อำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ชุดใหม่ | ลึกแต่ไม่ลับ

จรัญ พงษ์จีน

ระเบิดอย่างเป็นทางการแล้ว เมื่อวันที่ 20 พฤษภาคม วันแรกของการสมัครรับเลือกเป็น “สมาชิกวุฒิสภา” หรือ “ส.ว.ชุดใหม่” เพื่อมาทำหน้าที่แทนชุดเก่า 250 คน ที่สิ้นสุดลงตามบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2560 ไปตั้งแต่วันที่ 11 พฤษภาคมที่ผ่านมา

“วุฒิสภา” ชุดใหม่มาตามช่องทางแห่งมาตรา 107 ของรัฐธรรมนูญฉบับเดียวกันที่ระบุไว้ว่า วุฒิสภาประกอบด้วยสมาชิกจำนวน 200 คน ซึ่งมาจากการเลือกตั้งกันเองของบุคคลซึ่งมีความรู้ความเชี่ยวชาญ ประสบการณ์ อาชีพ ลักษณะ หรือประโยชน์ร่วมกัน หรือทำงาน หรือเคยทำงานด้านต่างๆ ที่หลากหลายของสังคม โดยการแบ่งกลุ่มต้องแบ่งลักษณะที่ทำให้ประชาชน ซึ่งมีสิทธิสมัครรับเลือกทุกคน สามารถอยู่ในกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดได้

“การแบ่งกลุ่ม-จำนวนกลุ่ม” และคุณสมบัติในแต่ละกลุ่ม การสมัครและรับสมัคร หลักเกณฑ์และวิธีการเลือกกันเอง การได้รับเลือก จำนวนสมาชิกวุฒิสภา ที่จะพึงมีจากแต่ละกลุ่ม การขึ้นบัญชีสำรอง การเลื่อนบุคคลจากบัญชีสำรองขึ้นดำรงตำแหน่งแทน และมาตรการอื่นใดที่จำเป็น เพื่อให้การเลือกกันเองเป็นไปโดยสุจริตและเที่ยงธรรม ให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา และเพื่อประโยชน์ในการดำเนินการให้การเลือกตั้งดังกล่าว เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม จะกำหนดมิให้ผู้สมัครในแต่ละกลุ่มเลือกบุคคลในกลุ่มเดียวกัน หรือจะกำหนดให้มีการคัดกรองผู้สมัครรับเลือกด้วยวิธีการอื่นใดที่ผู้สมัครรับเลือกมีส่วนร่วมในการคัดกรองก็ได้

ซึ่งในเวลาต่อมา ทาง กกต.ได้ประกาศข้อบังคับของพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วย “การได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา” มีการแบ่งกลุ่มรับสมัครจำนวน 20 กลุ่มสาขาอาชีพ และได้ทยอยกันลงสมัครรับเลือกเป็น ส.ว.กันไปแล้วนั้น และจะไปปิดจ๊อบในวันที่ 29 พฤษภาคม เป็นวันสุดท้าย ขณะที่เมื่อตามไปดูบรรยากาศวันรับสมัครในช่วงต้นๆ คาดว่า “ศึกเลือกตั้ง ส.ว.” สูตรเลือกกันเอง มีความคึกคักมากพอสมควร ตัวเลขผู้สมัครน่าจะทะลุหลัก 2 แสนคนทั่วประเทศ จาก 928 อำเภอ 77 จังหวัด

ผลการเลือกตั้ง ส.ว.ชุดใหม่จะเสร็จสิ้นสมบูรณ์ ตามไทม์ไลน์ จากขั้นตอนระดับอำเภอ-ระดับจังหวัด-และระดับประเทศ สามารถประกาศรายนาม ส.ว. 200 คนได้ในวันที่ 2 กรกฎาคม 2567

 

อย่างไรก็ตาม หลังปิดรับสมัครเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ผู้สมัครทุกคนต้องเรียนรู้ก่อนคือ “กฎเหล็ก กกต.” หรือระเบียบในการแนะนำตัว วางตัว ว่ามีอะไร “ทำได้-ทำไม่ได้ หรือไม่ควรทำ” ที่ กกต.กำหนดไว้ ผู้สมัครต้องปฏิบัติอย่างเคร่งครัด ป้องกันการถูกตามสอยย้อนหลัง ต้องดูไว้เป็นคู่มือ ประกอบการแนะนำตัว

“เงื่อนไขว่าด้วยการแนะนำตัว”

1. ผู้สมัครสามารถพิมพ์ประวัติ ประสบการณ์ ลงในกระดาษ เอ 4 ไม่เกิน 2 หน้า

2. ให้ผู้สมัครแนะนำตัวโดยวิธีการอิเล็กทรอนิกส์ด้วยตนเองได้ แต่เฉพาะผู้สมัครด้วยกัน

3. การมีผู้ช่วยเหลือ ให้ผู้สมัครแจ้งชื่อเป็นลายลักษณ์อักษร ต่อผู้อำนวยการเลือกตั้งประจำจังหวัด ก่อนวันดำเนินการ ยกเว้น สามี ภรรยา หรือบุตร

“ข้อห้ามในการแนะนำตัว”

1. ห้ามผู้สมัคร หรือผู้ช่วยผู้สมัครนำสถาบันพระมหากษัตริย์มาเกี่ยวข้องกับการแนะนำตัว

2. ห้ามกระทำการฝ่าฝืนข้อห้ามตามที่กำหนดไว้ในกฏหมายว่าด้วยการได้มาซึ่งสมาชิกวุฒิสภา

3. ห้ามผู้ประกอบอาชีพสื่อมวลชน หรือสื่อโฆษณา เช่น นักแสดง นักร้อง นักดนตรี พิธีกร เป็นต้น ใช้ความสามารถ หรือวิชาชีพดังกล่าว เพื่อเอื้อประโยชน์ในการแนะนำตัว

4. ห้ามแจกเอกสารเกี่ยวกับการแนะนำตัวโดยวิธีการวางโปรย หรือติดประกาศในที่สาธารณะ

5. ห้ามแนะนำตัวโดยใช้ถ้อยคำที่รุนแรง หรือปลุกระดมก่อให้เกิดความไม่สงบขึ้นในพื้นที่

6. ห้ามแนะนำตัวทางวิทยุ โทรทัศน์ หรือสื่อสิ่งพิมพ์ รวมถึงการให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชน นักข่าว หรือสื่อโฆษณา ซึ่งเผยแพร่ผ่านบริการแพลตฟอร์มดิจิทัล

7. ห้ามผู้สมัครยินยอมให้ผู้สมัครอื่น กรรมการบริหารพรรคการเมือง ผู้ดำรงตำแหน่งอื่นใดในทางการเมือง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร สมาชิกสภาท้องถิ่น ผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง เข้ามาช่วยเหลือผู้สมัครไม่ว่ากรณีใดๆ

ทีนี้ตามไปดู “อำนาจหน้าที่ของ ส.ว.ชุดใหม่ ที่มาจากการเลือกกันเอง” ว่าขอบข่ายมีอะไรบ้าง

1. พิจารณาแก้ไขรัฐธรรมนูญ

2. พิจารณาร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ

3. พิจารณาร่างกฎหมายทั่วไป ร่างกฎหมายงบประมาณ อนุมัติพระราชกำหนด

4. ให้ความเห็นชอบบุคคลเข้าดำรงตำแหน่ง ศาลรัฐธรรมนูญ-องค์กรอิสระ และตำแหน่งระดับสูงในหน่วยงานรัฐ เช่น คณะกรรมการการเลือกตั้ง-ป.ป.ช.-อัยการสูงสุด-ตุลาการศาลปกครองสูงสุด เลขาฯ คณะกรรมการกฤษฎีกา

5. ตรวจสอบฝ่ายบริหาร ตั้งกระทู้ถาม เปิดอภิปรายทั่วไปโดยไม่มีการลงมติ ปรึกษาหารือปัญหาประชาชนในการประชุมวุฒิสภา

“ส.ว.ชุดที่จะมาใหม่” มีอำนาจครอบอาณาจักร เกือบทัดเทียม เทียบเท่ากับ ส.ว.ชุดเก่า 250 คนที่มาจาก “บทเฉพาะกาล” ของรัฐธรรมนูญปี 2560 ที่ล็อกสเป๊กเอาไว้ว่า

“ในห้าปีแรก รัฐสภาชุดแรก การให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรีให้ดำเนินการได้ ให้กระทำในที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภา และมติเห็นชอบการแต่งตั้งบุคคลใดให้เป็นนายกรัฐมนตรี ต้องมีคะแนนเสียงมากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของทั้งสองสภา”

กรณีที่ว่านี้ตามมาตรา 272 “บทเฉพาะกาล” ถูกโละทิ้งโดยอัตโนมัติ “วุฒิสภา” ชุดใหม่ที่มาจากการเลือกตั้งกันเอง 200 คนไม่มีสิทธิได้ใช้บริการ การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรได้รับแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี

หมายความว่า ผู้ดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรี ที่ต้องผ่านเกณฑ์ กติกา มากกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมดเท่าที่มีอยู่ของสองสภา ตัวเลขหัสเดิม 500 เสียงจากสภาผู้แทนราษฎร กับ 250 เสียงจากวุฒิสภา เท่ากับ 750 เสียง เกินกึ่งหนึ่งคือ 375 เสียง ถูกฉีกทิ้งกระจุยไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

เป็นหน้าที่ของ “สภาผู้แทนราษฎร” 500 คนที่มาจากการเลือกตั้งเพียวๆ พรรคการเมืองไหนบริหารจัดการได้เสียงข้างมาก เกิน 250 เสียงก็สามารถฟอร์มรัฐบาลได้

สะดวกสบายกว่าเดิมเยอะเลย