระเป็นเจ้าแต่ละพระองค์

 

ผมเคยเขียนเรื่องโล้ชิงช้าไปแล้ว จึงไม่ขอเขียนรายละเอียดในที่นี้ ทว่าการสนทนาในวันนั้น ท่านอาจารย์เชษฐ์ ติงสัญชลี พูดอะไรขึ้นมาที่ช่วยกระตุกต่อมคิดว่า “ในอินเดีย การโล้ชิงช้า (โทละ) ถวายพระเจ้าเป็นการ entertain เนอะ ไม่ใช่การส่งเสด็จ”

เท่าที่จำได้ก็เป็นอย่างที่อาจารย์เชษฐ์ท่านพูดจริงๆ ครับ การโล้ชิงช้าในอินเดีย ทั้งที่เป็นการถวายงานพระเป็นเจ้าหรือโล้กันเอง ล้วนมีนัยยะทางความบันเทิงสนุกสนาน และนัยทางกามารมณ์

ชิงช้ามันอีโรติกอย่างไร ผมคิดว่ามันก็แสดงอาการเข้าๆ ออกๆ โย้ไปเย้มาชัดๆ อยู่แล้ว มันถึงใช้ในพิธีแต่งงานของฮินดูและถวายงานพระเป็นเจ้าเมื่อจะเข้าพระบรรทม หรืองานแต่งงานของพระเป็นเจ้า

พราหมณ์ ปส.ศาสตรี บอกว่ามีพิธีของอินเดียในช่วงใกล้พระราชพิธีของเราเรียกว่า มาฆวิธานัม เอาพระเป็นเจ้าขึ้นชิงช้า ส่วนน้องที่เคารพท่านหนึ่งไปค้นคัมภีร์ปุราณะว่า ในเดือนไจตระของแขกก็มีพิธีเอาพระศิวลึงค์ขึ้นชิงช้า แต่ไม่ได้ระบุเป็นเรือหงส์หรือจะส่งเสด็จอะไร ผมจึงคิดว่าคงไม่ใช่พิธีเดียวกัน

 

คุณกรกิจ ดิษฐาน เคยอ้างถึงทฤษฎีหนึ่งของนักวิชาการต่างประเทศที่ท่านตีความว่า การโล้ชิงช้าเกี่ยวพันกับดาราศาสตร์ และการเคลื่อนของดวงดาว ข้อนี้ผมยังไม่ปักใจเชื่อนัก

แต่ทั้งนี้อุษาคเนย์มีความเชื่อเรื่องเรือนาคที่จะพาดวงวิญญาณผู้ตาย รวมทั้งความเชื่อเรื่อง “นกส่งวิญญาณ” ไปเมืองฟ้าแดนแถน ดังปรากฏเรือนรูปนก ภาพนกบนกลองมโหระทึก และเมรุนกหัสดีลึงค์ในพิธีส่งสการ (เผาศพ) พระภิกษุและเจ้านาย ล้านนา-ล้านช้าง

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงอยากลองเสนอว่า ทั้งท่ากราบของพราหมณ์สยามและพิธีช้าหงส์ส่งพระเป็นเจ้านี้ เป็นการประยุกต์เอารูปแบบ และความเชื่อพื้นเมืองที่ผสานเข้ากันได้พอดีกับทางอินเดีย (คือไม่ถึงกับไม่มีอะไรเหมือนกันเสียทีเดียว) มาเป็นพิธีของสยามเราแต่โบราณ

ที่จริงยังมีอะไรเล็กๆ น้อยๆ ที่น่าสนใจจากการไปพระเทวสถานครานี้อีก

ถ้าไม่เลือนไปเสียก่อนคงจะได้นำเสนออีกครับ